ล่ามถือเป็นอาชีพที่ต้องใช้ทักษะความรู้ในด้านภาษาเป็นอย่างมาก เพราะต้องแปลความจากภาษาหนึ่งไปยังอีกภาษาหนึ่งเพื่อสร้างความเข้าใจให้กับคนฟัง ซึ่งล่ามถูกแบ่งออกเป็นหลายประเภทตามแต่รูปแบบของงาน และว่ากันว่าแค่มีทักษะด้านภาษาอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอจะเป็นล่ามได้ งั้นแล้วอะไรคือสิ่งที่ต้องมีนอกเหนือจากนั้น วันนี้เราจะพาไปพูดคุยกับคุณเมล่อน-ณัฐรดา ศรีบัวทอง ล่ามพูดพร้อมมืออาชีพ ถึงทักษะที่ล่ามควรจะต้องมี รวมถึงอุปสรรคและความยากที่ตัวเธอเองต้องเจอตั้งแต่ก้าวเข้าสู่อาชีพนี้อย่างเต็มตัวด้วย
“จริงๆ ล่ามมีหลายประเภทนะคะ แต่ถ้าหลักๆ ก็จะมีล่ามแปลสลับกับล่ามพูดพร้อม ตัวอย่างล่ามแปลสลับก็แบบล่ามที่ขึ้นไปแปลบนเวที ล่ามแปลสลับจะต้องจำในสิ่งที่คนพูดพูด และไม่ใช่ว่าเขาพูดมาแล้วเราแปลเลยนะคะ เราต้องจำทุกอย่างที่เขาพูดและถ่ายทอดออกมาให้ได้ และอีกประเภทคือล่ามพูดพร้อม จะทำงานอยู่ในตู้ค่ะ มันจะใช้สมองคนละแบบ ล่ามพูดพร้อมคือเราจะต้องพูดพร้อมกับสปีคเกอร์แต่แปลเป็นอีกภาษาหนึ่งอัตโนมัติแบบนั้น หมายความว่าเขาพูดอะไรมาเราต้องพูดตามเลย มันไม่ได้มีเวลาที่จะแบบเดี๋ยวขอคิดก่อน ไม่ได้ มันคือการเข้าออกๆ อัตโนมัติตลอดเวลา มันใช้พลังสมองเยอะมาก แต่จริงๆ มันก็ยากทั้งสองแบบค่ะ”
เห็นว่าตอนเริ่มทำงานนี้แรกๆ คุณเจอแรงต้านค่อนข้างเยอะเหมือนกันใช่ไหม
“เอาจริงๆ จุดเริ่มต้นแรกๆ ของเมล่อนก็ค่อนข้างยากค่ะ เพราะตอนเริ่มเข้าวงการล่ามพูดพร้อมเราเพิ่งอายุยี่สิบสอง น่าจะเด็กสุดตอนนั้น ซึ่งคนที่มาเป็นล่ามพูดพร้อมส่วนใหญ่เป็นระดับอาจารย์อายุสี่สิบขึ้น พอเราเข้าไปแน่นอนมันมีแรงต้าน เพราะลูกค้าต้องการคนมีประสบการณ์ มีบางงานที่ลูกค้าเห็นเรซูเม่เราเขาก็คอนเฟิร์มนะคะ แต่พอรู้อายุเขาก็แคนเซิล เราโดนเลือกปฏิบัติเพราะเรื่องอายุค่อนข้างเยอะพอสมควรตอนแรกเริ่ม ท้อเหมือนกันนะเพราะเราก็เพิ่งเข้ามาทำ แต่เรารู้ตัวเองว่าเราชอบงานนี้ และเราก็บอกตัวเองเสมอเวลาไปทำงานว่าผลงานคือสิ่งที่ขายตัวเราได้ดีที่สุดแล้ว ซึ่งงานแรกที่เราทำตอนนั้นเป็นล่ามพูดพร้อมในงานสอน Forex งานนั้นเราได้รับฟีดแบ็คที่ดีจากลูกค้า และมันก็ทำให้เราได้รับโอกาสต่อมาอีกเรื่อยๆ ค่ะ”
คุณคิดว่าอะไรคือเสน่ห์ของอาชีพนี้
“มันทำให้เราได้เรียนรู้สิ่งใหม่ค่ะ คือถ้าปกติเลยคนทั่วไปก็คงจะไม่มานั่งอ่านนั่งศึกษาว่า Carbon Credit มันทำงานยังไง หรือมาดูเรื่อง Cyber Security ว่าตอนนี้มันมีระบบอะไรใหม่ๆ บ้าง ถ้าไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวข้องกับตัวเองใช่ไหมคะ แต่ว่าอาชีพล่ามมันทำให้เราได้เรียนรู้สิ่งใหม่ทุกวัน ได้รู้ในสิ่งที่ปกติเราอาจจะไม่ได้คิดถึงเรื่องนี้ด้วยซ้ำ บางทีเราไปเป็นล่ามให้แต่ละบริษัทเราก็จะได้รู้ข้อมูลค่อนข้างวงในของแต่ละเรื่องเหล่านั้นซึ่งมันน่าสนใจ ดังนั้นเสน่ห์ของมันคือทำให้เราได้เรียนรู้สิ่งใหม่ตลอดเวลาค่ะ”
ตั้งแต่ทำงานล่ามมางานไหนยากที่สุด
“ทุกงานมีความยากของมันค่ะ อาจจะไม่ได้มีงานที่เรียกว่ายากที่สุด เพราะทุกงานมันจะเป็นสิ่งที่เราต้องเรียนรู้ใหม่ตลอดเวลาอยู่แล้ว ถ้าเป็นงานที่มันเฉพาะทางมากๆ มันจะยากในตอนแรกค่ะ ยกตัวอย่างเช่นเรามีงานที่ต้องเป็นล่ามให้อาจารย์แพทย์ เราก็ต้องทำการบ้านเยอะหน่อย หรือต้องเป็นล่ามให้ผู้พิพากษาที่มาจากต่างชาติ คนฟังคือผู้พิพากษาในไทย เราก็ไม่ได้จบนิติศาสตร์ เราก็ต้องทำการบ้านเยอะหน่อย ซึ่งครั้งแรกที่เราทำมันจะยากค่ะ เพราะเราต้องทำการบ้านเยอะ แต่ว่าพอเราทำไปเรื่อยๆ เราก็จะค่อยๆ Well-Rounded คือมีความรู้รอบตัวมากขึ้นค่ะ”
ทักษะที่คนทำงานล่ามจำเป็นต้องมีคืออะไร
“ทักษะภาษาเป็นสิ่งพื้นฐานอยู่แล้ว ยังไงก็ต้องมีค่ะ แต่ว่าสิ่งที่สำคัญมากกว่าคือการมีสติ มีสมาธิ แก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ เพราะทุกงานมันต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอยู่แล้วเป็นเรื่องปกติ และต้องมีทักษะในการฟัง คุณต้องฟังให้เป็น เพราะถ้าคุณยังฟังไม่เป็น ยังรับสารมาไม่รู้เรื่อง คุณจะไม่สามารถเป็นล่ามให้ใครได้ และคนเป็นล่ามที่ดีต้องฟังให้ได้ทุกสำเนียง เพราะหน้างานเราไม่รู้หรอกว่าเราจะไปเจอสำเนียงไหน ต้องพูดตรงๆ ว่าไม่ใช่ว่าคุณได้ภาษาแล้วจะเป็นล่ามได้เลย มันต้องมีองค์ประกอบต่างๆ เยอะแยะอย่างที่บอกค่ะ”
ในฐานะที่คุณเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาอยากให้ช่วยแนะนำเคล็ดลับที่ทำให้เรียนภาษาได้เก่ง
“ถ้าถามเมล่อนก็จะบอกว่าให้ทำในสิ่งที่ชอบค่ะ หมายถึงว่าเราเลือกในสิ่งที่มันใช่เราก็พอ ถ้าเราเป็นคนที่ชอบการ์ตูนไม่ได้ชอบอ่านหนังสือ คุณก็เรียนจากการ์ตูนไปนั่นแหละ ถ้าชอบร้องเพลงก็เรียนจากเพลง ถ้าชอบดูหนังก็เรียนจากหนัง ถ้าชอบอ่านหนังสือก็เรียนจากหนังสือ ชอบอะไรก็เรียนจากสิ่งนั้น ไม่ต้องพยายามฝืนตัวเอง เพราะต่อให้เราบอกว่าทำแบบนี้มันดีมากเลยนะ แต่ถ้าคุณไม่ได้ชอบแบบนี้คุณก็ไม่อยากทำอยู่ดี ดังนั้นก็เรียนรู้จากสิ่งที่ชอบค่ะ”
ขอบคุณภาพจากเฟซบุ๊ก Interpreter Mastermind - Professional Translator ล่าม โค้ช พิธีกร