คงไม่เกินเลยไปนัก หากจะบอกว่าหญิงสาวที่มาพร้อมรอยยิ้มหวานตรงหน้า “ไม่ธรรมดา” เปล่าเลย เธอไม่ใช่ซูเปอร์วูเมน มีพลังอภินิหารใดๆ หรือมีเวทมนต์มาเสกสรรในสิ่งที่เธอปรารถนา เธอมีสองมือ หนึ่งสมองไม่ต่างกับเราๆท่านๆ ทว่ามีสิ่งหนึ่งที่พิเศษ และเป็นสิ่งที่คาดว่าน่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เมื่อเอ่ยถึงชื่อของ “สฤณี อาชวานันทกุล” พร้อมดีกรีปริญญาตรีด้านเศรษฐศาสตร์ และปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจจากสหรัฐอเมริกา ก็จะมีคำว่า นักการเงิน นักวิชาการอิสระ อาจารย์พิเศษ แต่ขณะเดียวกัน ก็มีสถานะบรรณาธิการสำนักพิมพ์ บรรณาธิการเว็บไซต์ นักแปล นักเขียน หรือแม้แต่กวี ห้อยท้ายตามตามมาติดๆ นั่นคือ “ความมุ่งมั่น ตั้งใจ และใฝ่รู้”
ล่าสุดสฤณีได้ตั้ง “สำนักพิมพ์ชายขอบ” ขึ้นมา ด้วยความตั้งใจว่าผลงานสู่ผู้อ่านจากชายขอบคือ “กวีนิพนธ์” เท่านั้น ส่วนงานแปลและเขียนแนวอื่นของเธอที่ผู้อ่านคุ้นเคย อาทิ เรื่องของสังคม เศรษฐศาสตร์ พลวัตต่างๆของโลก ก็ยังพิมพ์กับสำนักพิมพ์อื่นเช่นเดิมมุ่งตรงไปยังกวีนิพนธ์ ในวันที่หนังสือของกวีพิมพ์พันห้าขายได้เจ็ดร้อยนั่นล่ะ “สมองไม่ได้กระเทือน ตั้งใจทำจริงๆ” เธอหัวเราะเมื่อเราเย้าขำๆ ว่าดูผิดหลักเศรษฐศาสตร์ที่เชี่ยวชาญไม่น้อย
“คือชอบเขียนกวีอยู่แล้ว พอไปเรียนเมืองนอกตอนอายุ 14 ถึงจะห่างไปบ้าง ก็ยังชอบอ่านหนังสืออยู่ดีชอบอ่านเรื่อง พระมะเหลเถไถ, ระเด่นลันได ชอบเสน่ห์ของกลอน ของสัมผัส แต่ก็ไม่เคยคิดหรอกว่าอยากรวมเล่ม แล้วปี 2548 ตอนนั้นเริ่มมีการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ เริ่มมีขบวนการกู้ชาติแล้ว เลยรู้สึกว่าทำไมปัญหาสังคมไทยมันเยอะขนาดนี้ เลยแต่งเล่นๆเล่มแรกคือ ไทยแลนด์สวรรค์ สนุกๆ เก็บไว้ เป็นกลอนค่อนข้างจะระบายอารมณ์เล็กน้อย จากนั้นมีรัฐประหารเกิดขึ้น ก่อนหน้าเราก็ทำทำหนังสือเองหลายเล่ม ก็เริ่มคุ้นเคยกับกระบวนการสำนักพิมพ์ คือจริงๆแล้วจะทำหนังสือสักเล่มนอกจากผู้เขียน บรรณาธิการแล้ว ในสำนักพิมพ์ให้มีแค่จัดหน้าเลย์เอาท์ ออกแบบปก ตรวจปรู๊ฟ ก็ทำงานได้แล้ว ก็เลยเออ ทำชายขอบดีกว่า”
ชื่อของชายขอบ มาจากชื่อบล็อกและล็อกอินของเธอที่คนเล่นอินเตอร์เน็ตคงคุ้นเคยดีอย่าง “คนชายขอบ” ซึ่งเจ้าตัวอธิบายว่าเป็นการล้อเลียนว่าเธอคือคนชายขอบทางความคิด สฤณีบอกว่าจุดประสงค์ของชายขอบนั้น นอกจากต้องการจะสนับสนุนกวีแล้ว ยังตั้งใจจะสร้างชายขอบให้เป็นโมเดลในการยืนหยัดของบทกวี ท่ามกลางคลื่นกระแสแห่งกาลและวงโคจรโลกธุรกิจ เราจึงได้เห็นคำว่าชายขอบ ในกวีนิพนธ์หลายเล่ม ทั้งที่เพิ่งเริ่มตั้งสนพ.ได้เพียงไม่นาน ทั้งในงานที่เขียนเองอย่าง ไทยแลนด์แดนสวรรค์และนิราศยุโรป รวมถึงตีพิมพ์ผลงานของคนอื่นอาทิ มกรา’52 โดยตุลย์ ไวฑูรยเกียรติ นักร้องนำวงอพาร์ทเมนต์คุณป้า, ประเทศของเราและเรื่องเล่าหลายๆ เรื่อง โดย อภิชาติ จันทร์แดง, กอปร โดย อุเทน มหามิตร เป็นต้น
“ถ้าพูดถึงการตีพิมพ์กวีในแง่ของธุรกิจหนังสือทั่วไป อย่าคิดดีกว่าเพราะมันเจ๊งแน่ แต่ถ้ามองในแง่การสร้างธุรกิจใหม่ นี่คือโอกาส เหมือนถ้าคุณคิดว่าจะขายกาแฟ จะแข่งกับเจ้าอื่นยังไงในเมื่อมีคู่แข่งเป็นร้อยเป็นพัน ถ้าเราตีพิมพ์บทกวีแล้วไม่คิดเรื่องการขาย เรื่องมาร์เก็ตติ้ง อย่างมากก็จะอยู่แค่ตรงนี้ ห้าร้อยคน เวลาจัดงานอ่านบทกวีคนนอกก็ไม่รู้เรื่องหรอก มีแต่กลุ่มก้อนเดียวกันไปฟัง ตลาดคนอ่านบทกวีมันเล็กเกินกว่าจะอยู่ได้ในจุดคุ้มทุน คุณต้องขยายตลาด ให้คนอ่านมากกว่าห้าร้อยคน ประเด็นไม่ได้อยู่ที่การผลิต เมื่อได้ต้นฉบับมาพิมพ์จากนั้นก็ต้องคิดต่อว่าจะทำยังไง”
การคิดต่อยอดที่เธอว่า มุ่งไปยังสถานศึกษาเป็นหลัก “ในต่างประเทศวรรณกรรมฮาร์ดคอร์ อยู่ได้ด้วยโรงเรียนเป็นหลัก เราต้องบุกตรงนี้ ทำกิจกรรมเพื่อสร้างกลุ่มคนอ่านขึ้น เพราะนี่ไม่ใช่หนังสือเสริม แบบที่พิมพ์แล้ววางขายตามเซเว่นก็อยู่ได้ ดังนั้นโมเดลที่ถูกต้องคือต้องดันหนังสือที่ไม่ใช่แมสเข้าไปอยู่ในระบบหนังสือนอกเวลา แล้วตลาดหนังสือบ้านเราเองก็ไม่ได้เปิดเสรีด้วย ร้านหนังสือมีสำนักพิมพ์ โรงพิมพ์ ขายส่งของตัวเอง เป็นการผูกขาดตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ แล้วจะให้ลงแข่งตลาดเดียวกันได้ยังไง มันไม่ยุติธรรม เพราะงั้นต้องขยายฐานคนอ่าน”
โดย สินัน