พักจากบทสัมภาษณ์นักเขียนหญิงจากโครงการชมนาดฯ มาพบกับนักเขียนนักวิชาการรุ่นใหญ่ ผู้รอบรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์อย่างหาตัวจับมิได้ อย่างคุณไกรฤกษ์ นานา กันบ้างดีกว่าค่ะ คุณไกรฤกษ์เป็นคอลัมน์นิสต์คนขยันประจำนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ที่คอยค้นคว้าหาเรื่องราวทางประวัติศาสตร์มุมมองแปลกใหม่มานำเสนออยู่เสมอ วันนี้มีโอกาสดีที่ได้พบเจอตัวจริง จึงได้นำพามาให้ชาวประพันธ์-สาส์นได้รู้จักตัวตนของคุณไกรฤกษ์กันมากขึ้นค่ะ
เริ่มศึกษาและสนใจประวัติศาสตร์ตั้งแต่เมื่อไหร่
โรงเรียนที่ผมเรียนมีหนังสืออยู่ชุดหนึ่ง เป็นหนังสือที่เด็กไทยส่วนใหญ่จะเอื้อมไม่ถึง คือหนังสือ ดรุณศึกษา มีวางขายในร้านขายหนังสือเรียนทั่วไป แต่นำมาใช้สอนในเครือโรงเรียนคาทอลิกเท่านั้น ที่น่าสนใจก็คือ เป็นหนังสือที่คนไทยไม่ได้แต่ง แต่เป็นฝรั่งแต่ง คนแต่งคือบาทหลวงแต่งหนังสือให้เด็กไทยเรียน นี่เป็นจุดหนึ่งที่น่าสนใจ และข้อมูลที่บาทหลวงเขียนเป็นข้อมูลที่คนในยุคต้นรัชกาลที่ 6 ไม่มี หนังสือนี้เขียนขึ้นประมาณปี พ.ศ. 2460 บาทหลวงเป็นคนฝรั่งเศส เป็นคนที่เดินทางมากมาย เขาจะใส่ความรู้รอบตัวไว้เยอะ ทำให้คนที่อ่านหนังสือเกิดความรู้แตกฉาน ซึ่งไม่มีในแบบเรียนของไทยสมัยนั้น นั่นคือประเด็นหนึ่งที่จุดประกายให้ผมสนใจในเรื่องต่างประเทศ ประเด็นที่สอง...คือ เรื่องของประวัติศาสตร์ไทย ดรุณศึกษาจะมีเอกลักษณ์พิเศษในการสอนประวัติศาสตร์ ตั้งแต่ชั้นเตรียมประถม น่าทึ่ง!นะครับ
ทุกวันนี้เตรียมประถมยังไม่มีเรียนประวัติศาสตร์เลยด้วยซ้ำ ส่วนประเด็นที่สาม...เป็นประเด็นที่ฝังลึกเข้าไปในเด็กที่อยู่ระดับอุดมศึกษาคือเรื่องรูปภาพ หนังสือเมืองไทยแม้กระทั่งทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นแบบเรียนภาษาไทยหรือประวัติศาสตร์ไม่มีรูปภาพ แต่ในดรุณศึกษามีรูปภาพที่เขียนตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 มีหมดเลยว่า ราชทูตโกษาปานเข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์มีหน้าตาเป็นอย่างไร ราชทูตสมัยรัชกาลที่ 4 เข้าเฝ้านโปเลียนที่ 3 คลานเข้าไปยังไง รูปภาพจะเป็นสิ่งที่ฝังใจผมมาก เมื่อโตขึ้นก็จะพยายามหาภาพที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ดรุณศึกษาให้สิ่งที่ประวัติศาสตร์ไทยให้ไม่ได้ แม้กระทั่งประวัติศาสตร์ต่างประเทศในละแวกนี้ก็ให้ไม่ได้ ทุกอย่างมันเริ่มจากหนังสือเล่มนี้ จากนั้นต่างคนต่างก็ไปเรียน ผมเลือกที่จะไปเรียนเมืองนอกและสิ่งที่เด็กผู้ชายใฝ่ฝันก็คือการเดินทาง ถ้าไปถามผู้หญิงเขาคงจะบอกว่าอยากเป็นแอร์โฮสเตส ส่วนผมก็มีโอกาสได้ไปเรียนต่างประเทศ ยุคนั้นนิยมไปเรียนที่อินเดียกัน เราก็เลือกวิชาที่วัยรุ่นอยากเรียนกันก็คือ การท่องเที่ยว ก็เลยไปเรียนที่อังกฤษ
หลังจากจบมาก็ได้ไปสัมภาษณ์คุณปิติ สุขะกุล President ซึ่งขณะนี้เสียชีวิตไปแล้ว คุณเถกิงก็ไป ซึ่งตอนนี้ท่านก็ยังมีชีวิตอยู่ ยุคนั้นก็ประมาณปี 2528 เพิ่งกลับมาเมืองไทย ตอนนั้นคุณพ่อก็ยังมีชีวิตอยู่ ได้แนะนำให้รู้จักกับเพื่อนของคุณอาก็คือ คุณธิดา จันทร์เพ็ญ ซึ่งเป็นเจ้าของบริษัทมีระดับในยุโรป คุณอาบอกว่าคุณธิดาหรือคุณแดงเปิดบริษัททัวร์ยุโรป ในผมรีบไปหาเขา จากนั้นผมก็ได้งานหลังจากลับจากอังกฤษแค่วันเดียว
จากการทำทัวร์สู่งานเขียน
เด็กโรงเรียนคาทอลิกจะได้ต่อยอดโดยไม่รู้ตัวจากการศึกษาในวัยเด็ก ซึ่งของผมก็คือการที่ได้ไปเรียนต่างประเทศ และกลับมาทำทัวร์ ทัวร์ที่ทำก็คือพาคนไทยทัวร์ยุโรป ในยุคนั้นพี่แดงก็ยังทำทัวร์ไม่ค่อยเป็นเลย เราก็ใช้ความรู้ที่เรียนมา เขาก็ใช้ความรู้เรื่องทำวีซ่า พอเข้ามาก็เขียนโปรแกรมทัวร์ ขายทัวร์เอง และในที่สุดก็พาทัวร์เองด้วย ทุกอย่างเกี่ยวกับท่องเที่ยวทำเองหมด รวมทั้งเป็นไกด์ด้วย อยู่บริษัทพี่แดงมา 8 ปี แล้วย้ายไปอยู่บริษัทฝรั่ง เช่น กัลลิเวอร์ ทราเวล, มิกิ ทราเวล พวกนี้จะเป็นคนกลางที่จองทัวร์ยุโรปให้กับ เพรสซิเดนท์ทัวร์, เอ็ม ดี ทัวร์ คือบริษัททัวร์จะต้องผ่านเอเย่นที่อยู่ในกรุงเทพฯ และยังได้เห็นมุมมองของเจ้านายไทยเจ้านายฝรั่ง ฉะนั้นการที่ออกมาเป็นงานเขียน ต้องเริ่มจากการพาทัวร์ ต้องเอาความรู้สมัยที่เรียนประวัติศาสตร์มาใช้
พอทำทัวร์ไป 5 ปี 10 ปี จนกระทั่งตอนนี้ 28 ปีแล้ว สิ่งที่เก็บสั่งสมมาก็พอกพูนขึ้น วันหนึ่งเมื่อเข้าปีที่ 7 ผมก็มานั่งคิดกับตัวเองว่า อายุเราก็มากขึ้นแล้ว เลยอยากคืนอะไรสู่สังคมบ้าง ที่เมืองไทยส่วนใหญ่จะหวงวิชากัน วิธีเดียวที่เราจะใช้คือ สื่อ และมีหนังสือที่เป็นสื่อในดวงใจของผม คือ นิตยสารสารคดี นิตยสารศิลปวัฒนธรรม และนิตยสารต่วยตูนพิเศษ สามสื่อนี้เป็นเวทีที่ผมจะสามารถเผยแพร่เอกสารที่ผมมี ความรู้ที่ผมมี ความคิดเห็นที่แตกต่างให้กับคนในสังคมได้รับรู้ ผมจึงจำเป็นต้องเขียนหนังสือถึงบรรณาธิการเหล่านี้ เหตุการณ์นี้ก็เกิดมาได้ 7-8 ปีที่แล้ว ผมก็ได้เริ่มโดยการเลือกหนังสือประเภท ฮาร์ดคอ ฮาร์ดคอในที่นี้ก็คือ ละเอียดมาก ซึ่งในนิตยสารสารคดีและต่วยตูนฯ ยังไม่ลึกพอเท่าที่ต้องการ ผมก็เลยเขียนจดหมายถึงคุณนิวัตร กองเพียร แล้วก็หายเงียบไปเกือบสองเดือนเรื่องแรกที่ส่งให้เป็นเรื่อง“โพสการ์ดเก่าเมืองไทย” ซึ่งผมไปเก็บมาจากเมืองนอก ซึ่งเขาบอกว่ามีคนเคยลงแล้ว ผมจึงเสนอไปอีกเรื่องหนึ่งคือ สิ่งพิมพ์คลาสสิคที่เด็กไทยไม่เคยเห็น คุณนิวัตรบอกว่าจะเอาเรื่องนี้ลงให้ผมเป็นเรื่องแรก และนี่คือจุดแจ้งเกิดผมในศิลปวัฒนธรรม และหลังจากนั้นมาผมก็มีอะไรก็ทยอยส่งให้ตลอด
เอกลักษณ์ในงานเขียนของคุณไกรฤกษ์
ผมมีความรู้สึกว่าประวัติศาสตร์จริงๆ แล้วเป็นสิ่งที่มีชีวิต ก็เลยมีความคิดว่าจะต้องหาจุดขายให้กับตัวเอง ทุกเรื่องจะต้องเป็นเรื่องที่ไม่ซ้ำซ้อน จะต้องเป็นมุมมองที่วิเคราะห์ ถ้าไม่ใช่เรื่องใหม่ ต้องเป็นเรื่องที่วิเคราะห์ได้ เช่น ที่ลงกับศิลปวัฒนธรรม เรื่อง “รัชการที่ 5 ทรงคิดอย่างไรกับการเสียดินแดน” ซึ่งเรื่องนี้จริงๆ แล้วไม่มีการเขียนเอาไว้ รัชการที่ 5 ก็ไม่ได้เขียนเอาไว้เกี่ยวกับการเสียดินแดน แต่เราอยู่ในภาวะที่ต้องวิเคราะห์ได้แล้ว วิเคราะห์ให้สังคมรู้ว่ามุมมองของเรา ซึ่งเป็นความคิดเห็นของเราคืออะไร แต่เราต้องมีพื้นฐานว่ามันมีอะไรประกอบอยู่บ้างถึงจะเขียนเป็นเรื่องได้
จากวันนั้นถึงวันนี้ผมก็ยังร่วมหัวจมท้ายอยู่กับศิลปวัฒนธรรม อยู่ในลักษณะของเขียนครั้งหนึ่งก็ได้ค่าตอบแทนเป็นเรื่องไป เขาไม่ได้จ้างเป็นผู้จัดการ ไม่ได้จ้างให้เป็นนักเขียน วันหนึ่งหากผมไม่ส่งเรื่องให้เค้า ผมเองอาจจะต้องหลุดวงโคจรไประยะหนึ่ง แต่ผมจะต้องเข็นตัวเองให้ได้ในลักษณะของงานที่สอง งานเขียนของผมที่เป็นเอกลักษณ์ก็คือจะไม่ใช้เอกสารของประเทศไทย จะใช้เอกสารของต่างประเทศ ไม่ใช่แค่ใช้เอกสารที่สะสมมาเพียง 30 ปีเท่านั้น ทุกๆ ปี ผมจะต้องไปงานมหกรรมหนังสือเก่าที่ปารีส 2 ครั้ง เพราะปารีสเป็นแหล่งเก็บเอกสารโบราณ ซึ่งเป็นที่ที่สมเด็จพระเทพฯ โปรดมาก เอกสารทุกอย่างจึงเป็นเอกสารที่ใหม่เสมอ เป็นมุมมองอะไรที่แปลกๆ กลับมา และก็สามารถจะเสิร์ฟตลาด และอีกเอกลักษณ์ที่เด่นมากในงานเขียนของผมก็คือ รูปภาพ การเขียนประวัติศาสตร์จำเป็นต้องมีรูปภาพ ถ้าผมไม่มีรูปภาพก็จะไม่เขียน ก็คือเราจะเริ่มต้นจากรูปภาพแล้วมันจะต่อยอดไปสู่งานเขียนต่อไปในอนาคต
ตลาดของงานเขียนแนวนี้
ผมเองมีความรู้สึกว่า 7-8 ปีที่ผมอยู่ในวงการวรรณกรรม ผมมีตลาดของผมเอง เป็นตลาดที่ไม่ต้องแข่งกับใคร เป็นตลาดซึ่งต้องแข่งกับตัวเอง เราต้องหาอะไรมาป้อนกลุ่มลูกค้าของเราตลอดเวลา ให้เรารู้สึกว่าในมุมนี้ของงานเขียนมีอะไรให้ศึกษา แล้วนิตยสารศิลปวัฒนธรรมเอง ก็มีลูกค้าประจำที่เหนียวแน่นอยู่ เขาจึงรับเราด้วยความเต็มใจ เพราะเรามีอะไรที่จะป้อนให้เค้าตลอด เราไม่ได้ยกอะไรที่จำเจ ซึ่งตรงนี้ก็เป็นเหตุผลทางด้านธุรกิจ คือเรามีอะไรให้เค้า เค้าก็มีอะไรให้เรา พอเขียนมากขึ้นเราก็เลยกลายไปเป็นนักวิชาการที่ไม่มีสังกัด หรือนักวิชาการอิสระ จนกระทั่งวันหนึ่งเราอาจจะไปเป็นอาจารย์อยู่ที่ไหนสักแห่ง ทุกวันนี้ผมทำได้อย่างที่ผมมีอยู่ก็แทบจะล้นมืออยู่แล้ว
ถนัดเรื่อราวประวัติศาสตร์ในยุคไหนมากที่สุด
ผมจะเน้นไปที่รัตนโกสินทร์ เพราะผมคิดว่าเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวที่สุด สมัยอยุธยา และสุโขทัยไกลตัวเกินไป ประเด็นที่สองคือรัตนโกสินทร์มีหลักฐานที่ชัดเจน เพราะว่าคนไทยยังพอหาอ่านได้ ซึ่งสิ่งพิมพ์ที่ผมทำจะเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ต่อไป
มีลูกศิษย์สืบทอดเจตนารมณ์นี้ต่อไปหรือเปล่า
ผมก็พยายามจะป้อนวิธีการค้นคว้าให้กับเด็กรุ่นน้องและผมก็มีโอกาสได้เจอแฟนประจำของผมอยู่ 3 จุดใหญ่ด้วยกันก็คือ งานมหกรรมหนังสือเดือนมีนาคม และเดือนตุลาคม เมื่อเจอกันก็จะถามเค้าเลยว่า “ซื้อทำไม ชอบอ่านอะไร” ซึ่งเราจำเป็นต้องรู้ว่าเขาชอบอะไร ต้องการอะไร มันจึงเป็นธุรกิจทางการตลาดเช่นกัน จุดที่สองก็จากอินเทอร์เน็ต จากเว็บมติชน จากกระดานเสวนานักเขียน จุดที่สามก็คือถามจากกองบรรณาธิการ ซึ่งจะมีคนโทรเข้ามาติชมหรือเขียนจดหมายเข้ามา ทำให้ผมคิดว่าสิ่งที่ผมทำมันค่อนข้างโอเค สิ่งที่ผมต้องทำก่อนก็คือ การลงทุน อย่างแรกเราต้องสละเวลา สละจากเรื่องธุรกิจมาทำหนังสือ อย่างที่สองคือใช้สมอง บางที 2-3 วันแล้วยังคิดไม่ออกเลยว่าจะเขียนอะไร เรื่องที่สามก็คือทรัพย์ เพราะเราไม่มีสปอนเซอร์ ต้องซื้อเองเพราะทุกอย่างเป็นเงินไปหมด ก็อย่างที่บอกเรื่องธุรกิจ คุณจะลงทุนไหม ถ้าคุณจะสร้างอะไรซักอย่างหนึ่ง แต่เรื่องนี้จะตกทอดถึงลูกหลานหรือเปล่าก็ไม่รู้ เพราะไม่ได้หวัง ตอนนี้ผมแค่คิดว่า เราต้องให้อะไรกับสังคมบ้าง คืนกำไรชีวิต สมัยนี้สนใจกันแต่อินเทอร์เน็ต แต่ผมยังหลงใหลในหนังสือและสิ่งพิมพ์ ถ้าจะใช้อินเทอร์เน็ตก็จะเป็นการหาข้อมูลมากกว่า ซึ่งผมต้องการจะปลูกฝังไม่ให้วงการหนังสือมันหายไป แม้ว่ากลุ่มคนพวกนี้จะมีไม่มาก แต่มีตัวตน เราจำเป็นต้องสร้างคนรุ่นใหม่ให้เห็นคุณค่าของประวัติศาสตร์ และเห็นคุณค่าของหนังสือ
ทำงานเยอะอย่างนี้มีเวลาพักผ่อนบ้างไหม
งานคือการพักผ่อนนะครับสำหรับผม การได้อ่านหนังสือที่ชอบคือการพักผ่อนไปในตัว พวกนี้จะเป็นตัวสนับสนุนงานหลักของผม อยู่บนรถผมก็อ่าน ในห้องน้ำก็อ่านหนังสือ ช่วงเวลานี้ดีกว่าอยู่ในห้องแอร์เงียบๆ ด้วยซ้ำไป บางทีต้องการคิดชื่อเรื่อง เดินๆ อยู่กลางแดดร้อนๆ ก็คิดออก นั่งอยู่เป็นวันๆ คิดไม่ออก ทุกอย่างมันไม่แน่ โอกาสที่เราจะเปลี่ยนบรรยากาศทำให้สมองเดิน
เทคนิคในการเขียน
มีอารมณ์เมื่อไหร่ก็เขียนเมื่อนั้นครับ ไม่ว่าจะบนรถเมล์ หรือในห้องน้ำก็คิดออกได้
การส่งเสริมให้เยาวชนหันมาใจเรื่องประวัติศาสตร์ไทย
ผมคิดว่าตอนนี้เราพึ่งผู้ใหญ่ไม่ได้ ไม่ต้องเอ่ยเลยว่า จะเป็นกระทรวงฯ นายกฯ หรือครูบาอาจารย์ เพราะยุคนี้เป็นยุคที่ใครทำอะไรให้สังคมได้ต้องทำ คือทุกคนต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ผมคิดว่าทุกอย่างมันจะตอบแทนเข้ามาคือ ความรู้สึก ความรักชาติ เผ่าพันธุ์ จะเกิดขึ้น เมื่อเกิดความรักแล้วทุกอย่างจะมาเอง งานจะเข้า เงินจะมา โอกาสจะเกิดมาทันที เวลาซะอีกที่จะไม่ค่อยมี แต่ทุกอย่างจะเข้ามาเยอะมาก เราสัมผัสตัวนี้ได้ด้วยตัวเราเอง ทุกอย่างมีสองแง่ ประวัติศาสตร์ก็เช่นเดียวกัน เราจะเชื่อว่าอันนี้ถูกก็ได้ ผิดก็ได้ แล้วแต่ว่าเราจะหยิบยกอะไรขึ้นมาพูดกัน เรื่องกำลังใจเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดในงานของผม สตางค์ก็เช่นกัน ในที่สุดแล้ว มีงาน-มีผลตอบแทน มันก็ลบล้างกันได้ เช่น ออกหนังสือให้ถี่ทำให้มีเงินขึ้นมาทำให้เกิดการค้นคว้าต่อไป มันจะไม่มีการสะดุด เพราะไม่อย่างนั้น เราก็ไม่มีทุนทรัพย์สำหรับการลงทุน ไม่ได้มีหน่วยงานใดมาสนับสนุนเราตรงนี้ แต่ถ้าเกิดเขียนออกไป สำนักพิมพ์ไหนที่เค้าเห็นคุณค่าก็จะเห็นผลงานเรา จะมีการสนับสนุนกัน ไม่ต้องรอหาสปอนเซอร์
เราอยู่ในวงการเรารู้ว่าอะไรที่เราทำได้เราทำ อะไรที่เราทำไม่ได้เราก็เงียบๆ ไว้ การที่เรามีลูกค้าแล้วเค้าชมเชยผลงานเรา ก็จะรู้สึกดี ผมก็วิเคราะห์กับลูกค้าเองว่าเค้าอยากให้เราเขียนอะไร แล้วเราก็ตอบสนองกลับไป ดูว่าเค้าต้องการอะไรแล้วเราก็พยายามสื่อไป ถ้าเราไม่เปิดหนังสือของใครบางคนอ่าน เราก็จะไม่รู้ ถ้าหากเรามีของดีๆ แต่ไม่มีเวทีดีๆ เราก็จะไม่เป็นที่รู้จัก มันเป็นโอกาสให้เราได้แสดงความสามารถของเราด้วย ตรงนี้ก็สำคัญ เพราะว่าอย่างน้อย 7 - 8 ปีในการเขียน ไม่คิดว่าเร็วเกินไป และไม่คิดว่าสายเกินไปเวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า เจ้านายเรา สำนักพิมพ์เรา ลูกค้าเรา กระแสจะเป็นตัวแสดงว่า ผลงานเรายังใช้ได้
สำหรับผลตอบแทนตอนนี้ เทียบกันไม่ได้เลยกับสิ่งที่ทุ่มไปแต่ละเรื่อง มันต่างกันประมาณ 6–7 เท่า นั่นคือการลงทุนในวิสัยทัศน์ของผม คือต้องลงทุนก่อน แล้ววันหนึ่งมันจะกลับมา บางทีก็ท้อถึงกับท้อมาก เราไม่ได้รับความสนใจจากหน่วยงานราชการ ทำให้รู้สึกว่าทำไมถึงไม่มีใครให้ความสนใจในจุดนี้ ผู้ใหญ่ก็เอาเงินไปทุ่มทุนเรื่องอื่น มันเป็นจังหวะของแต่ละคน ผมก็มีฐานที่ดีเสี้ยวหนึ่งที่ชีวิตได้อ่านหนังสือ อย่างน้อยคนในหลายหมื่นคนก็ได้อ่าน ทุกครั้งที่ผมมีโอกาสพูด ผมจะพูดเรื่องพื้นฐานการศึกษา เราจะรอให้เด็กในวันนี้มีพื้นฐานที่แน่นกว่าเราคงไมได้ เรารอไม่ได้ เรามีอะไรที่ทำได้เราก็ทำ เราถือว่าเราเป็นคนไทย เราทำเพื่อในหลวง เราทำเพื่อประเทศชาติ ในขณะเดียวกันเราก็ทำเพื่อตัวเองทำให้เรามีชีวิตอยู่ได้ เราสามารถยึดส่วนพวกนี้เป็นอาชีพได้ สิ่งที่น่าภูมิใจคือ เราได้เข้ามาอยู่ในวงการท่องเที่ยว วงการหนังสือที่ทุกคนรู้จักเรา
โดย....ฟีนิกซ์