นิรันศักดิ์ บุญจันทร์ : บก.หนุ่มใหญ่ แห่งจุดประกายวรรณกรรม

นิรันศักดิ์ บุญจันทร์

พระอาทิตย์ลับขอบฟ้าไปนานแล้ว ณ ร้านอาหารแห่งหนึ่งในเมืองกรุง เรากำลังรอนักเขียนหนุ่มใหญ่ที่มีงานเขียนหลากหลายแนว ทั้งเรื่องเล่าสั้น ๆ เรื่องสั้นสะท้อนสังคม เรื่องสั้นวิทยาศาสตร์จินตนาการ และมีตำแหน่งเป็นถึงบรรณาธิการจุดประกายวรรณกรรม ใช่แล้ว เรากำลังรอ พี่ตุ๋ย-นิรันศักดิ์ บุญจันทร์ ผู้ซึ่งกำลังเดินทางจากบางนามาร่วมรับประทานอาหารและพูดคุยกับเราที่นี่

"ผมเป็นคนที่เขียนงานได้ทุกสถานที่นะ ที่ทำงานก็เขียน ที่บ้านก็เขียน ผมเป็นคนตื่นเช้า จะเมาอย่างไรก็แล้วแต่ผมจะตื่นตี 5 ทุกวัน" พี่ตุ๋ยตอบคำถามแรกอย่างอารมณ์ดี หลังจากสั่งอาหารและเครื่องดื่มเรียบร้อยแล้ว วันนี้เขามาในชุดเสื้อยืดสีขาวกับกางเกงยีนส์ พร้อมแว่นตาทรงกลมอันใหม่สไตล์จอห์น เลนนอน ที่เจ้าตัวเล่าว่าซื้อมาในราคา 50% เพราะเจ้าของร้านเป็นนักอ่านที่ชื่นชอบผลงานของเขา แล้วเล่าถึงการทำงานต่อไปว่า "ตอนเย็นผมกลับบ้านจะทบทวนทั้งหมด พอตีห้าถ้าเป็นงานคอลัมนิสต์ผมจะเขียนเลย ถ้าเป็นเรื่องยาวก็จะคิดพล็อตไว้ก่อน อันนี้มันคือข้อแตกต่าง เราไม่ได้เขียนนิยายอย่างเดียว เรามีงานหลายอย่าง ถ้าคุณต้องเขียนคอลัมน์วันละ 5 ชิ้น คุณจะรู้สึกเลยว่า บางครั้งสิ่งที่เราอยากเขียน เสน่ห์อาจจะน้อยลง แต่ในบางขณะที่เราพร้อมเนี่ย อารมณ์และจินตนาการของเราจะพลุ่งพล่านเลยนะ"

บก.หนุ่มใหญ่ยกแก้วเบียร์ขึ้นจิบ ขณะฟังเราถามถึงการบริหารเวลาว่าที่ดูเหมือนจะมีความสำคัญต่อเขามาก

"แน่นอน เข้างาน 10 โมง ผมจะวางไว้เลยนะว่าก่อนเที่ยงต้องทำอะไร จากเที่ยงถึงบ่ายสองโมงจะทำอะไร บ่ายสองถึงบ่ายสามจะต้องเขียนคอลัมน์ไหน ต้องวางไว้หมด ผมเป็นคนวางระบบกับตัวเองเยอะ หลังจากที่หนุ่ม ๆ ค่อนข้างจะเลอะเทอะ รู้สึกสูญเสียเวลาเยอะ ตอนหลังต้องมาจัดการเรื่องของตัวเอง ตื่นขึ้นมาตีห้านี่ผมฟังเพลงก่อนเลย ปกติจะนอน 4-5 ทุ่ม ถ้ามันหน่อยก็เที่ยงคืน กลับบ้านแล้วจะไม่เขียนหนังสือเลย แต่จะเขียนตอนเช้า จะเมาอย่างไรก็แล้วแต่จะตื่นเช้า ตื่นมาฟังข่าว แล้วก็ทำงานไปเรื่อย ๆ อย่างคอลัมน์ที่จะส่งตอนเที่ยง ก็จะเขียนตอนเช้าแล้วใส่แผ่นมาที่ออฟฟิศ จากนั้นก็ทำงานอื่นที่วางไว้"

อาหารบนโต๊ะเริ่มพร่องไปตามความหิว พนักงานเดินเข้ามารินเบียร์จนเต็มแก้ว พี่ตุ๋ยยกขึ้นจิบอย่างสบายอารมณ์ นิ่งทบทวนถึงชีวิตบนเส้นทางวรรณกรรม ที่เริ่มจากเรื่องสั้นเพื่อชีวิตสะท้อนสังคม จนถึงปัจจุบัน เขาคือหนึ่งในนักเขียนวรรณกรรมวิทยาศาสตร์ชั้นแนวหน้าของไทย "บังเอิญบ้านผมที่แพร่อยู่ใกล้บ้านหม่อมเจ้าประดิษฐ์ สวัสดิวัตน์ ผมเป็นเพื่อนลูกเขาก็ได้อ่านหนังสือที่บ้านเขา แล้วเขาเป็นคนชอบนิยายวิทยาศาสตร์ ผมก็เลยได้อ่านเยอะ เป็นการ์ตูนแนววิทยาศาสตร์ พอมาทำงาน ตอนนั้นผมทำสู่อนาคต หนังสือการะเกด ไต่เต้าจากตรวจปรู๊ฟ วันหนึ่งโคตรเบื่อเลย อ่านแต่เรื่องสั้นเพื่อชีวิต ก็เลยลองเขียนแนววิทยาศาสตร์ดู เขียนแล้วมันนะ มันแปลกดี เป็นเรื่องที่คาดไม่ถึง ผมเคยอ่านเรื่องของซีคลาร์ก หนังก็ดู ตอนนั้นยังไม่คิดอะไร ดูแล้วก็คิดว่ามันแปลกดี มันคิดอะไรแปลกดี พอดีช่วงนั้นงานเพื่อชีวิตมันเยอะมาก มันเอียน ตอนเย็นยังมีไฮปาร์คที่รามคำแหงอีก เอียนมาก" นั่นคือที่มาที่ไปในการก้าวเข้าสู่การเขียนงานแนววิทยาศาสตร์ของ นิรันศักดิ์ บุญจันทร์ ซึ่งหลังจากนั้นในปี พ.ศ.2533 รวมเรื่องสั้นเรื่อง คืนแห่งความพินาศ ของเขาเป็น 1 ใน 7 เล่มที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรท์ และเป็นนิยายวิทยาศาสตร์แฟนตาซีเล่มแรก (ใน 5 ประเทศ) ที่ผ่านเข้ารอบนับแต่รางวัลนี้ก่อตั้งมา12 ปี นอกจากบทบาทของนักเขียน เรารู้จัก นิรันศักดิ์ บุญจันทร์ ในฐานะบรรณาธิการและผู้คร่ำหวอดในแวดวงวรรณกรรม จึงไม่น่าแปลกใจที่ใครต่อใครมักจะถามความเห็นของเขาต่อประเด็นต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในแวดวงวรรณกรรม "มีนักศึกษาคนหนึ่งมาขอสัมภาษณ์ผมไปทำวิทยานิพนธ์ เป็นนักศึกษาปริญญาโทที่ธรรมศาสตร์ ประเด็นในแง่บรรณาธิการกับงานเขียน แล้วก็มุมมองในหนังสือหัวใหม่ หนังสือหัวฝรั่ง อย่าง open, summer ผมไม่ใช่คนเลวร้ายนะ ผมมองเขาดี แต่ทีนี้ว่าปรัชญาหนังสือคือการอ่าน ไม่ใช่การดูภาพ อยากดูภาพคุณไปเปิดทีวีดูก็ได้ แล้วตอนนี้ open ก็ปิดไปแล้ว เหมือนกับ Asiaweek ก็ปิดตัวไปแล้ว มันเป็นการลงทุนที่สูงเกินไป สูงเกินรายรับ มันไม่จำเป็นต้องมีหน้าสีทุกหน้า ไม่งั้นก็ตายสิ ผมไม่ปรารถนาจะทำหนังสือเลยนะ มันเสียดายตังค์" พอเราแย้งถึงเรื่องโฆษณาสนับสนุน บก.หนุ่มใหญ่ตอบกลับมาทันทีว่า "โฆษณาเหรอ ใครมันจะมาเลี้ยงคุณตลอด ผมไม่เชื่อหรอก" เขียนหนังสือมาลายปี มีผลงานออกมาไม่น้อย เราเลยถามนักเขียนที่เป็นแรงบันดาลใจ พี่ตุ๋ยบอกว่าตอนเป็นนักศึกษาจะสนใจงานของ มนัส จรรยงค์ ถ้าต่างประเทศมีสองคน คือ โจเซฟ คอนราด และ สไตน์เบค อ่านในหอสมุดรามคำแหง อ่านแล้วทึ่งว่าทำไมบรรยายอะไรได้ละเอียดขนาดนี้ อย่างเรื่องลอร์ดจิม ของโจเซฟ คอนราด

"ของสไตน์เบคผมชอบเรื่อง ผลพวงแห่งความคับแค้น คนบ้าอะไร แมลงวันตัวเดียวยังไม่ให้หลุดเลย ผมอ่านแล้วยังงงเลย แมลงวันบินมันยังบรรยายน่ะ คิดดูสิ แล้วอีกเรื่องที่บรรยายย้อนความเรื่องปู่เรื่องย่า นี่คือเสน่ห์ของสไตน์เบค คนอะไรบรรยายฝุ่นที่ง่ามตีนได้ เราจะมองเห็นภาพของอเมริกันเลย เป็นวิญญาณของอเมริกัน การเคลื่อนย้าย การรับจ้างเด็ดส้ม ทำงานไร่ส้ม นี่คืออเมริกัน" ในฐานะที่เดินอยู่ในแวดวงวรรณกรรมมานานพอสมควร เราเลยอยากรู้ว่ามีนักเขียนรุ่นใหม่คนไหนบ้างที่บก.ผู้นี้ชื่นชอบ พี่ตุ๋ยหยุดคิดนิดหนึ่ง ก่อนตอบว่า "ที่ชอบที่สุดตอนนี้ก็คนที่ใช้นามปากกาว่า เด็กชายกระสอบ พิสิฐ ภูศรี ก็ชอบ ปราบดา ก็ชอบ แต่ไม่ได้ชอบรวมเล่มนะ จะชอบบางเรื่อง ยังมีอีกหลายคนที่ชอบนะ แล้วก็มีนักเขียนผู้หญิง อย่าง ชลัมพุ ณ ชเลลัม เอื้อ อัญชลี แล้วก็ ปรารถนา รัตนะ เรื่องเขาโอเค ผมยังเสียดาย เสาวรี ถ้ามีไกด์นะผมว่างานเขียนเขาจะนิ่งมาก เขามีข้อมูล แต่เขาเล่าเรื่องไม่เป็น นี่คือจุดอ่อนของเขา เสาวรีเคยเขียนให้ผมลงฟ้าเมืองทอง ตอนนั้นผมรู้สึกว่ามันดีนะ มันยังไม่มีใครเขียนแง่มุมนี้ แง่มุมของนางพยาบาล แต่พอเขียน ๆ ไปแล้วมันซ้ำน่ะ เขาต้องมองออกนอกสถานีอนามัย เหมือนเดือนวาดมองออกนอกหน้าต่างบ้านเขาออกไป อันนี้เป็นความคิดของผม ถูกหรือผิดผมไม่รู้นะ"

การสนทนาลื่นไหลไปพร้อมกับความว่างเปล่าของจานอาหารตรงหน้าและเบียร์อีกหลายขวด พี่ตุ๋ยดูอารมณ์ดีและเป็นกันเองเหมือนเช่นทุกครั้งที่เจอกัน เรารู้มาว่าพี่ตุ๋ยกำลังจะมีผลงานรวมเรื่องสั้นวิทยาศาสตร์เล่มใหม่ออกมาเร็ว ๆ นี้ "เรื่องสายฝนกลางพายุที่แล้งร้อน เป็น Social Science Fiction วิทยาศาสตร์สังคม ผมไม่ได้มองถึงความเป็นฮาร์ดไซน์ ไม่ใช่วิทยาศาสตร์โดยตรง ผมมองซอฟท์ลงมา มองผลพวงที่มันเกิดขึ้น เท่านั้นเอง" ใครคนหนึ่งในพวกเราเคยอ่านต้นฉบับนี้มาบางส่วน แสดงความเห็นว่างานเล่มนี้ออกจะทึม ๆ เหมือนมองในเชิงลบ บก.นักเขียนตอบรับทันทีว่า

"แน่นอน ผมต้องการอย่างนั้น ผมต้องการให้มันทึม ๆ คุณูปการของนิยายวิทยาศาสตร์คือการกระตุ้นเตือนให้มนุษย์ฉุกคิด เหมือนกระตุกแขนเสื้อคุณน่ะ ให้คุณย้อนกลับมาดูอะไรสักอย่าง ถามจริงเถอะคุณมองโลกทุกวันนี้สดใสเหรอวะ ผมว่าเราพยายามแสร้งให้สดใสนะ แต่ทุกวันนี้คุณไปไหนน่ะ แค่ขอวีซ่าเข้าอเมริกา แค่นี้คุณก็มืดมนแล้ว ทุกวันนี้มีแต่การฆ่าแกงกัน ไม่มีประเทศไหนที่ไม่มีสงคราม น่ากลัวตายห่าเลย" หลังจากนั้นเรายังพูดคุยกันอีกหลายเรื่องที่เกิดขึ้นและเคลื่อนไหวอยู่ในสังคม แน่นอนว่าต้องเป็นเรื่องที่เราทุกคนบนโต๊ะอาหารให้ความสนใจ วันนั้นเรื่องราวส่วนใหญ่จะวนเวียนอยู่กับระเบิดนิวเคลียร์ สงคราม สารพิษ และสารเคมี ซึ่งนักเขียนผู้นี้กำลังสนใจเป็นพิเศษ

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ