นิ้วกลม : ผู้ชายที่ยืนยันว่าทั้งความฝัน และโตเกียว…ต่างไม่มีขา

นิ้วกลม

เคยไหมค่ะ? อยาก ...เอามือไปผลัก หอเอนปิซ่าสักครั้งในชีวิต อยาก ...ดูพระอาทิตย์ขึ้นที่ดอยอ่างขาง อยาก ...เขียนหนังสือ มี ผู้ชายนิ้วกลมๆคนหนึ่งบอกว่า หรือความจริง เราไม่ควร “อยากไปญี่ปุ่น” แต่เราควร “ไปญี่ปุ่น” เราไม่ควร “อยากเขียนหนังสือ” แต่เราควร “เขียนหนังสือ”
 

นิ้วกลม

 

ผู้ชายคนนั้น คือคนนี้ “สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์” … ไม่รู้จักหรือคะ!!!? แล้วถ้าบอกว่าเขาคือเจ้าของนามปากกา “นิ้วกลม” ล่ะ หากคุณเปิดหนังสือ a day คุณจะเห็นนามปากกานี้อยู่ในคอลัมน์ E = iq 2 และนามปากกาเดียวกันนี้บนหนังสือ 2 เล่ม โตเกียวไม่มีขา , กัมพูชาพริบตาเดียว ( จะอ่านเล่มไหนขึ้นก่อน ก็คล้องจองกันทั้งคู่) จบมาจากคณะสถาปัตย์ จุฬาฯ ออกมาเป็น ก๊อปปี้ไรเตอร์ แล้วมาเป็นนักเขียนได้อย่างไรนั้น เดี๋ยวจะเล่าให้ฟัง ขยับเข้ามาใกล้ๆ ซิค่ะ จะได้อ่านชัดๆ

มาเริ่มงานเขียนหนังสือได้ยังไงค่ะ ? จริงๆ เริ่มมาจากหนังสือทำมือก่อนครับ คือชอบเขียนอะไรเล่นๆ อยู่แล้วตั้งแต่เด็ก หลังๆ พอเริ่มอ่านหนังสือมากขึ้น ก็เริ่มอยากเขียนบ้าง ก็เขียนเก็บไว้ในคอมพ์อยู่เรื่อยๆ แล้วอยู่มาวันหนึ่งเห็นนิตยสาร a day ออกมา ก็นั่งอ่านอยู่กับเพื่อน แล้วก็คุยกันว่า เราน่าจะทำหนังสือบ้างนะ ก็บ้าๆ บอๆ กัน ตอนนั้นประมาณปี 5 ก็เลยรวมตัวกับเพื่อน 7 คนทำหนังสือทำมือใช้ชื่อว่า “dim” ครับ ย่อมาจาก ‘do it myself’ ล้อเลียน DIY – do it yourself ก็เขียนกันคนละคอลัมน์ ใครอยากเขียนอะไรก็เขียน

แล้วพอดีมีเพื่อนเอาหนังสือเล่มนี้ไปที่ a day แล้วพี่โหน่ง (วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์) เห็น พี่เค้าว่ามันแปลกดี ก็เรียกเข้าไปนั่งคุยกันเล่นๆ ไปทำความรู้จัก ก็เลยเริ่มรู้จักกับ a day แล้วก็ติดต่อมเรื่อยๆ ต่อมาก็พยายามเอางานเขียนไปให้พี่ๆ เค้าอ่านบ้าง พอมาถึงยุคพี่โจ้ (วชิรา รุธิรกนก) เป็นบ.ก. ก็เอางานไปให้พี่เค้าอ่านบ่อย อ่านไปอ่านมาแล้วพี่เค้าเห็นเราอยากเขียนมากก็เลยชวนให้มาเขียนคอลัมน์ ก็มาเป็น E = iq 2 นี่ล่ะครับ

ชื่อคอลัมน์ เท่ กิ๊บเก๋ขนาดนี้ มีที่มาอย่างไรคะ ?
คือชื่อมันประหลาดใช่มั้ย? (หัวเราะพอน่ารัก) คือจริงๆ แล้วลอกเค้ามาครับ จากเฮดไลน์ของแอดสื่อสิ่งพิมพ์ The Economist เค้าเขียนอย่างนี้เลยครับ เค้าต้องการจะล้อสมการไอน์สไตน์ คือต้องการสื่อว่า “พลังงานของคนเรามันเท่ากับไอคิวยกกำลังสอง” แล้วพอดีมันลงตัวกับคอนเซ็ปต์คอลัมน์ที่วางไว้ คือจะเขียนเกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์ ก็ดูลงตัวดี “พลังเท่ากับความคิดสร้างสรรค์ยกกำลังสอง” แต่ก็ไม่ได้ลอกมาหน้าตาเฉยนะครับ ก็ให้เครดิตเค้าด้วยครับ

รู้สึกว่าทำงานก็อบปี้ไรเตอร์กับงานเขียนต่างกันอย่างไรบ้าง ?
ต่างคนละขั้วโลกเลยครับ เพราะงานเขียนจะเป็นตัวเราที่สุดแล้ว ไม่ว่าจะเนื้อหาที่ต้องการสื่อสาร หรือรูปแบบที่เลือกใช้ ทุกสิ่งทุกอย่างเรากำหนด แต่งานโฆษณาก็จะมีโจทย์มาให้ทำ มีสารที่ต้องการให้สื่อมาแล้วเรียบร้อย คนที่กำหนดสารก็ไม่ใช่เรา จะเป็นฝ่ายการตลาดหรือฝ่ายใดๆ ของสินค้าก็แล้วแต่ หน้าที่ของเราคือ ทำอย่างไรเพื่อจะส่งสารของเขาออกไปให้ได้น่าสนใจที่สุด ตอบง่ายๆ คือ ทำโฆษณาเหมือนนักเล่าเรื่องของคนอื่น แต่เขียนหนังสือ เหมือนนักเล่าเรื่องจากตัวเอง หากจะมีสิ่งที่เหมือนกันบ้าง ก็น่าจะเป็น ความสุขที่ได้เล่าเรื่องครับ

แล้วตอนนี้มีงานเขียนอะไร อยู่ที่ไหนบ้างคะ ?
ในอะเดย์ เขียนอยู่ 2 คอลัมน์ 2 นามปากกา (คอลัมน์ “ณ” และ “สิ่งที่น่าสนใจ”) แล้วก็อีกที่ ส่งต้นฉบับไปแล้ว แต่หนังสือเค้ายังไม่ออก จะเป็นหนังสือท่องเที่ยวน่ะครับ

แล้วสำหรับงานเขียนรวมเล่ม ทราบมาว่าก่อนจะเป็น “โตเกียวไม่มีขา” ก็เคยออกหนังสือ แต่เป็นร่วมเล่มกับนักเขียนหลายๆ คน ชื่อ “หิมะกัดส้ม ผมลิขิต” เล่าที่มาของเล่มนี้ให้ฟังซิคะ?
ก็ทั้งงงทั้งดีใจครับ พอดีว่าคุณ Um ที่เคยเขียนเรื่อง “โต๊ะควาย” (เป็นเรื่องราวของเด็กนิเทศฯ เคยลงในอะเดย์เหมือนกัน) เขาได้อ่านคอลัมน์ของเราในอะเดย์ ก็ชอบ เลยชวน พอดีตอนนั้นเค้าอยู่ในกองเวิร์คพอยต์ด้วย แล้วทางเวิร์คพอยต์มีไอเดียจะร่วมเล่มนักเขียนหน้าใหม่ เค้าใช้คำว่า “คลื่นลูกเล็ก” น่ะครับ ก็เลยมีโอกาสได้ไปรวมเล่มกับเค้าด้วย ดีใจครับ มีแต่คนเก่งๆ ทั้งนั้นเลย **มีการคุยกันหลังไมค์ถึงได้รู้ว่า เพิ่งได้รวมเล่ม แรงบันดาลใจจาก...ไอน์สไตน์ ที่สำนักพิมพ์มติชนด้วย”**

เข้ามาโครงการ เล่มแรกในชีวิตของนักเขียนหน้าใหม่ THE FIRST HANDได้อย่างไรคะ ?
คือโครงการ THE FIRST HAND เค้ามีนักเขียนที่คัดสรรมาแล้วเรียบร้อยแล้ว 6 คน จริงๆ เค้าปิดโครงการแรกไปแล้วล่ะครับ พอดีว่าได้ลองส่งต้นฉบับไปให้พี่โหน่งอ่าน เขาอ่านแล้วก็ว่าสนุกดี ให้เขียนมาให้จบ ก็เลยลงมือเขียนต่อจนจบและพอดีว่าเขียนจบก่อนที่ THE FIRST HAND 6 เล่มนั้นจะออก เลยได้เข้าร่วมโครงการกับเค้าด้วย

ดูเหมือนหนทางมาทำหนังสือไม่ค่อยสมบุกสมบันเท่าไหร่เนอะ?
ไม่รู้จะพูดยังไง เราไม่แน่ใจ .... จะว่าเกณฑ์ไม่เหมือนกันก็ไม่แน่ใจ คือเกณฑ์การพิจารณาสำหรับหนังสือบทบันทึก สารคดีมันอาจจะค่อนข้างง่ายกว่ารวมเรื่องสั้น, นวนิยาย หรือบทกวี ข้อมูลมี ความสนุกพอไหว มุมมองประมาณนี้ก็น่าจะโอเค ภาษาไม่ได้น่ารังเกียจจนเกินไป ก็อาจได้รับการอนุญาตให้พิมพ์ ซึ่งจริงๆ แล้วเรื่องนี้ ต้องถามสำนักพิมพ์น่าจะถูกต้องกว่าเนอะ อืม...สิ่งที่ทำให้มันง่ายขึ้นอาจเพราะมันไปอยู่ในที่ที่ถูกที่ควรมั้ง ถ้าเอาไปเสนอให้สำนักพิมพ์อื่น ที่ใม่ใช่บุคลิกนี้เค้าก็อาจจะไม่สนใจ แต่กับ a day บุคลิกและนิสัยของหนังสือเล่มนี้ใกล้เคียงกันมาก เค้าเข้าใจบุคลิกแบบนี้ วิธีคิดแบบนี้ ก็เลยราบรื่น ถ้าไปยื่นที่อื่น แล้วสมบุกสมบันก็ไม่รู้จะเป็นยังไงเหมือนกัน ยังไม่เคยนึกภาพนั้น

หนังสือเล่มแรกมีที่มาอย่างไร ?
อันนี้ไม่ได้รู้เรื่องโครงการอะไรกับเค้าเลย แต่ความฝันอยากเขียนหนังสือมีมานานแล้ว ก็ไม่ได้วางแผนอะไรมาก ตอนที่ไปญี่ปุ่นก็ไม่คิดว่าจะเอามาเขียน แต่ก็บันทึกระหว่างทางเอาไว้เรื่อยๆ พอยิ่งเที่ยวยิ่งเดินทาง ก็ยิ่งเจอสิ่งที่เห็นว่ามันแปลกดี มันสนุกและประทับใจจนอยากจะเล่าให้คนอื่นฟัง จนกระทั่งพอจบทริป รู้สึกว่าเวลา 9 วันสำหรับเรามันมหัศจรรย์พอสมควร(สำหรับคนอื่นก็อัศจรรย์จ้า..) ก็เลยลองมานั่งเรียบเรียงมันดู ทีแรกมันเริ่มมาจากความสนุก สนุกมาก สนุกจนอดที่ละเล่าต่อไม่ได้ อ้อ...แล้วมันมีอีกความรู้สึกหนึ่ง คือก่อนเดินทางไปโตเกียว ตอนนั้นมันมีหนังสือเดินทางไปญี่ปุ่นไม่มากเหมือนตอนนี้ นอกจาก Lonely Planet แล้ว แทบไม่มีหนังสือไปญี่ปุ่นแบบที่เราต้องการ ก็เลยรู้สึกว่ามันน่าจะมีหนังสือแบบที่พอจะเป็นเพื่อนที่แนะนำเพื่อนด้วยกัน ว่าจะไปญี่ปุ่นควรเตรียมตัวอย่างไรดี มีที่ไหนน่าไปบ้าง แล้วพอดีเราไปมาแบบไม่แพงด้วยเลยอยากแนะนำ เพราะเข้าใจคนที่อยากไป คงเหมือนเรา คงกลัวแพงเหมือนกัน อยากบอกเค้าว่า เฮ้ย! มันไปแบบไม่แพงก็ได้นะ นี่ไงเราไปมาแล้ว

อยากรู้จังว่าการไปเที่ยวแบบเที่ยวอย่างเดียวกับเที่ยวแบบที่ต้องเอากลับมาเขียนนี่ บรรยากาศการเที่ยวต่างกันไหม ?
ถ้าทริปแรกไม่ได้คิดครับ แต่พอกัมพูชานี่คิดคร่าวๆ ว่า ถ้าเจออะไรน่าสนใจพอ มีความคิดเห็นอะไรที่ไปเจอมามากพอก็จะบันทึกเอาไว้ แต่ถ้าถามถึงตอนเริ่ม ไม่ต่างกันนะ เริ่มต้นเราเริ่มจากสภาพความจริง ข้อจำกัดต่างๆ เราลางานได้กี่วัน อยากไปไหน เราไม่ได้มองแบบการตลาดอยู่แล้วว่าไปไหนที่คนเค้าสนใจ เขียนแล้วขายได้ แล้วค่อยไป เราไม่ได้ตั้งโจทย์ที่จะเที่ยวไว้แบบนั้น เที่ยวก็คือเที่ยวครับ หากเจออะไรดีๆ แล้ว ค่อยเอามาเขียน หากจะมีเพิ่มเติมอีกนิดนึงก็คือ เวลาไปเที่ยวแล้วอยากกลับมาเขียนหนังสือ มันชวนให้เราสังเกตสิ่งต่างๆ มากขึ้น

ทำไมเล่มที่สอง “กัมพูชาพริบตาเดียว” ก็ออกแนวสารคดีท่องเที่ยวอีกแล้ว หรือแอบคิดว่าเพราะเล่มแรกขายได้หรือเปล่าค่ะ ?
คือถ้าจะตอบว่าเพราะกระแสตอบรับมันดีก็คงเกี่ยวด้วย แต่มันไม่เกี่ยวกับเรื่องเพราะขายดี แต่เพราะรู้สึกดีมากกว่า เฮ้ย! เราเขียนแล้วมีคนอ่านสิ่งที่เราพูดไป และเรายังมีเรื่องที่จะบอกอีก ยังสนุกที่จะเขียนออกไป มันก็น่าลองเขียนดู จริงๆ ก่อนไปเขมร มีต้นฉบับที่เขียนค้างไว้เหมือนกันนะ คือหลังจากไปโตเกียวก็ได้ไปเนปาลมาครับ เป็นทริปที่สนุกมากๆ และเขียนค้างไว้ แต่ไปเขมรนี่เวลาน้อยมากแค่ 3 วัน แต่เรื่องราวที่เกิดขึ้นสำหรับเรา เราว่ามันเยอะ และพอดีกลับมาแล้วอารมณ์มันได้มาก อัดอั้นอยากเขียนอยากเล่า อาจเพราะเราอยู่ที่นู่นคนเดียวด้วย ไม่ได้พูดกับใครยาวๆ เลย ก็ใช้เวลาประมาณอาทิตย์เดียวสำหรับร่างแรก มันเป็นอารมณ์อยากเขียน เลยเป็นทริปหลังแต่เขียนเสร็จก่อน ก็คือตอบว่า เขียนเพราะสนุกเพราะมีเรื่องที่อยากเล่าหลังจากกลับมาจากการเดินทางคนเดียว และมันเป็นคนละบรรยากาศกับที่โตเกียวเลย ถึงจะเป็นเรื่องเดินทางเหมือนกัน แต่มันก็มีหลายอย่างที่ไม่เหมือนกันครับ

แล้วจะเขียนแนวอื่นๆด้วยไหม ?
แนวอื่นก็อยากเขียนเหมือนกัน แต่อาจเพราะบทบันทึกค่อนข้างง่ายกว่าเรื่องแต่งสำหรับเรา ก็เลยเขียนเสร็จก่อน ถ้าเป็นเรื่องสั้นหรือนวนิยายมันต้องมีพล็อตเรื่อง มีการสร้างตัวละคร ฉาก การผูกโยง ก็เขียนอยู่บ้างครับ เก็บๆ ไว้ ยังใหม่ ยังอยู่ในช่วงฝึกหัด จริงๆ ถ้าดูตัวเองเทียบกับคนอื่นแล้วยังใหม่มาก ค่อยๆ หัดไปครับ อ้อ! จริงๆ แล้ว ในคอลัมน์ E=iq2 ก็เป็นการเขียนอีกหลากหลายแนวเลย อันนั้นก็ทดลองสุดๆ ไปเลยน่ะครับบางคนที่เคยอ่านคอลัมน์ พอมาอ่าน “โตเกียวไม่มีขา” ก็ตกใจ บอกกับเราว่า ไม่คิดว่าจะเขียนหนังสือที่อ่านรู้เรื่องเป็นกะเค้าด้วย

หนังสือคุณ คุณคิดว่าต่างจากสารคดีท่องเที่ยวเรื่องอื่นอย่างไรค่ะ ?
จริงๆ ตอนเขียนไม่รู้สึกต่างเลยครับ เพราะอ่านหนังสือท่องเที่ยวไม่มาก แต่ความตั้งใจอันนึงที่คิดเอาไว้คืออยากเขียนหนังสือที่เราอยากอ่าน เพราะวันที่เราจะหยิบหนังสือเดินทางจะไปญี่ปุ่น เราหาอย่างที่อยากอ่านไม่ได้เลย มันจะมีแบบที่ใช้เงินเยอะ ซึ่งเราก็พึ่งพาไม่ได้ อย่างที่สอง ภาษาที่ใช้มันอยู่คนละวัย มันยังไงล่ะ มันคนละพวกกัน อย่างแบบนี้ถ้ามีก็จะซื้อเลย เพราะเฮ้ย! พูดจากันรู้เรื่อง นายคิดใกล้เคียงกับเรามากเลย ไม่ได้ล้ำลึกแต่เป็นแบบเข้าใจกัน อ่านแล้วตามง่ายกว่า ไม่ใช่ข้อมูลแข็งๆ แต่พอเสร็จออกมาแล้วฟังจากที่คนอื่นพูด ก็รู้สึกว่ามันมีข้อต่างอยู่เหมือนกัน คือจริงๆ มันเป็นการไปเที่ยว แบบวัยรุ่นคลุกฝุ่นอยู่พอสมควร เรื่องที่เลือกมาเขียนเราก็ไม่ได้ตัดการไปดูหนังโป๊ หรือไปเที่ยวในที่แผลงๆ ออก เพื่อจะพาไปดูวัดอย่างเดียว คืออยากให้มันครบทุกด้านของเมือง ไม่ใช่เขียนถึงแต่ที่สวยงาม มีคนอ่านบางคนบอกว่า รู้สึกเหมือนเดินแบกเป้ไปด้วยกันเลย ก็รู้สึกดีนะ อยากให้เค้าได้อารมณ์เหมือนเรา

สำหรับเล่มแรกของคุณต้องมีบ้างล่ะเรื่องเสียงตอบรับ มีเสียงไหนไหมที่รู้สึกไม่ชอบ แบบว่าไม่สร้างสรรค์เท่าไหร่ ?
มีอันหนึ่งแอบไปอ่านเจอ เขาใช้คำว่าหนังสือเล่มนี้นรกมาก เพราะชวนให้คนไปนอนข้างถนน คือถ้านักเดินทางทุกคนทำแบบนี้จะเป็นภาระของชาติเขาขนาดไหน? แต่เรารู้สึกว่ามันเป็นแค่ทางออกหนึ่ง คิดว่าคนมีหัวที่จะคิดได้เขาจะหาทางของเขาเอง คือ แก่นของมันอยู่ที่ว่า เฮ้ย... ที่ที่คุณอยากจะไปคุณต้องหาทางไปของคุณเอง ไม่จำเป็นต้องถูกก็ได้ หรือถ้าจะไปแบบถูกๆ คุณจะทำไงก็ได้ในวิธีของคุณเอง ไม่จำเป็นต้องนอนถนเหมือนกัน แต่ถ้าอยากไป ก็ต้องไป หากมัวแต่มานั่งบ่นว่าจะไปจะไป ก็คงไม่ได้ไปซักที แต่เราไม่ได้โกรธหรอกนะ ก็เข้าใจได้ อ้อ! แล้วก็มีบางคนบอกว่าอุตส่าห์ประหยัดแทบตาย ดันเอาเงินไปดูหนังโป๊หมดเลย มันก็ใช่ในมุมของเขา แต่ผมว่าทุกที่มันก็น่าสนใจทั้งนั้น ไปให้ถึงเดี๋ยวมันก็มีอะไรของมันออกมาเอง ห้องฉายหนังโป๊ก็คงมีอะไรมั่งล่ะ

เคยคิดจะส่งงานเข้าประกวดบ้างรึเปล่า ?
“โตเกียวไม่มีขา” ก็ส่งประกวดเซเว่นบุ๊คอะวอร์ดครับ คิดว่ามีเวทีก็ลองส่งดู ไม่มีอะไรเสียหายอยู่แล้ว คิดว่าเหมือนได้เอาหนังสือของเราไปให้คนที่มีหลักมีเกณฑ์แบบหนึ่งอ่านดูว่า เค้าจะเห็นเป็นไงบ้าง แต่ก็ไม่ซีเรียสอะไรครับ แค่ได้ยินคนอ่านคนนึงพูดถึงหนังสือของเราก็เป็นรางวัลแล้ว

แล้วเสียงตอบรับจากคนอ่าน “โตเกียวไม่มีขา” เป็นอย่างไรบ้างคะ ?
เกินของเกินของเกินคาดครับ เพราะตอนแรกไม่คิดว่าจะขายได้เลย กังวลกันจริงๆ ว่าจะขายไม่ได้ เพราะทำเสร็จแล้วมันหนามาก a book ก็กังวล ตอนแรกกะว่าจะมีหน้าสี แต่พอเห็นว่าหนามาก ก็เลยคุยกับพี่โหน่งว่ามันต้องแพงแน่ๆ ถามดูว่าเท่าไหร่ ถ้ามีหน้าสีมันก็เกือบ 200 ถึงขั้นจะใช้กระดาษปรู๊ฟเลยนะ จะได้ถูกลงบ้างแต่พี่โหน่งว่าอย่าเลย มันจะดูไม่ดี ก็สรุปว่าไม่เอาหน้าสี ขาว-ดำล้วนไปเลย ก็เลยได้ที่ 170 คือกะไว้เองว่าอยากให้หนังสือราคาแค่ 120 อย่างตัวเองนี่ ถ้าเฉียด 200 ก็ตัดสินใจนานนะ หยิบมาดูปกก็ โอเคสวย แต่พอไม่มีหน้าสี ภาพมันไม่ค่อยสวยไง ไม่มีอะไรดึงดูดใจ นักเขียนเป็นใครก็ไม่รู้ ใครวะ “

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ