สุชาติ สวัสดิ์ศรี : สิงห์แห่งทุ่งวรรณกรรม

สุชาติ สวัสดิ์ศรี

"ตู้วรรณกรรม" "ยักษ์ใหญ่ ทางวรรณกรรม" หรือ "สิงห์แห่งทุ่งวรรณกรรม" ฉายาเหล่านี้เมื่อเอ่ยขึ้น จะหมายถึงใครไปเสียมิได้นอกจาก สุชาติ สวัสดิ์ศรี อดีตบรรณาธิการผู้สร้างตำนานรางวัล "ช่อการะเกด" ขึ้น เพื่อส่งเสริมนักเขียนเรื่องสั้นรุ่นใหม่มาประดับวงการน้ำหมึกไทย จวบจนทุกวันนี้นักเขียนหน้าใหม่เหล่านั้นหลายคนยังคงโลดแล่นเล่นอักษรอยู่บนถนนนี้ แต่ตัวบรรณาธิการผู้ประดับช่อให้เขาเหล่านั้นล่ะ หลังปิดตำนาน "ช่อการะเกด" ลง แน่นอนเรายังคงได้ยินข่าวคราวของท่านอยู่เป็นประจำมิได้เงียบหายไปไหน แล้วทุกวันนี้เวลาที่ใช้หมดไปในแต่ละวันๆ รวมถึงมุมมองและความคิดของท่านจะเป็นอย่างไร เราได้สอบถามมาคุยกันนอกรอบให้คุณรับรู้แล้วค่ะ…

แรงบันดาลใจเริ่มแรกที่ทำให้ตัดสินใจว่าจะเริ่มต้นเดินบนถนนวรรณกรรมนี้คืออะไรคะ
ไม่มีแรงบันดาลใจอะไรเป็นพิเศษ แต่เพราะชอบหนังสืออ่านเล่นมาตั้งแต่เด็ก เลยทำให้ติดนิสัยรักการอ่าน แล้วก็หลงทางอยู่ในนั้น จนบัดนี้ยังหาทางออกไม่ได้

การทำงานในแต่ละวันจะเป็นงานเขียนต้นฉบับเป็นหลักใช่ไหมคะ แบ่งเวลาทำงานกับการพักผ่อนอย่างไรบ้าง
ผมไม่ได้เขียนหนังสือทุกวัน งานส่วนใหญ่ในสมัยก่อนที่ต้องทำเป็นประจำคืองานบรรณาธิการ งานทำหนังสือให้เป็นเล่ม ต้องใช้เวลาติดต่อกับผู้คนมาก ไม่ค่อยมีเวลาอยู่นิ่ง การเขียนต้นฉบับมักจะเป็นส่วนหนึ่งของงานทำหนังสือ ต้องเขียนให้เสร็จเดี๋ยวนั้นและต้องเขียนได้หลายแบบ ตอนนี้ไม่ได้ทำหนังสือแล้ว ส่วนใหญ่ก็เขียนแบบเขาขอมา และต้องทำกิจอาทิตย์ละ 1 - 2 วัน คือเขียนคอลัมน์ประจำลงในนิตยสารรายสัปดาห์ เวลาของผมมักหมดไปกับการทำอย่างอื่น คือถ้าไม่ออกไปรับใช้ใครนอกบ้าน ก็จะให้เวลากับการทำงานศิลปะ เรื่องแบ่งเวลาทำงาน ก็ทำไปแล้วแต่ใจต้องการ ไม่มีเสาร์ - อาทิตย์ แบ่งเวลากว้าง ๆ ไว้เพียงกลางวัน - ทำงาน กลางคืน - พักผ่อน เขียนหนังสือเสร็จก็ดูหนังฟังเพลงไปตามเรื่อง

ในฐานะที่เป็นกรรมการคัดเลือก ตัดสินผลงานมามากมาย และเรียกได้ว่าเป็นผู้สันทัดทางวรรณกรรมท่านหนึ่ง ช่วยให้คำนิยามของงานเขียนที่ดีในสายตาคุณสุชาติสักนิดค่ะ ว่าควรเป็นอย่างไร
งานเขียนที่ดีในสายตาของผม ถ้ามองตามอุดมคติก็น่าจะหมายถึงงานเขียนที่ประกาศสัจจะ งานเขียนที่น่าจะต้องเป็นเหมือน a guiding star อย่างในเพลง แสงดาวแห่งศรัทธา นั่นแหละ แต่ถ้ามองตามความเป็นจริง งานเขียนที่ดีไม่ว่าจะเป็นประเภทไหน ระดับไหน ก็คือต้องเป็น งานเขียนที่เขียนดี ให้ได้สำเร็จเสียก่อน ในโลกนี้ผมว่ามีหนังสืออยู่ 2 ประเภทเท่านั้น คือ หนังสือที่เขียนดี กับ หนังสือที่เขียนเลว หนังสือที่เขียนเลวไม่ได้หมายถึงหนังสือที่ถูกมองว่าผิดศีลธรรม หรือไร้ศีลธรรม แต่หมายถึงหนังสือที่เขียนออกมาอย่างน้ำท่วมทุ่งผักบุ้งโหรงเหรง ไม่ทราบว่าคนรุ่นใหม่เข้าใจสำนวนไทยที่ผมว่านี้หรือเปล่า

ทราบว่าชอบอ่านหนังสือมากมายได้ทุกแนว หนังสือแนวใดคะที่โปรดปรานมากที่สุด
การอ่านหนังสือขึ้นอยู่กับวัย ประสบการณ์ และรสนิยม สมัยเด็ก ๆ ผมก็เริ่มจากความอยากอ่านทุกอย่างที่ขวางหน้า เริ่มจากหนังสือที่อยู่ใกล้ตัว ในบ้านผมไม่มีย่าไม่มียายที่ชอบอ่านหนังสือ แม่ผมก็อ่านหนังสือไม่ออก เขียนหนังสือได้แค่สองตัว คือชื่อตัวเอง แต่แม่ก็เห็นประโยชน์จากการอ่านออกเขียนได้ ดังนั้นจึงให้โอกาสผมเรียนหนังสือเท่าที่ผมจะไปได้ แต่แม่ก็ตีระเบิดทุกครั้งเวลาจับได้ว่าผมขโมยเงินไปซื้อหนังสืออ่านเล่น ผมมาเข้าใจเอาเองทีหลังว่า แม่คงไม่ได้ตีเพราะผมชอบอ่านหนังสือ แต่แม่ตีเพราะผมขโมยเงินมากกว่า ผมเริ่มการอ่านมาด้วยการผจญภัยแบบนั้น หนังสือที่อ่านก็มาจากแผงหนังสือย่อย ๆ ที่แขวนนิยายตลาดทั้งหลายไว้ยั่วใจคนเดินไปมา ผมอ่านหนังสือคล่องก่อนจบชั้นประถมก็เพราะเรื่องน้ำเน่า เรื่องพาฝันเป็นพื้นฐาน สมัยนั้นยังไม่มีโทรทัศน์ ผมจึงอ่านโดยไม่ต้องตกเป็นทาสการดู ก็อ่านไปเรื่อย และค่อยๆรับรู้มากขึ้นเรื่อยว่ายังมีหนังสืออีกมากที่ผมไม่รู้จัก แต่การอ่านของผมก็คืออ่านเป็นเล่ม นิสัยทางหนังสือที่ขึ้นอยู่กับวัย ประสบการณ์ และรสนิยมต่างๆ คงจะบอกเราได้เองว่าเราต้องการอะไร นอกจากนี้ผมยังเชื่อว่าเราสามารถลัดเวลาการอ่านได้ ถ้าหากมีคนช่วยแนะนำหรือมีโอกาส การลัดเวลาครั้งใหญ่ของผม คือโอกาสที่ได้รู้จักกับคำว่า ห้องสมุด เป็นครั้งแรก หอสมุดกลางธรรมศาสตร์ คือโลกใหม่ทางการอ่านของผม เป็นโลกใหม่ที่ทำให้ผมหยุด "พนมเทียน" ไว้แค่ เล็บครุฑ หยุด " อรวรรณ " ไว้แค่ อกสามศอก ทิ้ง ป.อินทรปาลิต จ.ไตรปิ่น ส.เนาวราช จันตรี ศิริบุญรอด และใครต่อใครอีกหลายคนไว้กับชีวิตวัยเด็ก และไม่เคยมีโอกาสตามมาหลอกหลอนผมทางโทรทัศน์ได้เหมือนอย่างคนอ่านเรื่องแนวตลาดในยุคนี้ ผมคิดว่าการอ่านของผมก็ไม่ได้แข็งแกร่งหรือสูงส่งอะไรนัก มันก็พัฒนาจากเงินที่ขโมยมาจากเชี่ยนหมากของแม่เพียงไม่กี่บาท และผมก็ได้รับโทษจนสาสมไปแล้ว แต่แม่ก็ไม่เคย ห้าม ผมอ่าน คนเราเมื่อวัยและประสบการณ์มากขึ้น ถ้าเรายังติดใจการอ่านของเราอยู่ เราก็จะรู้จัก ทาง หรือ รสนิยม ของเราเอง ว่าไปแล้วแนวหนังสือส่วนใหญ่ที่ผมอ่านก็คือแนววรรณกรรม จะมีเพิ่มเติมขึ้นมาบ้างในระยะหลังก็เป็นแนววิชาการที่หนักไปทางมนุษยศาสตร์ และ สังคมศาสตร์ แต่ภาพรวมส่วนหลักที่ชอบคือหนังสือแนวศิลปะและวรรณกรรม ส่วนย่อยที่เป็นองค์ประกอบคือหนังสือทุกแนวที่หาความสุขให้ตัวเอง เช่น นิยายวิทยาศาสตร์ ระยะหลังผมชอบอ่านสารคดีมากกว่าอ่านนิยาย ส่วนบทกวีแทบจะเลิกอ่านไปเลย ไม่ว่าของไทยหรือของต่างประเทศ งานสารคดีส่วนใหญ่ที่อ่านมักเป็นเรื่องการเดินทางหรือไม่ก็เรื่องชีวประวัติของพวกศิลปิน

เคยให้สัมภาษณ์ว่า ถ้าย้อนเวลากลับไปได้อยากเป็นครูใช่ไหมคะ แล้วไม่สนใจจะเปิดโรงเรียนนักเขียนบ้างหรือคะ จะได้เป็นครูสอนเรื่องงานเขียน
ผมสอนอยู่บ้างบางครั้งบางคราวตามที่เขาเชิญ แต่เวลาจะให้เป็นครูสอนเรื่องงานเขียน ผมมักค่อนข้างลำบากใจ เหตุผลคือผมไม่ค่อยเชื่อเรื่องที่จะสอนให้ใครเป็นนักเขียน ผมจะสอนให้เขาเขียนหนังสือได้ยังไงถ้าหากเขาไม่รักการอ่าน เริ่มต้นก็ทำได้แค่พูด..พูด..พูด อยากเป็นนักเขียนต้องรักการอ่านนะ มันก็แค่พูด หรือไม่ก็ให้ฝึกเขียนส่งมาเอาคะแนน งานเขียนสร้างสรรค์บางทีมันต้องกระโจนลงไปมากกว่านั้นครับ ผมเชื่อวิธีการที่เป็นโรงเรียนในแบบที่ชื่อ ช่อการะเกด มากกว่า ไม่มีใครคิดว่าเป็น "โรงเรียน" ของผมบ้างเลยหรือ ผมทำตามอย่างที่พี่ อาจินต์ ปัญจพรรค์ พูด คือถ้าใครอยากว่ายน้ำเป็น ก็ต้องกระโจนลงน้ำกันเลย มัวแต่อ่าน ตำราว่ายน้ำ มันจะว่ายน้ำเป็นได้อย่างไร เรื่องตั้งโรงเรียนนักเขียน มีคนเคยยุผมมากกว่าหนึ่งครั้ง คือให้ทำเป็นธุรกิจไปเลย จบคอร์สก็แจกกระดาษแผ่นเดียว มีลายเซ็นของผม แต่ผมไม่กล้า ผมไม่อยากเอาตัวเองไปสร้างภาพตรงนั้น ไม่อยากรับประกัน การสอนนั้นก็สอนกันได้ แต่ผมไม่ค่อยเชื่อเลยว่า มันจะสร้างชีวิตทางการเขียนของใครขึ้นมาได้ด้วยวิธีแบบนั้น คำว่า โรงเรียนนักเขียน สำหรับผมบางทีเป็นเรื่องสร้างภาพเกินเหตุ ถ้าผมจะตั้งก็น่าจะเป็นเพียงแค่ โรงเรียนกินเหล้าเคล้าการเขียน - ถ้าหากไม่เมาเสียก่อน คงจะได้บทเรียนกันไป บ้าง ทั้งผู้เรียนและผู้สอน เอาค่าเรียนมาแค่เบียร์ของตัวเองก็พอ โรงเรียนเลิกแล้วหาทางกลับบ้านของตัวเองให้ถูกเป็นสำเร็จหลักสูตร

มองแวดวงวรรณกรรมไทยในปัจจุบันนี้เป็นอย่างไรบ้าง
มองว่าสบายดี แวดวงวรรณกรรมไทยในปัจจุบันมีเดิมพันที่สูงขึ้น แต่คุณภาพในภาพรวมต้องไปถาม ดาวพระศุกร์ คือถ้าให้ตอบอย่างฟังไม่รู้เรื่องก็คือ บ้านนี้เมืองนี้ มาตรฐานฟุตบอลไทยในระดับโลกเป็นอย่างไร มาตรฐานวรรณกรรมไทยในระดับโลกก็คงคล้ายๆอย่างนั้น เมื่อมีแต่ผู้คนต้องการแค่ทำซ้ำ ทำย้ำ ทำซาก คุณภาพของวรรณกรรมไทยในปัจจุบันก็เลยไม่ค่อยไปไหน อมตะวาจาของอาจารย์ เจือ สตะเวทิน เมื่อ 30 ปีก่อนยังสามารถนำกลับเอามาใช้ได้ในแง่ภาพรวมของวรรณกรรมไทยปัจจุบัน โดยเฉพาะในแง่นวนิยาย

เวลาว่างชอบทำอะไรเป็นพิเศษคะ
งานอดิเรกของผมคืออ่านหนังสือ ถ้าว่างจากการงานเมื่อใดก็ดูหนังฟังเพลงไปตามเรื่อง

ให้กำลังใจผู้มีความใฝ่ฝันอยากเป็นนักเขียนหน่อยค่ะ
มีนักเขียนคนหนึ่งเคยกล่าวว่า " ชีวิตแสวงหาโดยได้รับการกระตุ้นด้วยอุดมคติ ด้วยสิ่งที่ไม่ปรากฏตัวตน แต่สัมผัสได้ด้วยใจ และตระหนักว่าจะสามารถบรรลุได้" แต่ความเชื่อมั่นถ้าหากคุณไม่ลงมือทำ มันก็เป็นแค่ความฝันลมๆแล้ง ๆ คือเมื่ออยากเป็นนักเขียน ไม่ว่าจะสำเร็จหรือล้มเหลว ก็ต้องลงมือเขียนดูก่อน เพื่อจะได้รู้ทางของตัวเองว่าถนัดหรือไม่ คุณจะเป็นนักเขียนได้อย่างไรถ้าหากไม่เคยแม้แต่เขียนจดหมายถึงเพื่อน เริ่มต้นควรมีบันทึกเล็กๆสักเล่มติดตัว เขียนความรู้ สึกนึกคิดทุกอย่างของตัวเองให้เป็นรูปธรรม จดอะไรดี ๆ ที่ได้จากการฟัง การเห็น การอ่าน การดู เอาไว้ก่อนที่มันจะหายไปในอากาศ อ่านหนังสือจากเล่มที่คิดว่ามันจะให้พลังกับเรา กระตุ้นเรา เขกกบาลเรา การอ่านหนังสือที่ดีและเขียนดีคือการเติมอิฐต่อยอดให้กับความใฝ่ฝันต่างๆ ถ้าหากคุณเป็นนักเขียนไม่สำเร็จ ในอนาคตคุณก็ยังเป็นนักอ่านที่ดีได้ ผมให้กำลังใจทุกคน

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ