ว่ากันว่าในปัจจุบันสนามกวีมีอยู่น้อยนิดการเผยแพร่ผลงานของบรรดานักเขียน-กวีเป็นไปด้วยความยากลำบาก เนชั่นสุดสัปดาห์เป็นอีกแห่งหนึ่งที่เปิดพื้นที่ให้บรรดากวีใหญ่น้อยได้ยืดเส้นยืดสาย และมีเสียงร่ำลือกันต่อมาว่าสนามกวีเนชั่นแข็งโป๊กสำหรับการได้อวดโฉมอยู่ในเล่ม เคี่ยว โคมคำ คือผู้ที่อยู่หน้ากองต้นฉบับที่หลั่งไหลมาจากทุกสารทิศ....
เคี่ยว โคมคำ เป็นคนวรรณกรรมอีกผู้หนึ่งที่ชีวิตผ่านร้อนผ่านหนาวมาเยอะ ด้วยวุฒิการศึกษาป.4 ก้าวย่างของเขาผ่านเรื่องราวต่างๆที่น่าสนใจมามากมาย จากกรรมกรในโรงงานทำรองเท้า จากเด็กขายหนังสือพิมพ์ริมถนน และอีกหลากหลายอาชีพที่ได้ลองลงมือทำ จนปัจจุบันเขาดำรงชีพด้วยการเป็นเจ้าของโรงงานทำโรงเท้าเล็กๆ พร้อมกับสวมหมวกบรรณาธิการคัดบทกวีลงคอลัมน์กวีทรรศน์ ในเนชั่นสุดสัปดาห์
“ผมเกิดที่จังหวัดร้อยเอ็ด เรียนจบแค่ชั้น ป.4 การศึกษาภาคบังคับสมัยนั้น ก็เข้ามาเป็นกรรมกรในโรงงานทำรองเท้าที่กรุงเทพฯ ต่อมาตกงานก็เป็นเด็กขายหนังสือพิมพ์ริมถนน ไปทำงานไร่อ้อยชลบุรีก็เคย เป็นเด็กล้างจานตามร้านอาหาร เป็นเด็กปั้มน้ำมัน เด็กติดท้ายรถสองแถว แบกเป้ขายรองเท้าตามซอย เป็นกระเป๋ารถเมล์ เคยไปมั่วอยู่กับน้องเขยเป็นไก๊ด์ผีที่พัทยาเพราะอยากเป็นไก๊ด์ผีพเนจรเหมือน ต๊ะ ท่าอิฐ นักเขียนดังสมัยนั้นแต่ก็ล้มเหลว ภาษาอังกฤษที่เรียนมาใช้ไม่ได้เรื่อง ที่สุดก็หวนกลับเข้ามาเป็นกรรมกรโรงงานรองเท้าอีก เพราะคิดว่าเมื่อมีความด้อยการศึกษา วิชาชีพที่เรียกว่าช่างนำหน้ามันน่าจะก้าวหน้ากว่า นานเข้าผมก็กลายเป็นช่างออกแบบรองเท้าให้กับหลายโรงงาน กินเงินเดือนหลายแห่ง นับเป็นช่วงที่ทำให้มีเวลาได้อ่านหนังสือดีๆ ทุกชนิดเต็มอิ่มและเรียนรู้ภาษาอังกฤษทั้งในสถาบันและด้วยตนเองเพิ่มเติมขึ้น ปัจจุบันมีโรงงานขนาดย่อมเป็นของตัวเอง” นั้นเป็นคำแนะนำตัวสั้นๆของ เคี่ยว โคมคำ เรามาทำความรู้จักกับมุมมองของเขาแบบละเอียดๆกันดีกว่า
- ธุรกิจเป็นอย่างไรบ้าง
ธุรกิจผมจัดอยู่ในกลุ่ม SME เกือบจะปลายแถว ภาวะเศรษฐกิจแบบนี้หนักหน่วงเอาการ พอรัฐบาลเปิดเสรีทางการค้ากับจีน รองเท้าจากจีนราคาถูกเข้ายึดครองตลาดทั่วประเทศ วงการของผมปั่นป่วนปิดโรงงานไปไม่น้อย ผมไปเรียนรู้การผลิตและการตลาดแหล่งใหญ่ของเพื่อนบ้านที่จีน กลับมาต้องปรับกลยุทธใหม่คือลดต้นทุนเน้นกลุ่มเป้าหมายตลาดล่างแบบ Down marketing รบกับจีนก็ยังพอต้านไหว นี่รองเท้านะครับ หากคนไทยครึ่งประเทศอ่านหนังสือจีนออกธุรกิจหนังสือบ้านเราเจ๊งแหงๆ ไม่แน่อาจมีเจ้าสำนักหัวใสหอบเอาต้นฉบับจากไทยไปผลิตที่จีนแล้วส่งกลับมาขายไทยเหมือนบริษัทรองเท้าบาจาที่ทำอยู่ มีหวังคนทุนน้อยก็ต้องยุบสำนัก
- ทำธุรกิจส่วนตัวด้วยแบ่งเวลาอย่างไร
ผมโชคดีที่มีภรรยามาจากครอบครัวทำมาค้าขาย เขาก็รับตำแหน่งบริหารจัดการไป ผมรับหน้าที่ออกแบบและทำการตลาด น้องๆ เพื่อนร่วมงานก็จัดตำแหน่งตามถนัด เมื่อไม่ใช่นักเขียนมืออาชีพอย่างเพื่อนๆ ชีวิตกับการใช้เวลาต้องแบ่งภาคชัดเจนเพราะต้องหาเลี้ยงชีวิตครอบครัว เมื่อมุ่งที่จะอยู่ในห้วงอารมณ์แบบไหนก็ต้องแบบนั้นไม่วอกแวก
- ผลงานที่ผ่านมา
เมื่อหลายปีก่อนมีรวมบทกวีมาแล้ว 2 เล่ม คุณขจรฤทธิ์ รักษา สำนักพิมพ์บ้านหนังสือเป็นผู้จัดพิมพ์ให้ เนื้อหาออกไปทางสังคมและการเมือง สนิมความคิดติดกรอบแบบเดิมๆ ค่อนข้างมาก วิธีการเขียนยังไม่เป็นที่น่าพอใจ
- นอกจากบทกวีแล้วยังเขียนอย่างอื่นด้วยไหม
เคยเขียนบทความทางการเมือง และวรรณกรรมมาบ้าง ความเรียงและสารคดีท่องเที่ยวก็เคยเขียนในนามอื่นแต่ก็ไม่เป็นชิ้นเป็นอันเท่าไร
- ทำไมถึงเลือกกลอน-กวีเป็นสื่อในการถ่ายทอดความคิด
เพราะบทกวีคือเสียงดนตรีที่มีชีวิตอันอ่อนโยนและผมมองเห็นว่า มันคือผลิตผลของความลึกซึ้งทางจิตวิญญาณมนุษย์ที่ตกผลึก กวีคือศิลปินผู้มีจินตภาพกว้างลึก แต่มันกลับย่อชีวิต ย่อโลก ย่อเวลา ให้เห็นภาพกว้างใหญ่ในกรอบอันแคบเล็ก เมื่อคุณมองผ่านๆ ในหน้าหนังสือ มันก็เหมือนฉลากยาหรือไม่ก็โฆษณางานฌาปนกิจศพในหนังสือพิมพ์รายวัน รายสัปดาห์ แต่หากได้อ่านกวีนิพนธ์ที่ดีๆ อย่างตั้งใจสักชิ้นจะทำให้รู้สึกดื่มด่ำดิ่งลึกสู่ห้วงพลังชีวิตที่จิตสำนึกสามัญไม่อาจมองเห็น ผมว่าบทกวีมันคืออนุสาวรีย์แห่งถ้อยคำที่ทุกชาติทุกภาษาต้องมีไว้เพื่อแสดงความเคารพชาติพันธุ์ของตนเอง
- ทำธุรกิจด้วยยังมีเวลาขีดๆ เขียนๆ อยู่หรือเปล่า..
ทำหน้าที่คัดสรรบทกวีในคอลัมน์กวีทรรศน์ที่เนชั่นสุดสัปดาห์ แต่ก่อนใช้นาม ‘ ชะลอมฟาง’ แล้วก็เปลี่ยนมาเป็น ‘เคี่ยว โคมคำ’ เขียนบทกวีเก็บบ้างทำเรื่อยๆ ไม่เร่งเร้าขัดเกลาเคี่ยวเข็ญตัวเอง ไม่แน่เผื่อฟลุ๊คอาจ ผ่านสายตา บก.สำนักพิมพ์สักแห่งได้รวมเล่มอีก ถ้าไม่มีใครเอาคิดว่าจะควักกระเป๋าซื้อความเจ็บตัวให้ตัวเองก็มีความสุขไปอีกแบบ
- ตอนนี้ทำกิจกรรมทางวรรณกรรมอะไรบ้าง
เป็นวิทยากรตามโรงเรียนมัธยม ค่ายวรรณกรรมและบรรยายพิเศษตามมหาวิทยาลัย ปัจจุบันเป็นหนึ่งในคณะกรรมการของกองทุนศิลปินครูบ้านป่า สลา คุณาวุฒิ ร่วมกับเพื่อนๆ มีครูสลา , ปรีดา ข้าวบ่อ , แคน สาริกา , ไพวรินทร์ ขาวงาม , พินิจ นิลรัตน์ , กุดจี่ - พรชัย แสนยะมูล , แพงคำ , ครูสังคม ทองมี และท่านอื่นๆ เคลื่อนไหวจัดค่ายวรรณกรรมทั่วประเทศ มีสโลแกนที่ตั้งโดย ไพวรินทร์ ขาวงาม ว่า จุดประกาย ความใฝ่ฝันเพาะเมล็ดพันธุ์วรรณกรรม โดยมีน้องอิ๊ด วาสนา ชูรัตน์ นั่งประจำกองทุนฯ เป็นฝ่ายประสานงานติดต่อทั่วไป
- ชอบบทไหนของบทกวีตัวเองมากที่สุด (วรรคทอง )
ยังไม่ถึงขนาดมีวรรคทองแต่ชอบวรรคนี้ ภาษาจิตวิญญาณ คือศิลป์สานสร้างภายใน เชื่อมร้อยใจต่อใจเป็นห่วงโซ่ขยายยาว ( จากเรื่อง : พายุน้ำค้างกลางฤดูฝัน, หนังสือที่ระลึกงานศพ กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ )
- ในฐานะเป็นบก.คัดบทกวีลงใน เนชั่นสุดสัปดาห์ คิดว่าอนาคตของกวีนิพนธ์ไทยเป็นยังไง
ผมมองว่ามันขึ้นอยู่กับความสำนึกในสภาพชีวิตของกวีแต่ละคน ภาพโดยรวมกระแสทางสังคมและการเมืองที่พวกเราสลัดไม่พ้นตัว ไม่พ้นวงจรชีวิตมันจะเป็นตัวตัดสินให้เขาสะท้อนบางแง่มุมออกมาทั้งโดยตั้งใจหรืออาจไม่ได้ตั้งใจ แต่คงไม่มีสูตรสำเร็จตายตัวแบบวรรณกรรมชูธงเพื่อการปฏิวัติเหมือนสมัย 14 ตุลาคม 2516 ผมว่าวรรณกรรมไทยได้ผ่านขบวนการคลี่คลายตัวเองไปมาก สามัญสำนึกในเนื้องานผสมผสานกับโลกภายนอกมีมากขึ้น ความเป็นสากลก็มีมากขึ้น สอนให้เรามีธาตุรู้ที่เท่าทันโลกภายนอกมากขึ้น ผมห่วงว่ามันจะเกิดวรรณกรรมหลงทาง ที่นำพาเราไปสู่ความเป็นเขา มากกว่านำเขามาเป็นเราเพื่อสร้างเอกลักษณ์ทางวรรณกรรมที่เป็นตัวของตัวเอง
- มุมมองระหว่างกลอนฉันทลักษณ์กับกลอนเปล่า
ผมไม่แน่ใจนะครับ เพราะเรียนจบมาแค่ชั้น ป.4 ไม่เข้าใจด้านวิชาการที่ลึกซึ้งทางจารีตการประพันธ์กวีนิพนธ์มากนัก จากการอ่านค้นคว้าด้วยตัวเองมากว่า 20 ปี ความรู้สึกที่สัมผัสได้คือชอบทั้งสองแบบ กลอนฉันทลักษณ์มีจังหวะเสียงไพเราะสัมผัสนอกในเป็นด่านผ่าน เล่นคำล้อคำได้สนุกกว่า ส่วนการกำหนดเสียงก็เป็นเรื่องเฉพาะของตัวตนกวีที่มีชั้นเชิงกวีเป็นของตนเอง ส่วนกลอนเปล่าก็มีเสน่ห์ไปอีกแบบไม่เน้นสัมผัสสระพยัญชนะ แต่ต้องเน้นสัมผัสลีลาเสียงและเนื้อในที่ต้องสื่อมากกว่าการเล่นคำ ที่สำคัญต้องเจือด้วยโรแมนติคมากกว่ากลอนฉันทลักษณ์เพราะไม่สัมผัสสระพยัญชนะ อาจมีครุ ลหุบ้าง แต่ไม่มีเอกโทบังคับเหมือนโคลงฉันท์ น้องคนรุ่นใหม่ส่งมาถึงผมอ่านแล้วไม่ผ่าน มันเป็นเพียงเรียงความธรรมดาที่ไม่คมลึก มันไม่น่าจะเรียกว่าบทกวี งานทั้งสองอย่างต้องไม่ลืมความคิดเป็นแกนสำคัญด้วย สรุปแล้วทั้งกลอนเปล่าและฉันทลักษณ์ การสัมผัสคำ สัมผัสความ คงยังไม่พอต้องสัมผัสใจด้วย เพื่อให้เกิดความสะเทือนใจกับผู้อ่าน เราอาจสอนฉันทลักษณ์วิทยาให้คนเขียนกลอนเป็น แต่สอนคนให้ป็นกวีคงไม่ได้ เพราะวิญญาณของศิลปินผู้ผลิตงานศิลปะเกิดจากธาตุภายในที่ตกตะกอนการรับรู้ซึมซับที่เป็นเรื่องเฉพาะ
- มีหลักในการคัดผลงานลงตีพิมพ์อย่างไร
ภาษาใหม่ มุมมองใหม่ ความคิดใหม่ๆ ที่สร้างสรรค์ แต่หาน้อยเหลือเกิน ที่ผ่านการตีพิมพ์ก็ไม่ดีเลิศหมดทุกชิ้นเราต้องให้โอกาสน้องๆ ให้กำลังใจเขา ให้เวลาเขาได้ทดลองเรียนรู้ ทบทวนตัวเองเหมือนตอนที่เราฝึกฝนใหม่ๆ ปลุกสำนึกให้เขาตื่นในสภาวะกวีบ้าง ไม่งั้นวงการเราก็แห้งแล้งเงียบเหงา พอที่จะลงตีพิมพ์ได้ก็ลงให้เพื่อสร้างกำลังใจ ไม่ไหวก็ต้องไม่ลงถ้าโกรธกันก็ต้องให้โกรธ เพราะผมถือว่างานก็คืองานเพื่อนพี่น้องรักกันชอบกันก็อีกเรื่องเจอกันรักกันเหมือนเดิม จริงๆ แล้วเน้นการสร้างคนรุ่นใหม่ไม่จำกัดแนวว่าเป็นแบบไหนขอให้แสดงออกเต็มที่ แต่นานๆ ครั้งผมก็เรียนเชิญกวีรุ่นอาวุโส รุ่นใหญ่ ที่ศิลปินแห่งชาติ เป็นซีไรต์ซีรองมาร่วมแจม เพื่อแสดงให้เห็นเป็นแบบอย่างการประพันธ์ที่แตกต่างทั้งทางด้านอารมณ์และชั้นเชิงกวี ที่ผ่านมาได้รับเกียรติจากหลายท่าน เช่น เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ , ท่านอังคาร กัลยาณพงศ์ , คมทวน คันธนู ,ไพวรินทร์ ขาวงาม , ศักดิ์สิริ มีสมสืบ , วัฒน์ วรรลยางกูร , โชคชัย บัณฑิต , กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ , พิบูลย์ศักดิ์ ละครพล ,ไพทูรย์ ธัญญา , ศิวกานท์ ปทุมสูติ , ประกาย ปรัชญา , เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์ และอีกมากมายหลายท่านที่ไม่ได้เอ่ยถึง
- มองสถานการณ์บ้านเมืองตอนนี้เป็นยังไง
ผมคิดถึงสมัยนครรัฐกรีกโบราณ เห็นท่านเพลโต และท่านอริสโตเติล ถกกันเรื่องปรัชญาการเมืองว่านครรัฐที่ดีควรบริหารจัดการอย่างไร จากนั้นก็มายุคท่าน อาดัมสมิธ เจ้าลัทธิทุนนิยมมือที่มองไม่เห็น บ้านเราเดี๋ยวนี้ยุคท่านนายกฯ ทักษิณ เป็นยุคมือที่มองเห็นชัดว่าจับฉวยอะไร แต่ท่านไม่วางแล้วจะทำไงล่ะ
- งานเขียนต้องรับผิดชอบต่อสังคมไหม
อยู่ที่นักเขียนแต่ละคนจะรู้สึก เมื่อเราผูกพันอยู่กับระบบทุนที่มีการแข่งขันสูง บางทีสำนึกตรงนี้อาจถูก ทำลาย ผมว่าในฐานะนักเขียนควรมีสำนึกร่วมรับผิดชอบอย่างมาก เขียนเอาแต่เงินอย่างเดียวหากขาดสำนึกร่วมทางสังคมขายดีและโด่งดังแค่ไหนก็อาจกลายเป็นงานศิลปะที่เปล่าประโยชน์ ความบันเทิงเริงรมย์เป็นสิ่งดีผมไม่ปฏิเสธ แต่ถ้ามากเกินไปก็ทำให้สังคมขาดภูมิปัญญา ผมว่ามันน่าจะมีอะไรที่มีทั้งสองสิ่งคู่กันไป
- คุณสมบัติของนักเขียนที่ดี
มีพัฒนาการที่ดี ผลิตงานดีๆ ให้คนอ่านได้อะไรดีๆ และมีวินัยที่ดี
- ความแตกต่างระหว่างงานนักเขียนรุ่นใหม่กับงานนักเขียนรุ่นเก่า
นักเขียนรุ่นเก่ามีอยู่ 2 กลุ่มความคิด กลุ่มแรกอนุรักษ์จารีตการประพันธ์แบบสุดโต่ง กลุ่มต่อมาขับเคลื่อนตัวเองมีธาตุรู้ที่เท่าทันยุคสมัย นักเขียนรุ่นใหม่มีการพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ จากการเขียนเรื่องภายในตัวตนก็ปรับมาเป็นมองภาพชีวิตสังคมแบบกว้างๆ ผมเชื่อว่าทุกคนกำลังมุ่งมั่น
- จริงๆ แล้วหน้าที่ของบรรณาธิการคืออะไร
ความหมายตามพจนานุกรมไทยแปลว่า หัวหน้าผู้พิจารณาเรื่องลงในหนังสือพิมพ์ เท่าที่ทราบความหมายทางภาษาอังกฤษ Editor ผู้ใดก็แล้วแต่เป็นผู้พิจารณารวบรวมผลงานเพื่อตีพิมพ์ ก็คือบรรณาธิการไม่จำเป็นต้องเป็นหัวหน้า ผมคนไทยจึงไม่ใช่บรรณาธิการเลยตอบไม่ถูก