ช่วง มูลพินิจ เป็นศิลปินที่มีลายเส้นงดงาม ละเมียดละไมจนรงค์ วงษ์สวรรค์ให้สมญานามว่าเป็น "ศิลปินผู้เห็นมดยิ้ม" มีผลงานทางด้านศิลปะเป็นที่ยอมรับและชื่นชอบจากผู้รักงานศิลปะทั้งในและต่างประเทศ เมื่อครั้งยังเป็นหนุ่มนักเรียนศิลปะเขาเป็นผู้หนึ่งที่คลุกคลีอยู่ในแวดวงหนังสือ โดยเป็นผู้เขียนภาพประกอบ ภาพประดับให้กับหนังสือของรงค์ วงษ์สวรรค์และผองเพื่อน ซึ่งเป็นตำนานหนึ่งของคนทำหนังสือ
เกิดเมื่อปี 2483 ที่จังหวัดสมุทรสงคราม จบอนุปริญญาจากมหาวิทยาลัยศิลปากรแล้วเข้าทำงานที่กระทรวงอุตสาหกรรม เป็นเจ้าหน้าที่ออกแบบเครื่องเขินอยู่ประมาณ 7 ปี ก็ออกมาเป็นศิลปินอิสระ เริ่มมีงานแสดงภาพครั้งแรกเมื่อปี 2513 จากนั้นก็มีงานแสดงภาพออกมาอยู่สม่ำเสมอ บางคราวอาจเว้นช่วงยาวนานไปบ้าง
ระยะหลังนี้หลายคนอาจจะไม่ค่อยได้อ่านบทสัมภาษณ์ และเห็นผลงานทางศิลปะของเขามากนัก นอกจากงานเก่าที่ตีพิมพ์ตามหน้าหนังสือต่าง ๆ เมื่อมีโอกาสดีที่ได้ไปเยือนและสนทนาที่บ้านพักจึงได้นำมาถ่ายทอด ณ ที่นี้
ห้องทำงานชั้นล่างเปิดโล่ง มองเห็นธรรมชาติโดยรอบ มีภาพผลงานของศิลปินเอกติดอยู่เรียงรายตามผนัง และที่ยังค้างคาอยู่บนเฟรมเขียนภาพ
เจ้าบ้านหยิบอัลบั้มรูปภาพที่จัดเก็บไว้อย่างเป็นระเบียบมาให้ชม ทั้งลายเส้นและภาพสีจากหนังสือต่าง ๆ พร้อมทั้งชี้ชมและเล่าให้ฟังไม่ขาดปาก
"เป็นรูปประกอบหนังสือเรื่องเสเพลบอยชาวไร่ของคุณรงค์ วงษ์สวรรค์ที่เขาส่งคืนมาให้ ยุคนั้นเขียน ๆ ไปก็ไม่ได้เก็บภาพต้นฉบับเอาไว้ เหลือรอดมาไม่มากนัก"
ช่วง มูลพินิจเป็นนักศึกษาศิลปากรที่ใช้เวลาว่างจากการเรียนมาทำงาน โดยรับจ้างเขียนฉากหนัง เขียนภาพโปสเตอร์
"ผมเริ่มเข้าสู่วงการหนังสือเพราะรู้จักกับอาจารย์อวบ สาณะเสน ก็ไปเขียนรูปประกอบให้กับคอลัมน์หลวงเมืองในหนังสือสยามสมัย จากนั้นก็เขียนให้กับหนังสือช่อฟ้า แล้วหนังสือที่รวมเล่มของหนุ่มเหน้าสาวสวย ลอยหลังสินธุ์ที่สุจิตต์ วงษ์เทศ และขรรค์ชัย บุนปานร่วมกันทำ ที่มาทำมาก ๆ และมีคนรู้จักก็สมัยรงค์ วงษ์สวรรค์กับเพื่อนหนุ่มมาออกหนังสือแถวเฟื่องนคร
ตอนแรก ๆ นั้นมันไม่เป็นรูปประกอบนัก เป็นภาพประดับมากกว่า เป็นลายเส้นฟรีแฮนด์เขียนด้วยปากกาเขียนแบบร็อทติ้ง ก็พวกต้นไม้ใบหญ้าทั่ว ๆ ไป โดยเลือกเอาตอนที่มันสวย ๆ มาเขียน ที่จะเป็นภาพประกอบจริง ๆ ก็ที่ทำให้กับเสเพลบอยชาวไร่ มีคนชอบกันมาก"
ลายเส้นที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวนั้นเป็นที่ชื่นชอบของคนที่ได้พบเห็น จนระยะต่อมาได้เขียนให้กับหนังสือฟ้าเมืองทองรายเดือน โดยเป็นภาพชุดลายเส้นเต็มหน้าหลายหน้า ได้ชมกันอย่างเต็มอิ่ม โดยศิลปินมีอิสระในการนำเสนอ ภาพส่วนมากแสดงออกถึงความเป็นไทย มีลายประดับอย่างดงาม บางครั้งเป็นภาพชุดของหญิงสาวที่อยู่ในอิริยาบถต่าง ๆ งดงาม ทั้งที่เป็นภาพคู่เชิงสังวาสและภาพเดี่ยว บางคราวเป็นภาพธรรมชาติ หรือชุดเมืองเก่า ตามแต่จินตนาการของผู้เขียน เป็นที่ชื่นชอบของหลายคนจนถึงกับต้องตัดเก็บหรือนำไปใส่กรอบประดับบ้าน
ในฐานะที่เคยเรียนอยู่กับอาจารย์ศิลป์ พีระศรีจึงอดไม่ได้ที่จะขอให้เล่าถึงบรรยากาศการเรียนการสอนในยุคนั้น
"ผมมาเรียนกับอาจารย์ศิลป์ตอนนั้นท่านอายุมากแล้ว ท่านชอบพาไปดูศิลปะตามวัดต่าง ๆ ที่พาไปบ่อยมากก็ที่วัดสุวรรณาราม โดยมีอาจารย์สุวรรณี สุคนธาเป็นอาจารย์ผู้ช่วย ท่านชี้ให้เห็นความงดงามของศิลปะโดยไม่แยกว่าเป็นของชาติไหน ศิลปินไม่ใช่คนของใครเป็นคนของศิลปะซึ่งเป็นความงดงามของสากล เรียกว่าเป็นความใจกว้างมากของท่าน
อาจารย์ศิลป์สอนให้ลูกศิษย์เป็นช่างโดยพื้นฐาน ส่วนใครจะเป็นศิลปินนั้นเป็นแนวทางของแต่ละคน เหมือนท่านสอนให้รู้จักการทำเก้าอี้ทำอย่างไรจะนั่งได้สบาย รับน้ำหนักได้ดี ส่วนลูกเล่นลีลานั้นต่างกันตามความถนัด ท่านชอบคนทำงาน มักพูดกับลูกศิษย์ว่า ฉันไม่สนใจว่านายจะทำอะไร เอางานของนายมาดู คืองานที่ออกมาจะอธิบายตัวตนของคนมากกว่า
ท่านย้ำกับลูกศิลป์อยู่เสมอว่า อย่าหลงสิ่งลวงกับพวกลาภ ยศ สรรเสริญ"
เมื่อย้อนถามถึงแรงบันดาลใจในการทำงานของเขาที่มีออกมาอยู่ตลอดเวลานั้น เขาไม่รีรอที่จะบอกว่าธรรมชาติคือครูผู้ยิ่งใหญ่
"เมื่อมองดูรอบ ๆ ทุกอย่างมีความงดงามไม่ว่าดอกไม้ต้นไม้ใบหญ้า ศิลปินล้วนมีธาตุของการแสดงออก เป็นธาตุแท้ของศิลปิน ไม่ว่าจะอดหรืออิ่มเขาต้องแสดงออกมา เมื่อเขาได้แสดงภาวะภายในออกมาแล้วมันก็สมบูรณ์อยู่ในตัว ไม่ว่าใครจะรู้จะเห็นหรือไม่ก็ตาม แต่ศิลปินรู้ดียามที่บรรจงขีดเขียนอยู่นั้น"
เวลาในการทำงานของเขาในระยะหลังมักใช้เวลายามกลางวัน เป็นเพราะต้องใช้สายตาในการคร่ำเคร่งกับการงาน เขาเป็นคนทำงานที่มีความสามารถหลากหลาย แต่คนส่วนมากมักเห็นงานจิตรกรรมมากกว่า ทั้งที่งานปั้นนั้นก็มีความสามารถไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน โดยมีผลงานที่เป็นพุทธบูชาในวัดที่มีชื่อเสียงหลายแห่ง เช่น วัดธรรมกาย, ออกแบบและปั้นพระพุทธอภัยมงคลสมังคี, ออกแบบอุโบสถวัดเขาดินวนาราม จ.ชุมพร ฯลฯ ผลงานอื่น ๆ คือ ออกแบบภาพนูนต่ำที่หน้าอาคารหนังสือพิมพ์มติชน, ออกแบบและควบคุมการปั้นรูปสิงโตคู่ที่สำนักงานใหญ่ธนาคารกสิกรไทย สาขาใหญ่
"สำหรับงานศิลปะนั้นชอบทั้งหมด ตอนอยู่ศิลปากรก็ได้เรียนทุกอย่าง แต่ที่เห็นงานลายเส้นและจิตรกรรมมากกว่า เพราะเป็นความถนัดส่วนตัว แต่ก็ยังอยากทำงานปั้นอยู่เหมือนกัน ผมถือว่างานดรออิ้งเป็นไวยากรณ์ของงานศิลปะทุกอย่าง
เมื่อถามถึงหนังสือเขาบอกว่ายังอ่านอยู่ตลอดเวลา นักเขียนที่ชื่นชอบมาตลอดนับแต่เยาว์วัยจนถึงปัจจุบันและอ่านได้บ่อยครั้งนั้น เป็นใครไปเสียไม่ได้ คือหนังสือชุดสามเกลอของป. อินทรปาลิตนั่นเอง
"เมื่อคืนยังอ่านอยู่เลย กิมหงวนเขาไปทัวร์สวรรค์แล้วเจอกับเจ้าสัวกิมเบ๊เป็นคนเฝ้าประตูสวรรค์ อ่านแล้วสนุก" ช่วงเล่าให้ฟังด้วยรอยยิ้ม
ผมว่าคุณ ป. อินทรปาลิตนี่เป็นนักเขียนอัจฉริยะเขียนได้หลายแนว ทั้งโศกเศร้า ทั้งบู๊อย่างเรื่องชุดเสือดำเสือใบ สำหรับสามเกลอนี่ตลกที่สุด อ่านทีไรหัวเราะได้ทุกที
ของน้อย อินทนนท์นี่ต้องชุดล่องไพร เป็นงานที่ดีที่สุดมีทั้งสนุกและตื่นเต้น เป็นคนเขียนหนังสือที่รู้จริง ทั้งที่มีประสบการณ์จากตัวเองและการค้นคว้า
สำหรับรงค์ วงษ์สวรรค์ชุดเสเพลบอยชาวไร่ ถือว่าเป็นงานเขียนบันทึกถึงวิถีชาวบ้าน เป็นตัวแทนของทุก ๆ ภาค ตามชนบทบ้านนอกจะเห็นภาพแบบนั้น มีการแบ่งปัน
อีกคนที่ชอบคือ ประเสริฐ พิจารณ์โสภณ คนนี้เขาใช้คำง่าย ๆ ไม่กี่คำแต่บอกถึงความรู้สึกได้อย่างลึกซึ้ง เด็กรุ่นหลังนี่อาจไม่เข้าใจแล้ว"
สำหรับวันนี้นอกจากได้ชมภาพอันงดงามจากศิลปินเอกแล้วยังได้ฟังทัศนะความคิดหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงานศิลปะและช่วงวัยที่ได้ร่ำเรียนกับอาจารย์ศิลป์ ซึ่งเรายังได้ฟังข้อคิดดี ๆ ที่อาจารย์ศิลป์สั่งสอนลูกศิลป์มาหลายยุคสมัยเผื่อแผ่มาถึงด้วย