คุยนอกรอบ จีรภา บุณยะทัศน์ เจ้าของผลงาน 5,929 ไมล์...ระยะฝัน : ความฝันเป็นจริงได้ ถ้ามีความพยายามที่มากพอ

คุยนอกรอบ จีรภา บุณยะทัศน์ เจ้าของผลงาน 5,929 ไมล์...ระยะฝัน

ประวัติส่วนตัว เส้นทางชีวิตก่อนเริ่มต้นงานเขียน

      เริ่มต้นงานเขียนตั้งแต่เรียนชั้นมัธยม  โดยเขียนเรื่องสั้น  ส่งตามนิตยสารวัยรุ่นต่าง ๆ  ต่อมาขณะเรียนอยู่ที่คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ได้เข้าร่วมประกวดบทละครสดใสอวอร์ด (การประกวดบทละครเวทีของนักศึกษาทั่วประเทศ) ครั้งที่ 4 และบทละครเรื่อง ‘มายา’ ได้รับรางวัลบทละครดีเด่น 


      ขณะเรียนชั้นปีที่ 4 ได้เข้าร่วมเทศกาลละครที่ภัทราวดีเธียเตอร์  เขียนบทและกำกับละครเวทีเรื่อง ‘น้ำมันพราย’ เมื่อจบการศึกษาก็ได้สะสมประสบการณ์ทำงานที่หลากหลาย   ส่วนมากเป็นงานในแวดวงสื่อสารมวลชน เช่น สคริปต์ไรเตอร์  โปรดิวเซอร์รายการโทรทัศน์  นักข่าว โปรดิวเซอร์ข่าว  ต้นฉบับชิ้นนี้ได้ถูกเขียนขึ้นในช่วงที่ทำงานในสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส


แรงบันดาลใจในการเขียนเรื่อง 5,929 ไมล์...ระยะฝัน
       แรงบันดาลใจมาจากความรู้สึกว่าอยากเขียนงานแนว Coming of age ดี ๆ สักเล่มหนึ่ง   เป็นหนังสือที่อ่านสนุกแต่แอบมีสาระ  บอกเล่าข้อคิดและเทคนิคการใช้ชีวิตแบบไม่ยัดเยียดมากจนเกินไป   เป็นหนังสือแบบที่เราอยากอ่านตอนเป็นวัยรุ่น   นอกจากนี้ยังมีหลายสิ่งที่อยากสื่อสารกับผู้อ่าน  ซึ่งแทรกอยู่ในเนื้อหาหลาย ๆ ตอนตลอดทั้งเรื่อง


จะทำให้ balance กับสังคมปัจจุบันอย่างไร เพราะมันค่อนข้างมีค่านิยมด้านนี้อยู่พอสมควร

        ประมาณว่าจากเรื่องมีข้อคิดอย่างไร สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับสังคมปัจจุบันได้อย่างไร เพราะในสังคมปัจจุบันก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่มีฝันอยากจะไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนหรือเรียนต่อต่างประเทศค่ะ ถ้าหากพูดถึงประเด็นที่ว่าในปัจจุบันมีหลายคนใฝ่ฝันอยากไปเรียนต่อต่างประเทศ  เรื่องราวในหนังสือเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นแล้วว่า  หากมีความตั้งใจจริง  ความพยายามและอดทนต่อความยากลำบากมากพอ  ทุกคนสามารถมีฝันที่เป็นจริงได้    

        เรื่องราวไม่ได้เกี่ยวกับแค่การไปทำตามความฝันเท่านั้น แต่มันมีการใช้ชีวิต การเอาตัวรอดของตัวละครรวมถึงมิตรภาพต่าง ๆ ผสมผสานอยู่ด้วย อยากให้เล่าถึงความเป็นมาว่าสิ่งเหล่านี้มีความเกี่ยวพันกันอย่างไร และนำมาปรับใช้อย่างไรได้บ้าง

        เรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้นในหนังสือ ทั้งการเดินทางตามความฝัน  การใช้ชีวิตเพียงลำพังในต่างแดน  การเอาตัวรอดจากสถานการณ์อันยากลำบาก  การประยุกต์หลักการวิถีพุทธมาใช้ในการดำเนินชีวิต  และเรื่องของมิตรภาพ  คือเส้นทางในการเติบโตขึ้นในแง่ความคิดและจิตวิญญาณของตัวละคร


การที่เลือกฉาก หรือโลเคชั่นให้เป็นต่างประเทศ เพราะอยากจะบอกอะไร หรือตั้งใจให้เป็นอย่างไร

       เชื่อว่าผู้อ่านหลายคนต่างก็มีจิตวิญญาณของการเป็นนักเดินทาง  และใฝ่ฝันที่จะได้ผจญภัยไปในโลกกว้าง   การที่เลือกฉากเป็นประเทศอังกฤษ  ก็เพื่อช่วยเติมเต็มความฝันของคนที่ยังไม่พร้อมออกไปสัมผัสชีวิตในต่างแดน  และสำหรับใครก็ตามที่วางแผนจะเดินทางไปเรียนต่อที่อังกฤษ หนังสือเล่มนี้อาจจะเป็นประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อย


ระยะเวลา อุปสรรค และวิธีแก้ปัญหาในการสร้างสรรค์ผลงานเล่มนี้

         ต้นฉบับชิ้นนี้ใช้เวลาเขียนค่อนข้างนาน  ผ่านการปรับแก้และพัฒนามาหลายร่าง  อันที่จริงต้นฉบับดั้งเดิมมีความยาวเกือบ 200 หน้า แต่เพื่อให้สอดคล้องกับข้อกำหนดของโครงการ จึงตัดทอนความยาวออกจนเหลือแค่ 150 หน้า


ปกติอ่านหรือเขียนงานแนวไหนบ้าง
       ชอบอ่านหนังสือประเภทที่เสริมสร้างจินตนาการ  ช่วยยกระดับสติปัญญา  คุณธรรม  ศีลธรรม  ที่เพิ่งอ่านจบเช่น วรรณกรรมเยาวชนทุกเล่มในชุดบ้านเล็กในป่าใหญ่ / หนังสือแปลเรื่อง แท็กซี่มีแมว / หนังสือธรรมะ  เรื่องล่าสุดคือ ลำธารริมลานธรรม เล่มที่ 1

       บางครั้งอ่านตามอารมณ์  และความสนใจ  เช่น หนังสือคำสารภาพสุดท้ายของนักโทษประหาร / Pleased to meet me / How Children Succeed เป็นต้น

       เล่มที่อ่านซ้ำบ่อยคือ The Little Prince / The Alchemist ปัจจุบันนี้นอกจากเขียนข่าวและคอลัมน์สำหรับ Thai PBS World   ก็กำลังสนใจเขียนบทความแนว how to เกี่ยวกับมารยาท และการวางตัวในสังคมการทำงาน

 

แนวอื่น ๆ ที่เคยเขียนก่อนหน้านี้ มีอะไรบ้าง

      นิยายแนว chit lit เรื่อง “เรื่องลับของเลิฟลี่” นามปากกา จีบี้  (สำนักพิมพ์ 1168)

 

ความคาดหวังในการประกวดรางวัลชมนาด ครั้งที่ 11

       การได้เข้ารอบเป็น 1 ใน 9 เรื่อง จากทั้งหมด 30 เรื่อง  เป็นสิ่งที่เกินความคาดหมาย  เพราะคิดว่าต้นฉบับเรื่องนี้  ไม่เหมือนแนวที่ส่งเข้าประกวดทั่วไป ทั้งรูปแบบการเขียน การเล่าเรื่อง และการใช้ภาษา ดีใจมากที่ได้เข้ารอบ 9 เรื่อง แต่เอาจริง ๆ แล้ว ความคาดหวังของผู้เขียนคือ การได้ส่งต่อแรงบันดาลใจไปสู่ผู้อ่าน  

      และคาดหวังว่าจะได้รับคำวิจารณ์ผลงาน  เพื่อนำกลับไปพัฒนางานเขียนชิ้นต่อ ๆ ไป   ซึ่งเป็นประโยชน์ในการก้าวไปสู่การเป็นนักเขียนอาชีพ  
ในยุคที่วงการวรรณกรรมเมืองไทยค่อนข้างเงียบเหงา ซบเซา คิดว่าเป็นเรื่องดีอย่างยิ่งที่โครงการชมนาดสามารถจัดการประกวดต่อเนื่องยาวนานได้เป็นปีที่ 11 แล้ว อยากให้จัดต่อไป โดยอาจขยายช่องทางการประชาสัมพันธ์มากขึ้น  

 

ข้อเสนอแนะอะไรเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการชมนาดในครั้งนี้และครั้งต่อ ๆ ไป

         มีข้อเสนอแนะนิดหน่อยสำหรับหนังสือที่ได้รับรางวัลในแต่ละปี การออกแบบหน้าปกหนังสือควรน่าดึงดูดใจมากกว่านี้ หากในการประกวดครั้งนี้และครั้งต่อ ๆ ไป มีการปรับเปลี่ยนสไตล์การออกแบบหน้าปกใหม่ ให้ดูสวยงาม  และโดดเด่นมากขึ้นเมื่อวางอยู่บนแผงปะปนกับเล่มอื่น ๆ ในร้านหนังสือ อาจทำให้คนอยากหยิบขึ้นมาดูและมีโอกาสซื้อสูงขึ้น  
 

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ