ไมตรี ลิมปิชาติ : เป็นนักเขียนอย่าดัดจริต

ไมตรี ลิมปิชาติ

จาก นักบาสทีมชาติ ผันตัวเองมาอยู่ในแวดวงน้ำหมึก จนประสบความสำเร็จงานหลายๆเล่มได้รับการยอมรับในวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสั้นชุด คนอยู่วัด ความรักของคุณฉุย ดร.ครก หลายๆคนคงเคยได้ยินชื่อ ไมตรี ลิมปิชาติ มานับนานแล้ว เขาเริ่มจดปากกาลงบนหน้ากระดาษมากว่า 30 ปี ไมตรี ลิมปิชาติ เกิดที่จังหวัดนครศรีธรรมราชเมื่อ 60 ปีก่อน รู้ตัวว่าชอบเขียนหนังสือตั้งแต่สมัยที่เรียนอยู่ที่ โรงเรียนศรีธรรมราชวิทยา พอจบก็เข้ามาศึกษาต่อในกรุงเทพ เริ่มเรียนไล่ไปตั้งแต่ เรียนอาชีวะที่อุเทนถวาย เทคนิคกรุงเทพ สุโขทัยธรรมาธิราช นอกจากนี้แล้วคุณไมตรียังเคยเข้ารับการ อบรม mini-MBA ที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อบรมพวกสถาบันจิตวิทยา ประชาสัมพันธ์ วิชาซึ่งจำเป็นยิ่งต่อการพัฒนาสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยที่ปัจจุบันมีไมตรี ลิมปิชาติ นั่งกุมบังเหียนอยู่

ปัจจุบันไมตรี ลิมปิชาติ ยังเขียนหนังสืออยู่ทุกวัน เมื่อมีเวลาว่างเมื่อไหร่ก็ต้องเขียน โดยมีคอลัมน์ประจำอยู่ในหน้าสื่อ อย่าง เดลินิวส์ สยามกีฬา และสวัสดีกรุงเทพ “ ก็ยังต้องเขียนทุกวันนะ ว่างเมื่อไหร่ก็ต้องเขียน เหมือนกับถูกบังคับให้เขียน เมื่อเช้าก่อนออกมาก็ยังเขียนให้เดลินิวส์ วันจันทร์จะเป็นคิวของ สวัสดีกรุงเทพ อังคาร พุธ นี้ได้พักหน่อย พฤหัสนี้ของเดลินิวส์ ศุกร์ เสาร์ก็ต้องสยามกีฬา ”วันนั้นเราคุยกับคุณไมตรี อย่างออกรส คุณไมตรี ลิมปิชาติ กรุณาเล่าเรื่องราวต่างๆให้ฟังมากมายแม้จะติดธุระที่อื่นอยู่ก็ตาม ซึ่งออกจะเกินเลยอยู่สักหน่อยถ้าผมจะตัดตอนหรือแบ่งเป็นหัวข้อใหม่ขึ้นมา และหลังจากได้อ่านทวนบทสัมภาษณ์ของนายกสมาคมนักเขียนดูใหม่แล้ว ผมว่ามันให้ความรู้สึกดิบ เหมือนกับเรากำลังนั่งฟังคุณไมตรี เล่าเรื่องราวต่างๆให้ฟังอยู่ เชิญมานั่งล้อมวงฟังเรื่องราวของไมตรี ลิมปิชาติ กันดีกว่า

เริ่มเขียนหนังสือมาตั้งแต่เมื่อไหร่
เขียนงานจริงๆ ก็เริ่มตั้งแต่ตอนที่เรียนที่ศรีธรรมราชวิทยาเขาจะมีการเล่นละครทุกปี ก็เลยร่วมๆกับเพื่อนเขียนบทละคร แต่ตอนนั้นไม่ได้เขียนคนเดียว ก็เริ่มจากตรงนั้น จริงๆแล้วผมเป็นคนชอบอ่านหนังสือก็เลยทำให้เป็นคนอยากเขียนหนังสือ ก็เขียนมาตลอดเขียนโน่นเขียนนี้แต่ไม่ได้เอาไปส่งที่ไหนเลย เหตุผลก็เพราะว่ายังไม่ค่อยมั่นใจ แต่ว่าชอบเขียนก็เขียนมาเรื่อยๆ ขณะที่เขียนหนังสือนี้ พอดีว่าเป็นคนที่ชอบเล่นบาสเก็ตบอลด้วย ก็เป็นนักบาส ซึ่งก็เล่นใช้ได้เลยรู้อนาคตตัวเองว่าอาจจะไปถึงเป็นทีมชงทีมชาติ ตอนนั้นทั้งเขียนหนังสือทั้งเล่นบาสชอบทั้งสองอย่าง แต่พอมาคิดว่าการเขียนหนังสือนี้แก่ยังไงก็ยังเขียนได้ แต่ว่าเล่นบาสนี้มันต้องเล่นก่อนมันต้องเล่นตอนที่ยังหนุ่มๆ ก็เลยเลือกเอาเล่นบาสก่อน ส่วนเรื่องหนังสือก็ทิ้งไว้ที่หลัง

จนกระทั่งเป็นเยาวชน เป็นทีมชาติ เป็นทีมมหาวิทยาลัย ไปแข่งขันที่ญี่ปุ่น พอกลับมาจากญี่ปุ่นก็ตัดสินใจเลิกบาสเก็ตบอลเด็ดขาดเพราะตอนนั้นเริ่มแก่แล้ว เรี่ยวแรงไม่ดีแบบเด็กหนุ่มๆ หลังจากนั้นก็หันมาเขียนหนังสืออย่างเอาจริงเอาจัง แต่ก็ยังไม่กล้าส่งอยู่ดีจนกระทั่ง แต่งงานเมื่ออายุ 29 ปี มีภรรยา บังเอิญที่ภรรยาเป็นครูภาษาไทย แล้วก็เป็นนักอ่านด้วยแล้วบังเอิญอีกนั้นแหละที่แกแอบไปอ่านหนังสือที่เขียนเก็บไว้ตอนนั้นผมใช้ลายมือเขียน เขาอ่านแล้วก็บอกว่ามันก็มีดีหลายเรื่องนี้เก็บไว้ทำไม เขาเลยเลือกบางเรื่องขึ้นมาแล้วเอามาพิมพ์กับพิมพ์ดีด พิมพ์เสร็จ ภรรยาก็เอาส่งไปที่ ฟ้าเมืองไทย สมัยที่ อาจินต์ ปัญจพรรค์ เป็นบรรณาธิการ คุณอาจินต์ก็ เอาลงฟ้าเมืองไทยฉบับที่ 93 เป็นเรื่องสั้นลงในคอลัมน์ เขาเริ่มต้นที่นี้ ก็คงเป็นนักเขียนคนเดียวมั่งที่ไม่มีลงตระกร้า เพราะว่ามีบรรณาธิการ คือภรรยาที่ช่วยกรองเรื่องให้ เรื่องที่ภรรยาเลือกส่งไปคือเรื่อง หล่อนต่ำเพราะอยากสูง หลังจากนั้นก็ค้นเรื่องสั้นประมาณ 20 -30 เรื่องที่เขียนทิ้งไว้มาดูว่าเรื่องไหนใช้ได้ก็เอาให้ที่บ้านเขาพิมพ์แล้วก็ส่งไป

แต่ก่อนที่จะส่งนี้ ได้ไปรับค่าเรื่องที่ฟ้าเมืองทองก่อน จำได้ว่าได้ 50 บาทสมัยนั้นโอเลี้ยงแก้วล่ะบาทเดียว พี่อาจินต์ถามว่าทำงานที่ไหน ผมก็บอกว่าทำที่การประปา แกเลยบอกว่าเขียนเรื่องการประปาสิ สมัยนั้นเขาจะนิยมเขียนเรื่องเป็นชุด ผมก็เลยเขียนเรื่องประปาไป แกก็ลงให้ทุกเรื่อง มีบางเรื่องที่ไม่ได้ลงในครั้งแรก พี่อาจินต์ก็จะแนะว่า ควรจะเป็นยังไงควรแก้ยังไงแล้วก็ได้ลง พอเขียนเรื่องชุดประปาในฟ้าเมืองไทยได้ระยะหนึ่งก็รู้สึกเบื่อ เพราะสมัยนั้นหนังสือชุดเยอะ เช่น ชุดช่างไม้ ชุดเหมืองแร่ ชุดครู สมัยนั้นเขานิยมเป็นชุดๆ ก็เลยอยากเขียนอะไรที่มันแตกต่างออกไปบ้าง ก็มานั่งคิดว่าเคยทำอะไรมาบ้างเคยใกล้ชิดอะไรมาบ้าง.....อ้อ ก็เคยเป็นเด็กวัด ก็เคยเป็นเด็กวัดอยู่สามปี งั้นเอาเรื่องชุดเด็กวัดมาเขียนดีกว่า ก็เลยเขียนชุดเด็กวัดเป็นเรื่องสั้น พอเสร็จก็เอามาให้พี่อาจินต์ พี่อาจินต์ไม่อ่านเลยบอก...ไม่เอาจะเอาเรื่องประปา ก็เลยตัดสินใจเอาเรื่อง คนอยู่วัด ส่งไปที่ ชาวกรุง ซึ่งเป็นหนังสือรายเดือนที่ขายดีที่สุดในสมัยนั้น ชาวกรุงเป็นหนังสือในเครือของ สยามรัฐ มี คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นเจ้าของ ตอนนั้นคุณ ประมูล อุณหธูป เป็นบรรณาธิการ ก็ส่งไปเรื่องแรกไม่ได้ลง เรื่องที่สองก็ไม่ได้ลง เรื่องที่สามจำได้ว่าชื่อเรื่องว่า “ แผนของล้าน ” ก็ได้รับจดหมายฉบับหนึ่งเขียนมาจากบรรณาธิการ ชาวกรุงว่า ได้อ่านเรื่องแผนของล้านแล้วชอบ จะนำลงในชาวกรุงฉบับหน้าพอได้อ่านเรื่องของคุณไมตรีเรื่องนี้แล้วก็เลยเอาสองเรื่องที่ส่งมาก่อนนี้มาอ่านใหม่ก็เห็นว่าใช้ได้ทุกเรื่อง....โอ้ยดีใจนอนไม่หลับเลย ก็เลยได้ลงหมดทั้งสามเรื่อง แต่ว่าเดือนละเรื่องนะ ที่นี้พอลงในชาวกรุงเสร็จปุ๊ป ก็คิดว่าเราควรจะกระจายผลงานไม่ควรจะจมอยู่กับฟ้าเมืองไทย ชาวกรุง เราก็ควรจะหาแนวอื่นมาเขียนบ้าง ตอนนั้นทำงานอยู่ที่สมุทรปราการ

ตอนนั้นที่ทำงาน-เทศบาลนี้อยู่ใกล้กับพวกข้าราชการอยู่ใกล้กับอำเภอ ใกล้กับศาลากลาง ใกล้กับด่านศุลกากร ใกล้กับพวกทหารเรือ ซึ่งเขามาที่สโมสรข้าราชการประจำ มาแทงบิลเลียดมากินเหล้า แล้วเราเองก็ไปคลุกอยู่ตรงนั้นก็เลยมีความคิดว่าเอ...เราควรจะเขียนเรื่องสั้นชุดข้าราชการสักเรื่องสักชุดหนึ่ง ก็มาคิดว่าหนังสืออะไรที่เหมาะสม ก็มี สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ สมัยนั้นมติชนยังไม่มี เนชั่นยังไม่มี สยามรัฐนี้ถือเป็นหนังสือที่ดังที่สุดตอนนั้นรู้สึกคุณ รงค์ วงษ์สวรรค์ เป็นบรรณาธิการ หรือ ประจวบ ทองอุไร ไม่แน่ใจ ก็ได้ส่งเรื่องสั้นไปลงและได้ลงติดต่อกันร่วม 20 เรื่องได้มั่ง แล้วก็พอได้เรื่องครบ ก็เกิดความมั่นใจว่าน่าจะทำหนังสือพ๊อคเก็ตบุ๊คสักเล่มหนึ่ง ก็เลือกเอาชุดข้าราชการเป็นเล่มแรกเหตุผลก็เพราะว่ามันมีครบสมบูรณ์ที่จะรวมเล่มได้และชอบด้วย ตอนแรกว่าจะรวบรวมไปขาย ประพันธ์สาส์น สมัยนั้นดังมาก ประพันธ์สาส์นนี้โอ้โหพ๊อคเก็ตบุ๊คดังมาก ก็เดินผ่านหน้าร้านเดินไปเดินมาก็ไม่กล้าเข้าไปขาย กลัวเขาจะไม่ซื้อก็เลยตัดสินใจพิมพ์เองชื่อเรื่อง “ ทางออกที่ถูกปิด ” เป็นพ๊อคเก็ตบุ๊ค ปรากฎว่าได้รับการตอบรับที่ดีพอสมควร ก็พิมพ์ 5000 เล่มขายหมดนะสมัยนั้น ก็ต้องพิมพ์เพิ่ม ทั้งๆที่เป็นนักเขียนใหม่ เพราะว่าสื่อมวลชนเขาช่วยกันก็เลยขายได้ ก็พิมพ์ครั้งที่สองที่สามออกมา

ที่นี้เกิดกำลังใจว่าเราน่าจะเขียนเรื่องแนวอื่นส่งไปยังนิตยสารอย่างอื่นบ้างก็เลยนึกถึง สตรีสาร สตรีสารนี้เป็นหนังสือมีชื่อเสียงเป็นหนังสือชั้นดีเพราะว่าบรรณาธิการ อาจารย์ นิลวรรณ ปิ่นทอง นี้ท่านเป็น นักอักษรศาสตร์และเป็นบรรณาธิการที่ ได้รับการยกย่องว่า หากท่านเลือกเรื่องของใครลงนี้แสดงว่าเรื่องนั้นใช้ได้ เพราะถ้าไม่ดีจริงจะไม่เอาลง ที่นี้ก็มาดูสตรีสารนี้เป็นเรื่องของครอบครัว ก็เลยเขียนเกี่ยวกับครอบครัวเรื่องเกี่ยวกับในบ้านง่ะนะ เมียบ้าง ลูกบ้าง แม่ยายบ้างเขียนไปลงสตรีสารก็ปรากฏว่าได้ลง แล้วตอนนั้นก็มีหนังสือเปิดใหม่อีกเล่มหนึ่งซึ่งมี สุวรรณี สุคนธา เป็นบรรณาธิการ หนังสือนั้นก็คือ ลลนา ก็ลองนึกว่าเอ..คุณ สุวรรณี สุคนธานี้แกเป็นศิลปิน ก็ต้องชอบเรื่องสั้นที่มันผิดปรกติ หน่อย คือถ้าธรรมดาๆนี้คงจะไม่ได้ลง ก็เลยเขียนเรื่องที่รู้สึกว่าค่อนข้างแปลกๆหน่อยก็เขียนส่งไปก็ได้ลงหลายเรื่อง อยู่ในลลนา เท่าทีจำได้ก็มีฉากหลังบ้าน ในกระจกบานนั้น พอมีหนังสือที่ได้มาตรฐานลงเรื่องของเรา เช่น ฟ้าเมืองไทย ชาวกรุง สยามรัฐ ลลนา สตรีสาร เรารู้สึกว่าเราเกิดเต็มที่ แล้วก็เกิดจริงๆเพราะว่าหนังสืออื่นนี้เขาจะมาขอเรื่อง เขารู้จักไมตรีแล้ว พ๊อคเก็ตบุ๊คก็มีทั้งเรื่องต่างๆก็ลงหนังสือที่ได้มาตรฐานเขาเลยมาขอเรื่อง เราก็ได้ขายเรื่องไปทั่ว....

ต่อมาก็มีเรื่องสั้น ชุดบ้านของมังคุด ลงในสตรีสาร แล้วอยู่ๆคุณ สุจิตต์ วงษ์เทศ ก็ออกนิตยสารชื่อ การะเกด เป็นนิตยสารรายสัปดาห์หรือรายเดือนจำไม่ได้แล้ว คุณสุจิตต์ ก็โทรศัพท์มาขอเรื่องยาวไปลงในการะเกด ชื่อเรื่อง ครั้งเดียวพอ เอาชีวิตสมัยเป็นนักบาสตอนไปแข่งที่ญี่ปุ่น จากนั้นคุณ น้ำมนต์ อยู่สกุล มาทำหนังสือ วัยหวาน ให้ประพันธ์สาส์น ก็ไปหาผมที่การประปา บอกว่าพี่ๆ เขียนเรื่องยาวให้สักเรื่องสิ ผมก็บอกว่าเขียนไม่ได้หรอกเรื่องราวเกี่ยวกับวัยรุ่นนะ เพราะเกินรุ่นมานานแล้ว อายุตอนนั้นก็เกือบ 50 แล้ว คุณน้ำมนต์ก็ว่าเขียนได้สิเอาเรื่องของลูกของอะไรมาเขียนสิ ผมก็ตอบรับไป เขียนเรื่องแรกก็ดังเลย ความรักของคุณฉุย จดหมายเข้าเยอะ คราวนี้ก็จบไม่ได้ ตอนแรกกะว่าเขียนสัก 6-7 ตอนก็กลายเป็นร่วมๆ 20 ตอน เรื่องนี้ก็ได้นำมาทำเป็นละครทีวีด้วย

พอดีตัวเองเป็นคนชอบเที่ยวด้วย ไปต่างประเทศกลับมาก็ต้องเขียนหนังสือเล่มแรกที่ไปเที่ยวคือ กัวลาลัมเปอร์ ก็รู้สึกว่าเราเสียเงินค่าเที่ยวเอามาเขียนดีกว่า ก็ไม่รู้ว่าสารคดีเขาเขียนกันยังไง แต่ก็เอามาเขียนเขียนไปเรื่อยๆ แล้วตั้งชื่อหนังสือว่า เที่ยวกับเมีย เพราะไปกับเมีย เล่มนี้ได้รางวัลชมเชยหนังสือดีเด่นประจำปี เล่มนี้เป็นเล่มแรกที่ได้รับรางวัล

เล่มไหนที่สร้างชื่อให้คุณไมตรีมากที่สุด
เป็นคนที่ไม่โด่งดังคือมาเรื่อยๆแล้วก็ไม่ตก เดี๋ยวนี้ก็ยังขายเรื่องได้ยังขายหนังสือได้อยู่ ปัจจุบันนี้ก็ยังมีคนขอตลอด ตอนนี้ที่ออกใหม่ก็เรื่องคนในผ้าเหลืองแต่เล่มนี้จะว่าใหม่ก็ไม่เชิงเพราะพิมพ์มาครั้งที่ 5 แล้ว คุณ ดนัย จันทร์เจ้าฉายเขาเอาไปพิมพ์ คนอยู่วัดนี้ก็พิมพ์มา 24-25 ครั้ง แล้วก็ประมาณ 6 แสนเล่มแล้วล่ะ พิมพ์ครั้งละ 2 หมื่นกว่า แต่ครั้งแรกๆนี้จะพิมพ์ประมาณหมื่นหนึ่ง นักเขียนบ้างคนนี้ขึ้นแล้วก็หายไป แต่ของผมแค่เขยิบขึ้นมาหน่อยหนึ่งแล้วมันก็ตีขนานมาอย่างนี้มาตั้ง 30 ปีแล้ว มันเป็นยังนี้มานาน บางคนพอได้ซีรงซีไรต์ก็ตกหายไปเลย

มีหลายคนบอกว่าเคยอ่านหนังสือเรื่อง คนอยู่วัด หลายครั้ง แล้วก็ชอบ รู้สึกยังไงที่งานของตัวเองเป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ชอบอ่านหนังสือมีบางคนถึงขั้นอยากเขียนหนังสือไปเลย
ก็ดีใจนะมีหลายคนบอกว่าอ่านหลายเที่ยวเพราะว่าเขียนสนุก แต่ว่าคนที่จะเขียนหนังสือได้นี้ต้องเป็นนักอ่าน ถ้าคนไหนไม่อ่านจะไม่มีทางเขียนหนังสือได้ ที่จริงการเขียนหนังสือมันไม่ยากหรอกแต่ว่าคนเขียน คิดว่ามันยาก เพราะว่าคิดมากไง จะเห็นว่าที่ผมเขียนมาผมมักจะเขียนแต่สิ่งที่ตัวเองรู้สมมติว่าจะเขียนเรื่องกาแฟก็เขียนตรงนี้แล้วก็จบตรงนี้ ไม่ได้ไปพูดถึงจรวด ถ้าเราเขียนเรื่องทอดปาท่องโก๋มันก็ไม่เป็นไรนี้เราก็ทอดไปให้มันจบให้มันซึ้ง เมื่อสองสามเดือนที่แล้วออกกำลังไปเห็นคนแก่สองคนนั่งใต้ต้นไม้ พออีกวันเหลือคนเดียว หลายวันต่อมา ไม่มีแล้วเหลือแต่เก้าอี้เหลือแต่ต้นไม้ เราก็ถามตังเองว่าชายชราสองคนตายหรือไปไหน นะ มันก็เหมือนชีวิตคนเราเอามาเขียนได้หมด แล้วที่ลงคมชัดลึกเมื่อต้นเดือน ก็เขียนเรื่องเจ้าพ่อ งานศพเจ้าพ่อใหญ่มาก แล้วบังเอิญพ่อของสัปเหร่อก็ตายเหมือนกัน ที่นี้พองานศพเจ้าพ่อนี้คนมาร่วมงานกันเยอะมาก ทั้งรัฐมนตรี ทั้งหัวคะแนนก็มา เผาศพเสร็จเขาก็กลับแต่หารู้ไม่ว่าสัปเหร่อ เอาศพมาเปลี่ยนไว้ โอ้โห..มีรัฐมนตรีมาเผาพ่อ พอเผาเสร็จคนอื่นกลับก็เข็นเจ้าพ่อออกมาเผามีอยู่สองคน อันนี้คือเป็นเรื่องที่เราจินตนาการเอา ก็คิดว่าคนโกงคนมาเผาเยอะไอ้คนดีๆในชีวิตไม่เคยโกงใครแต่จนไม่มีใครมาเผาเลย อันนี้เราไม่ต้องอธิบาย การเขียนหนังสือนี้เราอย่าไปอธิบายเยอะเดี๋ยวคนอ่านเขาจะรำคาญ จบปุ๊ปต้องให้คนอ่านไปคิดต่อได้

เขียนหนังสือมาเยอะแล้วก็เขียนหลายแนวด้วย...เรื่องไหนเขียนยากที่สุด
คือ จริงๆแล้วไม่ใช่เรื่องไหนยากหรอก แต่ตอนหลังๆนี้จะเขียนเรื่องยากเพราะว่าสมองมันไม่ดีเหมือนเก่า เขียนแล้วต้องทบทวนว่าเขียนอะไรไปบ้าง สมมติว่าเราเขียนแผ่นที่สี่ก็ต้องกลับมาดูแผ่นที่สองใหม่ คือมันไม่กลมกลืนกันไง ถ้าเราเริ่มลงมือเขียน เราก็จะนั่งนึกๆก็หลับมันไม่เหมือนคนหนุ่ม คนหนุ่มนึกก็เขียนได้ แต่พออายุอย่างนี้แล้วพอนึกๆไปก็หลับพอตื่นก็ลืม ตรงนี้ทำให้เห็นว่าทำไมคนที่เขียนหนังสือมานานถึงหยุดเขียน จริงๆแล้วเขาไม่อยากหยุดหรอก เขาอยากจะทำผลงาน ยิ่งใกล้ตายนี้ยิ่งอยากเขียนอยากจะทำผลงานอยากเขียนแต่มันทำไม่ได้ไง ทุกคนต้องเป็นอย่างนี้ ธรรมชาติมันสร้างมาให้พักผ่อน

ในฐานะที่เป็นนายกสมาคมนักเขียนวางทิศทางของสมาคมไว้อย่างไร
ทิศทางมีเยอะแต่มองแล้วคงทำตามทิศทางได้ไม่หมด กะว่าจะอยู่แค่สองปี ก็จะทำในสิ่งที่เราทำได้ก่อน ที่เคยบอกไว้ตอนที่เข้ามารับตำแหน่งใหม่ๆ สิ่งนั้นก็คือการสร้างที่ทำการสมาคมให้เรียบร้อย แต่การสร้างนี้ไม่ใช่ง่ายๆนะครับ มันต้องหาเงินด้วย แล้วต้องรู้เรื่องมันต้องคอยดู พอสร้างที่ทำการเสร็จก็จะต้องทำรั้ว ทำสนามให้มันเรียบร้อย บังเอิญว่ามีบ้านของนักเขียนเก่า เสาร์ บุญเสนอ ซึ่งท่านมอบบ้านมอบที่ให้ ก็ไม่อยากรื้อไม่อยากไปทำลายของเขา แต่เราจะซ่อมจะบูรณะ ก็ต้องหาเงินมาทำ แล้วก็จะทำเป็นห้องสมุด แล้วก็มีเตียงมีโต๊ะเขียนหนังสือของเสาว์ บุญเสนอ ก็จะ แสดงไว้ในนั้น แล้วจะเขียนว่านี้เป็นห้องทำงานของเสาร์ บุญเสนอ นี้คืองานที่คิดว่าน่าจะทำในสองปีนอกนั้นก็คงจะประคับประคองของเก่า จะทำอย่างอื่นนี้ก็คงจะลำบาก ก็แค่หาเงินมาทำที่ทำการสมาคมนี้ก็เหนื่อยแล้ว

การสนับสนุนนักเขียนใหม่ และสวัสดิการต่างๆของนักเขียน
นักเขียนใหม่นี้เรากำลังสนับสนุนทางอ้อม การประกวดนี้ถือว่าเป็นการสนับสนุน ตอนนี้ที่ทางสมาคมนักเขียนเข้าไปร่วมก็มี เรื่องสั้นซึนามิ การประกวดของนานมี โครงการพานแว่นฟ้าของรัฐสภา การฝึกเขียนเรื่องของ 7/11 แล้วก็โครงการกล้าวรรณกรรม ส่วนเรื่องสวัสดิการก็ยกร่างว่าเราจะช่วยเหลือ นักเขียนที่เดือดร้อน ป่วยไม่สบาย อย่าง คุณศิริพงษ์ จันทร์หอม ที่เพิ่งผ่าหัวใจไป เราก็มีเงินก้อนหนึ่งไปช่วย เรื่องของคนป่วยไข้ต่อไปเราจะช่วยหมดแต่ว่า จะช่วยเท่าไหร่ต้องขอผ่านที่ประชุม เพราะการเจ็บป่วยไม่เหมือนกัน แต่นักเขียนที่มีฐานะดีๆ จะไม่ช่วยเรื่องเงินอันนี้บอกกันตรงๆเพราะเงินเราน้อย แต่เราจะช่วยเรื่องของกำลังใจ เช่นมีกระเช้าดอกไม้ไปให้ นี้เป็นสิ่งเล็กๆน้อยๆที่เราทำอยู่แล้ว

นักเขียนที่คุณไมตรีว่าไว้จำกัดวงไว้เฉพาะคนที่มาลงทะเบียนกับสมาคมหรือ ???
ควรๆ แต่ว่าปีก่อนบางคนที่ไม่เป็นสมาชิกเราก็ช่วยเพราะเราถือว่า เป็นนักเขียนด้วยกัน เราคิดว่าวันหนึ่งเขาคงจะมีน้ำใจกับสมาคมบ้าง บางคนนี้จะไม่ยอมสมัครไม่ยอมอะไรเลย แต่เวลามีปัญหาเขาก็จะมาขอร้องเรียกร้อง

เรียนมาทางช่างเทคนิคมองประเด็นเด็กเทคนิคตีกันอย่างไร
คือจริงๆแล้วมันไม่มีอะไรเลย เพื่อนรุ่นเดียวกันที่เรียนอุเทนถวายนี้ได้ดิบได้ดีหมดเลยไม่มีใครเกรงเกเร เพื่อนบ้างคนมีฐานะร่ำรวยมีเงินเป็นพันล้าน ทั้งๆที่มาจากช่างก่อสร้างเขาไปเป็นผู้รับเหมา แต่ว่าปัญหาที่เกิดคือผู้ใหญ่ไม่เข้าใจไปดูถูกเขา ในอดีตเนี๊ยะผู้ใหญ่มักจะมองว่าเด็กอาชีวะหัวไม่ดีแต่จริงๆแล้วไม่ใช่ เขาเป็นคนที่ ขี้เกียจเรียนไม่สนใจการเรียนพ่อแม่บางคนก็ไม่มีปัญญาส่งให้ลูกเรียน คนขี้เกียจไม่ใช่คนโง่นะ แต่เขาอาจจะชอบไปทางศิลปะ

คนสมัยก่อนมักจะยกย่องคนพวกเรียนคำนวณเก่งเรียนเก่ง และมันก็ยังติดพันมาถึงเดี๋ยวนี้ สมัยก่อน วิชาวาดเขียนมีสามสิบคะแนนแบ่งเป็น ภาพประดิษฐ์ 10 คะแนน เหมือนจริง 10 คะแนน แล้วอะไรจำไม่ได้อีก10 คะแนน สมมตินะว่าผมวาดรูปเก่ง ได้เต็มเลย 30 สิบ แต่ดันไปตกพีชคณิต เรขาคณิต เพราะไม่ชอบคำนวน ที่นี้คนที่เขาทำพวกเลข พีชคณิต เรขาคณิต สมัยนั้นวิชาละ 60 คะแนน ก็รวมแล้ว 180 คะแนน คนเก่งวาดเขียนทำได้ 30 พอคะแนนรวมจะไปสู้พวกเก่งคำนวณได้ไง คนก็บอกว่าเออพวกนี้เก่ง ครูก็ยกย่อง แล้วก็มาดูถูกพวกเก่งศิลปะ ดูถูกพวกที่เรียนไม่เก่ง ทั้งๆที สมองมันคนละซีกกัน วาดรูปซีกหนึ่ง คำนวนอีกซีกหนึ่ง ถ้าผู้ใหญ่เข้าใจลูกเราชอบเครื่องยนต์ ชอบปลูกต้นไม้ ชอบเป็นช่างไม้ ไม่ได้หมายความว่าเขาโง่นะแต่เขาชอบแบบนั้น อีกกลุ่มหนึ่งชอบเรียนหนังสืออันนี้บ้าเรียนขอให้ได้คะแนนเยอะๆแล้วจะชอบ บางทีท่องเป็นนกขุนทองเพื่อให้ได้คะแนนที่หนึ่ง ทุกคนบอกว่าพวกนี้เป็นคนฉลาดแต่ว่าฉลาดกันคนละแบบ ที่นี้พอสังคมมองว่าโอ้ยพวกอาชีวะพวกนี้เรียนไม่เอาไหน พวกนี้ก็มีปมด้อยสิพอเกิดปมด้อยก็ต้องหาทางปลดปล่อยสร้างปมเด่นขึ้นมา เพราะว่าเขาเป็นวัยรุ่นเลยหาทางออกในแบบของเขา หากจะแก้เราก็ต้องให้เกียรติเขา เด็กอาชีวะเหรอช่างกลเหรอ ซ่อมเครื่องเหรอ พาเขาไปทำงานยกย่องเขาว่าเป็นช่างฝีมือดี ช่างก่อสร้างพาเขาไปสร้างบ้านให้พวกซึนามิ แล้วก็ยกย่องเขาว่าฝีมือดีอนาคตใกล้ นี้อะไรไปมองว่าเด็กโง่ อย่างรัฐมนตรีท่านหนึ่งที่บอกว่าเด็กอาชีวะเป็นควาย มันก็ไม่ถูกเราต้องให้เกียรติเขา

ฝากถึงคนรุ่นใหม่ที่อยากเข้ามาเขียนหนังสือ
ก็เขียนเยอะๆแล้วก็เขียนในสิ่งที่ตัวเองรู้ อีกประการหนึ่งคือเขียนตามนิสัยตัวเอง เขียนตามที่ตัวเองรู้ เขียนตามนิสัย คนไหนเป็นคนโรแมนติคก็ต้องเขียนเรื่องโรแมนติค คนไหนมีอารมณ์ขันก็ต้องเขียนเรื่องที่มีอารมณ์ขัน อย่าดัดจริต

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ