สาโรจน์ มณีรัตน์ : วันสบายๆกับต้นสกุล สุ่ย

สาโรจน์ มณีรัตน์

ต้นสกุล สุ่ย หรือ"สาโรจน์ มณีรัตน์" เติบโตขึ้นมาจากส่วนผสม 2 อย่างหนึ่งคือความเป็นนักข่าวของหนังสือพิมพ์ธุรกิจ และสองคือความเป็นนักอ่านวรรณกรรมอย่างชนิดหาตัวจับยาก อย่างแรกเป็นหน้าที่การงานที่เขาคลุกคลีมาร่วมสิบปี ส่วนอย่างหลังคือความรัก หลงใหล จนกล่าวได้ว่าเขาเป็นผู้รอบรู้เข้าขั้น "เซียน"ทางวรรณกรรมงานข่าวเกี่ยวข้องกับข้อมูลหรือข้อเท็จจริง ส่วนงานวรรณเป็นเรื่องของศิลปะและจินตนาการ สองเส้นทางที่ไม่น่าจะเข้ากันได้กลายมาเป็นส่วนผสมในตัวตนของ ต้นสกุล สุ่ย

ที่มาของนามปากกา
เริ่มจากเพื่อนที่ชื่อสุริยฉัตร แก้วทองบอกว่า "พี่ตุ๋ย"นิรันศักดิ์ บุญจันทร์ต้องการคนไปเขียนเรื่องแนว ฮาว์ทูตีพิมพ์ใน จุดประกายวรรณกรรม จึงเสนอผมให้ทำงานนี้ เพราะเห็นว่าผมมีข้อมูลอยู่แล้ว ระหว่างเดินทางไปพบพี่ตุ๋ยก็คิดชื่อคอลัมน์ไว้ได้คร่าวๆว่า"ห้องสมุดเจ้าสัว" นามปากกาก็น่าจะออกแนวจีนๆ หน่อย เอาชื่อพ่อชื่อแม่และใครต่อใครมาผสมกันวุ่นวาย สุดท้ายเป็น"ต้นสกุล สุ่ย"โดยมีที่มาจากชื่อลูกชายคือ ด.ช.ต้นสกุล และปู่ของผมที่ชื่อสุย

ขณะนี้มีผลงานกี่เล่มแล้ว
5 เล่ม คือ คมความคิดเจ้าสัว รวบรวมจากกรุงเทพธุรกิจจุดประกายวรรณกรรมทั้งหมด เป็นเรื่องเกี่ยวกับแนวคิดของนักธุรกิจที่หล่อหลอมหรือเชื่อมโยงมาจากการอ่านหนังสือ พิมพ์กับสยามอินเตอร์บุ๊คส์ คิดการใหญ่ พิมพ์กับที่เดียวกัน แต่เป็นการรวมจากหลายแหล่งที่มา คือนิตยสาร GM ,เซ็คชั่นไลฟ์สไตล์ ใน น.ส.พ.ประชาชาติธุรกิจ และ นิตยสารศิลปวัฒนธรรม นิเทศศาสตร์นอกตำรา เป็นเรื่องเกี่ยวกับคนที่ไม่ได้เรียนจบทางนิเทศศาสตร์แต่มาทำงานสื่อสารมวลชน รวบรวมจากกรุงเทพธุรกิจจุดประกายวรรณกรรม เป็นข้อเขียนชุดต่อมาหลังจากผมจบเรื่องราวของห้องสมุดเจ้าสัวแล้ว เล่มนี้พิมพ์กับเนชั่น คนละมุมมอง เป็นข้อเขียนทางธุรกิจแบบเบาๆรวบรวมจากหลายที่ พิมพ์กับ ส.น.พ.แสงดาว ขายในเซเว่นฯ และ หนังสือเล่มสุดท้าย รวบรวมและคัดสรรจากจุดประกายวรรณกรรม เช่นกัน

เล่าถึงหนังสือเล่มล่าสุดที่ชื่อ หนังสือเล่มสุดท้าย
หนังสือเล่มนี้รวบรวมจากคอลัมน์ "เรื่องเล่าจากโครงกระดูก" ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจจุดประกายวรรณกรรม เดิมทีคอลัมน์นี้จะใช้ชื่อว่า"โครงกระดูกในตู้" เพราะประทับใจหนังสือของ คึกฤทธิ์ ปราโมทย์ ที่เล่าเรื่องสาแหรกของตระกูลตัวเอง แต่คุณนิรันศักดิ์ บุญจันทร์คัดค้าน เพราะชื่อจะไปพ้องกัน จึงใช้ชื่อว่าเรื่องเล่าจากโครงกระดูกแทน เริ่มจากเป็นชอบสะสมหนังสือ รวมทั้งหนังสืองานศพต่างๆ ซึ่งมีที่มา 3 ทางคือ 1.ซื้อเอง 2.ได้จากงานศพ 3.มีผู้ส่งมาให้ เป็นเรื่องราวหนังสืองานศพของนักเขียนทั้งรุ่นเก่าอย่างครูอบ ไชยวสุ ไปจนถึงล่าสุดอย่าง น.นพรัตน์ หรือป้าวิภา สุขกิจ เขียนมาเกือบ 2 ปีร่วมยี่สิบคน คัดมารวมเล่มสิบกว่าคน เพื่อไม่ให้หนังสือหนาเกินไป หนังสือเล่มนี้ลุงอาจินต์ ปัญจพรรค์ เขียนคำนำให้

ชอบเล่มไหนมากที่สุด
ชอบทุกเล่ม เพราะทุกเล่มก็ทำงานอย่างตั้งใจ คมความคิดเจ้าสัว ขายดีที่สุดพิมพ์สิบครั้งแล้ว คิดการใหญ่ ก็ 3 ครั้ง ที่เหลือพิมพ์อย่างละครั้ง แต่ทุกเล่มเกิดจากการเก็บรวบรวมข้อมูล สัมภาษณ์เพิ่มเติมบ้าง ผมชอบเก็บรวบรวมข้อมูล มีเยอะมาก ตอนนี้เก็บน้อยลงเพราะเต็มบ้านแล้ว

ตอนนี้มีผลงานคอลัมน์อยู่ที่ไหนบ้าง
เขียนในนิตยสารรายเดือนบ้าง ราย 3 เดือนบ้าง แต่ล่าสุดตอนนี้ก็มี คอลัมน์ "คิดข้ามฝัน" ที่กำลังตีพิมพ์ในมติชนสุดสัปดาห์ เป็นเรื่องของคนรุ่นใหม่ นักธุรกิจใหม่ โนเนม ก่อนหน้านี้เคยทำแต่เรื่องของนักธุรกิจรุ่นกลางหรือรุ่นใหญ่ คราวนี้มาทำรุ่นใหม่เพราะต้องการจะเป็นเพื่อนและเติบโตไปพร้อมกับเขา ได้รู้จักความคิดเขาตั้งแต่เริ่ม ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นนักธุรกิจหรือนักบริหารอย่างเดียว อาจเป็นคนเล็กๆในองค์กรที่เก่ง เป็นครีเอทีฟ นักแต่งเพลง หรือนักแสดงใหม่ก็ได้ ขอให้มีความฝัน และกล้าคิดจะพาฝันของตัวเองไปให้ถึงฝั่งฝัน ข้ามฝันของตัวเองไปให้ได้ ส่วนผลงานในจุดประกายวรรณกรรม กำลังอยู่ในช่วงสูญญากาศ ต้องการพัก เพราะงานเขียนที่ผ่านมาผมต้องเก็บข้อมูลเยอะมาก ลงทุน ลงแรงไปมาก บรรณาธิการจึงมอบหมายให้เขียนวิจารณ์หนังสือฮาว์ทู ในเชิงสร้างสรรค์ ซึ่งเหนื่อยน้อยกว่า

วิธีการทำงาน
วันจันทร์ถึงศุกร์ทำงานประจำ งานเขียนส่วนใหญ่ทำวันเสาร์-อาทิตย์ ปิดมือถือแล้วทำงาน มักจะไม่ไปไหน เพื่อนชวนก็มักจะไม่ไป นอกจากที่สนิทจริงๆ เมื่อก่อนเคยทำงานตอนกลางคืน เพราะเงียบดี แต่จะตื่นไม่ไหว ตอนนี้กำลังฝึกตื่นเช้าๆเปิดเพลงเบาๆชงกาแฟแก้วนึง แล้วนั่งทำงานไป ก่อนออกจากบ้านก็จะได้งานแล้ว 2 เรื่อง ผมจะไม่เอางานอื่นไปทำในเวลางาน เพราะจะมีปัญหา

วางแผนเรื่องงานเขียนในอนาคตไว้อย่างไร
นามปากกาผมเดินมาในแนวฮาว์ทูแล้ว ซึ่งก็ไม่ใช่ความใฝ่ฝันของผม ผมอยากเขียนเรื่องสั้นหรือนิยายมากกว่า เพียงแต่ว่าตอนนี้โอกาสเอื้อไปทางนั้น ตอนนี้เรื่องสั้นผมเขียนไปได้สิบเรื่องแล้ว นิยายก็เขียนไปได้สองตอน เคยมีผู้ใหญ่หลายท่านบอกผมว่าผมมีความได้เปรียบนักเขียนคนอื่นคือความรู้ในเรื่องธุรกิจ ถ้ามันถูกนำมารับใช้กันและกันได้เมื่อไหร่ ก็จะกลายเป็นนิยายหรือเรื่องสั้นแบบฮาว์ทู ซึ่งต่างประเทศประสบความสำเร็จมาก ขณะนี้ผมกำลังอยู่ในช่วงหลอมรวมตัวเอง ตัวอย่างเช่น เงินพาไป ของ นวพร เรืองสกุล นวนิยายเชิงเศรษฐศาสตร์ เพราะนักเขียนเติบโตมาอย่างนั้น เป็นนักเรียนทุน เป็นแบงค์เกอร์ อดีตผู้บริหารแบงค์ชาติ สามารถหลอมรวมความรู้และฝีมือทางวรรณกรรมออกมาเป็นงานเขียนได้สำเร็จ ส่วนงานของผมคงไม่หนักไปทางความรู้เรื่องเศรษฐกิจ การเงิน แบบมหภาค จุลภาค แต่ผมคงไปในแนวหยิบชีวิตของคนในแวดวงธุรกิจมาย่อยแล้วเรียงร้อยเป็นเรื่องราวเท่านั้นเอง

มีความเห็นอย่างไรกับ โกสท์ ไรท์เตอร์
ขึ้นอยู่กับเจตนา ปัจจุบันโกสต์ ไรท์เตอร์บางคนขายตัวเอง ยอมแม้กระทั่งไม่ใช้ชื่อตัวเองในฐานะนักเขียน ความจริงน่าจะตกลงกันได้ ที่สำคัญน่าจะให้น้ำหนักเรื่องการเลือกคนที่จะเขียนให้เป็นอันดับแรก

ข้อดีข้อเสียของนักเขียนที่มากจากนักข่าว
ในอดีตนักเขียนชั้นครูล้วนมาจากนักข่าวทั้งนั้น ข้อดีคือนักข่าวจะอยู่ในบรรยากาศเข้มข้นของข้อมูล ได้ถูกฝึกเรื่องการเขียนหนังสือทุกวัน ได้อุ่นเครื่องตัวเองตลอดเวลา แต่การจะเป็นนักเขียนก็ต้องฝึกอีกอย่างหนึ่ง ถ้านักข่าวมีพื้นฐานการอ่านดี การผันตัวเองไปเป็นนักเขียนก็ทำได้เร็ว ถ้านักข่าวที่ฝันอยากจะเป็นนักเขียนแต่ไม่ลงมือทำสิ่งใด ก็เป็นไปไม่ได้

แฮมมิ่งเวย์บอกว่า อาชีพที่ดีที่สุดในโลกคืออาชีพนักข่าว แต่อาชีพที่เลวที่สุดในโลกคืออาชีพนักข่าวที่ทำงานนานเกินไป เห็นด้วยกับความคิดนี้มั้ย
(หัวเราะ) เห็นด้วย นักข่าวต้องพัฒนาตัวเอง อาจจะเป็นคอลัมน์นิสต์ มีความสามารถในการประมวล และวิเคราะห์เหตุการณ์ บ้างอาจจะกลายไปเป็นนักเขียน ไปเป็นพีอาร์ ไปทำธุรกิจ แต่ก็ยังเขียนหนังสือได้ น่าจะสนุกกว่าการเป็นนักข่าวอย่างเดียวตลอดไป

แล้วมองตัวเองว่าจะไปทางไหน
ผมไม่ได้หวังจะเติบโตไปเป็นหัวหน้านักข่าว หรือบรรณาธิการ แต่คงออกไปทำธุรกิจเล็กๆที่เพชรบุรีบ้านเกิดควบคู่กับการทำงานเขียนอย่างต่อเนื่อง ..

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ