ชีวัน วิสาสะ หรือที่หลายคนเรียกขานว่า ‘ครูชีวัน’ เขาเป็นทั้งนักเขียน นักเล่านิทาน นักวาดภาพประกอบ และเป็นเจ้าของผลงานนิทานภาพอันโด่งดังเรื่อง ‘อีเล้งเค้งโค้ง’ ที่มีตัวเอกในเรื่องเป็นเจ้าห่านหน้าบึ้งบูด แม้จะผ่านมากว่าสามสิบปีแล้วแต่หนังสือเรื่องนี้ก็ยังได้รับความนิยมจากบรรดาเด็กๆ คุณครู และผู้ปกครอง จนถูกผลิตออกมาอีกหลายเวอร์ชั่นและได้รับการพิมพ์ซ้ำมาอย่างต่อเนื่อง
แต่ไม่เฉพาะแค่อีเล้งเค้งโค้งเท่านั้น ครูชีวันยังผลิตหนังสือดีๆ ที่มีคุณประโยชน์ต่อเด็กออกมาอีกมากมาย และยังเป็นผู้ให้กำเนิดโครงการนิทานเดินทาง โครงการที่นำหนังสือไปแจกให้กับเด็กๆ ในพื้นที่ห่างไกลทั่วประเทศ และจัดกิจกรรมอ่านนิทานให้เด็กฟังเพื่อให้ความรู้ แม้วันนี้อายุจะล่วงเข้าสู่วัยหกสิบแล้ว แต่ครูชีวันก็ยังคงมุ่งมั่นในการทำหนังสือเพื่อเด็กๆ เพราะเขาเชื่อว่าหนังสือเป็นสื่อที่มีพลังและมันสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับผู้อ่านได้
“หนังสือของครูชีวันเรียกว่าหนังสือคาใจ คือเป็นหนังสือที่มีแง่มุมให้ฉุกคิด ให้เกิดคำถาม ทุกอย่างที่ออกแบบที่ใส่ลงไปมันผ่านกระบวนการคิดมาแล้วทั้งนั้น ยกตัวอย่างหนังสือเล่มหนึ่งของครูชื่อ ‘อ่านได้ เสียงดัง’ เปิดมาก็จะเห็นแถบสีต่างๆ มันก็เกิดคำถามว่าทำไมต้องเป็นสี พอเปิดต่อไปมันไม่มีตัวหนังสือ แต่เราเห็นรูปกระต่าย ลิง มันมีภาพ มันคือการมองเห็น แบบนี้ก็คือการอ่าน
เราอย่าจำกัดว่าต้องเป็นตัวหนังสือเท่านั้น แม้แต่การสัมผัสมันก็คือการอ่าน การรับรู้ การตีความ การอ่านไม่จำเป็นต้องอ่านจากตัวอักษรอย่างเดียว หนังสือของครูคือหนังสือภาพ ไม่ได้ถึงขนาดสอนภาษา แต่ว่าให้คิด ให้สนุกกับการอ่านภาพ ทั้งที่เป็นเรื่องราวและไม่เป็นเรื่องราวมันจะมีจุดที่คาใจอยู่ อ่านจบแต่ไปคิดต่อได้ มันมีจุดให้นำไปคิดต่อ”
พาหนังสือเดินทางไปทั่วประเทศ
“เราทำโครงการนี้มาตั้งแต่ปี 2557 แล้ว ทำกับครูเอ๋ วิภาวี ฉกาจทรงศักดิ์ คือไปตามโรงเรียน ไปตามโรงพยาบาลที่มีวอร์ดเด็ก เอาหนังสือไปมอบให้ ไปอ่านนิทานให้ฟัง มีหนังสือระบายสีให้เด็กๆ มีกิจกรรมให้เขาทำ และที่ที่จะไปตลอดคือศูนย์การศึกษาพิเศษของแต่ละจังหวัด ในศูนย์เขาก็จะดูแลเด็กที่บกพร่องทางด้านต่างๆ พอครูที่ศูนย์การศึกษาพิเศษเห็นเราเอาหนังสือไปมอบให้เขาดีใจเลย เพราะเขาคิดว่ามันคือเครื่องมือในการสอนเด็ก
พอเราอ่านหนังสือให้เขาฟังเขาก็จะมีปฏิกิริยาโต้ตอบ มันเป็นการกระตุ้นศักยภาพภายในของเขา ไปกระตุ้นประสาทสัมผัสของเขา ได้พูด ได้เคลื่อนไหว ได้ดู ได้ฟัง คนทั่วไปอาจจะไม่รู้ว่าแต่ละอำเภอแต่ละตำบลมีเด็กพิเศษเยอะมาก แล้วก็ไม่ได้เข้าระบบการศึกษาร้อยเปอร์เซ็นต์ เด็กบางคนต้องอยู่ที่บ้านเพราะพ่อแม่ไม่มีความสามารถส่งลูกเรียน ที่ครูชีวันทำได้ก็คือเอาหนังสือไปให้ไปทำกิจกรรม ถ้าเป็นรูปธรรมเราก็ไม่ได้อะไรคืนมาหรอก แต่เราคิดว่ามันดี”
ปัญหาที่เห็นในพื้นที่ที่เดินทางไป
“ถ้ามุ่งไปที่เด็ก มันก็คือขาดพื้นที่สร้างสรรค์ ขาดพื้นที่ที่จะให้เด็กทำกิจกรรมสร้างสรรค์ บางทีเราลงพื้นที่ไปไม่ได้ทำงานแค่เรื่องการอ่านนะ บางทีก็ไปทำเรื่องศิลปวัฒนธรรมประเพณี ครูเคยคิดขบวนแห่บั้งไฟแล้วให้เด็กมีส่วนร่วม ซึ่งก่อนหน้านั้นไม่เคยมีเลย เราก็ออกแบบบั้งไฟเด็ก ให้เด็กมีส่วนร่วม มีงานสร้างสรรค์
พอมีกิจกรรมอย่างนี้มันก็ได้เวิร์คช็อปกัน คนเฒ่าคนแก่ก็ได้เข้ามามีส่วนร่วม เด็กก็ได้ร่วม มันก็คือประสบการณ์ร่วมกัน เป็นประสบการณ์ที่ดี แต่ว่ามันไม่ได้รับการสนับสนุนด้านทุนทรัพย์ หน่วยงานจังหวัดไม่ได้เห็นความสำคัญ พอเราไม่ได้ไปอีกงานพวกนี้มันก็หายไป”
เทคโนโลยีแทนที่หนังสือไม่ได้
“สื่อสมัยใหม่สื่ออิเล็กทรอนิกส์พวกนั้นไม่สามารถแทนหนังสือได้นะ หนังสือเนี่ยเราเห็นการเปิดไหม เราได้จับต้อง มันมีมิติ ยกตัวอย่างถ้าเราไปใส่แว่น VR เล่นเกมรถไฟเหาะตีลังกา เราก็จะเห็น เรารู้สึกได้ แต่เราไม่ได้สัมผัสกับลม ไม่ได้เจอกับแรงเหวี่ยงจริงๆ เพราะมันเป็นภาพสมมติ เราเห็น เรารับรู้ แต่ร่างกายส่วนอื่นๆ มันไม่ได้สัมผัสจริง
หนังสือก็เหมือนกัน อารมณ์ความรู้สึกมันต่างกัน แล้วหนังสือมันมีความหลากหลาย เราได้สัมผัสความหลากหลาย การเรียงลำดับความคิด การทบทวนเรื่องราว การหาคำตอบจากสิ่งที่มันอยู่ในมือมันจะชัดเจนแจ่มแจ้งกว่า มันไม่เหมือนการปัดผ่านบนหน้าจอ หนังสือมันก็มีเสน่ห์ของมัน”
หนังสือสร้างความเปลี่ยนแปลงได้
“มันอาจจะไม่ได้เปลี่ยนแบบหน้ามือเป็นหลังมือ แต่มันมีผลแน่นอน แต่ไม่ได้หมายความว่าเป็นกับเด็กทุกคนนะ มันขึ้นกับว่าเด็กคนนั้นอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบไหน เคยมีเด็กที่เข้าอนุบาลแล้วไม่พูด ไม่ได้ผิดปกติอะไรแต่ไม่พูด คือครอบครัวเขาญาติผู้ใหญ่เยอะ เลี้ยงแบบแทบจะเป็นไข่ในหิน ไม่ต้องทำอะไรเอง ผู้ใหญ่สปอยล์หมด เวลามีคนมาถามย่าก็จะตอบปู่ก็จะตอบแทน เด็กก็ไม่ได้พูด พอเข้าโรงเรียนก็ติดไม่พูด คือมันเกิดจากสภาพแวดล้อม
พอมาอยู่โรงเรียนครอบครัวไม่ได้ตามมาด้วย ครูเขาก็อ่านนิทานให้ฟัง เด็กก็ได้มีส่วนร่วม ก็เริ่มเปิดปาก เริ่มมีเสียง เริ่มพูดเองแล้ว สุดท้ายแล้วหนังสือก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบภายนอกและครอบครัวด้วย หนังสือมันเป็นของมีคุณ มันดีทั้งนั้น แต่ก็ต้องมาดูให้ละเอียดด้วย อย่างมันมีวิธีการออกแบบการสื่อสารยังไง พ่อแม่จะซื้อให้ลูกก็ต้องดูว่าสารอาหารในหนังสือมันมีมากแค่ไหน”
มุ่งหวังให้เกิดความคิดใหม่จากการอ่าน
“อยากให้อ่านหนังสือของครูแล้วเกิดความคิด ไอ้เรื่องราวสนุกสนาน รสของศิลปะทั้งหลายแหล่ ไม่ว่าจะเป็นภาพ ไม่ว่าจะเป็นภาษา อันนั้นมันคือการปรุงรส สุดท้ายแล้วเราอยากให้เขาเกิดความคิดใหม่ๆ ขึ้นมา นำไปคิดต่อ ไอ้ความคิดที่มันเกิดขึ้นเนี่ยมันคือทักษะ การคิดได้มันคือทักษะ พอเขารู้ทักษะ รู้จักการคิด ไม่ว่าจะไปประกอบอาชีพอะไรมันก็จะไม่ตัน ความคิดครูคือครูปรุงหนังสือเล่มนี้ให้สัมผัสแล้ว เหมือนได้กินอาหารอร่อยอิ่มแล้ว แต่ไม่ใช่อิ่มแล้วพอ อิ่มแล้วมันต้องแข็งแรง ได้สารอาหาร ได้เติบโตด้วย”
ขอบคุณภาพจากเฟซบุ๊ก Cheewan Wisasa