นามปากกา‘เข็มพลอย’ หรือในนามจริง‘ยุวดี ต้นสกุลรุ่งเรือง’เริ่มได้รับการพูดถึงในวงกว้างมากขึ้น เมื่อนวนิยายของเธอได้รับรางวัลดีเด่นจากเวที ‘ชมนาดบุ๊คไพร์ซ’ ครั้งที่ 1 ประจำปี 2550 จากต้นฉบับงานเขียนที่ชื่อว่า ‘รอยวสันต์’ (A WALK THROUGH SPRING) ได้รับโล่พระราชทานในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และการตีพิมพ์เป็นหนังสือในประเทศไทยแล้ว รวมทั้งยังได้รับการแปลและพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษเพื่อเผยแพร่ไปทั่วโลกด้วย เราจึงขอชวนคุณผู้อ่านไปนัดพบ ‘เข็มพลอย’ เพื่อพูดคุยถึง ‘ก้าวแรกสู่เวทีโลก’ และเรื่องอื่น ๆ ของนักเขียนสตรีคนนี้กัน
all : นวนิยายเรื่อง ‘รอยวสันต์’ นี่ ใช้เวลาเขียนนานไหม
เข็มพลอย : ใช้เวลานานเหมือนกันค่ะ ทั้ง ๆ ที่มีข้อมูลอยู่ในหัวหมดแล้ว ตอนแรกเขียนอยู่ 2 – 3 บท ก็ไม่ได้ดั่งใจ เหมือนไม่มีเป้าหมายที่จะเขียน จนกระทั่งมีการประกวดรางวัลชมนาด เลยตัดสินใจเขียนต่อ เพราะคิดว่านวนิยายที่ส่งเข้าประกวด เขาไม่ค่อยต้องการพระเอกนางเอกเท่าไหร่ (หัวเราะ) คราวนี้เขียนเร็วมาก แต่จะคิดนิดหนึ่งว่าจะเขียนผ่านในมุมมองของใคร เลยตัดสินใจให้มีนางเอกเป็นตัวนำเรื่อง กับ ‘อาสำ’(อาชีพหนึ่งของชาวจีนโพ้นทะเล ทำหน้าที่คล้าย ๆ หัวหน้าแม่บ้านในบ้านของเศรษฐี) ซึ่งเครียดมากว่าหลานสาวไม่ยอมแต่งงาน เราก็เลยพยายามหาจุดเชื่อมว่าทำไมผู้หญิงคนนี้ถึงไม่ยอมแต่งงาน เขียนเล่าไปว่า ปัญหาของผู้หญิงที่ไม่แต่งงานคืออะไร หรือแต่งงานแล้วจะเกิดปัญหาอะไรบ้าง
all : คิดว่าเพราะอะไร ผลงาน ‘รอยวสันต์’ ถึงชนะใจกรรมการ
เข็มพลอย : จุดแข็งของเราคือการใช้ข้อมูล ก่อนเขียนก็ตั้งเป้าหมายกับตัวเองไว้แล้วว่าจะชนะใจกรรมการด้วยข้อมูล เพราะเป็นสิ่งที่น้อยคนนักจะรู้ เรามั่นใจในความแม่นยำของข้อมูลมาก เพราะเกิดมาพร้อมกับสิ่งนี้ เรื่องที่เขียนเป็นเรื่องของผู้หญิงกวางตุ้งที่อายุมากเข้ามาทำงานเป็นแม่บ้าน เรารับรู้เรื่องนี้มาตั้งแต่เด็ก ๆ นั่งฟังแม่คุยกับอาสำจากหลาย ๆ บ้าน เวลาเขียนก็เขียนแบบเข้าใจชีวิตเขาจริง ๆ ตัวเราเองก็พูดและฟังกวางตุ้งออก ก็จะซึมซับมา เราชอบเรียนรู้ชีวิตของคนอื่น มันสนุก เวลามาเจอกัน เขาจะคุยกันเยอะมาก คนนี้พูด คนนั้นพูด มีเรื่องราวมากมายมาเล่าสู่กันฟัง เราก็เลยได้ข้อมูลจากที่เคยได้ฟังมาใช้เขียนในนวนิยายเรื่องนี้
all : หลังจากได้รับรางวัล ‘รอยวสันต์’ ได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษด้วยใช่ไหม
เข็มพลอย : โชคดีที่ได้เพื่อนที่ทำงานอยู่สถานทูตอเมริกาช่วยแปลเป็นภาษาอังกฤษให้ ซึ่งเขาแปลได้ดั่งใจมาก ระหว่างที่แปล ก็ได้พูดคุยกันทุกวัน เขาจะส่งมาให้ดูเป็นระยะ ๆ ว่าถูกหรือไม่ เพราะจริง ๆ แล้ว การแปลงานวรรณกรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่งนวนิยายเป็นสิ่งที่ยาก ไม่ใช่ว่าเขียนเสร็จแล้ว ใครจะแปลก็ได้ ต้องให้นักแปลมืออาชีพเท่านั้น เพราะเขาจะมีทักษะ กลวิธี และการใช้ภาษาที่ดี จะแปลตรง ๆ เหมือนหนังสือวิชาการไม่ได้ มันมีอะไรที่แตกต่างกันมาก กว่าจะแปลเสร็จ ก็ใช้เวลาเป็นปี
all : เมื่อแปลเป็นภาษาอังกฤษเสร็จ เห็นว่าสำนักพิมพ์ได้นำไปเผยแพร่ในต่างประเทศด้วย
เข็มพลอย : เท่าที่ทราบ ทางสำนักพิมพ์เขาก็เอาไปแสดงในต่างประเทศบ้าง แต่จริง ๆ แล้วเรื่องของชาวจีนโพ้นทะเลที่ไหน ๆ ทั่วโลกเขาก็มี อเมริกาก็มี แถมเอเชียก็มี ประเทศต่าง ๆ จะมีชาวจีนที่ปากกัดตีนถีบเข้ามาทำงานแล้วร่ำรวยเหมือน ๆ กัน นักเขียนที่อื่นเขาก็เขียนกัน แต่ของไทย อาจจะไม่ค่อยมีใครเขียนถึง หรือถ้าเขียนส่วนมากก็เป็นแนวผู้ชายยากจนเข้ามาก่อร่างสร้างตัว จนสุดท้ายร่ำรวยเป็นเจ้าสัว แต่ใน ‘รอยวสันต์’ แสดงให้เห็นว่า ผู้หญิงชาวจีนก็มาเหมือนกัน แต่ไม่ได้ดราม่ามาก เอาแค่พอประมาณ เขียนให้ทุกคนผ่านความเศร้าและความลำบากไปได้ ไม่ได้ร่ำรวยมาก แต่ก็ผ่านไปได้ รอยวสันต์จึงเป็นเหมือนประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งที่บอกเล่าว่า เคยมีผู้หญิงจีนแบบนี้เข้ามาในเมืองไทย ไม่ใช่มีแต่เจ้าสัวอย่างเดียว
all : ‘เข็มพลอย’ ชอบเขียนหนังสือมาตั้งแต่เด็กเลยหรือเปล่า
เข็มพลอย : เรารู้สึกว่า เราเป็นคนเพ้อฝันและมีจินตนาการตั้งแต่เด็ก ชอบเขียนเรียงความ ครูอ่านแล้วก็ชมว่าเขียนดี ตอนเรียน ม.ต้น ที่โรงเรียนดลวิทยา เคยเขียนเรื่องสั้นส่งอาจารย์สุวิทย์ สารวัตร แล้วอาจารย์เอาไปส่งให้นิตยสารชัยพฤกษ์ ที่มีคุณโบตั๋น (สุภา สิริสิงห) เป็นบรรณาธิการ ซึ่งก็ได้ลง ได้เงินมาสองร้อยบาท ดีใจมาก (ยิ้ม) จุดนี้เองที่เป็นแรงบันดาลใจและทำให้รู้ว่าเขียนหนังสือแล้วได้เงิน ตอนเรียนเตรียมอุดมศึกษา ครูจะสั่งให้เขียนตลอดไม่ว่าจะเป็นกลอนหรือเรียงความ เพราะเราเรียนสายศิลป์ เพื่อนคนอื่นไม่ชอบเขียน เราก็เลยเขียนแจกเพื่อน ไม่ว่าจะเป็นโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ที่ว่ายาก ๆ เราแต่งได้หมด จะว่าพรสวรรค์ก็อาจจะใช่ แต่จะว่าบ๊องก็คงใช่อีกนั่นแหละ (หัวเราะขำ) ครูสั่งให้เขียนอะไรเขียนได้หมด ตอนปิดเทอมก็เขียนเรื่องเที่ยวสิงคโปร์ส่งครู ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยไปหรอกนะ เขียนโม้ไป จินตนาการทั้งนั้น (หัวเราะ) พอมาเรียนปริญญาตรีที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ วิชาเอกประวัติศาสตร์ ไม่ค่อยได้เขียนอะไรเท่าไหร่ เพราะเป็นช่วง 14 ตุลา 2516 เป็นช่วงที่ต้องอยู่ในโลกแห่งความจริง พอเรียนจบมาก็ทำมาหากิน มีครอบครัว มาเริ่มเขียนนวนิยายตอนอายุ 40 ปี ก็ถือว่าช้านะคะสำหรับคนที่เริ่มเขียนนวนิยาย เมื่อมาเขียนทีหลังเขา ก็ต้องเขียนให้ดีกว่า ไม่อย่างนั้นจะสู้คนที่เขียนมาก่อนไม่ได้
all : ทราบว่าเขียนบทความลงในนิตยสาร ‘ต่วย’ตูน’ ด้วย
เข็มพลอย : เรื่องแรกที่เขียนให้ต่วย’ตูน เกิดตอนที่ตามสามี (นพ.เขมชาติ ต้นสกุลรุ่งเรือง) ไปใช้ทุนที่อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา เราชอบหยิบเรื่องที่คนอื่นมองไม่เห็นมาเขียน ให้เขาได้อ่านได้เห็นสิ่งที่เขามองข้ามไป พอเขาได้อ่าน คนก็จะบอกว่า โอ้โห... เขียนได้ไง จากเรื่องธรรมดาที่ไม่มีอะไร พอเอามาเขียนแล้วทำไมมันถึงสนุกขนาดนี้ ทุกวันนี้ก็ยังเขียนให้ต่วย’ตูนอยู่ ซึ่งในต่วย’ตูนเป็นการเขียนสั้น ๆ 5 – 6 หน้า ถือเป็นการฝึกฝีมือได้อย่างดี การเป็นนักเขียนยิ่งเขียนมากก็ยิ่งทำให้เขียนได้รื่นขึ้น เพราะจะจับจุดได้ว่าต้องเขียนไปทางไหน ถือเป็นการเรียนรู้ด้วยตัวเองอย่างดี
all : เขียนเรื่องสั้น นวนิยายกำลังภายใน และสารคดีด้วยใช่ไหม
เข็มพลอย : ก่อนเขียนนวนิยาย มีคนบอกว่าให้ลองเขียนเรื่องสั้นก่อน เราก็เลยลองเขียน การเขียนเรื่องสั้นยากมากนะ เหมือนเราฟันดาบ ฟันครั้งเดียวต้องจบ ถ้าเยิ่นเย้อเราก็ไม่รอด แล้วเวลาจบก็ต้องคม เราลองเขียนส่งไปที่สกุลไทย เขียนไปเรื่องแรกได้ลงเลย ก็เลยมีกำลังใจ เขียนประมาณ 10 เรื่อง สำนักพิมพ์เพื่อนดีก็เอามารวมเล่มให้ในชื่อ ‘กรุ่นกลิ่นรัก’ แล้วก็มีพ็อกเก็ตบุ๊คเชิงสารคดีเรื่อง ‘ใคร ๆ ก็เปิดร้านเบเกอรี่’ ‘ใคร ๆ ก็เปิดร้านกาแฟ’ ‘ใคร ๆ ก็เปิดร้านดอกไม้’ งานเขียนเชิงสารคดีจะใช้ชื่อจริงในการเขียน เพราะมันเกี่ยวกับข้อเท็จจริงและความน่าเชื่อถือ ส่วนนวนิยายกำลังภายใน ก็มีเรื่อง ‘เคหาสน์กุหลาบดำ’ และ‘บุปผาพิทักษ์’ ในนามปากกา ‘ต. อักษรา’ ค่ะ
all : แล้วทำไมถึงหันมาเขียนนวนิยายคะ
เข็มพลอย : เรามีความ เชื่ออย่างหนึ่งว่า ถ้ามีข้อมูลที่ถูกต้องก็เอามาเขียนสารคดีได้แล้ว แต่การเขียนนวนิยาย มีข้อมูลอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีจินตนาการที่ทำให้คนอ่านรู้สึกว่าสนุกด้วย แล้วก็ต้องมีสำนวนที่แสดงความเป็นเลิศของนักเขียน จินตนาการของเราต้องชัดเจน อธิบายได้ว่าเป็นอย่างไร เคยฟังคุณประยูร จรรยาวงษ์พูดที่เตรียมอุดม วันนั้น ท่านวาดรูปคน แล้วพอถึงขา ท่านก็วาดหญ้ากลบขาไว้ แล้วก็สอนว่า “เวลาทำงานอย่าทำอย่างนี้ พอนึกอะไรไม่ได้ก็เอาหญ้ากลบไว้” เราก็เห็นด้วย เลยทำให้เราอยากลองเขียนนวนิยาย เพราะถ้าเราสามารถเอาเรื่องที่มีอยู่ในหัว มาเขียนเป็นนวนิยายได้ ถือเป็นการยกระดับความสามารถของตัวเอง นิยายเล่มแรกที่เขียนชื่อ ‘หัวใจรักเกรดรีไฟน์’ มีความยาวแค่ 15 ตอน ลงในสกุลไทย เป็นเรื่องเกี่ยวกับโรงงานน้ำตาล ที่เราเขียนก็เพราะมีความรู้เรื่องนี้ มีคนติดตามอ่านพอสมควร ดีใจมาก เลยคิดว่า ถ้าเขียนนวนิยายที่ยาวขึ้น คนก็น่าจะรออ่าน เลยเริ่มเขียนเรื่องยาว
all : ทราบว่า เข็มพลอยให้ความสำคัญกับเรื่องข้อมูลมาก
เข็มพลอย : ข้อมูลเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ก่อนจะเขียน ต้องนึกก่อนว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร พระเอกนางเอกเป็นยังไง ครอบครัวทั้งสองฝ่ายทำกิจการอะไร ต้องหาข้อมูล ถ้าไม่มีข้อมูล เราจะเขียนได้ไม่ดีเท่าที่ควร นวนิยายของเราจะอิงหลักพวกนี้ตลอด ต้องมีข้อมูล มีเหตุผลในการเดินเรื่อง คนอ่านเขาจะได้ประโยชน์ และทำให้เรื่องน่าสนใจมากขึ้น เรื่องล่าสุดที่เขียน เป็นแนวเพ้อฝันสุดๆ ชื่อเรื่อง ‘ลมหายใจแห่งดวงดาว’ เป็นเรื่องของชายรักชาย แต่จะมีเหตุผลว่าทำไมชายถึงต้องรักชาย เรื่องนี้ตอนเขียนคิดหนักมาก เพราะคิดว่าเป็นเรื่องค่อนข้างแรงของคนอ่านสกุลไทย แต่การมีข้อมูลที่มากพอจะช่วยงานเขียนของเราได้มาก แต่ไม่ใช่ว่าเอาข้อมูลมาเป็นแกนหลักของเรื่องนะ ต้องแทรกเข้าไปอย่างเนียน ๆ การทำงานแบบนี้ ทำให้เราทำงานได้อย่างมีความสุข เพราะอยากส่งต่องานเขียนที่มีคุณภาพให้กับคนอ่าน (ยิ้ม)
all : แล้วเรื่อง ‘โถงสีเทา’ ที่ได้นวนิยายรางวัลชนะเลิศ ‘เซเว่นบุ๊คอวอร์ด’ ล่ะคะ มีที่มาอย่างไร
เข็มพลอย : จุดเริ่มต้นเกิดจากเราไปคุยกับหมอคนหนึ่งที่สถาบันมะเร็ง ที่นั่นมีคนมารอฉายแสงจำนวนมาก หมอเขาก็บอกว่า ถ้ามีวงดนตรีมาเล่นในนี้ ก็คงดี จากคำพูดนี้ ก็มีภาพนางเอกสีไวโอลินที่โถงของโรงพยาบาลขึ้นมาในหัวเลย แล้วมีหมอเดินมา เป็นภาพพระเอกนางเอกลอยมาเลยนะ (ยิ้ม) ได้ไอเดียขึ้นมาเลย เราก็พยายามหาว่าเมื่อเจอกันแล้วจะยังไงต่อ เอากลับมาทำการบ้าน คิดหนักอยู่เหมือนกัน พอเขียน ๆ ไป มันถึงจุดที่หมออาจจะต้องตาย คนอ่านก็กระหน่ำโทร. กระหน่ำเขียนจดหมายมาหาว่า ห้ามให้หมอตาย เพราะหมอเป็นคนดี (หัวเราะ) ขนาด บก. สกุลไทย ยังก็โทรมาถาม เราก็บอกเขาไปว่าต้องรอดูอาการก่อนนะ ทั้ง ๆ ที่ตอนนั้นเราเขียนจบแล้ว แต่ไม่ได้บอกใคร ปกติเราจะเขียนให้จบก่อนแล้วค่อยส่ง มันจึงแก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว แต่ในใจก็ไม่อยากให้พระเอกตายหรอก เราไม่ชอบความเศร้า แต่ชีวิตคนเราก็ต้องมีการเจ็บป่วยบ้างเป็นเรื่องธรรมดา เรื่องนี้กระแสตอบรับดีมาก มีคนที่เขาดูแลเกี่ยวกับโรคมะเร็งเขียนจดหมายเข้ามาบอกว่าหนังสือเราทำให้ เขามีกำลังใจในการดูแลผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งมากขึ้น บางคนเป็นมะเร็งก็บอกว่าอ่านแล้วมีกำลังใจ พอเราได้อ่านแบบนี้แล้ว เราก็อิ่มใจมาก มันทำให้เรารู้สึกว่างานเขียนมีพลังต่อคนอ่านมาก ทำให้รู้เลยว่า ต่อไปจะเขียนอะไร ก็ต้องระวัง ทุกอย่างที่เขียนไปมีผลต่อคนอ่านมาก
all : เขียนหนังสือมาหลายปี ‘เข็มพลอย’ มีกลยุทธ์การเขียนหนังสืออย่างไร
เข็มพลอย : อย่างแรกคือ ต้องมีความรู้เรื่องนั้นเป็นอย่างดี ถ้าไม่มีข้อมูล ก็จะไม่ค่อยกล้าเขียนเพราะกลัวมันผิด แล้วค่อยมาคิดพล็อตเรื่อง เราถนัดเรื่องไหนก็เขียนเรื่องนั้น จากนั้นก็เป็นเรื่องการเรียบเรียง สรุปสั้น ๆ ก็คือ หนึ่ง ต้องมีความรู้ สอง คิดพล็อต สาม เรียบเรียง แล้วเรื่องมันจะดำเนินไปตามทำนองของมัน คนเรามีความคิดเป็นของตัวเอง ตัวละครเขาก็มีความคิดเป็นของตัวเองเหมือนกัน ผู้เขียนมีหน้าที่แค่ประคองให้ตัวละครเดินไปทางไหนเท่านั้นเอง (ยิ้ม)
all : อยากฝากอะไรถึงคนที่อยากเป็นนักเขียนหรือเป็นแฟนหนังสือ ‘เข็มพลอย’ บ้างไหม
เข็มพลอย : ถ้าเป็นแฟน หนังสือก็อยากฝากให้อ่านกันต่อไป พออ่านแล้วก็อยากให้แสดงความคิดเห็นมาบ้าง เราจะได้เอามาพัฒนางานเขียนของตัวเอง เพื่อให้มีงานเขียนคุณภาพต่อไป ส่วนคนที่อยากเป็นนักเขียน ก็แล้วแต่คนนะ เพราะยุคสมัยทำให้แนวการเขียนเปลี่ยนไปด้วย สิ่งสำคัญคือต้องหาจุดเด่นให้ตัวเอง ให้คนอ่านเขานึกได้เลยว่า ถ้าอยากอ่านทำนองนี้ ต้องคนนี้ นามปากกานี้เลย เราต้องหาให้เจอให้ได้ ‘เข็มพลอย’ มีผลงานนวนิยายลงตีพิมพ์ประจำในนิตยสารสกุลไทย เธอมีผลงานออกมาไม่มากนัก แค่ประมาณปีละเรื่อง ทุกเรื่องล้วนได้รับการตอบรับจากนักอ่านเป็นอย่างดี นับว่าเป็นนักเขียนสตรีไทยที่ทำงานอย่างมีคุณภาพและน่าจับตาอีกคนหนึ่งในวง การวรรณกรรมไทย
นัดพบนักเขียน : รินคำ
All magazine กันยายน 2558