5 แบรนด์ไทยแปลงร่างขยะเป็นสินค้าทำเงิน : เปลี่ยนขยะเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ สร้างรายได้และลดมลพิษโลก

5 แบรนด์ไทยแปลงร่างขยะเป็นสินค้าทำเงิน

     ขยะล้นเมืองเป็นหนึ่งในวิกฤตที่กำลังสร้างปัญหาไปทั่วโลก ปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องส่งผลกระทบต่อทั้งสิ่งแวดล้อมและความเป็นอยู่ของผู้คน ในประเทศไทยเองก็มีมาตรการในการกำจัดขยะออกมาหลายรูปแบบ อีกทั้งยังรณรงค์ให้คนหันมาใช้ของรีไซเคิลให้มากขึ้น จากมาตรการเหล่านี้ทำให้มีผู้ประกอบการที่มีใจรักษ์โลกลุกขึ้นสร้างโอกาสในวิกฤต ด้วยการหยิบเอาขยะเจ้าปัญหามาทำประโยชน์ คอลัมน์นี้เราจะพาคุณไปรู้จักกับ 5 แบรนด์ของไทยที่นำเอาขยะไร้ค่ามาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ นอกจากสร้างรายได้และมีส่วนให้เกิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนแล้ว ก็ยังเป็นการช่วยลดปริมาณขยะเพื่อรักษาโลกให้น่าอยู่มากขึ้นด้วย

 

1. OCYCO                                                                           

เพราะความรักในสิ่งแวดล้อมและท้องทะเลไทยซึ่งเป็นบ้านเกิด ทำให้คุณฐณผการจ เตี่ยวประดิษฐ์ คุณอดิศร เตี่ยวประดิษฐ์ และ รศ.ดร. เศกสันต์ อุดมศรี ตัดสินใจสร้างแบรนด์โอไซโค่ (Ocyco) ขึ้นมา โดยตั้งใจว่าจะเอาขยะที่มีเกลื่อนหาดมาแปรรูปเป็นสินค้าเพื่อจำหน่าย จุดประสงค์ไม่เพียงแต่ทำให้ทัศนียภาพของชายหาดและท้องทะเลสะอาดตาขึ้นเท่านั้น แต่ยังต้องการสร้างระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนให้ชุมชนในพื้นที่จังหวัดกระบี่ โดยนอกจากจะเอาขยะที่มีอยู่ในพื้นที่มาใช้ให้เกิดประโยชน์ ทางแบรนด์ยังเปิดรับซื้อขยะที่ชาวบ้านนำมาขาย ถือเป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ ช่วยให้คนในชุมชนมีชีวิตที่ดีและดำรงชีพได้อย่างยั่งยืนด้วย

ใครสนใจเสื้อผ้า กระเป๋า และของกระจุกกระจิกน่ารักๆ จากทะใต้แบรนด์นี้ก็เข้าไปเลือกดูกันได้ที่ www.ocyco.com

 

5 แบรนด์ไทยแปลงร่างขยะเป็นสินค้าทำเงิน

 

2. RUMBÁ BOR

แบรนด์เฟอร์นิเจอร์ที่เกิดจากความตั้งใจของคุณรัมภา ปวีณพงษ์พัฒน์ นักดีไซน์สาวที่มีแพชชั่นอย่างแรงกล้าในเรื่องรักษ์สิ่งแวดล้อม เธอหยิบเอาพลาสติกโพลีโพรไพลีนรีไซเคิล (PP Recycle) มาผลิตเป็นเก้าอี้สไตล์จีน สร้างความแตกต่างด้วยการดีไซน์ลวดลายศิลปะที่เป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใครบนตัวเก้าอี้ และยังเพิ่มความน่าสนใจด้วยการใช้สีแบบไล่เฉด จนเก้าอี้ที่ผลิตออกมาดูสวยแปลกตาและน่ามอง ลบภาพจำเก้าอี้สไตล์จีนที่หลายคนมองว่าเชยไปจนหมด ถือเป็นแบรนด์ที่หยิบเอาวัสดุรีไซเคิลมาต่อยอดได้อย่างน่าสนใจ

ใครอยากได้เก้าอี้สวยๆ ไว้ใช้งาน ตามไปอุดหนุนกันได้ที่เฟซบุ๊ก Rumba Bor

 

5 แบรนด์ไทยแปลงร่างขยะเป็นสินค้าทำเงิน

 

3. จานใบไม้ในสวน

เพราะแรงบันดาลใจจากโครงงานวิชาวิทยาศาสตร์ของลูกชาย ทำให้คุณเนตรนภา ทากาฮาชิ รองประธานวิสาหกิจชุมชนสร้างป่าสร้างรายได้จังหวัดเชียงใหม่ ปิ๊งไอเดียต่อยอดนวัตกรรมผลิตจานจากใบไม้ โดยนำเอาใบไม้ที่หล่นร่วงกองสุมเต็มป่าและเปลือกข้าวโพดที่เหลือจากการเก็บเกี่ยวฝักแล้วมาเป็นวัสดุในการผลิต นอกจากจะสร้างธุรกิจให้ตัวเองและชุมชนในพื้นที่มีรายได้แล้ว ก็ยังเป็นการช่วยแก้ปัญหาการเผาป่าและลดฝุ่น PM 2.5 ได้อีกด้วย

หากต้องการเยี่ยมชมหรืออุดหนุนผลิตภัณฑ์สามารถเข้าไปสอบถามเพิ่มเติมได้ที่เฟซบุ๊ก จานใบไม้ - ในสวน Nai Suan

 

5 แบรนด์ไทยแปลงร่างขยะเป็นสินค้าทำเงิน

 

4. CATUP

จุดเริ่มต้นของแบรนด์นี้เกิดจากการที่คุณนคร แขฉายแสง มีแนวคิดที่อยากจะเปลี่ยนขยะให้เป็นของมีค่าใช้ประโยชน์ได้ จึงใช้ความรู้ด้านวิศวกรรมของตัวเองประดิษฐ์เครื่องจักรและแม่พิมพ์สำหรับผลิตโดมแมวขึ้นมา โดยเลือกเอาฝาพลาสติกที่ถูกทิ้งเกลื่อนเป็นขยะมาเป็นวัสดุหลักของผลิตภัณฑ์ นอกจากดีไซน์ที่ทำออกมาจะถูกใจบรรดาเจ้านายแมวเหมียวแล้ว เหล่านุดทาสก็ยังได้มีส่วนร่วมในการรักษ์โลกจากการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์อัพไซเคิลที่ไม่ทำให้เกิดขยะเพิ่มอีกด้วย

ทาสแมวท่านไหนอยากได้โดมแมวไปให้เจ้านายที่บ้านก็ติดต่อไปได้เลยที่เฟซบุ๊ก CATUP อัพไซเคิลแบบแมวๆ

 

5 แบรนด์ไทยแปลงร่างขยะเป็นสินค้าทำเงิน

 

5. EARTHOLOGY

ด้วยความมุ่งมาดที่ต้องการสร้างแบรนด์ที่เท่าทันการเปลี่ยนแปลงแต่ยังคงรักษาไว้ซึ่งธรรมชาติและความยั่งยืน บริษัท ไทยแทฟฟิต้า จำกัด ภายใต้การบริหารของคุณกฤติกา ชัยวิไล จึงสร้างแบรนด์เสื้อผ้าที่ชื่อ Earthology ขึ้นมา โดยวัสดุทั้งหมดที่นำมาใช้ในการผลิตมาจากขวดพลาสติกเหลือทิ้งและของเสียทางการเกษตร ด้วยกระบวนการผลิตที่ใส่ใจบวกกับดีไซน์ที่เข้าใจเทรนด์จึงทำให้ Earthology เป็นอีกหนึ่งแบรนด์ขวัญใจสายมินิมอล

มินิมอลสไตล์ท่านไหนสนใจก็ไปเลือกช้อปเลือกดูกันได้ที่ www.earthologystudio.com

 

5 แบรนด์ไทยแปลงร่างขยะเป็นสินค้าทำเงิน

 

 

Writer

Au Thitima

Content Creator ผู้รักในการอ่าน ชอบในการเขียน และคลั่งไคล้สัตว์สี่ขาที่เรียกว่าแมว