คำพูน บุญทวี : เจ้าของผลงานเรื่อง ลูกอีสาน

คำพูน บุญทวี

ถึงวันนี้ บักคูน คงมีอายุราวสามสิบกว่าแล้ว (หากเขาเติบโตมีชีวิตจริง ๆ) นับจากวันที่ ลูกอีสาน ปรากฏสู่สายตาผู้อ่านในปี พ.ศ.2518 ขณะนั้นบักคูนเพิ่งจะเข้าโรงเรียน แต่ถ้าถามถึงบักคูนตัวจริง ปัจจุบันเขามีอายุ 73 ย่าง 74 ปีแล้ว นั่นเพราะบักคูนในเรื่อง ลูกอีสาน ก็คือตัวแทนชีวิตในวัยเยาว์ของ คำพูน บุญทวี ผู้ซึ่งเคยเป็นทั้งคนรับจ้างเลี้ยงม้า กรรมกร ผู้คุมนักโทษ และครู กว่าจะมาเป็นนักเขียน และเพราะถ่ายทอดโดยคนอีสาน (คำพูน บุญทวี มีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดยโสธร) ทำให้ ลูกอีสาน เป็นงานเขียนที่บอกเล่าเรื่องราวแห่งแผ่นดินอีสานในยุคนั้นได้อย่างแจ่มชัดและสมจริงที่สุด

ปี 2519 ลูกอีสาน ได้รับรางวัลหนังสือดีเด่นประเภทนวนิยาย จากงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ปี 2522 ได้รับรางวัลวรรณกรรมยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) และ ปี 2544 ได้นำรางวัลอันทรงเกียรติสูงสุดในชีวิตนักเขียนไทยมาสู่ คำพูน บุญทวี อีกครา นั่นคือ รางวัลศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ประจำปี 2544

เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2545 เหล่าผองเพื่อนนักเขียนร่วมกันจัดงานแสดงความยินดีกับ คำพูน บุญทวี ที่ได้รับรางวัลศิลปินแห่งชาติ ณ บ้านที่พำนักในหมู่บ้านบัวทอง praphansarn.com มีโอกาสไปร่วมแสดงความยินดีในครั้งนี้ด้วย จึงเก็บถ้อยสนทนากับนักเขียนลูกอีสานผู้นี้มาเล่าสู่กันฟัง

"ผู้สื่อข่าวโทรมาบอก เกือบจะช็อคเลยนะ เหมือนเครื่องบินชนตึกเวิลด์เทรดน่ะ บอกว่าอย่าโกหกลุงให้ดีใจนะ โกหกคนแก่น่ะบาปนะ เขาบอกไม่โกหกหรอกลุง โกหกคนแก่บาปก็รู้อยู่แล้ว หนูเพิ่งออกจากห้องประชุมของสภาวัฒนธรรมแห่งชาติมาหยก ๆ ก็เลยโทรมาบอก ดีใจจนคืนนั้นนอนไม่หลับทั้งคืน ไม่นึกไม่ฝันว่าจะได้รับเกียรติอันสูงสุดนี้ นอกจากซีไรต์แล้ว นี่เป็นครั้งที่สอง โทรศัพท์มาทั้งคืนทั้งวันจนสายจะลุกเป็นไฟ"

คำพูน บุญทวี หรือ ลุงคำพูน เล่าถึงวินาทีแรกที่ทราบว่าได้รับรางวัลศิลปินแห่งชาติ ซึ่งความดีใจนี้มิได้เกิดแต่เฉพาะเจ้าตัวเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงคนใกล้ชิด เพื่อนพ้องน้องพี่ในแวดวงวรรณกรรม หรือแม้แต่ผู้อ่านที่ชื่นชอบ ลูกอีสาน อีกจำนวนมาก

"เพื่อน ๆ พรรคพวกเขามีความเห็นว่าต้องเลี้ยงในฐานะได้ศิลปินแห่งชาติ เลี้ยงเพื่อนบ้าน เลี้ยงเพื่อนนักเขียน เลี้ยงเพื่อนนักกลอน สำนักพิมพ์ต่าง ๆ ก็มารวมกันอย่างนี้ เพื่อน ๆ เขาช่วยรวบรวมเงินได้สองหมื่นกว่าบาท สั่งกับข้าวแบบบุฟเฟต์ลูกทุ่งอีสานมากินกัน เขาว่าจะกินกันถึงเที่ยงคืนเลยนะ นี่นักเขียนก็มากันมาก นักเขียนทางสโมสรภาคอีสานก็มากันยี่สิบกว่าคน ภาคใต้ภาคกลางก็มากัน มากันตั้งแต่เมื่อคืนนี้แล้วก็หลายคน บางคนเขาเอาดนตรีมาช่วย วันนี้ดีใจมาก ภูมิใจที่สุดเลยในชีวิต ตายไม่เสียดายชีวิตแล้ววันนี้"

หากพูดถึง คำพูน บุญทวี ทุกคนก็จะนึกถึง ลูกอีสาน และเช่นเดียวกัน หากกล่าวถึง ลูกอีสาน ก็ย่อมมีภาพของ คำพูน บุญทวี ร่วมอยู่ด้วยอย่างแยกไม่ออก ซึ่งลุงคำพูนพูดถึงผลงานชิ้นนี้ว่า "ภูมิใจมากที่สุด ที่คำพูนได้เป็นคำพูนก็เพราะลูกอีสาน ขอบคุณคนอีสานและแผ่นดินอีสานด้วย คนอ่านรู้จักคำพูนก็เพราะแผ่นดินอีสานและชีวิตคนอีสาน"

ทุกคนทราบดีว่าชีวิตบนถนนวรรณกรรมของ คำพูน บุญทวี นั้นมิได้ราบรื่นเท่าใดนัก ซ้ำยังลำบากอยู่ไม่น้อย ลุงคำพูนเล่าว่าชีวิตนี้เคยผ่านมาแล้วหลายอาชีพ ทั้งรับจ้าง กรรมกร ผู้คุมนักโทษ และครู แต่สิ่งที่ใฝ่ฝันอยู่ในใจคือการเป็นนักเขียน

"ไม่มีคำว่าท้อแท้ของนักเขียนที่จะเกิดได้ ถ้าคนไหนท้อแท้มาเป็นนักเขียนไม่ได้ ถ้าคำพูนท้อแท้ก็ไม่มีลูกอีสาน สาบานกับพระเจ้าแล้วว่าฉันจะเป็นนักเขียน จะขอตายกับปากกา เพราะมันรักในสายเลือด การเขียนก็เอาชีวิตคนอีสานแผ่นดินอีสานมาเขียน มันทำให้มีแรงบันดาลใจมีแรงใจมาเขียน ตื่นขึ้นมาตีสามก็เขียนแล้ว มันทำให้ภูมิใจนะที่เกิดมาได้เป็นนักเขียน เหมือนพระเจ้าสั่งให้คำพูนมาเกิดบนแผ่นดินอีสาน สั่งให้คำพูนออกจากบ้าน มาเดินทางเข้าถนนนักเขียน ภูมิใจมาก โดยเฉพาะลูกอีสานนี้ได้ซีไรต์ก่อน แล้วทีหลังก็มาได้ศิลปินแห่งชาติ ดีใจจนน้ำตาไหลเลยคืนนั้น"

ถึงวันนี้ด้วยวัย 73 ปี คำพูน บุญทวี ไม่เพียงแต่เป็นที่รู้จักในเมืองไทยเท่านั้น เพราะลูกอีสานถูกนำไปแปลเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อจำหน่ายในต่างประเทศ และกำลังจะแปลเป็นภาษาเยอรมันในเร็ววันนี้ ลุงคำพูนเล่าถึงชีวิตในวันนี้ว่า

"ไม่ได้เขียนหนังสือแล้วเดี๋ยวนี้ ขอพักผ่อน ตื่นเช้าขึ้นมาก็ยกมือไหว้ว่า เฮ้ย! กูยังไม่ตายนะเว้ย ก็อยากอายุถึงร้อยปีนะ แต่จริง ๆ แล้วก็อยากจะเขียนเรื่องเก่าของทางอีสาน ให้ชื่อเรื่องว่า ของกินบ่กินมันเน่า ของเก่าบ่เล่ามันลืม เขียนประวัติคนอีสาน แม่น้ำโขง ประเทศลาวเป็นยังไง อาณาจักรล้านช้าง อาณาจักรล้านนามันเป็นยังไง พ่อแม่ของลุงก็มาจากอาณาจักรล้านช้าง คงจะเขียนภายในปลายปีนี้ ขอพักผ่อนสักสี่ห้าหกเดือนก่อนนะ"

ลุงคำพูนกล่าวทิ้งท้ายก่อนหันไปทักทายเพื่อนพ้องน้องพี่ในวงการวรรณกรรมที่มาร่วมงานกันอย่างคับคั่ง เสียงพูดคุยของนักเขียนและผู้ที่คลุกคลีอยู่ในถนนวรรณกรรมสายนี้ดังอื้ออึงแข่งกับเสียงนักร้องบนเวที โดยมีเสียงแคนแว่วคลอเบา ๆ ทำให้งานในวันนี้ดูอบอุ่น เป็นกันเอง และเป็นบรรยากาศแบบ "อีสาน… อีสาน" สมความตั้งใจของเจ้าของงานที่เป็นลูกอีสานคนหนึ่ง แล้ว 'ลูกอีสาน' ก็ไปเยอรมัน

นาย เดเทลฟ เอฟ. นอยเฟรต (DETLEV F. NEUFERT) นักเขียนสารคดีชาวเยอรมัน ซึ่งกำลังจะนำ ลูกอีสาน ไปแปลเป็นภาษาเยอรมัน เล่าถึงที่มาที่ไปว่า "ที่เยอรมันไม่ค่อยมีหนังสือที่เกี่ยวข้องกับงานวรรณกรรมของไทย มีแต่หนังสือภาพ หนังสือท่องเที่ยว แล้วก็รู้สึกว่าตรงนี้น่าสนใจ จนเมื่อปีที่แล้วผมได้ไปที่ภาคอีสาน ไปเที่ยวงานผีตาโขน แล้วรู้สึกชอบคนอีสานและดินแดนอีสานมาก เลยตัดสินใจว่าอยากจะทำหนังสือเกี่ยวกับคนอีสาน จากนั้นก็หาหนังสือที่เขียนหนังสือเกี่ยวกับภาคอีสานมาอ่านหลายเล่ม จนมาได้อ่านงานลูกอีสานของคุณคำพูน รู้สึกชอบมาก เลยคิดว่าจะเอาเรื่องนี้ไปแปลเป็นภาษาเยอรมัน ยิ่งตอนหลังมาได้พบกับคุณคำพูน แล้วเขาก็ชวนมารับประทานอาหารด้วยกัน คราวนี้เลยไม่ได้แค่หลงรักแค่งานเขียนหรือภาคอีสานเท่านั้น แต่ยังหลงรักคุณคำพูนอีกด้วย"

"ผมเลือกลูกอีสานเป็นหนังสือเล่มแรกที่ออกมา จากนั้นจะเป็นภาคใต้ ภาคเหนือ และส่วนอื่น ๆ คนเยอรมันชอบอ่านหนังสือ เป็นคนรักการอ่าน ผมคิดว่ามีนักเขียนไทยที่เป็นตัวแทนของภาคต่าง ๆ อีกเยอะที่ยังไม่ได้เสนอให้คนเยอรมันได้อ่าน ความตั้งใจของผมคืออยากถ่ายทอดความเป็นชาติไทยออกมาผ่านงานวรรณกรรมให้คนเยอรมันได้รู้จัก"

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ