มนตรี ภู่มี : เจ้าของผลงาน"ความฝันของคนวิกลจริต" ของ ดอสโตเยฟสกี "กลาย" ของคาฟคา "อี้จิง คัมภีร์แห่งการเปลี่ยนแปลง"

มนตรี ภู่มี

มนตรี ภู่มี เกิดที่พิษณุโลก แต่มาใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯตั้งแต่ยังพูดไม่ได้ ระหว่างศึกษาได้ใช้ชีวิตอยู่ในป่าชนบทหลังเขาแถวอีสาน สลับกับการอยู่ในเมือง ซึ่งนับเป็นช่วงเวลาที่ได้บ่มเพาะความหมายให้แก่ชีวิตเป็นอย่างมาก ที่สำคัญคือได้เริ่มต้นศึกษาวิจัยคัมภีร์โบราณของจีนตั้งแต่ช่วงนั้นเป็นต้นมา จนทำให้หลงใหลมาจนถึงทุกวันนี้ หลังจบการศึกษาได้ทำงานด้านหนังสือมาโดยตลอด เคยผ่านงานเป็นบรรณาธิการหลายแห่ง มีผลงานแปลและเรียบเรียงทั้งนามจริงและนามปากกามากมาย อาทิ "ความฝันของคนวิกลจริต" ของ ดอสโตเยฟสกี "กลาย" ของคาฟคา "อี้จิง คัมภีร์แห่งการเปลี่ยนแปลง" ซึ่งเป็นผลงานเรียบเรียง

วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับเขาให้มากกว่านี้ การพูดคุยเป็นไปอย่างสบาย ๆ ภายในห้องทำงานที่เปิดเครื่องปรับอากาศเย็นฉ่ำ

อยากให้พี่เล่าถึงจุดเริ่มต้นหรือแรงบันดาลใจเริ่มแรกในการสร้างสรรค์งานเขียนหน่อยค่ะว่ามีความเป็นมาอย่างไร
คือนอกเหนือจากความสนใจส่วนตัวในเรื่องศาสนา ปรัชญา จิตวิทยา แล้ว จุดแรกเริ่มที่ทำให้เกิดแรงบันดาลใจที่จะทำงานเขียนคือเมื่อครั้งรับงาน เรื่อง Meditation ของ Alan watt จากหลวงพี่ประชามา edit ซึ่งผู้ที่แปลเรื่องนี้นับได้ว่าเป็นนักแปลระดับมืออาชีพอยู่แล้ว แต่เมื่อได้อ่านดูรู้สึกว่ามันยังไม่ใช่นะ ความยังไม่ตรงนัก ก็เลยบอกหลวงพี่ตามที่เราเห็น หลวงพี่เลยให้ผมแปลใหม่หมด นับเป็นจุดที่สะกิดใจว่า ผู้ที่จะสร้างสรรค์งานไม่ว่าจะเป็นงานแปล งานเขียน พื้นฐานสำคัญคือคุณควรจะมีความเข้าใจในตัวงานก่อน เข้าใจให้ถ่องแท้แล้วคุณจะเขียนหรือแปลเกี่ยวกับมันออกมาได้ดี หลังจากงานนั้นแล้วเนื่องจากผมเป็นคนรักการอ่านหนังสืออยู่เป็นทุนเดิมก็เลยเริ่มต้นกับการทำงานหนังสือต่อมาจนทุกวันนี้ โดยเริ่มเป็นนักแปลที่สำนักพิมพ์แห่งหนึ่ง แล้วก็ทำงานสำนักพิมพ์มาโดยตลอด เคยเป็นบก.สำนักพิมพ์สร้างสรรค์-วิชาการ บก.บห.สำนักพิมพ์ผู้จัดการ และอีกหลายที่ครับ

แล้วตอนนี้มีผลงานอะไรบ้างคะ
งานเขียนเล่มล่าสุดก็ "สุขภาพแบบองค์รวม" ของประพันธ์สาส์นนี่แหละครับ ส่วนงานที่กำลังทำอยู่ก็มี The thirty-nine Steps ของ John Buchan แปลให้รหัสคดี, To the Lighthouse ของ Virginia Woolf (เป็นบรรณาธิการแปล) อีกเล่มของ Marcel Proust (สามัญชน) กำลังจัดพิมพ์อยู่ ส่วนอีกเรื่องคือ Don Quixote ค้างมา 2 ปี แล้ว เพิ่งแปลไปได้ 200 กว่าหน้าจากทั้งหมดเกือบ 1,000 หน้า (สงสัยต้องไปเจอผู้เขียนก่อนแปลเสร็จแน่ ๆ ) และโครงการที่คาดว่าจะทำต่อก็คือ อยากจะแปลคัมภีร์การแพทย์ของจักรพรรดิเหลือง ซึ่งมีอายุเกือบสองพันปีแล้ว อยากทำมาก

ผลงานแปลของพี่ที่เห็นส่วนมากจะเป็นงานวรรณกรรมคลาสสิกเก่า ๆ ของต่างประเทศ มีอะไรประทับใจเป็นพิเศษหรือเปล่าคะ
บ้านเรายังขาดแคลนหนังสือแปลดี ๆ อีกเยอะครับ หรือ อีกนัยหนึ่ง เพราะไม่ต้องโดนหักค่าแปล เนื่องจากสำนักพิมพ์ไม่ต้องขอลิขสิทธิ์ (จากจิตใต้สำนึกที่แท้จริงครับ ฮะฮะ)

พี่มักแปลงานหรือเรียบเรียงเรื่องที่มีแนวเกี่ยวกับการรักษาสุขภาพหรือศาสตร์แห่งภายใน เพราะอะไรคะ
มีประสบการณ์ตรงทั้งปัญหาสุขภาพกายสุขภาพใจ เลยพยายามค้นคว้าหาคำตอบ อันจะเป็นประโยชน์ต่อตัวเองและผู้อื่นด้วย แล้วในการเลือกแปลงานสักชิ้นมองอะไรเป็นหลักคะ เนื้อหาสาระของเรื่องต้องลึกซึ้งและเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่าน รวมถึงเป็นเรื่องที่ไม่ผิดศีลธรรมแล้วได้ค่าแปล อะไรก็ได้ส่งมาเถอะ แปลเรียบครับ

ปัญหาที่พบบ่อย ๆ ในการแปลงานมีอะไรบ้าง
จะเป็นเรื่องของเวลา ถ้าจะให้ได้งานดีมันต้องใช้เวลามาก ไม่ว่าจะเป็นการค้นคว้าหรือการทิ้งช่วงไว้เพื่อให้งานตกตะกอนแล้วกลับมาดูใหม่อีกครั้ง แต่ในความเป็นจริงเป็นไปได้ยาก เพราะงานแต่ละชิ้นก็จะมีการกำหนดเวลาในตัวมันอยู่ และเรื่องของค่าครองชีพด้วยเช่นกัน

ผลงานที่ผ่านมาชอบชิ้นไหนมากที่สุดคะ
ชอบ "อี้จิง" ครับ เพราะกว่าจะเรียบเรียงเล่มนี้ออกมาได้ ต้องอ่านแล้วอ่านอีก ค้นแล้วค้นอีก ผิดแล้วผิดอีก ทดลองแล้วทดลองอีก เกือบ 17 ปี และปัจจุบันก็ยังต้องค้นคว้าทดลองเพิ่มเติมไม่หยุดจนอยากจะเขียนภาคต่อ แต่ก็กลัวขายไม่ได้ แม้รู้ว่ามีประโยชน์จริง ๆ เป็นเรื่องเบา ๆ บ้าง

ถ้าไม่ได้ทำงานหนังสือแล้ว คิดว่าอยากทำอาชีพอะไรมากที่สุดเพราะอะไร
ไม่รู้จริง ๆ ครับ ยังคิดไม่ออกเลย ผมรักงานหนังสือมาก ถ้าไม่ทำสำนักพิมพ์เอง ก็คงจะทำร้านหนังสือมั้งครับ

ยามว่างจากงานที่ปวดหัว ชอบทำงานอดิเรกอะไร หรือพักผ่อนแบบใดโปรดปรานที่สุดคะ
อ่านหนังสือครับ หรือไม่ก็เดินเที่ยวตามร้านหนังสือ (พนักงานจะจำหน้าผมได้หมดทุกร้านแล้ว) อีกอย่างก็คือ ท่องอินเตอร์เน็ตค้นหาหนังสือเก่า ๆ ที่หายาก หาไม่เจอตามร้านค้าแล้ว พวกนี้คือสิ่งที่ชอบทำมากกว่าอะไรทั้งหมด

ฝากข้อแนะนำสำหรับน้อง ๆ ที่อยากมีผลงานแปลบ้างสิคะ
ให้ขยันดูหนัง sound track ข้อนี้คงชอบทำนะครับ แล้วก็ขยันอ่าน พัฒนาภาษาอังกฤษทุกวิถีทาง ทั้งเริ่มต้นลองแปลแล้วหางานมาเทียบไม่ว่าจะเป็นฉบับภาษาอังกฤษหรือฉบับที่มีผู้แปลแล้ว อีกอย่างคือสะสม dictionary ให้มาก ๆ เพราะงานแต่ละชิ้นก็จะมี dictionary ที่เหมาะกับมัน อาจจะเป็นศัพท์เฉพาะทางของแต่ละเรื่องแต่ละชื่อ นอกจากที่คุยกันมาทั้งหมดนี้

คุณมนตรียังมีคำพูดเล็กน้อยฝากบอกไว้อีกว่า
อยากให้บ้านเราผลิตหนังสือให้ประณีตขึ้น ผู้เขียนสุกงอมเต็มที่ก่อนจึงเขียน ผู้แปลแปลเสร็จตรวจทานซ้ำ ๆ ก่อน บก.ต้องรู้ภาษาต้นฉบับแปล มีการขัดเกลาต้นฉบับให้เนี้ยบ พิสูจน์อักษรไม่ตกหล่น จัดรูปเล่มดี ปกสวย สายส่งหนังสือขยันทำงาน หน้าร้านวางหนังสือเด่นชัด แค่นี้ก็มีความสุขแล้วล่ะครับ…ขอบคุณครับ

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ