ใครที่เป็นคอนิยาย และเป็นแฟนละครหลังข่าวคงจะคุ้นหูคุ้นตากับชื่อ กันยามาส อาริตา และ นาวิกา เป็นอย่างดี เพราะสามนามปากกานี้คือเจ้าของบทประพันธ์หลายเรื่องที่ถูกนำไปสร้างให้กลายเป็นภาพโลดแล่นอยู่ในจอแก้ว และเจ้าของนามปากกาทั้งสาม (ที่จริงมีทั้งหมดแปดนามปากกา) นี้คือคนคนเดียวกัน ซึ่งต่อไปนี้เราจะขอเรียกเธอว่า พี่หนูนา ซึ่งเป็นชื่อที่เธอใช้ในการออนไลน์ค่ะ
พี่หนูนาเคยคิดมาก่อนไหมคะว่าวันหนึ่งจะต้องมาเป็นนักเขียนนิยาย
ไม่เคยคิด จำได้แต่ว่าชอบอ่านมากๆเท่านั้น
จำความรู้สึกตอนที่เขียนนิยายเรื่องแรกได้ไหมคะ เขียนยากไหม ตอนนั้นมีหลักวิธีอะไรในการเขียนหรือเปล่าคะ
เขียนเรื่องแรกเมื่ออายุ 17 มาได้ลงนิตยสารครั้งแรกวันที่ 30 สิงหาคม 2518 นึกอยากเขียนก็หยิบเอาเรื่องราวของเพื่อนใกล้ตัวมาเลยทำเรื่องยาวเลย"เพลงอำลา" วางพล็อต ลงมือเขียนไปได้ 9 ตอน มองหานิตยสารเดินไปส่ง รอคำตอบ และได้รับการตีพิมพ์เลย หลักการไม่มีนะคะคิดว่าไม่มีนอกจากคิดว่าตัวเองทำได้ อยากลองเขียนเพราะตอนอายุ17 ก็ผ่านงานนิยายมาหลายเรื่อง อ่านมาจนคิดว่าน่าจะลองเขียนได้และลองกำหนดรูปแบบหน้าตาต้นฉบับ เขียนด้วยลายมือเหมือนคัดไทยตัวบรรจงครึ่งบรรทัดลงในกระดาษฟุลสแก๊ป เรียกว่าลุยเลยใจสั่งสมองคิดมือลุย
ทำไมถึงตัดสินใจทำอาชีพนักเขียนเพียงอย่างเดียวเลยคะ เค้าว่าเป็นนักเขียนมันไส้แห้งไม่ใช่หรือ ไม่กลัวลำบากหรือคะ
เลือกวันที่คิดว่าตัวเองแน่ใจว่าชอบงานเขียนจนไม่อยากทำอย่างอื่น ทิ้งอย่างอื่นลงหมด แล้วมั่นใจว่าหากทำเป็นอาชีพจริงๆน่าจะเอาตัวรอดได้ก็ผ่านมาได้ด้วยดี กลัวก็กลัวตอนแรก ๆ ถามจริง ๆ ก็บอกว่ายังกลัวอยู่ แต่ไม่ประมาทค่ะทำงานไปด้วยวางแผนไปด้วยว่าจะอยู่กับอาชีพนี้อย่างไร
ทราบว่าพี่หนูนาเขียนนิยายพร้อมกันทีเดียวหลายๆ เรื่อง มันไม่ตีกันในสมองแย่หรือคะ พี่หนูนามีระบบการทำงานยังไงบ้างคะ
ที่รับงานหลายเรื่อง บอกตรงๆก็คือเรื่องภาวะไส้แห้ง เป็นนักเขียนในประเทศนี้เขียนเรื่องเดียวเพื่อยังชีพน่ะเป็นไปไม่ได้เลย พอดีกับมีนิตยสารหลายเล่ม หลายค่ายขอเรื่องมา จะปฏิเสธก็เกรงใจ ทุกคนดีกับเรามาหมดให้โอกาสเรา พอรับหลายเรื่องก็ต้องวางแผนแต่ละเรื่องให้รัดกุม จัดคิวทำงานทุกวัน ถือเป็นงานประจำ มันไม่ตีกันในสมองเพราะพี่ร่างลงกระดาษแทน แต่ละเรื่องจะทำเอาไว้แล้วแยกจากกัน เวลาจะทำก็หยิบมาทีละเรื่อง ทำงานทีละเรื่อง สมมุติว่าวันหนึ่งจะเขียนสามเรื่องสามตอน ก็จะทำทีละเรื่องคิดถึงงานทีละเรื่อง คิดเฉพาะเวลาที่จะทำงานพอไม่ทำงานก็จะปิดสมองไม่เอามาคิดต่อให้สับสน แต่เวลาทำงานก็จะมีความสุขไม่เคยนั่งทุกข์ว่าทำไมต้องเขียน…หรือต้องเขียนอีกแล้วหรือ พอสนุกกับงาน ก็เลยลงตัว
พี่หนูนาเคยต้องเขียนนิยายพร้อมๆ กันมากที่สุดกี่เรื่องคะ
เคยรับงานสูงสุดตอนสาวๆประมาณ19เรื่องซึ่งคิดว่าคงไม่ทำอีกแล้ว ไม่ไหวแล้วกับสุขภาพทุกวันนี้ ตอนนี้รับงานน้อยลงกว่าที่เคยทำสถิตินั้นเยอะมากค่ะ
ในแต่ละวันพี่หนูนาจัดระบบการทำงานอย่างไรบ้างคะ
ตื่นเช้าก็ลงมาเปิดคอมพ์ทำงาน ค่อยๆทำไป มีงานก็ออกไปหรืออาจจะรีแลกซ์ด้วยการไปจ่ายตลาด ทำกับข้าว ไม่ได้วางแผนตายตัวในแต่ละวัน คือจะมีตารางเวลาว่าวันไหนต้องส่งงานไปเล่มไหนก็ไล่ทำไป อันนี้คืองานประจำ แต่ส่วนงานที่ต้องตรวจทานอีกครั้งก่อนนำไปพิมพ์พอกเก็ตบุ้คก็จะเจียดเวลาช่วงว่างๆอ่านอีกหน จะอยู่หน้าจอคอมพ์วันละไม่ต่ำกว่าห้าชั่วโมง หรือหากวันไหนเป็นวันพักผ่อนก็จะไม่ทำเลย
พี่หนูนามีวิธีสร้างตัวละคร หรือสร้างเรื่องอย่างไรบ้างคะ มีเทคนิคเฉพาะตัวหรือเปล่า
ก็อ่านจากหนังสือ ฟังจากเพื่อนถึงประเด็นเรื่องว่าจะเขียนอะไร การอ่านมากๆฟังมากๆดูมากก็ช่วยได้ บางทีคิดโครงเรื่องได้แล้วแต่ยังเห็นภาพโดยรวมไม่ชัดก็ยังไม่ลงมือทำงานจะทำต่อเมื่อภาพทุกอย่างของเรื่องนั้นชัดเจน ทำตามพล็อตที่วางเอาไว้อาจจะมีอะไรแทรกเพิ่มเติมได้บ้างระหว่างตอน
พี่หนูนามีอะไรที่เป็นอุปสรรคในการเขียนงานบ้างไหมคะ อุปสรรคนั้นคืออะไร แล้วแก้ไขอย่างไรคะ
สายตา อายุ ความว่องไวของสมอง มั้งที่เป็นอุปสรรค อย่างอื่นคิดว่าไม่เคยเจอไม่เเคยสะดุด ทำงานมาได้แบบเรื่อยๆ ทำเพราะสนุก มองไม่เห็นจริงๆว่าตัวเองเคยมีอุปสรรคไหมเพราะการได้พิมพ์งานก็ได้รับความเมตตาตอบรับมาตั้งแต่เรื่องแรกคือเพลงอำลา (2518) เพราะฉะนั้นกล้าพูดว่าไม่มี นอกจากเวลาที่รู้สึกว่าทำไมเร็วนักสำหรับการส่งต้นฉบับแต่ละครั้ง
ในความเห็นของผู้ใหญ่บางกลุ่ม ยังมองว่าการอ่านนิยายเป็นเรื่องไร้สาระ พี่หนูนามีความเห็นอย่างไรกับเรื่องนี้คะ
นิยายอาจจะไม่ทำให้สติปัญญาแตกฉานรอบรู้ขึ้นก็จริงแต่การอ่านนิยายก็ทำให้ได้อย่างแรกเลยคือการพัฒนาการอ่านแล้วไปถึงพัฒนาการเขียนด้วย คืออ่านได้คล่องสะกดตัวได้คล่องเพราะเห็นผ่านตาอยู่บ่อยๆ อีกอย่างผู้ใหญ่มักจะกลัวเสียการเรียน หากติดนิยายแต่เรื่องนี้คิดว่าหากเจอกันครึ่งทางได้ก็น่าจะดี คนเราจะอ่านแต่เรื่องวิชาการอย่างเดียวก็ไม่ผ่อนคลายอีกอย่างตอนนี้คิดว่าหากผู้ใหญ่กลัวเด็กใจแตกเพราะเรื่องเพ้อฝันไร้สาระ น่าจะกลัวจากการ์ตูนมากกว่า ทางที่ดีแม่ก็ควรจะอ่านด้วย ให้แม่อ่านด้วยให้แม่เซ็นเซอร์ แล้วหากแม่ที่เปิดกว้างแต่มีมาตรการคุมอ้อมๆเช่นให้อ่านเป็นเวลาก็น่าจะดี แต่เรื่องแบบนี้พูดยากค่ะมันอยู่ที่ว่าจะมองว่าการรักการอ่านสำคัญพอไหมที่จะปลูกฝัง เด็กอาจจะอ่านนิยายพาฝันแต่พอโตขึ้นเค้าจะเลือกอ่านอย่างอื่นแต่ที่จะได้มาคือรักการอ่านแน่นอนไม่ทิ้งการอ่าน
จริงๆ แล้ว นิยายให้อะไรกับคนอ่านอีกบ้างคะ นอกจากความบันเทิง
ให้เหตุการณ์เฉพาะเวลาช่วงที่เขียนเหมือนบอกเล่าไทมมิ่งนั้นๆ ผ่านจากการบรรยายสถานที่ การแต่งตัว การใช้ภาษา เพลง…ให้มุมมองของปัญหาสังคม สภาพสังคม สาระที่สอดแทรกจากการกลั่นกรองและผ่านกระบวนการความคิดของคนเขียนก่อน…บางเรื่องที่เขียนไปอาจจะไปตรงกับเรื่องราวของบางคนทำให้เขาฉุกคิดตามขึ้นมาได้บ้างว่าจะจัดการกับเรื่องของตัวอย่างไร
นิยายให้ความรู้ / ประสบการณ์กับคนอ่านได้ดีแค่ไหน และพี่หนูนาคิดว่า นิยายสอนใจคนได้ดีกว่าการสอนตรงๆ หรือเปล่าคะ
ได้แน่ๆ ค่ะ ไม่มีใครชอบให้มาสอน แต่หากมีการเล่าเรื่องผ่านตัวละครจะดีกว่าและเนียนกว่าและอย่างน้อยนิยายทุกเรื่องแม้จะไม่ได้สรุปว่า "เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า…." แต่ก็จะมีบทสรุปของเรื่องที่ส่วนใหญ่จะเน้นว่าธรรมย่อมชนะอธรรม ความดีงามความถูกต้องและศีลธรรมก็เป็นเรื่องที่ต้องดำรงเอาไว้
ถ้ามีใครสักคนกล่าวหาว่า นักเขียนนิยายสร้างแต่งานไร้สาระ พี่หนูนาจะโกรธไหมคะ แล้วจะทำยังไงกับคนแบบนี้ดี
ไม่ทำอะไรค่ะ ทุกคนมีสิทธิ์จะคิด เมื่อก่อนหากได้ยินจะโกรธ แต่เมื่อคิดแบบใจกว้างๆ ต่อกันงานเขียนก็เหมือนทำงานอย่างหนึ่ง คนทำงานทุกคนทำสิ่งที่ดีสุด รักและทุ่มเทในงาน..สอดใส่สาระ แต่เป็นสาระด้านที่จะประเทืองอารมณ์ ก็สุดแต่ว่าคนอ่านจะเปิดกว้างได้แค่ไหนอย่างไร
สุดท้ายสำหรับคอลัมน์คุยนอกรอบนะคะ ขอคำแนะนำเล็กๆ น้อยๆ ฝากให้คนที่อยากเป็นนักเขียนนิยายสักหน่อยค่ะ
เคยบอกเสมอว่า "อยากเขียนจงเขียน" และการเป็นนักเขียนก็โดดเดี่ยวพอสมควร อีกคำที่อยากจะบอกคือ "เวทีนี้ไม่มีพี่เลี้ยง" ด้วย และยังมีรายได้ไม่ค่อยจะมากนักหากคิดว่าจะโดดลงมาเป็นงานอาชีพเลยให้ทบทวนดีๆก่อน หากมีงานอื่นทำไปด้วยก็ทำไป แล้วค่อยก้าวลงมาทีละน้อยจนมั่นใจว่าอยู่ได้ในอาชีพนี้ อันนี้พูดถึงตามหลักการการทำงาน แต่หากอยากเป็นนักเขียน คิดแล้วอย่าเก็บไว้อ่านคนเดียว เขียนออกมา..แล้วหาที่ลง ค้นหาทางของตัวเองให้เจอ แล้วทุกคนก็จะได้ตามที่ตัวเองหวัง