ถ้าพูดถึงอาชีพของคนตาบอด หลายคนคงจะนึกถึงอาชีพขายลอตเตอรี่ นวดแผนโบราณ หรือว่าการร้องเพลงเปิดหมวกแบบที่เรามักเห็นกันบ่อยๆ แต่ใครจะไปคิดว่างานเย็บปักถักร้อยที่ต้องใช้ทั้งดวงตาและความประณีตละเอียดลออนั้น คนตาบอดก็สามารถทำได้ไม่แพ้คนตาดี เรื่องนี้การันตีได้จากผลงานผ้าปักจากโครงการ ‘ปักจิตปักใจ’ ที่อยู่ภายใต้การดูแลของป้าหนู-ภวัญญา แก้วนันตา อดีตครูประถมที่อาสามาเป็นครูให้กับผู้พิการ ป้าหนูบอกกับเราว่าลวดลายฝีเข็มที่อยู่บนชิ้นงานของโครงการปักจิตปักใจทุกชิ้น ไม่ว่าจะเป็นกระเป๋า กรอบรูป สมุดบันทึก ผ้าพันคอ ล้วนมาจากฝีมือของคนตาบอดทั้งหมด
“เดิมป้าหนูมีร้านสอนปักผ้าชื่อ Sewing Studio by Phanue เปิดสอนเย็บกระเป๋า ปักผ้าอะไรอย่างนี้ค่ะ อยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ พอดีได้เจอคุณผึ้ง-วันดี สันติวุฒเมธี ซึ่งเขาทำงานเพื่อสังคมอยู่แล้วมาชวนทำโครงการปักจิตปักใจ ให้ป้าเป็นคนสอนคนตาบอดปักผ้า ตอนนั้นป้าคิดว่ามันเป็นโครงการที่ดี แล้วมันก็ท้าทายตัวเองด้วยว่าเราจะทำได้ไหม ก็เลยตอบตกลง โครงการจึงได้เริ่มขึ้นค่ะ”
งานปักสร้างรายได้ ให้อาชีพ
“อาชีพของคนตาบอดในปัจจุบันหลักๆ ก็จะมีขายลอตเตอรี่ นวด ร้องเพลง โครงการนี้ก็เรียกว่าเป็นอาชีพเสริมให้กับคนตาบอด เพราะบางคนก็ไม่มีทุนที่จะไปซื้อลอตเตอรี ไม่มีความชำนาญในการนวดหรือร้องเพลง อย่างน้อยเขาก็มีอาชีพตรงนี้ช่วยเลี้ยงชีพ เป็นการสร้างความยั่งยืนให้ชีวิตของเขา บางคนปลดหนี้ได้เลยนะ แต่ต้องขยันหน่อย ต้องมีความอดทน
คนตาบอดก็คือมนุษย์ปกติเหมือนเราๆ นี่แหละ แต่เขาขาดโอกาส ถ้ามีโอกาสเขาอาจทำได้ดีกว่าเราด้วยซ้ำ เพราะเขาใช้อายตนะภายนอกก็คือรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ได้ดีกว่าคนตาดี เราคนตาดีใช้ตาอย่างเดียวตัดสินทุกอย่าง แต่คนตาบอดจะใช้ห้าอย่างในการตัดสิน เพราะฉะนั้นเขาละเอียดกว่าเราเยอะ”
แค่ตั้งใจถึงมองไม่เห็นก็ไม่เป็นปัญหา
“ป้าเริ่มจากลองปิดตาสนเข็มแล้วก็ปักผ้าเพื่อจะได้เข้าใจคนตาบอดก่อน บอกตัวเองว่าถ้าเราทำไม่ได้เราก็สอนคนอื่นไม่ได้ ซึ่งป้าใช้เวลาเป็นเดือนนะคะกว่าจะทำได้ พอเราทำได้เราเข้าใจแล้วก็เริ่มออกแบบเครื่องมือในการช่วยให้คนตาบอดปักผ้า อุปกรณ์ช่วยจะมีไม่กี่อย่าง
อย่างแรกคือที่สนเข็ม จะมีกระพรวนติดเอาไว้ให้มีเสียงเพราะคนตาบอดเขาจะใช้การฟัง อันที่สองคือเทมเพลตพลาสติก เป็นตัวช่วยให้เขาปักเดินเส้นได้ อันที่สามคือกรรไกร ก็ต้องผูกกระพรวนติดไว้ด้วย อันที่สี่คือเข็ม เราใช้เข็มที่มีขนาดใหญ่ซึ่งมันก็เหมาะกับการปักผ้าลายใหญ่อยู่แล้ว เราจะมีอุปกรณ์พวกนี้เตรียมไว้เป็นเซ็ตให้กับคนตาบอด เป็นตัวช่วยเพื่อให้เขาทำงานเป็นได้ค่ะ”
ต้องฝึกฝนจนชำนาญเพื่อชิ้นงานคุณภาพ
“ก่อนเริ่มลงงานจริงเราจะมีอบรมก่อน แบบฝึกหัดแรกที่เราสอนเขาคือการฝึกเข็มให้เชื่อง เริ่มจากการเดินเข็มเป็นเส้นตรงธรรมดา จากนั้นก็มาเป็นรูปสี่เหลี่ยม เป็นรูปวงกลม เป็นดอกไม้ เป็นดาว เขยิบขึ้นไปเรื่อยๆ เราจะมีแพทเทิร์นให้ แล้วก็ค่อยๆ บอกเขา เพราะบางคนตาบอดแต่กำเนิด เขาก็จะไม่เคยเห็นว่าดาวมันรูปร่างยังไง
อย่างวงกลมเขาก็จะไม่รู้ว่ามันคือวงกลม เราก็จะเปรียบให้เขาฟังว่ามันเหมือนก้นขวดน้ำปลานะ เราจะใช้การอ้างอิงจากสิ่งที่ใกล้ตัว หรืออย่างฝีปักเราก็จะบอกเขาว่าจังหวะในการจ้วงต้องความยาวเท่ากับเม็ดข้าวสารนะ เราฝึกแบบนี้อยู่ 2 เดือนค่ะ ชุดแรกที่มาฝึกมี 10 คน หลังจากนั้นก็ทยอยๆ มาเรื่อยๆ ค่ะ”
เลือกใช้วัสดุออร์แกนิกหาง่ายในพื้นที่ชุมชน
“พวกวัสดุเราใช้ของที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ทั้งหมดเลย ผ้าอะไรต่างๆ ก็จากเชียงใหม่ ฝ้ายที่ใช้เราก็เลือกใช้เป็นฝ้ายออร์แกนิก ตอนผลิตเราพยายามควบคุมเรื่องสีตก เราจะเอาผ้ามาแช่น้ำเกลือกับน้ำส้มสายชูเพื่อล็อกสีเอาไว้ เพราะมันเคยเกิดปัญหาเรื่องสีตก ผ้าพวกนี้มันไม่ได้ล็อกสีแบบอุตสาหกรรม ถ้าเป็นพวกผ้าคอตตอนที่มาจากต่างประเทศยังไงสีก็ไม่ตก เพราะเขาใช้เคมีในการล็อกสี ซึ่งลูกค้าเขาก็เข้าใจเพราะวัสดุที่เราใช้มันเป็นออร์แกนิกทั้งหมด”
เพราะปักด้วยใจจึงอยากให้มองที่คุณค่า
“แรกๆ ที่เปิดตัวเราเคยเอาคนตาบอดมานั่งเป็นพรีเซนเตอร์ ให้เขาปักผ้าโชว์ในงานออกบูธ แต่หลังจากนั้นก็ไม่ให้มาอีก เพราะเราไม่อยากให้คนมาซื้อของเราเพราะความสงสาร เราอยากให้ซื้อเพราะมองเห็นคุณค่าในงานของเรา เห็นคุณค่าในศิลปะของเรามากกว่า เพราะเราขายความพยายาม
คนที่มาซื้อของเราส่วนใหญ่เขาเข้าใจ เราเคยทำเข็มกลัด ทำพวงกุญแจ ลูกค้าที่มาซื้อเขาบอกเขาจะพกเอาไว้ พอเวลาเหนื่อยๆ เขาก็จะเอามากำเอาไว้ แล้วบอกตัวเองว่าชีวิตเราไม่ลำบาก คนตาบอดเขาลำบากกว่า คนตาดีก็ได้แรงบันดาลใจจากคนตาบอด ป้าก็จะเอาข้อมูลพวกนี้ไปเล่าให้คนตาบอดฟังเพื่อให้เขามีกำลังใจ”
สานต่อโครงการเพื่อสร้างโอกาสต่อไป
“เราทำมา 7 ปีแล้ว เราก็คิดออกแบบผลิตภัณฑ์ของเราไปเรื่อยๆ เพราะไม่อยากให้แบบซ้ำ คิดหารูปแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่มันน่าใช้ เพราะแฟชั่นมันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ที่ผ่านมามีหลายหน่วยงานที่เข้ามาช่วยเรา มาสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ของเรา มาอุดหนุนผลิตภัณฑ์ของเราเอาไปเป็นของขวัญ แล้วตอนนี้ก็มีองค์กรใหญ่องค์กรหนึ่งที่เขาใจดีจะเข้ามาดูแลเรา มาดูแลเรื่องดีไซน์เรื่องไอเดีย โดยมีป้าหนูเป็นคนคอยควบคุมคุณภาพและภาพรวมของผลิตภัณฑ์ทั้งหมด
ตอนนี้ทุกอย่างยังอยู่ในขั้นตอนการทำ แต่อีกไม่นานน่าจะได้เห็น ตอนนี้ถ้าใครอยากอุดหนุนผลิตภัณฑ์ของเราให้เข้าไปสั่งซื้อได้ที่เฟซบุ๊ก Pakjitpakjai ชอบชิ้นไหนก็ลองอุดหนุนสนับสนุนพวกเรา รายได้ที่ได้จะถูกนำมาเป็นสารตั้งต้นให้คนตาบอดที่พยายามจะมีชีวิตที่ประกอบอาชีพสุจริตค่ะ หรือแค่แวะเข้ามากดไลค์กดแชร์ก็ถือว่าช่วยเราแล้วเพราะเป็นการเพิ่มการมองเห็นให้เราค่ะ”
ขอบคุณภาพจากเฟซบุ๊ก Pakjitpakjai