หมอเก็ต เกษราภรณ์ : คนเราไม่สามารถสร้างเดียใหม่ๆ ได้ ถ้ายังอยู่ภายใต้ความกดดัน

หมอเก็ต เกษราภรณ์

“คนเราไม่สามารถสร้างเดียใหม่ๆ ได้ ถ้ายังอยู่ภายใต้ความกดดัน”
หมอเก็ต เกษราภรณ์

 

คอลัมน์คุยนอกรอบวันนี้จะพามารู้จักกับนักเขียนหน้าใหม่ที่มีอาชีพหลักเป็นสัตวแพทย์ คุณเกษราภรณ์ภัทรนุกุลกิจ หรือคุณหมอเก็ต ผู้เขียนหนังสือเรื่อง“ฉันไม่ใช่หมอหมาหมาแต่ฉันเป็นสัตวแพทย์” ของสำนักพิมพ์ วูแมนพับลิชเชอร์ ของเรานั่นเองค่ะวันนี้เราจะได้รู้จักตัวตนของหมอเก็ตกันมากขึ้น กับผลงานเล่มแรกกับเราแต่ไม่ใช่เล่มแรกของเธอ

แนะนำตัวสักหน่อยค่ะ
ชื่อเกษราภรณ์ภัทร นุกุลกิจค่ะ จบสัตวแพทย์จากมหาวิทยาลัยมหิดลมีอาชีพหลักเป็นสัตวแพทย์จริงๆ แล้วไม่ใช่คนที่รักสัตว์อะไรมากมายเหมือนที่หลายคนคิดว่าสัตวแพทย์ต้องเป็นแต่ด้วยความที่ชอบเรื่องวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวกับสุขภาพแลคุณภาพชีวิตก็เลยเลือกเรียนมาทางนี้ ที่บ้านไม่ได้เลี้ยงสัตว์อะไรเลยค่ะแต่ชอบที่จะเรียนรู้และชอบที่จะช่วยเหลือผู้อื่นมากกว่า เรียนมา 6 ปีก็ค่อนข้างหนักเหมือนกัน ใครสนใจก็มาเรียนสัตวแพทย์ด้วยกันนะคะเพราะอาชีพนี้ยังขาดแคลนบุคลากรอีกเยอะเลยค่ะ

อะไรเป็นแรงบันดาลใจให้มาจับปากกาเขียนหนังสือคะ
ด้วยความเป็นคนชอบอ่านหนังสือมาตั้งแต่เด็กพออ่านไปอ่านมาก็นึกอยากจะเขียนบ้างก็เลยเขียนส่งเข้าประกวดเรื่อยๆค่ะได้บ้างไม่ได้บ้างก็ถือเป็นการฝึประสบการณ์และการที่มาเขียนหนังสือเล่มนี้ก็หวังที่จะถ่ายทอดประสบการณ์เกี่ยวกับการเรียนสัตวแพทย์ว่ามันมีเรื่องราวอะไรเกิดขึ้นบ้าง ระหว่างเรียนสนุกสนานเฮฮาขนาดไหน

มีนักเขียนในดวงใจไหมคะ
นักเขียนที่ชอบจะเป็นคุณสรจักร ศิริบริรักษ์ เพราะเขียนได้หลายแนวและเป็นคนที่มีอารมณ์ขัน ส่วนนักเขียนต่างชาติจะชอบฮาลาน โคเบนเป็นนักเขียนนิยายสืบสวนสอบสวนที่ไม่สามารถเดาได้เลยว่าใครเป็นฆาตรกรถือว่าเป็นนักเขียนที่เก่งมาก ๆ เลยค่ะ

หนังสือเรื่องฉันไม่ใช่หมอหมาฯเป็นผลงานเขียนชิ้นแรกหรือเปล่าคะ
เล่มแรกเป็นรวมเรื่องสั้นชนะการประกวดเวทีเนชั่นบุ๊คส์ อวอร์ดปี 47 ค่ะอีกเล่มหนึ่งเป็นรวมเรื่องสั้นเหมือนกันเรื่อง ความฝันที่ปลิวหาย ค่ะ ส่วนเรื่องฉันไม่ใช่หมอหมาหมา...แต่ฉันเป็นสัตวแพทย์เล่มนี้เดิมทีเป็นเรื่องราวที่เราเขียนอ่านกันเองในกลุ่มเพื่อนเป็นการเผากันสนุกๆ และเคยเขียนเรื่องของเส้นทางการเป็นสัตวแพทย์ลงในนิตยสารสื่อรักสัตว์เลี้ยง พอเขียนตรงนั้นจบเราก็มานั่งคิดว่า ในระหว่างที่เราเรียนนั้น มันดูโหดร้ายทารุณมาก มันหนักมันเหนื่อย แต่พอเราเรียนจบมาแล้วกลับรู้สึกสนุกเมื่อนึกกลับไป เลยคิดที่จะรวบรวมเอาเรื่องราวสนุกๆตรงนั้นมาเขียนเป็นเล่ม เคยโพสต์ไว้ในเว็บบอร์ดพันธุ์ทิพย์และโอเคเนชั่นอยู่บ้าง จากนั้นก็มาเรียบเรียงเป็นหนังสือเล่มนี้ ซึ่งถือเป็นผลงานชิ้นที่ 3 ของเก็ตค่ะ

รู้สึกอย่างไรกับหนังสือเล่มนี้คะ
ดีใจค่ะ ถือว่าไปแชร์ประสบการณ์ส่วนตัวของเราให้คนอื่น ๆได้รับรู้

ความยากง่ายในการสร้างงานเขียน
ความจริงถ้าเราได้เขียนอะไรที่เป็นเรื่องใกล้ตัว เขียนอะไรที่เรารู้ดีจากประสบการณ์โดยตรง เราจะเขียนได้ดีกว่า

เป็นนักเขียนกับเป็นสัตวแพทย์นี่อะไรจะง่ายกว่ากัน
คนละแบบค่ะการเป็นสัตวแพทย์ก็เป็นเรื่องที่เราเรียนมาโดยตรงเป็นงานประจำที่เราทำอยู่แล้ว ส่วนงานเขียนเป็นงานที่ชอบและใช้เวลาว่างมาทำ ยังมีอะไรต้องพัฒนาอีกเยอะเลยค่ะ

จะมีผลงานเขียนอีกไหม
มีค่ะ..คงจะมีเรื่องราวเกี่ยวกับสัตวแพทย์เล่มที่สองเพราะเริ่มมีคนบอกว่าอยากอ่านแล้วค่ะ

การตอบรับจากหนังสือเล่มนี้เป็นอย่างไรบ้าง
ได้รับการตอบรับที่ดีค่ะ ถือว่าเป็นเล่มแรกที่เขียนจากประสบการณ์ของสัตวแพทย์ เด็ก ๆจะได้รู้ว่าต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้างถ้าจะเข้าเรียนคณะสัตวแพทย์ค่ะ

มุมมองต่อวงการหนังสือในปัจจุบัน
มองว่า...เราต้องส่งเสริมให้เยาวชนรักการอ่านมากขึ้นกว่านี้นะคะเพราะตอนนี้เยาวชนมีทางเลือกจากหลาย ๆ สื่อ ไม่ว่าจะเป็นอินเตอร์เน็ต โทรทัศน์วิทยุยิ่งทำให้เลือกที่จะอ่านหนังสือน้อยลงกว่าเดิมเข้าไปอีก ต้องช่วยกันกระตุ้นให้เด็กๆหันมาอ่านหนังสือกันเยอะ ๆ ค่ะ เริ่มตั้งแต่เล็กๆ เลยก็ยิ่งดีวงการหนังสือเองก็ควรพัฒนาการผลิตหนังสือให้มีเรื่องราวที่หลากหลายและเหมาะกับคนทุกวัยค่ะ

คิดว่าอาชีพสัตวแพทย์อยู่ในความสนใจของคนมากแค่ไหนคะ
ในเมืองไทยเองถ้าไม่นับสัตวแพทย์ที่อยู่ตามคลินิกแล้ว สาๆ ถือว่าขาดแคลนนะคะ ที่เขียนเรื่องเกี่ยวกับสัตวแพทย์ขึ้นมา ส่วนหนึ่งก็เพราะว่า ปกติคนมักจะคิดถึงหมอที่รักษาหมาแมวตามคลินิกเท่านั้น แต่ความจริงสัตวแพทย์ทำอะไรได้เยอะมากกว่านั้น อย่างเช่นแพนด้าที่ตกไข่ปีละครั้ง ครั้งละหนึ่งวัน ความจริงน่าจะสูญพันธุ์ไปนานแล้วแต่เราก็สามารถผสมเทียมออกมาจนได้ หรือหมอช้างที่รักษาพังกำไรที่สุรินทร์ ที่เรียนกันมา 6 ปีนี่ ไม่ได้เรียนรักษาแค่หมาแมวหรือสัตว์เลี้ยงน่ารักๆ ในบ้านเท่านั้น แต่สัตวแพทย์ต้องเรียนหลายสปีชีส์มาก เรียนตั้งแต่สัตว์น้ำ สัตว์บก สัตว์ปีก สัตว์ป่า การรักษาสัตว์แต่ละชนิดก็จะต่างกันออกไป ถือว่าค่อนข้างยาก และสาขาเหล่านี้บ้านเรายังขาดแคลนค่ะอย่างที่เรียนมารุ่เดียวกันก็มีแค่ 25 คน เท่านั้น การเรียนสัตวแพทย์มาไม่ใช่ว่าจะมีทางเลือกน้อยนะคะ มันมีทางเลือกหลายทาง อาจจะทำงานเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง เกี่ยวกับพวกคลินิกตามโรงพยาบาล ทำงานอยู่ฟาร์ม หมู วัว ไก่ ต่างๆ หรือทำงานในหน่วยงานราชการ กรมปศุสัตว์ กระทรวง หรือตามสวนสัตว์ หรือเอกชนก็คือพวกนักวิชาการต่าง ๆ ก็ได้เหมือนกัน อย่างเก็ตเองจบมาก็ทำงานในภาคผลิตยา เกี่ยวกับบริษัทผลิตยารักษาสัตว์เศรษฐกิจ เป็นยาที่นำเข้าจากอเมริกา แล้วเราก็เป็นแผนกวิจัยยาตรงนั้น อาจจะไม่ได้คลุกคลีกับสัตว์มาก ถ้าใครกำลังคิดจะศึกษาต่อมหาวิทยาลัย ก็อยากจะแนะนำให้เรียนสัตวแพทย์ดูค่ะนกวิจัยยาตรงนั้นอาจจะไม่ได้คลุกคลีกับสัตว์มากถ้าใครกำลังคิดจะศึกษาต่อมหาวิทยาลัยก็อยากจะแนะนำให้เรียนสัตวแพทย์ดูค่ะ

เทคนิคในการทำงานของคุณทั้งงานเขียนและงานอื่นๆ
ทำทีละอย่างค่ะ ว่างแล้วค่อยทำ อย่าไปเร่งอย่าไปรีบทำให้เสร็จๆ คนเราไม่สามารถสร้างไอเดียใหม่ ๆ ได้ถ้าตกอยู่ภายใต้ความกดดันหรือความเครียดหรอกค่ะ

งานอดิเรกยามว่า
ยามว่างจากงานก็ชอบอ่านหนังสือ ชอบถ่ายรูปหรือไม่ก็ไปดูหนังค่ะก็คงเหมือนกับคนอื่่นๆ เขาไม่แตกต่างอะไร

แนะนำผลงานเล่มนี้กับผู้อ่าน
เก็ตไม่ได้ห่วงเรื่องหนังสือของเราว่าจะขายดีหรือไม่อย่างไรแต่ที่คิดเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาก็เพราะอยากที่จะโปรโมตวิชาชีพนี้ด้วย เพราะสังคมยังขาดแคลนบุคลากรในอาชีพนี้อยู่มากต่อยอดจากหนังสือเล่มนี้ ก็มีอยู่ 2 โปรเจกต์ คือพยายามจะผลักดันให้มันเป็นภาพยนตร์คืออยากที่จะโปรโมตวิชาชีพ ทุกคนรู้จักหมอรู้จักทนายความ รู้จักดารา แต่อาชีพสัตวแพทย์ยังอยู่ในวงแคบๆแล้วคุณภาพของสัตว์เลี้ยงบ้านเราก็ยังไม่ดีพอถ้าเรามาช่วยกันปรับปรุงคุณภาพชีวิตของสัตว์ อาจจะไม่ต้องเป็นสัตวแพทย์ก็ได้แต่รู้ว่าจะต้องทำอะไร เป็นขั้นเป็นตอน ก็จะช่วยเหลือสังคมได้เยอะส่วนหนังสือเล่มนี้ก็เขียนให้อ่านกันขำๆ สนุกๆ ไม่เครียดค่ะ =

ฝากอะไรถึงแฟนๆเว็บประพันธ์สาส์น
อ่านหนังสือกันเยอะ ๆ นะคะ

 

โดย...ฟีนิกซ์

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ