มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ คว้ารางวัล SX Shaper Award 2024 : ต้นแบบการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน

มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ คว้ารางวัล SX Shaper Award 2024

 

กว่า 50 ปี ที่มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ดำเนินโครงการต่างๆ เพื่อสืบสานและต่อยอดพระราชปณิธานตามพระราชปณิธานของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี 'ช่วยให้เขา ช่วยตัวเขาเอง’ ที่มุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพคนเป็นศูนย์กลาง (Human-centric) จนกลายเป็นต้นแบบการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน และการดำเนินธุรกิจเพื่อสังคม ทำให้มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ได้รับรางวัล SX Shaper Award 2024           จากคณะกรรมการจัดงาน Sustainability Expo 2024

 

SX Shaper Award 2024

 

มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ได้ดำเนินโครงการสำคัญๆ ได้แก่ โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน)  อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงราย, โครงการร้อยใจรักษ์ จังหวัดเชียงใหม่, โครงการศึกษาและพัฒนาการปลูกชาน้ำมัน และพืชน้ำมันอื่นๆ จังหวัดเชียงราย, โครงการแปรรูปป่าเศรษฐกิจน่าน จังหวัดน่าน, โครงการพัฒนาทางเลือกเพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ยั่งยืนไทย-เมียนมา สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา, อุทยานศิลปะวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย, และโครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อ                การพัฒนาที่ยั่งยืน

มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ เชื่อว่า ‘คน’ คือต้นเหตุและทางออกของปัญหาในการยกระดับชีวิตของชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม จึงต้องเริ่มจากการพัฒนาคน เพราะ “ไม่มีใครอยากเป็นคนไม่ดี แต่ที่เขาไม่ดี เพราะขาดโอกาสและทางเลือก”

โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงราย เริ่มดำเนินการเมื่อปี 2531 เพื่อเป็นการให้แนวทางการพัฒนาตามตำราแม่ฟ้าหลวงคือการ “ปลูกป่า ปลูกคน”  โดยตลอดระยะเวลา 36 ปีที่ผ่านา มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ฟื้นฟูป่าได้ประมาณ 90,000 ไร่ สร้างอาชีพที่ดีแก่ประชาชนกว่าหนึ่งหมื่นคน

นอกจากนี้ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ยังร่วมกับภาคีทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน ได้ดำเนินโครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน มาตั้งแต่ปี 2564 จนถึงปีนี้ มีความร่วมมือในป่าชุมชนรวม 129 แห่งใน 9 จังหวัด ครอบคลุมพื้นที่ 194,850 ไร่ ผลิตคาร์บอนเครดิตได้ 500,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และสร้างประโยชน์แก่ชุมชนในป่า 25,082 ครัวเรือน  ซึ่งมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ตั้งเป้าหมายผลิตคาร์บอนเครดิต 1 ล้านตันภายในปี 2570

อีกความสำเร็จของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ คือ การจัดการขยะ โดยมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ เริ่มลงมือจัดการขยะจากต้นทางอย่างจริงจังตั้งแต่ปี 2555 จนกระทั่งปลายปี 2561 ประสบความสำเร็จในการทำให้ขยะถูกส่งไปบ่อฝังกลบเป็นศูนย์ และยังขยายแนวคิดนี้ไปยัง 29 หมู่บ้านใน อ.แม่ฟ้าหลวง ซึ่งปัจจุบัน มี 24 หมู่ล้านที่สามารถคัดแยกขยะได้อย่างถูกวิธี ดอยตุงไม่มีของเหลือทิ้ง เพราะที่นี่ดำเนินธุรกิจแบบ Zero Waste และตั้งใจสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ให้เป็นมิตรกับโลก โดยทำให้ทุกขั้นตอนการผลิตไม่สร้างขยะด้วยการรีไซเคิล ไม่ว่าจะเป็นขวดน้ำพลาสติก กากกาแฟ เปลือกแมคคาเดเมีย เศษผ้าจากกาทางทอผ้า น้ำที่ใช้ในการย้อมก็ยังสามารถบำบัดได้ และหมุนเวียนทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ พร้อมทั้งพัฒนาการออกแบบดีไซน์ เพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์หลักอีกด้วย ทำให้โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรวงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ได้รับมาตรฐาน G Green Production ประเภทเซรามิก ระดับดีเยี่ยม และประเภทสิ่งทอ ระดับดีเยี่ยม ปี 2562 จากกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม

ส่วนโครงการการพัฒนาทางเลือกในการดำรงชีวิตที่ยั่งยืน (Sustainable Alternative Livelihood Development – SALD)เป็นแนวทางการพัฒนาที่เกิดขึ้นจากพระปรัชญาและพระราชปณิธานของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ในการช่วยเหลือพัฒนาผู้ที่ด้อยโอกาสในสังคม โดยเน้นการพัฒนาคนอย่างมีบูรณาการ เป็นขั้นเป็นตอน ตามช่วงเวลาที่เหมาะสมกับสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่ และนำวิธีคิดและวิธีบริหารจัดการเชิงธุรกิจมาปรับใช้ เช่น ผลิตของที่ตลาดต้องการ มุ่งสร้างประโยชน์สูงสุดจากต้นทุนที่ต่ำที่สุด ด้วยกระบวนการที่มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว ไม่ซับซ้อน อีกทั้งศึกษาความเป็นไปได้ก่อนทำโครงการเพื่อลดความเสี่ยง หรือวัดผลเพื่อปรับปรุงการทำงานอยู่ตลอดเวลา

“เพราะความยั่งยืนเป็นเรื่องของทุกคน” ที่จะมาร่วมกันเปลี่ยนโลกใบนี้ให้น่าอยู่อย่างยั่งยืน                  ผ่านกิจกรรมมากมาย พร้อมแลกเปลี่ยนแนวคิด และไอเดียสุดเจ๋งด้านความยั่งยืนกับวิทยากรชื่อดัง ศิลปิน และเหล่าไอดอลจากทุกแวดวง ตื่นเต้นไปกับสุดยอดนวัตกรรมกอบกู้โลกให้คุณได้เรียนรู้ และพร้อมปรับตัว เพื่อความอยู่รอดในวิถีชีวิตประจำวันยุคโลกเดือดได้อย่างมีความสมดุล ในงาน Sustainability Expo (SX2024) ได้ตั้งแต่วันนี้ ถึง วันที่ 6 ตุลาคม 2567 เวลา 10.00-20.00 น. ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ (QSNCC)

 

SX Shaper Award 2024

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ