ชัญวลี ศรีสุโข : เขียนหนังสือได้...เป็นพรสวรรค์ แต่การเขียนหนังสือดี...เป็นพรแสวง

ชัญวลี ศรีสุโข

ชัญวลี ศรีสุโข เป็นชาวจังหวัดเชียงใหม่ เกิดในครอบครัวศิลปินมีคุณแม่เป็นกวี-นักเขียน ใช้นามปากกาว่า นที ศรีสวัสดิ์ มีคุณตาเป็นช่างฟ้อนและครูดนตรีไทย หากมองในเวทีประกวดวรรณกรรมบ่อยครั้งมักจะมีชื่อของ ชัญวลี ศรีสุโข ติดโผอยู่เป็นประจำ

 

ชัญวลี ศรีสุโข

 

ชัญวลี ศรีสุโข เป็นนักศึกษาทุนแพทยศาสตร์บัณฑิต จาก มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปัจจุบันนี้ คุณหมอชัญวลี ศรีสุโขใช้ชีวิตครอบครัวที่แสนอบอุ่นกับ นายแพทย์พัฒนัตถ์ ศรีสุโข และบุตรชายอีก3คน นอกจากการเป็นสูติ-นรีแพทย์ ,หัวหน้าแผนกสูติ ของโรงพยาบาลพิจิตร ที่มีหน้าที่ค่อยตรวจรักษาผ่าตัดคนไข้ สอนหนังสือนักศึกษาแพทย์ เป็นวิทยากรทั้งรายการวิทยุและโทรทัศน์ แล้วเธอยังหาเวลาว่างเขียนหนังสือซึ่งถือว่าเป็นงานอีกอย่างที่เธอชอบและทุ่มเทกับมัน

“เกิดที่เชียงใหม่ คุณแม่เป็นกวีและนักเขียน นามปากกานที ศรีสวัสดิ์ คุณตาเป็นช่างฟ้อนและครูดนตรีไทย คุณพ่อคุณแม่แยกทางกัน คุณแม่เสียชีวิตเมื่ออายุ36ปี ชอบขีดเขียนมาตั้งแต่เด็กแล้ว ตนเองจึงเชื่อว่าการเขียนหนังสือได้...เป็นพรสวรรค์ แต่การเขียนหนังสือดี...เป็นพรแสวง จำได้ว่าเป็นนักเรียนเขียนเรียงความครูให้ 10.5 จากคะแนนเต็ม 10 ประจำ เขียนกลอนมาตั้งแต่เด็ก ส่งวารสารครูเชียงใหม่ ตอนนั้นคุณแม่จะจัดรายการทางสถานีวิทยุ ชื่อรายการชื่อวลีทิพย์ ก็จะส่งไปที่รายการที่คุณแม่จัดด้วย ตอนเรียนแพทย์ เป็นประธานชมรมวรรณศิลป์ของคณะ ได้เขียนเรื่องเล่าลงจุลสารของคณะ และที่ชอบคือ เขียนจดหมายถึงใครต่อใครมากมาย

จนจบเป็นสูติแพทย์ ลูกโตแล้ว จึงเริ่มเขียนหนังสือในปีพ.ศ.2537 เริ่มจากเขียนกลอนและกลอนเปล่าลงวารสารวงการแพทย์ ต่อมามีคนประท้วงว่า ไม่เกี่ยวกับวงการแพทย์ เลยเปลี่ยนมาเขียนบทความและเรื่องสั้น จากนั้นได้ส่งเรื่องสั้นไปตามนิตยสารต่างๆ ปีพ.ศ.2539 เรื่องสั้น " ยายของนุช " ตีพิมพ์เป็นเรื่องสั้นเรื่องแรกในนิตยสารดิฉัน แล้วก็ได้ส่งเรื่องสั้นประกวดรางวัลสุภาว์ เทวกุล “ตาของหมอ” เป็นเรื่องสั้น 1 ใน 10 รางวัล “ สุภาว์ เทวกุลฯ ” ปีพ.ศ.2540 ต่อจากนั้นก็เริ่มเขียนเรื่องสั้น นวนิยาย วรรณกรรมเยาวชน บทความวิชาการ บทความแสดงความคิดเห็น ทั้งพิมพ์เป็นเล่ม ส่งประกวด และตีพิมพ์ในนิตยสารต่างๆ”

พ.ญ.ชัญวลี ศรีสุโขมีผลงานรวมเล่มออกมาแล้วมากมายทั้งงานทางวรรณกรรมและงานที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะอย่างบทความทางวิชาการต่างๆ ไม่น่าแปลกใจที่พญ.ท่านนี้จะถูกจัดอยู่ในทำเนียบนักเขียนมือรางวัล เพราะเกือบทุกเวทีมักจะมีนามของเธอปรากฏอยู่ด้วยเสมอๆ เรามาลองไล่กันดูเล่นๆดีกว่า ว่าสมญานามนักล่ารางวัลแห่งถ้ำชาละวันเหมาะสมกับเธอหรือไม่ประการใด

รางวัลทางวรรณกรรม
“ตาของหมอ”เป็นเรื่องสั้น1ใน10รางวัล“สุภาว์ เทวกุลฯ”ปีพ.ศ.2540
“ปิมปา”เป็น นวนิยายรางวัล“สุภาว์ เทวกุลฯ”2541
“ครั้งหนึ่ง…”เป็น1ใน12เรื่องสั้นรางวัล”สุภาว์ เทวกุลฯ”2543
“ผู้เข้มแข็ง”เป็น1ใน15เรื่องสั้น รางวัลช่อปาริชาติ 2544
“หมอน้อยกายสิทธิ์”เป็นวรรณกรรมเยาวชนรางวัลชมเชยพระราชทาน แว่นแก้ว2544
“บัตรทองคำ”เป็นเรื่องสั้นดีเด่นรางวัลช่อปาริชาต2545
“เกน…เจ้ามังกรน้อย” รางวัลนิทานสีรุ้งยอดเยี่ยม 2546
“ม้าขี่ผีเจ้านาย”เรื่องสั้นการเมืองรางวัลชมเชยพานแว่นฟ้า จากรัฐสภา2546
“สัญชาตญาณ”เรื่องสั้นชนะเลิศ รางวัล อ.ไชยวรศิลป์ สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ครั้งที่2,2547
“เกมมัจจุราช”พ็อคเก็ตบุ๊กส์รวมเรื่องสั้น รางวัลชมเชย 7-awards2547
“ระบำหุ่น”เรื่องสั้นการเมืองรางวัลชมเชยพานแว่นฟ้าจากรัฐสภา2547
“ต้นกล้า”วรรณกรรมรองชนะเลิศรางวัลดวงดาวของกระทรวงเทคโนโลยี่สารสนเทศและการสื่อสาร(ICT)(ไม่มีรางวัลชนะเลิศ)2548
“บัตรทองคำ” พ็อคเก็ตบุ๊กส์รวมเรื่องสั้น รางวัลชมเชยหนังสือดีเด่นประจำปี2548ของกระทรวงศึกษาธิการ
“ดังลมพัดผ่าน”เรื่องสั้นรางวัลชมเชยวิชิต โรจนประภาครั้งที่1 2548
“ปั้นเลขเป็นตัว” เรื่องสั้นการเมืองรางวัลชมเชยพานแว่นฟ้าจากรัฐสภา2548

- ตอนนี้เขียนอะไรอยู่ และมีงานเขียนประจำที่ไหนบ้าง
ที่เพิ่งจบคือพ็อคเก็ตบุ๊คส์ เรื่อง 6 โรคร้ายคุณผู้หญิงพึงระวัง จัดพิมพ์โดย สนพ.อัมรินทร์ เป็นงานวิชาการที่ใช้วรรณศิลป์เข้าไปช่วยเล่า คาดว่าจะออกมกราคมปีหน้า ส่วนเรื่องอื่นๆ เช่นเรื่องสั้น นวนิยายก็ค่อยๆเขียน โดยพยายามพัฒนาการเขียนเรื่องของตนเองไม่ให้ย่ำอยู่กับที่เพราะถูกรุ่นพี่วิจารณ์ว่าติดอยู่กับที่ไม่ก้าวหน้า

- การแบ่งเวลา
เมื่อมีเวลาว่างก็เขียน แต่โดยทั่วไปจะว่างทุกวันอาทิตย์ นอกจากไม่ขอจัดเวรที่โรงพยาบาลแล้ว คลินิกก็ปิด มักจะนอนตื่นสาย ตื่นมาจะไม่อาบน้ำล้างหน้าแปรงฟัน แต่ดื่มกาแฟแล้วเริ่มเขียนหนังสือไปจนหิวจึงกินข้าวเช้า แล้วเขียนเรื่อยไปถึงกลางวัน อาบน้ำกินข้าว แล้วเขียนต่อ ตกตอนเย็นก็ไปออกกำลังกาย

การเขียนงานจะไม่ค่อยมีที่เขียนไม่ออก คงเพราะประสบการณ์และวัตถุดิบมีมากๆ บางทีจดไว้ว่าจะเขียนหรือจะทำงานวรรณกรรมเป็นสิบๆเรื่องแล้วไม่ได้ทำ ที่ทำที่เขียนส่วนใหญ่ก็พอใจระดับหนึ่ง แต่บางทีรู้สึกว่า ไม่เป็นดังใจ มันไม่เด็ดขาดหรือเฉียบคมอย่างใจนึก”

- ได้รับรางวัลมามากมายถือว่าเล่มไหนเป็นผลงานสร้างชื่อของตัวเอง
สำหรับเรื่องรางวัลมองว่ารางวัลสร้างทั้งความมั่นใจในสิ่งที่ทำ และกำลังใจที่จะก้าวเดินต่อไป ส่วนเล่มไหนเป็นเล่มที่สร้างชื่อนี้ไม่รู้เหมือนกัน รู้แต่ว่าค่อยๆสะสมปริมาณมาเรื่อยๆ แม้พอใจผลงานทุกชิ้น แต่ก็ยังรู้สึกว่าตนเองยังไม่มีคุณภาพพอ ประเภทที่เรียกว่าผลงานดีเยี่ยมไม่มีข้อติ ยังไม่มีก็ตั้งใจไว้ว่า เขียนให้ได้มากทั้งคุณภาพและปริมาณอันเป็นประโยชน์ เป็นแรงบันดาลใจ หรือสร้างสรรค์ความคิดแก่ผู้อ่าน

วันที่จะเลิกเขียนหนังสือนั้น ไม่เคยคิดเลย แต่คิดว่าหากสังขารไม่อำนวยหรือมีเรื่องอื่นที่ต้องจัดการจนไม่มีเวลาเขียน หรือเขียนแล้วด้อยลงเรื่อยๆมากๆเป็นที่อเนจอนาถคนอ่าน ก็คงไม่เขียน แม้ไม่คิดว่าตนเองจะวางปากกา แต่รู้ว่าคนเรานั้นไม่ได้อยู่ค้ำฟ้า การทำงานทุกอย่างได้มากและดีต้องอาศัยกำลังกายกำลังใจ เชื่อว่าคนที่ทำงานได้ดี นอกจากแรงกระตุ้นภายในแล้ว เบื้องหลัง เบื้องหน้า เบื้องบน เบื้องข้าง ต้องดี ดังนั้นหากไฟหมด รอบข้างมีปัญหา ก็อาจวางปากกาโดยปริยาย”

- เขียนบทความทางวิชาการด้วย?
ปัจจุบันเขียนบทความวิชาการและกึ่งวิชาการมากกว่างานอื่นๆ เดือนหนึ่งเขียนเกือบ 10 ชิ้น และได้รับการชักชวนให้เขียนเรื่องเซ็กซ์และพูดเรื่องเซ็กซ์มากขึ้น
บทความทางวิชาการยังช่วยในการเป็นวิทยากร ปัจจุบันเป็นวิทยากรประจำรายการชูรักชูรส ทีวีสีช่อง3, คลับสุขภาพ ทีวีสีช่อง7
วิทยากรทีวีรายสะดวก รายการร้านชำยามเช้า ITV, คุยรักออกรส เอเอสทีวี ,
วิทยากรประจำวิทยุชูรักเรดิโอ 105 เมกกะเฮิรทซ์ ออกทุกพฤหัส เวลา 21.00-22.30น. รับฟังได้ที่กรุงเทพฯ

- งานที่เกี่ยวข้องกับวรรณกรรมอื่นๆ
เป็นวิทยากรด้านวรรณกรรม เช่นโครงการประชุมผลิตสื่อหนังสือเสริมการอ่าน คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏ นครสวรรค์ 2549 ,โครงการเยาวชนสร้างสรรค์ศิลปะร่วมสมัย สนง.วัฒนธรรมพิจิตร 2549ฯลฯกรรมการตัดสิน การประกวดนิทานสายรุ้งของสนพ.สุขภาพใจครั้งที่ 2-3 พ.ศ.2548-2549

- เขียนได้หลายแนวมากถนัดแนวไหนมากที่สุด
รู้สึกว่าเขียนบทความง่ายกว่า, เรื่องสั้นรองมา, นวนิยายยากสุด แต่สำคัญคือพล็อต ถ้ามีพล็อตดีๆ น่าจะทำให้การเขียนง่ายขึ้นมาก

- เป็นหมอกับเป็นนักเขียนชอบอะไรมากกว่ากัน
อาชีพหมอเป็นอาชีพที่รักและภาคภูมิใจอันดับหนึ่ง เขียนหนังสือรองลงมา เคยคิดว่าหากไม่ได้เป็นหมอหรือคนเขียนหนังสือจะรู้สึกอย่างไร คำตอบที่ตอบตนเองก็คือ คงเป็นอะไรก็ได้ ที่เกิดประโยชน์ต่อตนเอง ครอบครัวและสังคม ตอนเด็กๆอยากเป็นช่างฟ้อน และถ้าเป็นจริงโปงลางสะออนก็โปงลางสะออนเถอะ คิดว่าตนเองคงเป็นได้เหมือนกัน

- อาชีพหมอช่วยในเรื่องงานเขียนมากน้อยแค่ไหน
ช่วยทั้งด้านผลัก และฉุด
ด้านผลัก คือ อาชีพหมอนั้นทำให้เห็นวัฎจักรชีวิต เกิดแก่เจ็บตาย มีเรื่องสะเทือนใจให้เขียนถึง,เขียนหนังสือไม่กังวลกับรายได้
ด้านฉุด คือ อาจจะเขียนวนเวียนในอาชีพ ทำให้ซ้ำซาก บางเรื่องที่คนอื่นสะเทือนใจเราอาจจะเห็นจนชิน,เวลามีไม่มาก

-งานเขียนส่วนใหญ่ของคุณหมอมักจะมาจากโรงพยาบาล หมายถึงเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวกับชีวิตในโรงพยาบาล คุณหมอเคยคิดจะแหวกเช่นไปเขียนเกี่ยวกับเรื่อง...ที่ไกลตัวมากๆออกไปไหมครับ
งานหลายชิ้นไม่เกี่ยวกับโรงพยาบาลโดยตรง เช่นนวนิยายปิมปา และเรื่องสั้นหลายเรื่อง อ่านนวนิยายเรื่องนอน ของคุณศักดิ์ชัย ลัคนาวิเชียร เรื่องลูกสาวฤาษี ของคุณปริทรรศ หิตางกรู แล้วชอบ นึกอยากเขียนเรื่องที่ฝันเฟื่องแบบนั้นบ้าง

- มองอินเตอร์เนตกับงานเขียนเป็นยังไงบ้าง
ถ้าไม่มีคอมพิวเตอร์ ชัญวลีก็คงไม่ได้เขียนหนังสือ ก่อนเขียนหนังสือหลายปี เขียนด้วยมือ แล้วนำไปซุกไว้ตรงลิ้นชักโน้นนี่จึงไม่สามารถเขียนเป็นเรื่องราวได้เลย พอมีคอมฯจึงเขียนเป็นชิ้นเป็นอันได้

สำหรับอินเตอร์เนตนอกจากติดตามความก้าวหน้าของงานเขียน ติดตามข่าวคราวของชุมชนนักเขียนแล้ว ยังใช้เสริช์ข้อมูล ช่วยในการเขียนงานทั้งด้านวรรณกรรม และวิชาการมากๆ เป็นคนที่ยอมรับว่าเป็นคนติดอินเตอร์เน็ตคนหนึ่ง เช่น ชุมชนประพันธ์สาสน์นั้นติดตามทุกวัน

- ฝากถึงคนอยากเป็นนักเขียน
อยากเขียนลงมือเขียนแต่อย่ามุ่งหวังสูง จงเชื่อว่าการเดินทางไปสู่ประตูความเป็นนักเขียนไม่มีทางลัด ไม่มีลิฟต์ ไม่มีวิธีอื่นใด นอกจากเคี่ยวกรำตนเอง อาศัยกำลังใจการลองผิดลองถูกและความอดทน หากมีผู้ที่เดินทางโดยทางลัดไม่ว่าจะด้วยวิธีใด สุดท้ายเขาก็มักจะหายสาบสูญจากการเป็นนักเขียน

ผลงานรวมเล่มที่ผ่านมาของ ชัญวลี ศรีสุโข (พ็อคเก็ตบุ๊กส์)(คนเดียว)
“นวนิยายปิมปา”สนพ.ดับเบิ้ลนายน์ 2542,
“รวมเรื่องชุดฉุกเฉิน”สนพ.สนุกอ่าน2544,
“หมออินเทอร์น” สนพ.สนุกอ่าน2544 ,
“เรื่องสั้นหมอหมอ” สนพ.สนุกอ่าน2544,
“บันเทิงบันทึกนักศึกษาแพทย์” สนพ.สนุกอ่าน2545,
“ ร้อยแปดคนไข้ไอซียู”สนพ.สนุกอ่าน 2545,
“วรรณกรรมเยาวชนหมอน้อยกายสิทธิ์” สนพ.นานมีบุ๊คส์2545,
“รวมเรื่องสั้นเกมมัจจุราช” สนพ.ดับเบิ้ลนายน์ 2545,
“เพื่อนชีวิตอิสตรี”สนพ.สนุกอ่าน2546,
“นิทานเกนเจ้ามังกรน้อย”สนพ.สุขภาพใจ2546 ,
“บัตรทองคำ”รวมเรื่องสั้นสนพ.ดับเบิ้ลนายน์ 2548,
“เรื่องวุ่นๆของน้องจุ๋มจิ๋ม” สนพ.ณ เพชร2548,
“สวัสดีคุณหมอใหม่”รวมบทความสนพ.สนุกอ่าน2548,
“คุณผู้หญิง(ไม่)กล้าถาม”รวมบทความ สนพ.บุ๊คไทม์(สุขภาพใจ)2548,
“คุณผู้หญิงควรรู้” รวมบทความสนพ.บุ๊คไทม์(สุขภาพใจ)2548,
“นิทานสิงโตน้อยกับปีศาจฯ”นิทาน สนพ.สถาพรบุ๊กส์ 2548
“ต้นกล้า”วรรณกรรมเยาวชน สนพ.ณ เพชร 2548
“เรื่องน่ารู้สูติ-นรีเวช”รวมบทความ สนพ.สุขภาพใจ
" เด็กหญิงของเรา " สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น
" แม่ข้างเตียง " สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น
" พฤกษามาตา " ชนะเลิศรางวัลชมนาดครั้งที่ 3 สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ