STONE STORY : กระถางแฮนด์เมดจากเศษอิฐเหลือทิ้ง

STONE STORY

     เพราะอิ่มตัวจากงานประจำในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายดีไซน์ในบริษัทใหญ่ ทำให้คุณกบ-รังสรรค์ เสือแสง ตัดสินใจลาออกจากงานมาทำกระถางต้นไม้ขาย โดยเลือกใช้เศษอิฐมวลเบาที่ตอนนั้นยังไม่ค่อยมีเจ้าไหนในตลาดใช้มาเป็นวัสดุหลัก ใช้กรรมวิธีการผลิตด้วยมือตามแบบเทคนิคโบราณ และสร้างจุดเด่นให้สินค้าว่าเป็นกระถางตามสั่ง ลูกค้าอยากได้กระถางแบบไหนให้เข้ากับต้นไม้เขาสามารถดีไซน์ได้หมด จนปัจจุบันนอกจากสร้างยอดขายปังๆ ในไทยแล้ว ยังรับออเดอร์จากต่างประเทศจนผลิตแทบไม่ทันอีกด้วย

 

“ผมเคยเป็นผู้จัดการฝ่ายดีไซน์ครับ เป็นบริษัทที่ทำพวกกระดาษสา ผมทำอยู่ตรงนั้น 10 ปี มันเริ่มอิ่มตัว ผมก็เลยลาออกมาขายกระถางต้นไม้ มันเป็นพวกถ้วยชามญี่ปุ่นมือสอง ผมเอามาเจาะก้นแปรรูปให้มันเป็นกระถางต้นไม้ ตอนนั้นผมทำงานเยอะมาก เคยขายของวันหนึ่งแปดที่ แต่พอช่วงที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จสวรรคต ผมก็หยุดหมด แล้วสมัครไปเป็นอาสาสมัครบูรณะราชรถราชยานครับ ทำอยู่ประมาณ 6 เดือน จนใกล้ถึงวันต้องส่งมอบงานแล้ว ผมก็นั่งนึกว่าเสร็จจากงานนี้แล้วจะไปทำอะไรต่อดี อยู่ๆ ผมก็ได้ยินคำว่า Stone Story แว่วเข้ามาในหัว ก็เลยนึกขึ้นได้ว่ามีน้องคนหนึ่งเคยเอาอิฐมวลเบามาทำกระถาง วันนั้นผมเลยโทรหาเขา ถามว่าเขายังจะทำอยู่ไหม ถ้าเขาไม่ทำต่อแล้วผมจะขอทำ แต่ผมจะทำในรูปแบบของผมเอง นั่นคือจุดเริ่มต้นนับหนึ่งเลยครับ”

 

STONE STORY

 

ตั้งใจใช้คอนเซ็ปต์ 3R เพื่อลดการสร้างขยะ

“ผมตั้งเป้าแต่แรกเลยว่างานผมต้องเป็นแฮนด์เมด และการผลิตต้องยึดหลัก 3R (Reduce Reuse Recycle) เพื่อเป็นการลดการสร้างขยะ ผมก็เริ่มจากไปหาเศษอิฐมวลเบาตามไซต์งาน คือมันเป็นเศษที่เหลือจากไซต์งานก่อสร้าง เขาก็ให้ฟรีนะครับ เพราะมันเป็นขยะที่เขาต้องกำจัดทิ้งอยู่แล้ว พอได้มาผมก็ออกแบบก่อน ผมจะเขียนรูปลงไปบนก้อนอิฐเลย แล้วก็เอามีดอีโต้มาเฉาะเป็นรูป เอาสิ่วมาสกัด เสร็จแล้วเอาไปแช่น้ำเพื่อลดความเป็นกรดเป็นด่างของตัวอิฐ เพราะถ้าไม่แช่น้ำตัวอิฐมันจะมีฝุ่นเยอะมาก หลังจากนั้นเราก็เอาไปตากแดดให้แห้งแล้วก็เอามาขัดครับ ตอนนั้นใช้เทคนิคโบราณเลยครับ กว่าจะได้ออกมาเป็นกระถางเล็กๆ ใบหนึ่งต้องใช้เวลาเป็นวัน ส่วนพวกเศษที่เหลือจากการขึ้นรูปผมจะเก็บใส่กระสอบไว้ ผมจะมีที่และวิธีในการกำจัดอยู่ครับ ผมออกแบบลองผิดลองถูกอยู่ประมาณ 6 เดือนกว่าจะลงตัวและเริ่มเอาออกมาขายครับ”

 

 

ลองตลาดครั้งแรกที่สนามหลวงสอง ก่อนตระเวนออกบูธเพื่อเพิ่มลูกค้า

“ผมเริ่มขายที่ตลาดสนามหลวงสองเป็นที่แรก พอขายได้สักพักมันเริ่มอิ่มตัว เพราะลูกค้าเป็นกลุ่มลูกค้าหน้าเดิมทั้งหมดเลย คือลูกค้าเขาอิ่มตัวเพราะคงเห็นหน้าผมบ่อยแล้ว ผมก็เลยเริ่มไปออกบูธ ตอนนั้นไปที่เดอะไนน์ เซ็นเตอร์ พระราม 9 แบ่งบูธคนละครึ่งกับเพื่อน ค่าบูธวันละพัน ผมขายได้หนึ่งหมื่น หลังจากนั้นผมก็เลยเริ่มออกบูธเยอะขึ้น ไปออกงานคราฟต์ ไปออกงานพวกอาหารคลีน ไปออกงานกลุ่ม Zero Waste คือสินค้าผมมันเข้าได้กับทุกกลุ่มครับ ผลตอบรับก็ค่อนข้างดีทีเดียว ซึ่งงานที่สร้างโอกาสให้คนรู้จักผมมากขึ้นก็คืองานบ้านและสวนแฟร์ครับ ตอนวันสุดท้ายของงาน ผู้จัดการ SCG HOME Experience มาหาผม เขาบอกว่าชอบงานของผม ตอนนั้นผมคิดเลยว่านี่แหละคือโพเดียมที่เราต้องขึ้นไปยืน เป็นโพเดียมเบอร์หนึ่งเลย แล้วหลังจากนั้นสินค้าผมก็ได้เข้าไปอยู่ใน SCG HOME Experience ครับ”

 

STONE STORY

 

โควิดระบาด ออกบูธไม่ได้ ผันมาออนไลน์สร้างยอดขายดี

“ตอนช่วงโควิดระบาดออกอีเวนท์ไม่ได้ผมก็ขายออนไลน์ครับ แต่ว่าผมไม่ได้ขายผ่านแอปพลิเคชั่นขายของที่เขาใช้กันนะครับ ผมขายผ่านเฟซบุ๊กของตัวเองอย่างเดียวเลย คือผมมีฐานลูกค้าอยู่แล้ว ตอนที่เราตระเวนออกอีเวนท์บ่อยๆ ก็มีลูกค้าที่รู้จักเราเพิ่มขึ้น ต้องพูดตรงๆ ว่าผมไม่เก่งโซเชียล ไม่เก่งดิจิทัลอะไรทั้งนั้นเลย ในเพจ Stone Story ผมก็ไม่เคยซื้อโฆษณาเลย ส่วนใหญ่จะเป็นปากต่อปากมากกว่า ช่วงโควิดผมไม่ได้กระทบอะไรมากครับ เพราะช่วงโควิดคนปลูกต้นไม้เยอะมาก ผมก็ยังขายได้ และก็ยังมีลูกค้าต่างประเทศที่เขามาสั่งซื้อสินค้าจากผมด้วยครับ”

 

STONE STORY

ชูจุดเด่นว่าเป็นกระถางตามสั่ง

“ต้องเข้าใจว่าบ้านเราเรื่องการเคารพสิทธิในการออกแบบมันน้อย คนก็ทำเลียนแบบกันเยอะ บางเจ้านี่ถึงขนาดว่าผมโพสต์อะไรไม่ได้เลย เห็นปุ๊บก็จะเอาไปทำเลียนแบบ ขนาดเพื่อนผมที่เชียงใหม่ยังโทรมาบอกว่าเห็นกระถางแบบเดียวกับของผมวางขาย เอาจริงๆ เราเป็นคนที่ทำงานศิลปะมันปวดใจนะ แต่หลังๆ ก็ชิน ไม่ได้ซีเรียส ก็เดินหน้าของเราอย่างเดียว อย่าหยุด เพราะอย่าลืมว่าเราเป็นคนออกแบบ เราออกแบบเองเราก็พัฒนาของเราไปเรื่อยๆ ผมก็จะคิดงานไปเรื่อยๆ ผมจะฟังฟีดแบ็คจากลูกค้า แล้วก็จะเอามาแก้ไขพัฒนาต่อเพื่อให้งานมีคุณภาพและตรงความต้องการของลูกค้ามากที่สุด ผมบอกลูกค้านะว่าของผมเป็นกระถางตามสั่ง คือคุณสั่งได้เหมือนอาหารเลย แค่คุณส่งรูปแบบต้นไม้ที่จะปลูกมาให้ผม เดี๋ยวผมออกแบบกระถางให้เอง”

 

STONE STORY

เป้าหมายสูงสุดคือสร้างแกลเลอรีรวมผลงาน

“จริงๆ ต้นทุนวัตถุดิบผมไม่สูงนะครับ แต่ต้นทุนที่สูงคือต้นทุนวัตถุดิบแรงงาน ผมจ้างชาวบ้านในละแวกชุมชนให้มาทำงานด้วย มาผลิตกระถางให้ผมนี่แหละครับ ก็ถือว่าได้สร้างอาชีพให้คนในชุมชนด้วย ตัวผมทำงานนี้จนสามารถผ่อนรถเองได้ ส่งลูกเรียนมหาวิทยาลัยได้ ส่งเงินให้พ่อแม่ได้ สามารถเลี้ยงดูครอบครัวเราและมีรายได้ให้ชุมชนที่ทำงานกับเรา ผมถือว่าตรงนี้พอดีๆ ไม่ได้เยอะไม่ได้มาก เป้าหมายสูงสุดของผมตอนนี้คือหลังจากส่งลูกเรียนจนจบปุ๊บผมก็จะทำงานดีไซน์อยู่กับบ้าน ผมอยากจะสร้างสตูดิโอแล้วก็รวมผลงานของตัวเองอยู่ในนั้น เป็นแกลเลอรี ผมคงไม่ออกงานแล้ว แต่จะให้ลูกค้ามาหาเราเองครับ”

 

ขอบคุณภาพประกอบจากเฟซบุ๊ก STONE STORY

 

Writer

Au Thitima

Content Creator ผู้รักในการอ่าน ชอบในการเขียน และคลั่งไคล้สัตว์สี่ขาที่เรียกว่าแมว