บทสัมภาษณ์ถึงการเริ่มต้นบนถนนนักเขียนของประภัสสร เสวิกุลจากนิตยสาร สกุลไทย ก่อนจะมาเป็นนักเขียนคุณภาพยอดนิยม เขาเริ่มเขียนหนังสือเมื่ออายุได้ ๑๘ ปี ประภัสสรเล่าถึงการเริ่มต้นบนถนนสายอักษรนี้ว่า ...
“ผมเริ่มต้นด้วยการเขียนบทกวี แล้วก็เขียนลำนำประกอบเพลง สมัยนั้นมีเพลงสากล ทางวิทยุจะนำเนื้อเพลงสากลมาแต่งเป็นโคลงกลอน ก็จะนำมาออกทางวิทยุกระจายเสียง ลงพิมพ์ในหนังสือ I.S.Song Hit จากนั้นก็มาเขียนบทกวี “รำพึงรำพัน” ลงในคอลัมน์ของ พี่ปุ๊-รงค์ วงษ์สวรรค์ (คอลัมน์ รำพึงรำพัน โดย ลำพู) ในสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ช่วงนั้นผมเขียนเรื่องสั้นในสไตล์ รงค์ วงษ์สวรรค์
ตอนนั้น พี่ปุ๊-รงค์ วงษ์สวรรค์ เพิ่งกลับจากอเมริกา เขียนเรื่องชุด “ใต้ถุนป่าคอนกรีต” เป็นที่ฮือฮาเพราะสำนวนภาษา “โดน” ใจวัยรุ่นสมัยนั้น ผมชื่นชมพี่ปุ๊ ต่อมาเขียนเรื่องสั้นเรื่องแรกชื่อ หอมกลิ่นดอกงิ้ว ลงในนิตยสารเฟื่องนคร ผมเขียนกลอนอยู่ ๗ ปี เขียนเรื่องสั้นอีก ๑๒ ปี จนอาจารย์คุณนิลวรรณก็บอกผมว่า ผมน่าจะเขียนนวนิยายได้ ซึ่งคำพูดของท่านผมถือว่าเป็นพรอันวิเศษ จึงลงมือเขียนนวนิยายเรื่องแรกคือ “อำนาจ” ที่สตรีสาร เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๕ จากนั้นก็มีเรื่องอื่นๆ ตามมา”
คุณประภัสสร เสวิกุล เขียนหนังสือมาประมาณ ๓๐ ปี และเดินมาในเส้นทางเดียวกับ คุณกฤษณา อโศกสิน คือเขียนนวนิยายตีพิมพ์ในนิตยสารเป็นตอนๆ เขาบอกว่า “ผมเขียนหนังสือเป็นตอนๆ เสมอไม่เคยเขียนจนจบเรื่อง”
และครั้งหนึ่งของการให้สัมภาษณ์ เขาบอกว่า เขาเชื่อว่าการเขียนส่งเป็นตอนต่อตอนนั้น มีความสด (ในการเขียน) ดี ซึ่งยากที่คนอื่นจะทำได้ง่ายๆ
คุณประภัสสร เป็นคนที่มีความชำนาญในเรื่องการสร้างตัวละครเช่นกัน ตัวละครของเขาหลายตัวจึง “ติดตรึง” อยู่ในใจของนักอ่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มวัยรุ่น เมื่อได้ฟัง คุณกฤษณา อโศกสิน พูดถึงความผูกพันต่อตัวละคร เขาก็แสดงบ้างว่า
“ผมกับตัวละครเหมือนเพื่อนร่วมรุ่น ถ้าหมดรุ่นแล้วก็หมดกัน อาจจะมาเจอกันบ้างเป็นครั้งคราว ผมรู้สึกว่า เรามีหน้าที่อย่างหนึ่ง ตัวละครก็มีหน้าที่อย่างหนึ่ง บางครั้งเราคิดถึงตัวละครที่เราผูกพัน ก็จะเปิดหนังสือออกอ่าน ตัวละครบางตัว เช่น นัท ใน เวลาในขวดแก้ว ผมคิดว่า เขาเป็นเพื่อนร่วมรุ่น เรียนด้วยกันมา”
มีเสียงแซวลอยมาว่า คนอ่านบอกว่าเป็นคุณประภัสสรเลยละ คุณประภัสสรจึงรีบอธิบาย
“ธรรมดาฮะ นักเขียนทุกคนก็คงมีตัวเองอยู่ในตัวละคร แต่คงไม่ทั้งหมด ไม่เช่นนั้นจะเป็นการเขียนชีวประวัติตัวเอง”
เมื่อถามถึงความเหนื่อยในการเขียน เขาก็ตอบเช่นเดียวกับนักเขียนรุ่นพี่ แต่ถือโอกาสโฆษณาหนังสือของสมาคมนักเขียนไปในตัว
“เหนื่อยแต่มีความสุข อยากรู้ว่ามีความสุขอย่างไรขอให้อ่านข้อเขียนของพี่อมราวดีที่ถ่ายทอดข้อเขียนของเฮมิงเวย์ ที่ผมนำมาลงไว้ในหนังสือนักเขียน ที่จะออกในวันที่ ๕ พฤษภาคม ศกนี้”
นักอ่านส่วนใหญ่เชื่อว่า การที่คุณประภัสสรได้ทำงานที่กระทรวงการต่างประเทศ และมีโอกาสไปประจำทำงานต่างประเทศบ่อยๆ เป็นเหตุให้คุณประภัสสรมีโอกาสได้ใกล้ชิดข้อมูลต่างประเทศ จึงมีหลายเรื่องที่เปิดโลกของนักอ่านให้กว้างออกไป ไม่ว่าจะเป็น อำนาจ ชี้ค หรือ หิมาลายัน คุณประภัสสร ได้เล่าถึงที่มาของข้อมูลในการเขียนเรื่องว่า เขาได้มาจากหลากหลายแหล่ง หลายประเภทมีทั้งข้อมูลเอกสาร หนังสือ ภาพยนตร์ ดนตรี และเมื่อได้ข้อมูลมาทั้งหมดแล้ว เขาก็มีวิธีการจัดสรรทางวรรณศิลป์
เวลาหาข้อมูลมาได้ ผมคงไม่ขนข้อมูลมาทั้งหมด อย่างเรื่องชี้ค ผมค่อยๆ ศึกษาข้อมูลและรวบรวมประมาณปีครึ่ง เริ่มเมื่ออเมริกาปิดล้อมอ่าวลิเบีย ลิเบียอยู่ที่ไหน ข้อมูลของผมมีทั้งภาพยนตร์ คำบอกเล่า เพลง ซีดี และเพื่อนฝูง
ในเรื่องของผมมักมีเพลงเสมอ เพราะเพลงกล่อมอารมณ์ผู้เขียน ผมเขียนเรื่องชี้คต้องฟังเพลงเบดูอิน เขียนครีษมายันต้องฟังเพลงพวกมายา เขียนเรื่องวัยรุ่น ฟังเพลงพี่อู๋ เพื่อสร้างอารมณ์ขึ้นนำ รวมทั้งชอบดูภาพจากหนังสือสารคดีต่างๆ เขียนอำนาจก็มีภาพตัวละครทุกตัวในสายตา ตัดแล้วนำมาติดไว้กับพิมพ์ดีด เป็นส่วนในการเสริมสร้างจินตนาการ ภาพที่เราเขียนก็จะชัดเจนจากสมองสู่สายตา แม้แต่วิธีการที่ตัวละครพูดกัน ผมก็ต้องพูดก่อน พูดให้ตรงปากตัวละคร คำที่ออกมาก็จะตรงกับปากตัวละคร”
นั่นคือความเป็น “ประภัสสร เสวิกุล” ที่หลากหลายและถูกใจนักอ่าน
ที่มา : สกุลไทย
ฉบับที่ 2433 ปีที่ 47 ประจำวันอังคารที่ 5 มิถุนายน 2544