คุยนอกรอบ แก๊ป ธนเวทย์ : เลี้ยงลูกด้วยหนังสือในยุคสื่อดิจิทัล

คุยนอกรอบ แก๊ป ธนเวทย์

    การเลี้ยงลูกในยุคที่เต็มไปด้วยสื่อดิจิทัลไม่ใช่เรื่องง่าย การควบคุมไม่ให้ลูกใช้แท็บเล็ตหรือสมาร์ตโฟนเป็นเวลานานก็เป็นเรื่องยากเช่นกัน ยิ่งถ้าพ่อแม่บางท่านปล่อยปละให้ลูกอยู่กับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์นานๆ ก็พานทำให้เกิดปัญหาเด็กติดจออย่างเลี่ยงไม่ได้ นี่ถือเป็นหนึ่งในปัญหาใหญ่ในการเลี้ยงลูกที่เราเชื่อว่าหลายครอบครัวต้องเจอ รวมถึงครอบครัวคุณแก๊ป-ธนเวทย์ สิริวัฒน์ธนกุล นักแสดงหนุ่มที่กำลังฮอตจากซีรี่ส์เรื่อง ‘สืบสันดาน’ คุณแก๊ปบอกกับเราว่าครอบครัวของเขาก็เจอปัญหาไม่ต่างจากครอบครัวอื่น แต่หนึ่งในวิธีที่เขาเลือกนำมาใช้แก้ปัญหาไม่ใช่การบังคับ แต่เป็นการสร้างกิจกรรมทดแทนด้วยการชวนลูกมาอ่านหนังสือ นอกจากจะดึงความสนใจของลูกออกมาจากหน้าจอได้แล้ว ก็ยังเป็นการเพิ่มความคิดสร้างสรรค์และเสริมสร้างพัฒนาการให้ลูกได้อย่างดีอีกด้วย

“ตอนนี้ลูกสาวผมกำลังจะหกขวบครึ่งแล้ว ผมกับแฟนเลี้ยงกันเองครับ ไม่ได้มีพี่เลี้ยง แต่หลักๆ แฟนผมเป็นคนเลี้ยง เขามีต้องดูแลธุรกิจด้วยแต่ก็ไม่ได้ใช้เวลาเยอะ ผมเองก็ไม่ได้ทำงานประจำ เราเลยสามารถจัดสรรเวลาให้ลูกได้ครับ”

 

คุยนอกรอบ แก๊ป ธนเวทย์ เลี้ยงลูกด้วยหนังสือในยุคสื่อดิจิทัล


ปกติแล้วคุณควบคุมเรื่องการใช้สื่อดิจิทัลกับลูกหรือเปล่า

“เอาจริงๆ เรื่องสื่อดิจิทัลเนี่ยเราก็พยายามจะคุมให้ได้มากที่สุด ช่วงแรกๆ เราจะเริ่มให้เขาดูเฉพาะจอใหญ่แบบทีวีอย่างเดียว จะไม่ให้ดูผ่านมือถือหรือไอแพดเลย แต่พอเขาเริ่มโตแล้วเนี่ย ผมว่ามันมีความพิเศษ คือเด็กเขามีสกิลในการใช้เครื่องมือ ใช้ทูลแกดเจ็ตที่ไวมากโดยที่ไม่ต้องบอกเลย เขาจะสามารถรู้เลยว่าไอ้นี่ต้องกดอะไร บางทีรู้เร็วกว่าพ่อแม่อีก

พอเขาโตเราก็เริ่มไม่สามารถคุมได้ชัดเจน แต่ว่าแต่ละครั้งก็จะบอกเขาเลยว่าจะให้ดูได้ถึงตอนไหน อันนี้ดูได้กี่ตอนกี่นาที ซึ่งเวลาที่เขาดูเราจะพยายามดูร่วมกับเขาตลอด หรือถ้ามีช่วงเวลาที่ปล่อยให้เขาดูคนเดียว เราก็จะเลือกคอนเทนต์ที่เรามั่นใจว่ามันไม่อันตราย เช่น การต่อเลโก้ งานคราฟต์ งานตกแต่งทำโมเดลอะไรอย่างนี้ครับ”

 

คุยนอกรอบ แก๊ป ธนเวทย์

 

พอเราไปสร้างข้อจำกัดแบบนั้นเขามีต่อต้านบ้างไหม

“มีครับ ผมเคยปรึกษาคุณหมอ เขาบอกว่าเด็กจะทดสอบเราไปเรื่อยๆ เช่นเราตกลงกับเขาว่าให้ดูอีกสิบห้านาทีนะ พอถึงเวลาเขาจะเริ่มต่อรองขอดูเพิ่ม ถ้าเราไม่อนุญาต สิ่งที่เกิดขึ้นคือเขาจะเริ่มทำในสิ่งที่เขารู้ว่าเราจะไม่โอเค คือทำอะไรที่จะให้เราปรี๊ดให้ได้ สิ่งที่เราต้องทำคือใจเย็น ผมบอกตัวเองตลอดว่าต้องใจเย็นให้ได้ แล้วก็อย่าตัดสินลูกด้วยสายตาหรือความคิดของตัวเอง

การที่เราทำอะไรกับเขาก็แล้วแต่ มันคือการป้อนข้อมูลเข้าไปในเมมโมรี่เขา แล้วเราไม่มีทางรู้เลยว่าในเมมโมรี่นั้นมันจะถูกเก็บแล้วส่งผลอะไรต่อเขาบ้าง ผมว่ามันมีความละเอียดอ่อนหลายอย่างมาก เราต้องใจเย็น คุยกับเขา แล้วก็ค่อยๆ พิจารณาความเป็นไป ฟีลแบบเกือบๆ แตะเชิงธรรมะ อย่างตัวผมเองจะพยายามใช้เวลาอยู่กับลูกให้มาก พยายามหากิจกรรมทำร่วมกับเขา ผมว่าเราจะสามารถเอ็นจอยโมเมนต์ต่างๆ กับเขาได้ แล้วมันน่าจะดี”

 

คุยนอกรอบ แก๊ป ธนเวทย์

กิจกรรมไหนที่คุณทำร่วมกับลูกบ่อยที่สุด

“อ่านหนังสือครับ คือผมพยายามให้เขาได้เรียนรู้จากหนังสือ แต่ผมรู้สึกว่าด้วยเขาอยู่ในวัยเด็ก มันก็ต้องเป็นเราที่อ่านให้เขาฟัง ซึ่งพอเราทำทุกวันจนเขาชิน เขาก็จะเริ่มรีเควสท์มาเองแล้ว อย่างตอนนี้ก่อนนอนเขาต้องขอให้อ่านนิทานหนึ่งเล่มหรือสองเล่ม ผมก็จะให้เวลาตรงนี้กับเขา

ผมเชื่อว่าหนังสือหนึ่งเล่มไม่มีใครอ่านครั้งเดียว ส่วนใหญ่ลูกจะต้องขออ่านมากกว่าหนึ่งครั้ง ดังนั้นการอ่านครั้งที่สองครั้งที่สามเราก็จะต้องรีเฟรชมัน ทำให้มันสนุกขึ้น ซึ่งผมว่ามันเป็นเรื่องดีมากๆ นะ เพราะคุณสามารถคุยกับเขาและชวนเขาดูอย่างอื่นต่อเนื่องไปได้ อย่างชวนเขาคิด ชวนเขาสังเกต มันเป็นการต่อยอดเรื่องพัฒนาการของเขาด้วยครับ”

 

คุยนอกรอบ แก๊ป ธนเวทย์


ส่วนใหญ่คุณเลือกหนังสือแบบไหนให้ลูกอ่าน

“ในช่วงต้นก็จะเป็นพวกหนังสือนิทานครับ ก็มีทั้งนิทานไทย นิทานญี่ปุ่น เป็นเรื่องราวแบบทั้งสนุกสนานทั่วไป เรื่องราวแบบมีข้อคิดบ้าง มีหนังสือภาพด้วย ซึ่งผมกับแฟนจะเลือกแบบหลากหลายครับ และด้วยความที่เราเรียนอาร์ตดีไซน์มา เราก็จะเลือกที่ภาพสวย ส่วนเนื้อหาเราก็ไม่ได้ปิดกั้นว่าต้องเป็นแบบไหน แต่ก็จะพยายามเลือกเรื่องที่มันมีความวาไรตี้ เพื่อให้เขาได้เห็นอะไรที่หลากหลาย พอสัก 5-6 ขวบก็จะมีหนังสือภาพที่เป็นภาษาอังกฤษ ก็พอเริ่มอ่านเป็นคำๆ ได้ ส่วนใหญ่เราจะอยู่ด้วยเวลาที่เขาอ่านหนังสือ เพราะเราจะอ่านให้เขาฟัง จะมีหนังสือภาพที่เขาดูเองบ้างครับ”

 

คุยนอกรอบ แก๊ป ธนเวทย์

พัฒนาการที่คุณเห็นจากการที่ให้เขาอ่านหนังสือคืออะไร

“ผมว่าคือความ creativity ครับ คือการคิดต่อยอด การผสมผสานเรื่องราว การจัดเรียงความคิด รวมถึงจินตนาการที่เขามี คือข้อดีของการอ่านหนังสือกับลูกเนี่ย ผมว่ามันเป็นเวลาที่มีค่า มันจะมีเรื่องของความอบอุ่น ความใกล้ชิดกับลูก แล้วเวลาที่เราอ่านหนังสือกับเขา เราก็สามารถชี้แนะได้ว่าเรื่องราวที่มันอยู่ในหนังสือมันคืออะไร และชวนให้เขาคิดต่อว่ามันจริงหรือเปล่า ทำไมตัวละครนี้ทำแบบนี้ แล้วถ้าเป็นคนอื่นจะทำแบบนี้ไหม หรือจะไม่ทำเพราะอะไร มันทำให้เขาได้ใช้ความคิดได้ใช้จินตนาการของเขาด้วย ผมว่ายังไงการให้เขาได้อ่านหนังสือมันก็มีประโยชน์มากๆ ครับ”

 

Writer

Au Thitima

Content Creator ผู้รักในการอ่าน ชอบในการเขียน และคลั่งไคล้สัตว์สี่ขาที่เรียกว่าแมว