จากเศษผ้าที่เป็นขยะเหลือทิ้งในโรงงานต่อยอดสู่ยางนวัตกรรมใหม่ที่เอามาใช้ทำพื้นรองเท้า ผสมผสานกับงานดีไซน์ที่ใช้ผ้าทอของไทยเป็นตัวชูโรงหลัก เพิ่มฟังก์ชั่นด้านสุขภาพที่เหมาะกับเท้าคนไทย ทำให้รองเท้าแบรนด์ไทยที่มีชื่อเก๋ๆ ว่า GEMIO แจ้งเกิดในฐานะรองเท้าสุขภาพได้อย่างเต็มตัว ทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้การบริหารของคุณแพร-อภิกษณา เตชะวีรภัทร ที่เธอบอกกับเราว่าตั้งใจอยากให้ทั้งผลิตภัณฑ์และโรงงานของเธอเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ช่วยขับเคลื่อนแนวคิดเรื่อง Sustainability เพื่อให้คนไทยได้ตระหนักถึงปัญหาเรื่องขยะและหันมารักษาสิ่งแวดล้อมกันอย่างจริงจัง
“จริงๆ ที่บ้านทำโรงงานรองเท้าผ้าใบมาอยู่แล้ว คือทำมาห้าสิบกว่าปีตั้งแต่รุ่นคุณพ่อค่ะ ซึ่งตอนนี้ก็ยังทำอยู่ ชื่อแบรนด์ Snowflakes จะเป็นแนวรองเท้าผ้าใบ เน้นพวกรองเท้าผ้าใบ รองเท้านักเรียนค่ะ ส่วนแพรตอนนั้นทำงานเป็นพนักงานบริษัท จนเมื่อประมาณเกือบสิบปีที่แล้วคุณพ่อเรียกให้มาช่วยงานเพราะว่าอยากทำตลาดเพิ่ม แพรก็เลยลาออกจากงานประจำแล้วก็มาทำธุรกิจของที่บ้าน มาช่วยดูแลเรื่องการขายค่ะ”
มองเห็นจุดเด่นของผ้าไทยจึงหยิบมาดีไซน์เป็นรองเท้า
“เริ่มจากพี่ชายของแพรเป็นคนชอบผ้าทอ ผ้าไทยของชุมชนค่ะ เวลาไปงานศูนย์ศิลปาชีพก็จะชอบไปช้อปปิ้งผ้าไทยมา ซึ่งเรามองว่าผ้าไทยเขามีเอกลักษณ์ เราก็เลยเอาผ้าไทยมาลองทำรองเท้าดู ปรากฏว่ามันสวย ใส่สบาย ก็เลยตั้งต้นเป็นแบรนด์ GEMIO ขึ้นมา แต่แบบเราไม่ได้ทำแบบไทยจ๋านะคะ เราทำออกมาเป็นแบบสมาร์ทแคชชวลให้แต่งตัวง่าย ตอนต้นๆ ยังทำไม่เยอะค่ะ ทำเป็นแค่คอลเล็กชั่น เริ่มต้นจากรองเท้าผู้หญิงก่อน ดีไซน์ไม่ได้เยอะมาก เป็นแค่ผ้าไทยข้างบนและเป็นยางข้างล่างเท่านั้นเอง แต่ตอนหลังก็ค่อยๆ ต่อยอดมาเรื่อยๆ เราวางโพสิชั่นนิ่งของ GEMIO เป็นสมาร์ทแคชชวลที่เขาสามารถใส่เที่ยวและใส่ทำงานได้ด้วย โดยที่เราเพิ่มฟังก์ชั่นในเรื่องของเฮลท์ตี้เข้าไป เพราะเรามองว่าสุขภาพเท้าเป็นอะไรที่สำคัญ ก็มีเรื่องของการรองรับสรีระเท้า เราตั้งใจออกแบบมาให้ทุกคู่ต้องใส่สบาย ก็คือเป็นรองเท้าสุขภาพด้วยและเป็นรองเท้าใส่เที่ยวใส่ทำงานได้ด้วยค่ะ”
เน้นชูเอกลักษณ์วัสดุของไทยพร้อมกับสร้างรายได้ให้ชุมชน
“คอมบิเนชั่นหลักๆ ของรองเท้า GEMIO จะเป็นยางพารากับผ้าทอของไทยค่ะ ผ้าไทยเราเอามาจากชุมชนต่างๆ ผ้าย้อมสีธรรมชาติของชุมชนเขาสวยของเขาอยู่แล้ว แล้วก็มีผ้าทอจากแหล่งต่างๆ ที่เราไปช้อปปิ้งมา บางทีเราก็ไปช้อปปิ้งที่งานของศูนย์ศิลปาชีพมาเองบ้าง แล้วก็ซื้อจากกลุ่ม OTOP ต่างๆ บ้าง อย่างบางทีของศูนย์ศิลปาชีพจะมีที่เป็นผ้าตกเกรดเราก็เอามาใช้นะคะ ผ้าตกเกรดคือผ้าที่ทอออกมาไม่ได้สวยตามเกรดที่ตั้งใจ เขาก็จะเอามาขายเป็นของเกรดบี เราอุดหนุนผ้าของไทยก็ได้ช่วยชุมชนที่เขาทำด้วย เพราะแต่ละผืนกว่าเขาจะทอออกมาได้มันลำบาก ผ้าไทยสวยอยู่แล้ว เราสามารถเอามาดีไซน์ให้มันดูมีเอกลักษณ์หรือจุดเด่นขึ้นมาได้ ส่วนยางที่เราเอามาใช้ก็เป็นยางพาราจากใต้ค่ะ เพราะประเทศไทยขึ้นชื่อเรื่องยางพาราอยู่แล้ว มีความเหนียว ความทนทาน”
ใส่ทนใส่สวยแล้วยังช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม
“พื้นรองเท้าของ GEMIO จะเป็น ECO หมดเลย เราเอาเศษผ้าที่เหลือจากกระบวนการผลิตมา Upcycling ด้วยการเอามาทำพื้นรองเท้า คือเราเอาเศษผ้าซึ่งเป็น Waste ในโรงงานเราเองมาผสมลงไปในยางแล้วรีดขึ้นมาใหม่เป็นแผ่นแล้วทำเป็นพื้นรองเท้า แต่มันไม่ใช่แค่การเอาเศษผ้ามิกซ์เข้าไปเฉยๆ นะคะ การที่เรามิกซ์เข้าไปจะช่วยเพิ่มคุณสมบัติทำให้มันแข็งแรงทนทานมากขึ้น และมันก็ย่อยสลายได้อีกเพราะว่ามันเป็นวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว นอกจากพื้นรองเท้าเราก็ยังเอาเศษผ้าที่เหลือไปต่อยอดทำพวกกระเป๋าโท้ด (Tote Bag) ด้วย ก็คือเอาผ้าทอนี่แหละมาขึ้นรูปเป็นโท้ท แล้วก้นกระเป๋าก็ทำเป็นก้นยาง จะไปวางที่ไหนก็ไม่ต้องกลัวเปียกเพราะเช็ดทำความสะอาดได้ ขณะเดียวกันแพรทำเรื่องของ Green Production ในโรงงานด้วย อาจจะยังไม่ถึงกับ Zero Waste แต่ทุกขั้นตอนการผลิตเรามีการควบคุม แต่ก่อนเป็นโรงงานสมัยเก่าค่ะ จะมีเรื่องของเสียงดัง ฝุ่นเยอะ เราก็มารีโนเวทใหม่หมดเลย ทำให้เป็นกรีนทั้งหมด และการปล่อยน้ำเสียก็ไม่มี ตอนนี้โรงงานของแพรได้ตราสัญลักษณ์ G-Green จากกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมเป็นตัว G ทองค่ะ (ระดับดีเยี่ยม)”
หมั่นออกบูธทำตลาดเพื่อรับฟังความคิดเห็นลูกค้านำมาพัฒนาต่อ
“ของเราเน้นออกบูธเป็นหลักค่ะ เพราะเราอยากออกไปคุยกับลูกค้า อยากให้ลูกค้าเขาสัมผัสถึงเนื้อผ้าและก็คุณภาพ ขณะเดียวกันเขาได้ลองใส่ด้วย แพรมองว่าการออกบูธเท่ากับการได้รีเสิร์ชลูกค้าไปในตัว ได้เก็บข้อมูลลูกค้า ได้ช่วยเลือกว่าสไตล์ไหนเหมาะกับเขา แล้วก็ได้เห็นว่าคนลักษณะแบบนี้ใส่รองเท้าเราออกมาแล้วบุคลิกเป็นยังไง เราเก็บดาต้าเรื่อยๆ เพื่อเอามาใช้เวลาออกแบบ จำได้ว่างานแรกที่เราไปออกคือโครงการงานคราฟต์ของศูนย์ศิลปาชีพที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ได้บูธมาหนึ่งจุดห้าเมตร มีโต๊ะเดียว ก็ได้รับการตอบรับค่อนข้างดี เราก็เริ่มรู้สึกว่ามันไปได้เนอะ ปัจจุบันช่องทางการขายเราจะมีเฟซบุ๊ก ไอจี เว็บไซต์ แล้วก็ออกบูธเป็นหลักค่ะ ของแพรไม่ได้ยิง ADS เลยจริงๆ เพราะแพรทำการตลาดออนไลน์ไม่ค่อยเก่ง เราอาศัยไปออกบูธแล้วลูกค้าบอกต่อ ลูกค้ามาซื้อซ้ำ แพรมองว่าลูกค้าบอกต่อแบบนี้มันยั่งยืนกว่าค่ะ”
ดีไซน์รองเท้าจากผ้าไทยคือโจทย์ใหญ่และยาก
“ที่ยากเลยคือเรื่องของการวางแพทเทิร์นผ้า คือถ้าเป็นผ้าแคนวาสทั่วๆ ไปมันตัดตรงไหนก็ได้ แต่พอเป็นผ้าไทยเราต้องดูว่าวางยังไงให้มันสวย แล้วผ้าไทยหน้าแคบ ไม่เหมือนผ้าแคนวาสที่หน้ากว้าง ถ้าเป็นผ้าทอยิ่งย้อมสีธรรมชาติด้วยหน้ากี่มันจะแคบ เพราะฉะนั้นการวางแพทเทิร์นจะค่อนข้างยาก แล้วเศษผ้าที่เหลือก็เสียดาย เพราะฉะนั้นก็ต้องคิดว่าวางยังไงให้มันสวยด้วยแล้วก็ไม่ทิ้งเศษผ้าด้วย บางทีลูกค้าถามว่ารองเท้าสองข้างลายไม่เหมือนกัน เราก็ต้องบอกลูกค้าให้เข้าใจว่าผ้าทอบางทีมันทอสีอาจจะไม่เหมือนกัน แต่ตอนหลังลูกค้ารับได้ บางคนบอกเลยว่าเอาสองข้างไม่เหมือนกันนี่แหละ กับอีกเรื่องคือโพรเซสที่เป็น Upcycling คนจะคิดว่าเอาขยะมาทำไม่น่าแพง แต่จริงๆ การเอาขยะหรือเศษที่เหลือมาทำมันคือการรีโพรเซสอีกรอบหนึ่ง แล้วก็ต้องคิดด้วยว่าทำยังไงให้คุณสมบัติมันดีด้วย ไม่ใช่แค่เอามาผสมแล้วก็จบ ต้องมีสัดส่วนที่ดีค่ะ”
มุ่งมั่นเป็น One Stop Service ใครมีปัญหาเรื่องรองเท้าเข้ามาที่ GEMIO
“ปัจจุบันเราทำรองเท้าผ้าใบกับรองเท้าคัทชู เราก็อยากจะต่อยอดเพิ่มเป็นอีกเซกมนต์หนึ่งคือรองเท้าแตะ ซึ่งตอนนี้ก็เริ่มๆ ทำอยู่ และเราก็แพลนว่าจะทำโชว์รูมเพื่อที่ว่านอกจากลูกค้ามาซื้อรองเท้าแล้วยังสามารถเลือกแบบต่างๆ ได้ ขณะเดียวกันก็จะมีห้องสำหรับตัดรองเท้า คือเท้าแต่ละคนไม่เท่ากันค่ะ บางคนเท้าแบน บางคนเท้าไม่เท่ากัน ถ้ามาที่เราก็สามารถปั๊มเท้าตามสรีระตัวเองได้เลย เราสามารถดีไซน์รองเท้าที่เหมาะกับเท้าของคุณ ขณะเดียวกันคุณก็เลือกแบบรองเท้าที่ชอบได้ เลือกผ้าได้ มาคัสตอมได้เลยว่าคุณอยากได้แบบไหน คือ GEMIO ต้องการจะทำแบบ One Stop Service มาที่เราคุณเลือกดีไซน์ได้เลย คุณคัสตอมเท้าคุณเองได้ เรารับทั้งตัดแผ่นรองและดีไซน์ได้ด้วยค่ะ”