ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา นักเขียนนาม ทินกร หุตางกูร โดดเด่นขึ้นมาจากนวนิยายที่เข้ารอบ 7 เล่มสุดท้ายรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์แห่งอาเซียน ( ซีไรต์ ) ประจำปี 2546 โลกของจอมอาจถือได้ว่าเป็นผลงานชิ้นแจ้งเกิดของเขาอย่างเต็มตัว เมื่องานชิ้นนี้ตีพิมพ์ในเสาร์สวัสดีซึ่งเป็นเซกซั่นย่อยในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ หลังจากที่ตีพิมพ์ไปได้ระยะหนึ่งเป็นที่ชื่นชอบของผู้อ่านมาก และเมื่อมีการนำไปรวมเล่มโลกของจอมก็สามารถทะลุเข้ารอบ 7 เล่มสุดท้ายรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์แห่งอาเซียน ( ซีไรต์ ) ประจำปี 2546 ซึ่งในปีนั้น ช่างสำราญของเดือนวาด พิมวนา สามารถคว้าซีไรต์ไปครองได้
สำหรับทินกร หุตางกูร เกิดที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เรียนจบระดับปริญญาตรีทางด้าน คณะมนุษยศาสตร์ ( อังกฤษ ) จากรั้วพ่อขุน ทินกร หุตางกูรเข้าสู่วงการน้ำหมึกด้วยการเขียนบทความ วิพากษ์วิจารณ์ ภาพยนตร์-ดนตรี ต่างประเทศ ซึ่ง การะเกตุ ศรีปริญญาศิลป์ที่ขณะนั้นยังทำงานอยู่กับประพันธ์สาส์นได้พูดคุยกับ ปริทรรศ หุตางกูร ผู้เป็นพี่ชายของ ทินกร หุตางกูร แล้วเกิดความสนใจอยากจะเอาบทความของทินกร หุตางกูรมารวมเล่มวางขาย และนั้นเป็นผลงานเล่มแรกของเขาที่เปรียบเหมือนแรงขับเคลื่อนให้นักเขียนหนุ่ม นาม ทินกร หุตางกูร กระตื้อรื้อร้นและมุ่งมั่นในถนนสายน้ำหมึก “ เริ่มต้นอาชีพนักเขียนโดยการเขียนบทความ เกี่ยวกับ ภาพยนตร์-ดนตรี จากต่างประเทศ มาได้ระยะหนึ่งก่อนจะเกิดอยากเขียนวรรณกรรมขึ้นมาเลยเริ่มลงมือเขียนเรื่องสั้น สำหรับรวมเล่มครั้งแรกก็คือ ‘ ดวงดาวในบ่อน้ำ ' ที่พิมพ์กับประพันธ์สาส์นนั้นแหละครับ ตอนนั้น คุณการะเกตุ ศรีปริญญาศิลป์คุยกับพี่ ปริทรรศ แล้วเกิดสนใจ อยากจะทำรวมเล่ม เลยติดต่อมา เล่นนั้นจะพิมพ์พร้อมๆกับ ‘ นักกู่ตะโกน ' ของ ‘ ศักดิ์ชัย ลัคนาวิเชียร ' ก็ยังเสียดายอยู่เหมือนกันครับ เล่มนั้น เอาต้นฉบับที่เขียนเป็นคอลัมน์สดๆให้รวมเล่มเลยไม่ได้ดัดแปลงขัดเกลาอะไร พออ่านอีกทีก็คิดว่าถ้าได้ปรับเปลี่ยนอีกหน่อยก็น่าจะดี แต่โดยรวมแล้วก็พอใจครับ คุณการะเกตุเขาก็พอใจ ”
นั้นเป็นคำแนะนำตัวสั้นๆของนักเขียนหนุ่มนาม ทินกร หุตางกูร ต่อไปนี้เราไปทำความรู้จักกับเขาชนิดคำต่อคำเลยดีกว่าครับ
* ตอนนี้มีงานเขียนประจำที่ไหนบ้าง
ล่าสุดเขียนให้ Aday Weekly ตอนนี้ Aday Weekly ปิดไปก็ไม่ได้เขียนที่ไหน เขียนงานส่วนตัวอย่างเดียวก็กะว่าน่าจะออกได้ประมาณต้นปีหน้า เขียนไปได้ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์แล้วล่ะครับแต่ยังบอกไม่ได้ว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไรเพราะกลัวบอกไปแล้วเนื้อหามันจะดิ้นได้ ต้องรอให้ชัดกว่านี้ก่อนถึงจะบอกได้
* เคยเขียนงานหลายรูปแบบไม่ทราบว่า ระหว่างเรื่องสั้นกับนิยายและบทความเกี่ยวกับดนตรีภาพยนต์ถนัดเขียนงานแนวไหนมากกว่ากัน
เวลาที่เขียน ทั้งบทความ นิยาย เรื่องสั้น มันก็ไม่ได้ต่างจากความเป็นทินกรมากมายนักกับทั้งสามรูปแบบนี้
* รู้สึกว่างานของคุณทินกรสะท้อนออกมาแบบเหงาๆเศร้าๆตั้งใจจะให้งานออกมาแนวนั้นหรือเปล่า
ก็ตั้งใจนะ เพราะเป็นคนที่ค่อนข้างจะมองโลกในแง่ร้ายหน่อย รู้สึกว่าโลกนี้มีปัญหาเยอะมาก จึงอยากระบายความคิดและปัญหาต่างๆผ่านงานของตัวเอง พอพูดถึงเรื่องปัญหาตัวเองก็มักจะรู้สึกว่าโลกนี้มันแย่แล้ว งานที่เขียนจึงมักจะออกมาในรูปแบบ เหงาๆ เศร้าๆ
* ตัวเองเป็นคนเหงาด้วยหรือเปล่า
ตัวเองก็ไม่ได้เหงาอะไรมาก แต่อาจจะเป็นที่เพราะตัวเองชอบดูหนังดราม่า ชอบอ่านงานหนักๆ และอาจจะเพราะเป็นรสนิยมด้านศิลปะแบบนี้ด้วยเลยทำให้สร้างงานออกมาเป็นแบบนี้
* แล้วในกรณีนักเขียนล่ะ เราควรแยกงานเขียนออกจากตัวตนของนักเขียนคนนั้นไหม
กรณีนี้ก็แล้วแต่คน ส่วนตัวผมเองไม่ได้สนใจ พยายามจะมองแค่หนังสือเล่มนั้น การมองในแง่ตัวนักเขียนบางครั้งมันก็มีส่วนดีเหมือนกัน เพราะจะได้รู้ว่าแต่ละเล่มที่เขาเขียนออกมานั้นเขามีพัฒนาการไปยังไง หรือว่าตัวนักเขียนคนนั้นมีแนวคิดหลักเป็นอย่างไร มีอะไรเปลี่ยนไปหรือเปล่า หรือมีอะไรเพิ่มเติมลดลงไป แต่ว่ามันก็เป็นเรื่องปรกติถ้าใครสักคนอ่านหนังสือแล้วอยากรู้ขึ้นมาว่านักเขียนคนนั้นเป็นยังไง เล่มอื่นที่เขาเขียนเป็นยังไง แต่ตัวผมเองจะไม่ค่อยสนใจ ถ้าเกิดอ่านงานของนักเขียนสักคนที่เขียนเรื่องราวความดี แต่ต่อมาไปรับรู้ว่านักเขียนคนนั้นไปทำอะไรเลวร้ายมาผมก็จะตัดมันออกไม่ได้สนใจ
* ตอนแรกตั้งใจจะเขียนโลกของจอมให้เป็นนิยายไหม
ที่เขียนตอนแรกก็กะแค่ว่าอยากให้มันมีตัวละครครับ และก็ไม่ได้คาดว่าจะเอามารวมเล่ม ตอนนั้นก็เขียนไปเรื่อยๆ จนกระทั่งได้คุย นิวัติ พุทธประสาท ก็ตกลงกันว่าจะเอาไปรวมเล่ม ซึ่งผมเองก็คิดว่าน่าจะรวมได้ จึงเอามาดัดแปลงให้กลายเป็นนิยาย โดยการเน้นแก่นเรื่องจัดระบบโครงเรื่องเสียใหม่แล้วจึงรวมเล่มออกมาเป็นโลกของจอม
* คิดว่าปัยจัยไหนที่ทำโลกของจอมประสบความสำเร็จ....ใช่ความเหงาที่หัวใจหนุ่มสาวสมัยนี้กำลังโหยหาหรือเปล่า
ทินกรหัวเราะเบาๆก่อนตอบคำถามนี้ของเรา “ ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าจะถูกใจใครๆอย่างที่ว่าหรือเปล่า เพราะมีหลายคนที่บอกว่าอ่านไม่รู้เรื่อง มีหลายสิ่งหลายอย่างอยู่ในงานของผม บางคนอาจจะชอบ ในด้านความรู้สึกอารมณ์ ความรัก แต่บางทีผมจะใส่เรื่องดวงดาว หรือเรื่องต่างๆที่คนบางคนเขาไม่ได้สนใจด้วย เลยไม่แน่ใจเหมือนกันว่าจะถูกใจใครมากน้อยขนาดไหน แต่ยังไงก็ดีใจครับที่มีคนชอบงานที่เราเขียน ”
* รู้สึกว่างานส่วนใหญ่มักจะเปรียบไปถึงดวงดาวอันไกลโพ้น โลกมันไม่สวยงามในความคิดของทินกรหรือเปล่า
ใช่ครับ ผมไม่พอใจหลายอย่างเลย รู้สึกว่าวิถีชีวิตของมนุษย์ที่เป็นอยู่ตอนนี้มันผิด คนน่าจะมีความสุขมากกว่านี้ในแง่ของจิตใจ คนสมัยนี้ไม่ค่อยจะมีความสุข และอาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้งานของผมออกมาในโทนเหงาๆ สมัยปัจจุบันเป็นกันมากที่อยู่ในที่ๆมีคนเยอะแต่บ้างทีก็เหงา
* ชื่อหนังสือส่วนใหญ่ถึงมีดวงดาวอยู่ด้วยตลอดเป็นคนชอบดูดาวไหม
ชอบครับ โดยส่วนตัวแล้วจะเชื่อว่า มันมีคำตอบอะไรบ้างคำตอบที่รอมนุษย์อยู่ข้างบน มนุษย์หลายๆคน มักจะตั้งคำถามกับตัวเองว่าชีวิตนี้เกิดมาทำไมและพยายามจะแสวงหาคำตอบกัน ผมเชื่อว่า คำตอบน่าจะมีอยู่ข้างบน เขาว่ากันว่ามีสถานที่สองสถานที่ ที่มีความลึกลับ และสถานที่นั้นจะมีคำตอบให้กับคำถามที่ยังไม่มีคำตอบ สองสถานที่นั้นคือข้างในใจของเราเองกับข้างนอกจักรวาล มีบางคนบอกว่าร่างกายมนุษย์ก็เป็นภาพย่อส่วนของจักรวาลที่เป็นภาพใหญ่ เซลแต่ละเซลของเราอาจจะเปรียบเทียบได้กับดาวแต่ละดวง และผมก็เชื่อว่ามันน่าจะมีพลังอะไรที่ทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างในจักรวาลนี้เคลื่อนที่ไปได้และทำงานของมัน ดาวก็หมุนไปสิ่งมีชีวิตก็เติบโต
* จบเอกภาษาอังกฤษมา ตอนนี้แปลอะไรอยู่บ้าง
งานแปลช่วงนี้ไม่ได้ทำเลย ช่วงนี้รู้สึกอยากเขียนงานของตัวเองมากกว่า งานแปลก็สนุก อ่านหนังสือหลายเล่มแล้วอยากแปลเหมือนกัน
* แล้วไม่คิดจะเขียนงานเป็นภาษาอังกฤษ
ผมยังไม่เก่งถึงขนาดนั้น ใจจริงก็อยากจะเขียนอยู่เหมือนกัน แต่ถ้าเขียนจริงๆมันต้องไปอีกระดับหนึ่ง ผมยังแยกน้ำหนักคำไม่ถูก ถ้าภาษาไทยเราจะรู้ระดับของน้ำหนักคำ เช่น คำ ว่า สวย งาม เลอโฉม คำแต่ละคำมันจะมีน้ำหนักของมันแต่ ภาษาอังกฤษ ผมยังไม่รู้น้ำหนักคำของมัน ถ้าเขียนจริงๆอาจจะกลายเป็นงานระดับเด็กอนุบาลฝรั่งเขียนก็ได้
* วางเป้าหมายในการเป็นนักเขียนไว้ตรงไหน
ก็ไม่ได้วางเป้าหมายอะไร เขียนไปเรื่อยๆ อยากจะเขียนงานให้ดีขึ้นไปเรื่อยๆ สร้างงานใหม่ๆออกมา อยากจะมีงานดีๆออกมา อยากจะพูดถึงโลก พูดถึงสังคม ก็วางไว้แค่นั้น รู้สึกว่าตัวเองมีความสุขกับการเขียนงานตรงนี้ ไอ้เรื่องอยากให้ขายได้ ผมว่าก็หวังกันทุกคน แต่ไม่พูดจะพูดไปทำไม เพราะก็รู้กันอยู่ว่าเงื่อนไขมันเป็นยังไง ก็ขอแค่สนพ.ไม่เจ็บตัวมากก็แล้วกัน
* เล่มหน้า จะพิมพ์กับคุณนิวัติ พุทธประสาทต่อไหม
ครับ ก็คงพิมพ์กันต่อไปเรื่อยๆ ตราบใดที่เขายังพิมพ์อยู่ เพราะอีกอย่างก็เป็นเพื่อนกันด้วย ก็คุยกันตลอดถ้าเขาไม่เป็นฝ่ายเลิกพิมพ์ไปก่อนผมก็คงจะพิมพ์กับเขาไปเรื่อยๆ แต่หากว่าเขาพิมพ์ไม่ไหวแล้วพิมพ์ตั้งหลายเล่มแล้วขาดทุน ถ้าถึงตอนนั้นก็คงต้องคิดกันอีกที
* ไม่คิดจะพิมพ์หนังสือโดยใช้กระดาษปรู๊ฟแบบพี่ชาติ กอบจิตติบางเหรอครับ เพราะจะทำให้ราคาหนังสือถูกลง
ผมว่าปัญหามันมีหลายส่วนนะครับ เช่นถ้านักเขียนโนเนมไม่มีชื่อเลย ให้มาพิมพ์กระดาษปรู๊ฟคนก็ไม่ซื้อกันเพราะมันไม่น่าอ่าน คนมักจะตั้งเป้าว่าถ้ากระดาษปรู๊ฟแล้วจะไม่ซื้ออ่านสำนักพิมพ์เลยต้องพิมพ์กับกระดาษปอนด์ต้นทุนจึงสูงขึ้น คนอ่านก็ต้องซื้อหนังสือแพง ผมว่าถ้าจะแก้ปัญหาการเขียนการอ่านในบ้านเรา ก็คงต้องรื้อกันทั้งระบบ ทุกส่วน ถ้าจะพูดแยกกันแบบนี้มันก็พูดยาก
* วางแนวทางของงานที่ตัวเองจะเขียนออกมายังไง
ไม่ได้วางไว้ ขึ้นอยู่กับว่าในขณะนั้นจะมีอะไรมากระทบจิตใจ หากอึดอัดเกี่ยวกับเรื่องการเมืองก็เขียนเกี่ยวกับการเมือง ถ้าช่วงไหนรู้สึกว่าสิ่งแวดล้อมมันแย่แล้วก็จะเขียนเกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อม
* กับปริทรรศ หุตางกูรได้เจอกันบ้างไหม
ช่วงนี้ก็ไม่ค่อยได้เจอกันบ่อยเพราะว่าพี่ปริทรรศอยู่นครศรี แต่หากมีอะไรเขาก็จะขึ้นมา ก็คุยกันเรื่อยๆ ทั้งเรื่องศิลปะบ้าง งานเขียนบ้าง และเรื่องทั่วๆไป
* ปริทรรศ หุตางกูรวาดรูปแล้วตัวเองวาดด้วยหรือเปล่า
เมื่อก่อนก็หัดวาดรูปเขียนอยู่บ้าง สมัยเด็กๆ พอปีใหม่พ่อก็จะให้ของขวัญเป็นหนังสือ กระดาษ สี พอว่างๆเราเลยมานั่งวาดรูปกัน อย่างพี่ตุ้ย-ปริทรรศ หุตางกูรนี้แกจะเอาจริงเอาจังกับการวาดรูป ตอนนี้ผมไม่ได้วาดแล้ว แต่ถ้ามีเวลาว่างก็จะนั่งขีดๆเขียนๆเล่นๆ
* อารมณ์ในการถ่ายทอดงานอย่างงานวาดรูปกับเขียนหนังสือสื่ออกมาต่างกันไหม
ไม่ต่างกัน เพราะคนที่ทำงานศิลปะไม่ว่าจะเขียนหนังสือหรือวาดรูปก็ล้วนใช้แรงขับดันอันเดียวกัน คือว่ามีอะไรอยากจะบอกอยากจะถ่ายทอดออกมา มันก็ขึ้นอยู่กับว่าในช่วงจังหวะที่เราวาดรูปหรือเขียนหนังสือนั้นเราคิดอะไรอยู่ แล้วยิ่งโดยพื้นฐานของงานศิลปะแล้วมันก็เหมือนกัน ทุกอย่างล้วนออกมาจากความรู้สึกที่เราอยากจะพูดอะไรกับโลก อยากจะถ่ายทอดความรู้สึก หรืออยากจะระบายความอัดอั้นอะไรออกมา
* เคยเขียนบทความเกี่ยวกับภาพยนต์-ดนตรี แสดงว่าต้องฟังเพลงเยอะ ชอบฟังเพลงแนวไหนครับ
ชอบหลายแนวฟังได้หมด ยกเว้น Hip-hop Hip-hop มันฟังยาก ผมคิดว่า Hip-hop ไม่ใช่ดนตรีสำหรับฟัง มันเป็นดนตรีที่มีลักษณะเฉพาะ คือคนที่ฟัง Hip-hop ได้ต้องเป็นคนที่เข้าใจสาระที่อยู่ในเนื้อเพลง ต้องเข้าใจแสลง ต้องเข้าใจวัฒนธรรม ต้องเข้าใจสภาพสังคมที่ Hip-hop เสนอมา แต่ถ้าไม่สามารถเข้าใจตรงนั้นเราก็จะไม่สามารถหาอะไรมาทดแทนได้เลยเพราะมันไม่มีดนตรีที่ไพเราะๆมาทดแทน คือผมรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้เข้าใจมัน
* เล่นดนตรีด้วยหรือเปล่า
เล่นกีตาร์บ้าง เวลาเขียนหนังสือไม่ออกก็หยิบมาเล่นให้มันคลายจากความเครียด แล้วกับไปเขียนต่อ
* เพลง ดนตรีมีส่วนช่วยในงานเขียนไหม
มีผลครับ ก็รู้สึกเหมือนกันครับว่างานของผมมีเพลงเข้ามาเยอะ คนชอบเพลงก็มักจะอดไม่ได้ที่ต้องแทรกเข้ามา อย่าง นิค ฮอนบีร์ เขียนก็มีเพลงเยอะนะ
* แล้วงานเขียนของทินกรได้ใส่ทำนองให้มันไหม
ผมคิดว่ามันก็มีจังหวะส่วนตัวของมันนะ แต่ตอนนี้ปัญหาของผมคือว่าจะทำยังไงให้ทำจังหวะอื่นได้บาง ก็พยายามให้เวลากับตัวเอง แต่ไม่อยากไปบีบบังคับมันมากนัก สำหรับนักเขียนผมว่ายากนะ หากเขียนเล่มหนึ่งแล้วเล่มสองฉีกไปเลย นอกจากนักเขียนบ้างคนที่ ครีเอทได้ตลอดอย่างพี่วินทร์ เนี๊ยะ ก็ต้องยกให้เขาไปเลย
* เป็นนักเขียนจำเป็นต้องหาข้อมูลไหม
ผมคิดว่าข้อมูลเป็นเรื่องจำเป็นนะสำหรับนักเขียน มันอยู่ที่ว่าเราจะเขียนเรื่องออะไร อย่างเรื่องที่ผมเขียนส่วนใหญ่จะพูดเกี่ยวกับสถานการณ์ของโลกเยอะ เลยรู้สึกว่าข้อมูลมันเป็นเรื่องจำเป็น แต่ถ้าเป็นนักเขียนแนวอื่นอาจจะไปหาข้อมูลอย่างอื่น การใช้ชีวิต การเดินทาง ประสบการณ์อื่นๆก็ล้วนแล้วแต่เป็นข้อมูล
* มองอาชีพนักเขียนเป็นยังไง
มันก็มีความสุขนะแต่มันยากจน แต่นักเขียนเดี๋ยวนี้ก็มีหลายคนที่หาเงินได้เยอะ แต่ถ้าว่ากันทั่วๆไปแล้วนักเขียนส่วนใหญ่ยังจัดอยู่ในอาชีพที่ค่อนข้างยากจน มีส่วนน้อยที่สามารถอยู่ได้ด้วยงานเขียนล้วน ๆ หรือบางคนเขียนได้เยอะจนเลี้ยงตัวเองได้
* ไม่คิดจะเขียนงานที่เป็นแนวตลาดบ้างเหรอ
ในพวกนักเขียนแนวพาฝันเขาจะมีสนามก็อยู่ได้ ระบบการทำงานของเขาจะเอื้อให้อยู่ได้ ส่งลงเป็นตอนๆลงตลอดต่อเนื่องกันไปมันก็มีรายได้เข้ามา แต่งานแนวสร้างสรรค์ มันเขียนออกมาแล้วไม่ได้ไปลงที่ไหนรวมเล่มออกมาเลย บางทีรวมออกมาแล้วก็ขายไม่ได้อีก บางคนเขียนเสร็จแล้วก็หาที่พิมพ์ไม่ได้ ส่วนมากถ้าไม่มีงานเขียนบทความ หรือทำงานในกองบรรณาธิการหนังสือหรือ เป็นบรรณาธิการ ก็ต้องมัธยัสถ์อย่างสูงมากหากจะอยู่ให้ได้ด้วยงานเขียนอย่างเดียว ส่วนถามว่าอยากเขียนในแนวตลาดบ้างหรือเปล่า ผมยังไม่มีแรงกระตุ้นจะเขียนครับ อีกอย่างคิดว่าตัวเองไม่ได้ต้องการอะไรมากมายตอนนี้ก็มีความสุขดีอยู่แล้วก็เขียนพอให้มีเป็นค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำ ก็เขียนไปสบายๆ
* มองวัฒนธรรมในการอ่านของยุคสมัยนี้เป็นอย่างไรบ้าง
คนอ่านหนังสือน้อยลงทั่วโลกแหละครับเพราะเดี๋ยวนี้มีสื่ออย่างอื่นเยอะขึ้น คนเกิดมาก็เจอทีวีเลย แล้วทีวีสมัยนี้มีอะไรให้ดูเยอะ สมัยก่อนที่ผมเป็นเด็กทีวีก็จะมีอยู่แค่ช่องสองช่อง ไม่มีอะไรให้ดูมาก ตัวเองเลยสนุกกับการอ่านมากกว่า สมัยนี้นอกจากมีสื่ออย่างอื่นเยอะแล้วชีวิตคนก็เร่งรีบขึ้น โลกมันหมุนไปทางนี้ทำให้คนห่างจากหนังสือโดยอัตโนมัติ สำหรับคนที่โตมาแล้วรักการอ่านแล้วก็ยังรักการอ่านไปเรื่อยๆ คนอ่านหนังสือก็น้อยลง พอมีเล่มไหนดังก็จะแห่ไปอ่านกัน
* แล้วเขียนหนังสือไม่มองที่คนอ่านเหรอ
มันก็มีวิธีการคิดนะครับ หากเราอยากให้หนังสือขายได้มันก็จะมีวิธีคิดอีกแบบหนึ่ง แต่ถ้าเราคิดว่าเราอยากเขียนอะไรโดยไม่ได้คำนึงถึงยอดขายมันก็จะมีวิธีการคิดอีกแบบหนึ่ง แต่ว่าหากเราโชคดีสิ่งที่เราสื่อสารไปตรงกับความสนใจกับสาธารณะชนพอดีก็โชคดีไป
* ซีไรต์จึงเป็นเหมือนตัวกระตุ้นให้งานในแนวสร้างสรรค์ขายได้
ใช่ ส่วนหนึ่งที่คนอยากได้ซีไรต์ก็เพราะอย่างนี้แหละ พอได้แล้วมันทำให้หนังสือมันขายได้ พอได้ซีไรต์ปุ๊ปคนก็อยากจะซื้อมาลองอ่าน โรงเรียนทั่วประเทศก็ต้องซื้อเข้าห้องสมุด มันก็เลยเกิดความวุ่นวายเกี่ยวกับซีไรต์เยอะ ผมเองก็ยังยืนยันว่าอยากเขียนอะไรก็จะเขียนแบบนั้น ไม่ได้เล็งเป้าหมายก่อนว่าคนอ่านชอบอะไร หรือกระแสไปทางไหน แต่หากโชคดีสิ่งที่เราเขียนไปต้องกับสิ่งที่เขาต้องการก็ดีไป แต่ส่วนมากงานของผมมันมักจะไม่ค่อยตรงน่ะสิ
* รู้สึกว่าเป็นนักเขียนต้องมีรางวัลหรือไม่
มีคนถามคำถามนี้เยอะมาก รางวัลเป็นกำลังใจใครได้ก็มีกำลังใจที่จะทำงานต่อไป แต่อย่าไปยึดมันถึงขนาดต้องมาฆ่าฟันกันเพื่อรางวัล แต่มนุษย์เรานี้คือสิ่งมีชีวิตที่ต้องการกำลังใจ มันก็รู้สึกดี หากได้รางวัลมาด้วยความบริสุทธิ์ใจมันก็เหมือนกับมีคนชอบงานเรา มีคนเห็นด้วยกับสิ่งที่เราคิด มันก็มีส่วนผลักดันให้เราได้ทำงานต่อไป ถ้าเราไม่ไปหลงกับรางวัลมากเกินไป ไม่คิดว่าเรายิ่งใหญ่แล้วเราเก่งแล้ว ถ้าเราไม่ไปติดตรงนั้นรางวัลก็จะเป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าไปติดว่ารางวัลทำให้ยิ่งใหญ่รางวัลทำให้ร่ำรวย มันก็น่ามีโทษเสียมากกว่า
* มีข้อคิดที่อยากฝากถึงคนรุ่นใหม่ๆที่ต้องการทำงานเขียนไหมครับ
เข้ามาเยอะๆก็ดีครับ จะได้ทำให้วงการคึกคักขึ้น ก็คงต้องแสวงหาความรู้เยอะๆ อ่านหนังสือเยอะๆ อยากเขียนอะไรก็เขียนซื่อสัตย์กับความรู้สึกตัวเอง