จากผลกระทบทางเศรษฐกิจทำให้ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ที่ทำมาต้องปิดตัวลง คุณพิมพ์แก้ว กิติรัตน์ธนโชติเลยตัดสินใจกลับไปตั้งหลักที่บ้านเกิดที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นั่งมองกอผักตบชวาที่ลอยผ่านหน้าบ้านไปวันแล้ววันเล่าจนเกิดปิ๊งไอเดียขึ้นมา นำเอาผักตบชวาที่หลายคนเรียกขานว่าเป็น ‘สวะ’ ที่สร้างปัญหาให้กับแหล่งน้ำมาทำเป็นตุ๊กตา และเพียรพยายามพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตัวเองให้เป็นที่รู้จักในหมู่นักท่องเที่ยว จนปัจจุบันจากตุ๊กตาตัวแรกที่ขายได้เพียง 250 บาท ทุกวันนี้สร้างรายได้ให้เป็นหลักแสน แถมยังได้สร้างอาชีพให้กับชุมชนอีกด้วย
“เดิมเราทำธุรกิจเฟอร์นิเจอร์หวาย พอปี 2540 เกิดภาวะฟองสบู่แตกธุรกิจมันไปหมดเลย ตอนนั้นก็เลยกลับมาอยู่บ้านที่อยุธยา กลับมาทำใจ พอผ่านไปสองเดือนหัวสมองมันโล่งแล้ว รับสภาพตัวเองได้แล้วเราก็เริ่มนับหนึ่งใหม่ ด้วยความที่นั่งมองน้ำเห็นผักตบชวาไหลไปไหลมาทุกวัน เราก็ตัดสินใจลงไปเก็บผักตบชวาเอามาตากแห้ง ด้วยความที่ตัวเราเรียนจบเพาะช่างมา เรามีพื้นฐานงานศิลปะ ก็เลยเอาผักตบชวาที่ตากแห้งแล้วมามัดขึ้นเป็นรูปร่างทำเป็นตุ๊กตาชาวเขา วางขายที่บ้านนี่แหละ ทีนี้มีนักท่องเที่ยวมาเห็นเขาก็ขอซื้อ มันก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นตรงนั้น หลังจากนั้นเราก็พัฒนางานมาเรื่อยๆ ค่ะ”
เก็บของไร้ค่ามาเพิ่มค่าด้วยการสร้างเป็นตุ๊กตาทำมือ
“วัสดุหลักของเราคือผักตบชวา ผักที่มันสร้างปัญหาและหลายคนมองว่ามันไม่มีประโยชน์นี่แหละ เราเก็บมันมาจากแม่น้ำ เอามาขึ้นรูปเป็นตุ๊กตา สร้างอัตลักษณ์ให้เขา ตุ๊กตาทุกตัวเราทำด้วยมือทั้งหมดนะคะ ส่วนฐานของตุ๊กตาที่เป็นไม้อันนี้มันมาจากรากไม้ เป็นรากไม้ที่อยู่ในหิน เป็นของธรรมชาติ รากพวกนี้ตอนที่มันดิบเราไม่สามารถเก็บได้นะ มันผิดกฎหมาย มันมีกฎหมายป่าไม้อยู่ แต่พอมันโตแล้วหินมันจะบีบดันให้รากทะลุขึ้น หลุดออกมา อันนี้ก็จะสามารถเก็บได้ไม่ผิดกฎหมาย ซึ่งจุดเด่นของรากไม้พวกนี้คือมันจะแกร่งมาก”
ใส่ใจทุกกระบวนการเพื่อสร้างคุณภาพมาตรฐานให้งานทุกชิ้น
“ผักตบชวาที่จะใช้เราจะเอาไม้ไผ่มาล้อมไว้เพื่อไม่ให้มันช้ำ เพื่อให้ลำต้นมันสวย เราต้องสร้างผักของเราให้มีคุณภาพ หลังจากนั้นก็เอามาตากแดด สามวันแรกให้ตากทิ้งไว้เลย พอวันที่สี่ให้ตากไว้เฉพาะตอนมีแดด พอตอนเย็นเราก็เก็บใส่เข่งไว้ ทำแบบนี้จนครบเจ็ดวันปุ๊บเราก็เอามาเก็บใส่ถุงเพื่อแช่สารละลายโซเดียมเบนโซเอต อันนี้เป็นเทคโนโลยีการป้องกันเชื้อราในผลิตภัณฑ์ แช่ประมาณชั่วโมงหนึ่งก็เอามาตากในร่มต่อสักสองสามวัน หลังจากนั้นก็เก็บใส่ถุงไว้อีกสองสามเดือน เป็นการหมักไว้เพื่อให้มันเซ็ตตัว กระบวนการมันเยอะมากค่ะ แต่เราก็ตั้งใจ ลงทุนลงแรงเพื่อให้สินค้าเรามีคุณภาพที่สุด เรียกว่าทำจากหัวใจ เรายังอยากได้ของดีเลย เพราะฉะนั้นต้องส่งมอบของดีให้กับลูกค้าค่ะ”
เดินสายประกวดสร้างชื่อเพื่อให้คนรู้จักผลิตภัณฑ์
“ตอนนั้นที่เริ่มทำเราจะเน้นเลยว่าเราต้องมีเวทียืนก่อน เราต้องสร้างตัวให้คนรู้จักเราก่อน ที่ไหนมีงานประกวดเราก็ไป รางวัลแรกที่ได้คือรางวัลศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ผลิตภัณฑ์ตอนนั้นเราทำเป็นตุ๊กตานักรบนั่งอยู่บนกล่องทิชชู ก็ได้รางวัลมาหนึ่งหมื่นบาท แล้วเราก็เน้นออกอีเวนท์ มีอีเวนท์ใหญ่ๆ เราก็ไปออก ซึ่งส่วนมากเราจะโชคดีที่ได้บูธเป็นบูธโชว์ จริงๆ ผลิตภัณฑ์เรามีเยอะนะคะ มีตั้งแต่ตุ๊กตานักรบ ตุ๊กตาชาวเขา สิบสองนักษัตร ผลิตภัณฑ์เรามีเป็นร้อยรายการ แต่มวยไทยนี่เขานำโด่งมาเลย คือเราใส่ดีไซน์เข้าไปในงาน เราสร้างอัตลักษณ์ให้เขา อย่างนักมวยนี่ก็มีสตอรี่ มีเรื่องเล่า เพราะเขาคือนายขนมต้ม ตำนานของคนบ้านกุ่ม บางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา”
ใช้ทุกวัสดุอย่างคุ้มค่าไม่เหลือขยะให้เป็นภาระโลก
“ถามว่าหลังกระบวนการผลิตแล้ววัสดุที่เหลือเราเอาไปทำอะไร จริงๆ เราแทบจะไม่เหลือขยะเลยนะ เพราะเราเป็นคนขี้เหนียว (หัวเราะ) วัสดุที่เหลือเราจะเอาไปทำกระดาษ หรือไม่ก็เอาไปทำบรรจุภัณฑ์ พวกวัสดุที่เหลือจากการขึ้นรูปเราจะเอาไปแช่น้ำเก็บไว้แล้วเอามาทำกระดาษ เป็นกระดาษจากผักตบชวา ทำเป็นสมุดบันทึกพวกนี้ จริงๆ ผลิตภัณฑ์ของเรามันก็คืออีโค่โปรดักส์ดีๆ นี่เองค่ะ”
ตั้งใจถ่ายทอดความรู้ที่มีเพื่อประโยชน์ของคนอยากสร้างอาชีพ
“ปัจจุบันเราก็ว่าเรามาไกลแล้วนะ เริ่มตั้งแต่จดวิสาหกิจชุมชนแล้วก็ผ่านกระบวนการคัดสรรอะไรๆ มาตั้งแต่สามดาว สี่ดาว ห้าดาว จนทุกวันนี้เรามีรางวัลเต็มบ้าน แต่การมาไกลของเราเนี่ยเราเผยแพร่ เราถ่ายทอดตลอด เรามีความรู้เราก็สอนต่อจนชาวบ้านทำได้ ก็ได้สร้างอาชีพให้คนในชุมชน องค์ความรู้เราทั้งหมดเราไม่เคยเก็บ เราเผยแพร่ตลอด ก็มีหลายๆ ที่ที่ติดต่อมาให้เราไปเป็นวิทยากรให้ความรู้เราก็ไป ส่วนมากเป็นพวกนักศึกษาที่เราไปให้ความรู้ ปีหน้าเราก็อายุหกสิบแล้ว แต่เราไม่หยุดหรอกค่ะ ก็ยังจะทำหน้าที่เผยแพร่ความรู้ให้คนอยากมีอาชีพต่อๆ ไป ก็เป็นการส่งมอบสิ่งที่ดีต่อเพื่อตอบแทนแผ่นดินค่ะ”