โบตั๋น ดาวประดับฟ้าวงการวรรณกรรม : นักเขียนไทยระดับตำนานผู้พลิกโฉมนางเอกนิยายให้สู้คน

โบตั๋น ดาวประดับฟ้าวงการวรรณกรรม

      ‘โบตั๋น’ คือนามปากกาของคุณสุภา สิริสิงห นักเขียนระดับครูผู้สร้างสรรค์งานเขียนมาต่อเนื่องยาวนานร่วม 55 ปี เอกลักษณ์ความเป็นโบตั๋นคือสำนวนการเขียนที่ห้าวหาญประหนึ่งชาย ทั้งยังได้ชื่อว่าเป็นนักเขียนผู้พลิกโฉมคาแรกเตอร์นางเอกในนวนิยายไทยให้กลายเป็นหญิงแกร่งสู้คน ทุกผลงานที่ผ่านปลายปากกาของเธอล้วนเป็นเรื่องราวที่สะท้อนให้ผู้อ่านตระหนักรู้ถึงแง่มุมปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในสังคม จนทำให้ในปี 2542 เธอได้รับเลือกเป็นศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ และล่าสุดในปีนี้เธอก็เพิ่งจะได้รับเลือกให้ได้รับรางวัลนักเขียนอมตะ รางวัลอันทรงเกียรติที่มอบแด่นักเขียนผู้ที่มีผลงานโดดเด่นในงานวรรณกรรมทรงคุณค่าอีกด้วย

 

      “คือรางวัลนี้เป็นรางวัลที่นึกไม่ถึง ปกติเป็นศิลปินแห่งชาติก็รู้สึกว่ามันเป็นที่สุดแล้ว แต่เมื่อท่านให้มาเราก็รับ ส่วนรางวัลที่เขามีส่งๆ ประกวดกันเราก็เลิกส่งมายี่สิบปีแล้ว แก่แล้ว ขี้เกียจไปประกวดกับเด็กแล้ว บางทีภาษาเราโบราณจนเด็กมันถาม เพราะว่าสมัยก่อนเขาจะใช้คำที่แบบไทยพื้นบ้านหน่อย เช่น เสือกเท้าไปข้างหน้า ลูกสาวคนเล็กเราเห็นก็ยังถามเลยว่าเสือกเท้าเป็นยังไง แต่เสือกนี่ไม่ใช่เผือกนะ (หัวเราะ) ขนาดยุคนั้นเมื่อสามสี่สิบปีที่แล้วลูกเรายังถามเลย แล้วถ้ามาสมัยนี้เราจะคุยกับเด็กรู้เรื่องเหรอ ขนาดคำว่าตายก็ยังใช้ว่าตุยเลย เราก็งงนะทีแรก มันเหมือนอยู่กันคนละยุคแล้วตอนนี้”

 

 

โบตั๋น สุภา

 

ผลงานล่าสุดคือเรื่อง ‘เดนมนุษย์’ ตีพิมพ์ตั้งแต่ปี 2559 เราจะมีโอกาสได้เห็นผลงานชิ้นใหม่ของอาจารย์อีกไหม

“ยังไม่ค่อยแน่ใจเลย เพราะว่าสุขภาพแย่มากตอนนี้ คือพูดง่ายๆ ว่าทุกโรคที่คนแก่เป็นเราไม่เป็นอยู่สองโรคเท่านั้นคือมะเร็งกับไต นอกนั้นเป็นหมดทุกโรค เป็นนิดเป็นหน่อยอะไรอย่างนี้ อย่างเบาหวานบางทีมันก็ขึ้นเจ็ดสิบ บางทีมันก็ตกฮวบลงมาก็ต้องรีบไปโรงพยาบาลแล้ว ที่หนักสุดเป็นปัญหาสุดคือเบาหวาน แล้วตอนหลังนี่มีแถมมาใหม่อีกโรคคือโรคเก๊าท์ ตอนนี้ลูกสาวเขาก็พาไปธาราบำบัด งานอื่นๆ ดิฉันก็ไม่ค่อยได้ทำมาก แต่ก็อ่านหนังสืออยู่”

 

 

 

ตอนนี้คนฮิตอ่านนิยายแนว Yaoi กันเยอะมาก อาจารย์อ่านด้วยไหม

“โอ้โห อ่านมาก ดิฉันอ่านเพราะอยากรู้ว่าเด็กมันอ่านอะไรกัน แล้วอีกอย่างถ้าเราไม่ไปคิดมากอะไรเรื่องหญิงชาย บางเรื่องสนุกจะตาย โดยเฉพาะถ้าเป็นสืบสวนมันซับซ้อนซ่อนเงื่อน สนุกออก อย่าไปใจแคบกับแค่นางเอกมันเป็นผู้ชาย เราอ่านเอาเนื้อ ฉันว่าเนื้อเรื่องนิยายจีนก็สนุก นิยายยุคนี้มันจะไม่มีประเภทที่ว่าผู้ชายคนนี้เป็นของฉัน ใครจะมาแย่งไม่ได้ แบบนั้นอ่านแล้วกลุ้มใจ แล้วเป็นทุกยุคทุกสมัยนะไอ้ประโยคนี้ ผู้ชายคนนี้เป็นของฉันนะ แกจะมาแย่งไม่ได้ เขาเป็นคนนะ เขาไม่ได้เป็นหมูเป็นหมาจะได้อุ้มเอามาเลี้ยงได้ ไอ้เรื่องประเภทแบบละครไทยรักๆ ใคร่ๆ ไม่เห็นสนุกเลย ด่ากันอยู่ได้ไม่รู้จักตบกันสักที (หัวเราะ)”

 

 

โบตั๋น สุภา

 

สมัยก่อนอาจารย์ได้แรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์งานเขียนมาจากไหน

“โดยมากก็สิ่งแวดล้อม ได้มาจากฟังผู้ใหญ่เขาคุยกันบ้าง คือตอนเด็กๆ เนี่ยที่บ้านไม่ได้พูดไทยนะ แต่พูดภาษาจีนแต้จิ๋ว เราก็จะฟังในสิ่งที่ผู้ใหญ่เขาคุยกัน คือบางคนเขานึกว่าเราไม่รู้ แต่เราฟังออกไง แต่เรื่องหนึ่งที่ต้องบอกนะ คือเรื่องลอกผลงาน อย่างคุณกิ่งฉัตรก็เคยโดน เด็กมันลอกของเขาเอาไปเป็นบทๆ เลย พอรู้เรื่องคุณกิ่งฉัตรเขาก็แค่เขียนบ่นนิดหน่อยเท่านั้นเองไม่ได้มากมาย ไม่ได้ไปฟ้องร้องอะไรกัน แต่ปรากฏว่าชาวเน็ตทั้งหลายเข้าข้างคนลอก บอกคล้ายๆ ว่ารวยแล้วยังหวงกับเด็ก ดิฉันก็ว่ามันไม่ถูกนะ คุณอยากเขียนคุณต้องเขียนเอง ได้แรงบันดาลใจกับลอกมามันไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นก็ขอร้องเลยว่าอย่าไปลอก”

 

 

โบตั๋น สุภา

 

ทราบว่าตอนที่อาจารย์ออกผลงานเขียนแรกๆ ก็ผ่านการโดนวิจารณ์มาไม่น้อยเหมือนกัน ตอนนั้นอาจารย์รับมือกับเรื่องนี้ยังไง

“เมื่อสมัยปี 2512-2513 ตอนที่เรื่อง ‘จดหมายจากเมืองไทย’ ดัง ต้องบอกว่าคำวิจารณ์ไม่ต่างกับบนอินเตอร์เน็ตสมัยนี้เลย เพียงแต่สมัยดิฉันมันเป็นหนังสือพิมพ์เท่านั้นเอง ตอนนั้นถึงเราไม่อยากอ่านก็ยังมีคนยกมาให้อ่าน บางทีนั่งทำงานอยู่ด้วยกันอย่างนี้ แต่เขาไปเขียนวิจารณ์ลงที่อื่นก็มี ก็มองหน้ากันไม่สนิท เพราะฉะนั้นฉันก็จะไม่อ่าน ใครจะคิดว่าหูป่าตาเถื่อนก็ช่างเถอะ เพราะว่าใส่ใจกับเรื่องอย่างนี้มากๆ แล้วเราจะกลุ้มเอง ก็เลยรู้สึกว่าถึงสมัยนี้แล้วถ้าอยากเป็นนักเขียน อยากเขียนจริงจังก็เขียนไปเลย ลงอินเตอร์เน็ตไปเลย โดนด่าก็ให้รู้กัน คนสมัยนี้ต้องหน้าด้านหน่อย”

 

 

โบตั๋น สุภา

 

นวนิยายที่ดีในมุมมองของอาจารย์เป็นแบบไหน

“แม้แต่นิยายวายมันก็ดีได้ถ้าหากในเนื้อหามันดี มันเน้นเกี่ยวกับพวกความยุติธรรมหรือว่าระเบียบประเพณี หรือหนังสือบางเรื่องแม้มันจะแหกกฎ อย่างมังกรหยกภาคเอี้ยก้วย พระเอกยังแต่งงานกับอาจารย์เลย คือหนังสือแบบนี้ก็อ่านได้แต่ต้องทำความเข้าใจ เด็กเดี๋ยวนี้บางทีเห็นยังเด็กๆ อยู่เลย อย่างเพื่อนหลานสาวดิฉันยังไม่สิบเจ็ดเลยก็อ่านกันแล้ว หลานบอกว่าเพื่อนหนูเขาอ่าน เราก็ยังถามว่าแล้วแม่เขาไม่ว่าเหรอ เขาก็บอกว่าแม่เป็นคนซื้อมาอ่านเพราะเนื้อเรื่องมันสนุก เพราะฉะนั้นอย่าไปกังวลกับฉากอย่างนี้ นึกหรือว่าเด็กสมัยนี้มันไม่รู้ อายุสิบสามสิบสี่มันรู้กันทุกคนแหละ ดิฉันเองก็อ่านหมด ไอ้ที่ดาร์กสุดขีดอย่างของญี่ปุ่นบางเล่มที่มันวายชนิดไม่มีอะไรเหลือให้จินตนาการอีกแล้วดิฉันก็อ่าน"

 

 

โบตั๋น สุภา

 

อยากให้อาจารย์ช่วยแนะนำเคล็ดลับสำหรับคนที่อยากเริ่มต้นเป็นนักเขียน

“คือยุคดิฉันกับยุคเด็กสมัยนี้ไม่เหมือนกัน ถ้าให้แนะนำก็จะบอกว่าอยากเขียนก็เขียนไปเลย เอาลงอินเตอร์เน็ตไป แต่ดูภาษาให้ดีๆ หน่อยแล้วกัน เพราะอ่านภาษาในอินเตอร์เน็ตเดี๋ยวนี้แล้วกลุ้มใจ คืออ่านแล้วต้องแปลไทยเป็นไทย เพราะมันเพี้ยนไปหมด แต่บางอันก็เพี้ยนเพราะเป็นข้อห้าม อย่างเลือดอย่างนี้ก็ต้องบอกเป็นน้ำสีแดง อย่างคำว่าตายหรือปืนหรือมีด ทำไมจะต้องไปบังคับว่าไม่ให้ใช้ มันไม่ใช่คำหยาบคายเหลือคณา มันเป็นคำที่ปรากฏในชีวิตประจำวันทั่วโลก ก็เลยมีความรู้สึกว่าถ้าเด็กเขาจะเขียนก็คงต้องระวังตามยุคตามสมัยของเขา”

 

Writer

Au Thitima

Content Creator ผู้รักในการอ่าน ชอบในการเขียน และคลั่งไคล้สัตว์สี่ขาที่เรียกว่าแมว