สุนทรกถาของ วิภาดา กิตติโกวิท : หนึ่งในนักแปลดีเด่น รางวัลสุรินทราชา ปี พ.ศ.๒๕๕๔

สุนทรกถาของ วิภาดา กิตติโกวิท

รางวัล สุรินทราชา เป็นรางวัลเกียรติคุณที่สมาคมนักแปลและล่ามแห่งประเทศไทยตั้งขึ้น เพื่อมอบแก่นักแปลและล่ามผู้มีผลงานดีเด่นเผยแพร่เป็นเวลานาน และสร้างคุณูปการแก่วงวรรณกรรม สังคม และประเทศชาติ

รางวัล สุรินทราชา ตั้งขึ้นเป็นอนุสรณ์แด่ พระยาสุรินทราชา (นกยูง วิเศษกุล) หรือ “แม่วัน” ผู้แปลนวนิยายเรื่อง Vendetta ของ Marie Corelli เป็นภาษาไทย ชื่อ ความพยาบาท เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๔ และเนื่องจากท่านเป็นผู้มีความรู้ภาษารัสเซียและมีปฏิภาณไหวพริบดี จึงได้รับเลือกให้เป็นล่ามประจำพระองค์ซาเรวิช ผู้ในเวลาต่อมาดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระเจ้าซาร์นิโคลาสแห่งรัสเซีย

 

 

นักแปลและล่ามดีเด่น “รางวัลสุรินทราชา”
คุณสมบัตินักแปลดีเด่น “รางวัลสุรินทราชา”
๑.มีผลงานแปลดีเด่น
๒.มีผลงานต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลานาน
๓.ผลงานสร้างคุณูปการแก่วงการแปล
๔.ยังมีชีวิตอยู่ขณะคณะกรรมการฯ มีมติมอบรางวัล

คุณสมบัติล่ามดีเด่น “รางวัลสุรินทราชา”
๑.มีผลงานการเป็นล่ามในวาระสำคัญๆ
๒.มีผลงานต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลานาน
๓.ผลงานสร้างคุณูปการแก่วงการล่าม
๔.ยังมีชีวิตอยู่ขณะคณะกรรมการฯ มีมติมอบรางวัล

นักแปลดีเด่น “รางวัลสุรินทราชา” พ.ศ.๒๕๕๔
๑.นางจิระนันท์ พิตรปรีชา
๒.นายทองแถม นาถจำนง (โชติช่วง นาดอน)
๓.นายปราโมทย์ ในจิต (จินตรัย)
๔.นางวิภาดา กิตติโกวิท
๕.ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล
๖.นายสุวิทย์ ขาวปลอด

ล่ามดีเด่น “รางวัลสุรินทราชา” พ.ศ.๒๕๕๔
๑.ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ชเนฏฐวัลลภ (ณิโคลัส) ขุมทอง
๒.นายสุนทร เสียงนอก
๓.Mr.Yunpeng Zhang (Willey Chang)

ได้ ไปร่วมงานวันนักแปลและล่าม ครั้งที่ ๕ ซึ่งจัดโดย สมาคมนักแปลและล่ามแห่งประเทศไทย เมื่อวันเสาร์ที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๕๔ ในวันดังกล่าว สมาคมฯ ได้มอบรางวัลสุรินทราชา ให้แก่นักแปลดีเด่นและล่ามดีเด่น ประจำปี พ.ศ.๒๕๕๔ หลัง จากนักแปลและล่ามได้รับรางวัล ทุกท่านที่ได้รางวัลได้ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์(ซึ่งผู้จัดเรียกเช่นนั้น) ทุกท่านได้กล่าวความรู้สึกและเล่าประสบการณ์การแปลที่น่ารับฟังและเป็น ประโยชน์แก่ผู้สนใจการแปลและผู้สนใจทั่วไป ดิฉัน เห็นว่า สิ่งที่แต่ละท่านได้เล่าในวันนั้น มีประโยชน์และคงเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่สนใจการแปล ผู้รักการอ่าน และอื่นๆ จึงได้ถอดเทปเสียง ที่ได้บันทึกเอาไว้ มาแบ่งปันให้ทุกท่านได้อ่านไปพร้อมๆ กัน โดยจะทยอยลงให้อ่านทีละท่านค่ะ/ นงค์ลักษณ์ เหล่าวอ

สุนทรกถาของ วิภาดา กิตติโกวิท : หนึ่งในนักแปลดีเด่น รางวัลสุรินทราชา ปี พ.ศ.๒๕๕๔

สวัสดี ค่ะ กรรมการทุกท่าน แล้วก็เพื่อนนักเขียนทุกคน จะต้องบอกก่อนว่าดิฉันไม่ใช่นักพูด ขอสั้นๆ ละกันนะคะ คืออยากจะขอบคุณกรรมการสมาคมที่มอบรางวัลครั้งนี้ให้ เพราะว่าไม่เคยคาดไม่เคยคิด ว่าจะได้รางวัลจากการแปลหนังสือ ตัวเองทำงานเกี่ยวกับเรื่องแปลมาโดยตลอด คือเป็นอาชีพมาตั้งแต่ต้น เพราะว่าทำงานกับองค์กรพัฒนาเอกชน แปลเกี่ยวกับข้อมูลต่างๆ ของหลายประเทศ

ทีนี้มาเริ่มแปลเป็นเล่มก็ตอนที่เราพักเลี้ยงลูก ก็คุยกับคุณอาทรจากประพันธ์สาส์นว่ามีเวลาว่างอยู่ ช่วงที่เลี้ยงลูก อยากจะแปลหนังสือ คุณอาทรก็ให้แปลหนังสือ ก็เลยได้แปลหนังสือเป็นเล่มๆ มาเรื่อยๆ เลี้ยงลูกอยู่ ๔ ปีหลังจากนั้นได้กลับไปทำงานที่มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย ก็ยังแปลหนังสือเล่มเป็นงานอดิเรก แต่ว่างานส่วนใหญ่ก็ยังจะเป็นงานด้านงานพัฒนา

สาเหตุ ที่ชอบแปลหนังสือเพราะว่าตอนเด็กๆ ชอบอ่าน ที่บ้านก็หนังสือจีนเยอะ เพราะว่าตาเป็นหมอจีน ก็ชอบหนังสือจีนมาก อ่านสามก๊กตั้งแต่ ป.๓ พอเราอ่านแล้วเราจะคุยกับคนอื่นไม่ได้ พอคุยกับคนอื่นไม่ได้ เพราะเขาไม่ได้อ่าน เกิดความรู้สึกว่า ถ้าเราจะให้คนอื่นเขาคุยกับเราได้ เขาต้องรู้เหมือนเรา จึงจะแลกเปลี่ยนกันได้ ทีนี้ระหว่างภาษาถ้าเราไม่แปล มันก็ลำบาก

คือมีความคิดว่างานแปลเป็นสิ่งที่ สำคัญที่จะทำให้คนอื่นสื่อสารความคิดกันได้ แล้วมาทำงานก็ทำงานด้านเอกสารที่ต้องแปล พอได้มาแปลหนังสือเล่มหนึ่งก็เลยติดลมมาเรื่อยๆ จนมาอ่านเรื่อง สงครามและสันติภาพ War and Peace เป็นภาษาอังกฤษ แล้วพอมาอ่านภาษาไทยที่มีพลตรีหลวงยอดอาวุธ แปลไว้เป็นนักการทหาร ท่านเรียนการทหารจากรัสเซีย ท่านแปลเฉพาะส่วนที่เป็นทหาร การสงคราม แต่ว่าโดยส่วนตัวชอบเรื่องทางด้านศาสนา แนวคิด ปรัชญา หลายๆ อย่างของตอลสตอย ที่มันหายไป ก็เลยรู้สึกว่าคนไทยน่าจะได้อ่านส่วนที่มันขาดหาย ก็เลยทำกับคุณอาทร ทำเรื่องสงครามและสันติภาพ อันนั้นก็ใช้เวลาช่วงที่เลี้ยงลูกตอนเล็กๆ ทำเรื่องสงครามและสันติภาพ ใช้เวลาอยู่ ๓ ปี

จน ตอนหลังพอสงครามและสันติภาพจบ ก็มีคนเชียร์ว่า ถ้างั้นต้องแปลเหยื่ออธรรม เพราะว่า Les Miserable คุณป้าจูเลียตแปลไว้เมื่อ ๕๐ ปีที่แล้ว ท่านแปลไว้ภาคหนึ่งและภาคสองนิดหน่อย ทั้งที่มีตั้ง ๕ ภาค หลังๆ มันจะสนุกกว่า มีแรงเชียร์เยอะ เพราะว่าหลังๆ คนที่อยากอ่านตอนจบก็มีเยอะ แต่ว่ามันไม่มีเวลา เพราะว่าเราทำงานประจำด้วย จนกระทั่งมาเจอคุณสุเมธ คือแรงบันดาลใจที่สำคัญอันหนึ่งก็มาจากคุณสุเมธ แห่งสำนักพิมพ์ทับหนังสือ ซึ่งคุณสุเมธอยากจะทำหนังสือเล่มนี้ให้จบ พอได้คุยกันก็เลยออกมาช่วยกันทำให้มันจบ จริงๆ แล้วอยากจะให้มีการให้รางวัลผู้จัดพิมพ์ดีเด่นด้วยซ้ำ เพราะว่าถ้าไม่มีคนพิมพ์หนังสือ คนแปลก็คงไม่มี เป็นการลงทุนมหาศาลทุกอย่าง ถ้าไม่มีผู้จัดพิมพ์ คือลำพังแปลออกมาก็ไม่มีปัญญาจะพิมพ์ออกมาได้ คือขอบคุณคุณสุเมธด้วยค่ะ ที่ให้หนังสือเล่มนี้ออกมา

ผู้แปลถูกถามว่าคิดยัง ไงถึงได้แปลเล่มนี้ จริงๆ แล้ว ตอนที่ทำไม่ได้คิดอะไร เพียงแต่คิดว่าตอนที่ทำน่าจะให้คนไทยได้อ่านจนครบจนจบเหมือนนานาชาติ ชาติอื่นๆ เขาก็ได้อ่านเราก็น่าจะได้อ่าน ก็เลยมันไม่มีทางจบถ้าหากต้องทำงานประจำ คุยกับคุณสุเมธแล้วก็เลยบอกกับที่บ้าน ว่าถ้างั้นจะขอลาออกจากงานประจำ มาทำงานเล่มนี้ให้เสร็จก่อนนะ ก็ใช้เวลา ๓ ปีเต็มที่ กับหนังสือชุดนี้ ใช้เวลาจนมันเสร็จ พอเสร็จจากเล่มนั้น ก็เป็นนักแปลอิสระมาเรื่อยๆ

ช่วง นี้ก็ทำให้กับสันสกฤต เป็นงานแนวสู้ชีวิต เป็นแนววัฒนธรรมในชาติต่างๆ ชีวิตของชาวแอฟริกาบ้าง ของคนนานาชาติที่เป็นชีวิตที่มันลำเค็ญและต้องต่อสู้มากๆ สำนักพิมพ์สันสกฤตก็เป็นสำนักพิมพ์เล็กๆ เมื่อสัก ๑๐ ปีที่แล้วก็ทำด้วยกันมา

คือโดยส่วนตัวคิดว่างานแปล นี้เป็นงานท้าทาย ไอ้ตรงที่ท้าทายที่สุดก็คือว่า มันต่างจากการเขียน อย่างที่คุณจิระนันท์พูด การเขียนคือการจินตนาการ แล้วเราจะทำอะไรก็ได้ แต่ว่างานแปลมันต้องทิ้งตัวเอง เราไม่สามารถที่จะ คือเราอ่านไปๆๆ เราไม่ชอบตรงนี้ เราไม่ชอบตัวละครนี้ เราไม่ชอบความคิดของคนเขียนแบบนี้ ไม่ชอบการดำเนินเรื่องแบบนี้ หรือเราชอบตรงนี้มาก คือทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้คืออารมณ์ ต้องทิ้ง เพราะว่าจะต้องตีความให้ตรงที่สุด ว่าผู้เขียนต้องการสื่ออะไร แล้วแปลออกมาให้มันตรง ให้มันชัด เพราะว่าคนแปลเป็นเพียงตัวกลาง คิดว่าเป็นเพียงสะพานที่เชื่อมให้คนสองฝั่งของภาษาได้มาเจอกัน ถ้าหากเราไม่สามารถที่จะ เราไม่ชอบแล้วเราไม่แปล เราชอบมากแล้วเราก็ทำให้มันมีสีสันเข้มข้นขึ้นมา ซึ่งมันไม่ได้ เราต้องทิ้งตรงนี้ให้ได้ อันนี้คือสิ่งที่มันท้าทาย ทำยังไงให้เลือกคำเลือกความให้มันมีน้ำหนักเท่ากัน เพราะว่าคนแปลมีสิทธิ์นะคะ เพราะว่าการใช้คำ คำๆ หนึ่งมันแปลได้หลายคำ เราจะใช้คำไหนให้เป็นน้ำหนักเท่าๆ กันกับต้นฉบับ แล้วก็ตีความให้ได้ว่า แล้วคนเขียนเขาจะสื่ออะไร เขาจะบอกอะไร ก่อนจะแปลนี้จะต้องหาคนเขียนก่อน คือคนเขียนเขาเป็นใครมาจากไหน ทำไมเขาจึงเขียนเรื่องนี้ แล้วในช่วงนั้นๆ เขาเขียนเกี่ยวกับอะไร อย่างเรื่องเหยื่ออธรรมต้องอ่านเรื่องของอูโก เขาเขียนเรื่องนี้ยังไง เขาเขียนเรื่องนี้ไว้ ๑๐ กว่าปีแล้วเขาทิ้งไว้ เขาไปทำอะไร แล้วทำไมเขาถึงทำต่อ ต้องเข้าใจส่วนนี้แล้วสามารถที่จะตีความได้ว่าในช่วงนั้นๆ เขาเขียนเรื่องนี้เขาต้องการจะสื่อสารอะไร

คือคง ไม่สามารถบอกได้ว่าเราทำได้ ๑๐๐% แต่คิดว่าจะพยายามทำให้สมบูรณ์ที่สุดเท่าที่จะทำได้ ความผิดพลาดนั้นมีแน่ค่ะ แต่ว่าขอให้เป็นความผิดพลาดเพราะว่าไม่รู้ ไม่ใช่ความผิดพลาดเพราะเราพอใจหรือไม่พอใจ อันนี้คือหลักการที่ยึดในการแปลนะคะ ก็คงมีอย่างนี้

คือ ไม่คาดคิดว่าจะได้รางวัล แต่ว่าเมื่อได้แล้วก็เป็นความยินดี ยินดีมากๆ ที่ได้มา เพราะเรารู้สึกว่า งานที่เราทำมีคนรู้นะ เพราะฉะนั้นสูเจ้าจงทำให้ดี จะมาซี้ซั้วมั่วตั้วไม่ได้ ยิ่งได้รางวัลแล้วยิ่งต้องทำให้ดี มันเป็นสิ่งผูกมัดมากกว่าว่าเราต้องทำให้ดี ก็สัญญากับตัวเองว่า เราจะทำงานแปลไปตลอด เราจะทำงานแปลให้ดีที่สุด จะเป็นส่วนที่มีส่วนช่วยให้เพื่อนๆ ในโลก สามารถข้ามผ่านภาษาแล้วมาเจอกัน ให้เราได้รู้จักกันมากขึ้นค่ะ

ขอบคุณค่ะ

ขอบคุณที่มา : http://www.oknation.net

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ