จากความตั้งใจที่อยากจะทำให้ทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชนของตนมีประโยชน์และเกิดคุณค่า ทำให้กลุ่มผลิตภัณฑ์ศิรดาภายใต้แบรนด์เดอร์บัว (De’ Bua) นำโดยคุณจารุกิตติ์ หงษ์วิเศษ ประธานกลุ่ม คิดค้นนวัตกรรมหนังใบไม้ โดยการเอาใบไม้ที่มีอยู่ในธรรมชาติ อาทิ ใบบัว ใบฉำฉา ใบไผ่ มาผ่านกระบวนการแบบภูมิปัญญาชาวบ้านทำให้กลายเป็นใบไม้ที่มีคุณสมบัติเสมือนหนัง ก่อนจะนำเอาหนังใบไม้นี้ไปผลิตเป็นกระเป๋าลายสวยคุณภาพดีส่งขายไปยังหลายประเทศ นอกจากเป็นการสร้างมูลค่าให้ใบไม้ที่หลายคนมองว่ามันไม่มีประโยชน์แล้ว ก็ยังเป็นการสร้างงานสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนอีกด้วย
“เดิมเราเป็นแบรนด์ที่ชื่อว่าศิรดาโปรดักส์ครับ เราทำพวกบรรจุภัณฑ์ที่มาจากกระดาษสา บรรจุภัณฑ์ที่มาจากธรรมชาติอยู่ก่อนแล้ว ส่วนเดอร์บัวเกิดจากการที่เราไปเห็นการทำข้าวห่อใบบัว เราก็คิดว่าใบบัวน่าจะสามารถเอามาทำอะไรได้หลายอย่าง เริ่มแรกเราก็เลยลองเอาใบบัวมาตกแต่งเป็นหน้ากล่องบรรจุภัณฑ์ ก่อนจะค่อยๆ พัฒนาด้วยการทำให้ใบบัวมีคุณสมบัติเป็นเสมือนหนังได้ โดยเราเริ่มทำการทดลองด้วยการนึ่ง การหมัก การต้ม ทั้งทดลองย้อมสี และก็มีไปศึกษาจากการทำเสื่อกระจูดแล้วก็เอามาคิดค้นทดลองทำงานของเรา ก็ใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านอย่างเดียวเลย เราทำมาทุกวิถีทาง ทดลองโน่นนี่มาตลอด 4 ปี จนได้ใบบัวที่มันออกมาเป็นหนังได้ครับ”
แฮนด์เมดร้อยเปอร์เซ็นต์และเน้นใช้วัสดุธรรมชาติ
“สินค้าของเราเป็นแฮนด์เมดร้อยเปอร์เซ็นต์ครับ ไม่มีกระบวนการของเครื่องจักรเข้ามาเลย และทุกวันนี้วัสดุทุกอย่างก็ยังต้องมีการทดลองอยู่ตลอดเวลา เพราะว่าวัสดุแต่ละตัวที่นำมาจะไม่เหมือนกันเลยครับ มันเป็นวัสดุธรรมชาติก็จะมีความแตกต่างกันอยู่ อย่างบัวที่ใส่ปุ๋ยกับบัวที่ไม่ใส่ปุ๋ยก็ไม่เหมือนกัน บัวฉัตรกับบัวหลวงก็ไม่เหมือนกันอย่างนี้ครับ ใบบัวที่เราใช้มากที่สุดคือใบบัวที่มีอายุ 7-15 วัน จะเป็นใบบัวที่ให้ความสวยงามมากที่สุด
โดยปกติใบบัวจะมีความกรอบอยู่แล้ว ถึงแม้เราจะทำให้มันนุ่มเหนียวแล้วแต่มันก็ยังมีความกรอบอยู่ ซึ่งวิธีการทำเราก็จะขึงเฟรมแล้วเอาใบบัวไปปะติดลงบนผ้า แล้วก็เอาน้ำยางพาราที่เราคิดค้นสูตรเองมาท็อปหน้าใบบัวอีกครั้งหนึ่ง ทำให้ใบบัวเกิดมีความเสมือนหนังจริงๆ เพิ่มมากขึ้น ซึ่งกระบวนการผลิตกระเป๋าหนึ่งใบถ้าเป็นสมัยก่อนเราต้องใช้เวลาทำ 3 เดือนนะครับ แต่ ณ ปัจจุบันนวัตกรรมอะไรต่างๆ ที่เราสร้างขึ้นมาก็ทำให้มันเร็วขึ้น จะใช้เวลาประมาณ 15 วันครับ”
เอกลักษณ์คือลวดลายไม่ซ้ำใครและมีแค่ชิ้นเดียวในโลก
“ใบบัวแต่ละใบที่เรานำมาใช้มันจะไม่เหมือนกันเลยครับ ถึงเป็นบัวจากบ่อเดียวกันก็ไม่เหมือนกัน เนื่องจากมันจะมีริ้วรอยของน้ำ รอยของแมลงอะไรต่างๆ ที่มันอยู่ในน้ำ มันทำให้ใบบัวมีตำหนิ คำว่ามีตำหนิก็หมายถึงมันมีคุณลักษณะเด่นของใบบัวแต่ละใบอยู่ครับ ซึ่งพอเวลาผลิตออกมาเป็นสินค้ามันจะเป็นลิมิเต็ดอิดิชั่น เป็นแบบนี้ลายนี้แค่ชิ้นเดียว ก็คือชิ้นเดียวหนึ่งเดียวในโลกเลยครับ
ตอนนี้เราไม่ได้มีแค่ใบบัวอย่างเดียว แต่เรามีอีกหลายวัสดุ จะเป็นวัสดุพื้นบ้านทั้งหมดเลย อย่างฟางข้าวก็เอามาจากท้องไร่ท้องนาของชาวบ้าน แล้วก็มีใบไผ่ ใบฉำฉา กาบกล้วย แล้วตอนนี้เราพยายามใช้สีจากครั่ง สีจากใบประดู่ สีจากเมล็ดคำแสดซึ่งเป็นสีจากธรรมชาติเข้ามาทำให้สินค้าเรามีสีสันเพิ่มมากขึ้นครับ”
สร้างอาชีพ ก่อรายได้ เพื่อให้ชุมชนยั่งยืน
“คนผลิตสินค้าของเราก็คือคนในชุมชนครับ กระบวนการผลิตก็จะมีแบ่งเป็นกลุ่มๆ กลุ่มนี้สำหรับดูแลใบบัว เก็บใบบัวมาส่งให้เรา กลุ่มนี้สำหรับการปะติด กลุ่มนี้สำหรับในเรื่องของการทำท็อปโค้ต กลุ่มนี้สำหรับทำตัดเย็บ และเรามีการสร้าง BCG (Bio-Circular-Green Economy) คือเราไปสร้างงานสร้างอาชีพให้กับชุมชนหลายชุมชนในต่างจังหวัดด้วย
อย่างเช่นอีสานเขามีการปลูกบัวเยอะ เราก็จะให้เขาตัดบัวส่งมาขายให้เราอย่างนี้ครับ ความตั้งใจของผมคืออยากให้ชาวบ้านมีงานทำเพิ่มมากขึ้น ทำให้วัสดุที่มีอยู่ในชุมชนออกมาสร้างรายได้ให้ชุมชนมากขึ้น และก็อยากให้คนไทยได้ใช้สินค้าของเรามากขึ้นด้วย เราต้องการให้ทุกอย่างมันคอมพลีทตรงนั้น เพราะเราทำเพื่อชุมชน เราไม่ได้ทำเพื่อตัวเองมากครับ”
เดินสายออกบูธโชว์สินค้าหวังตีตลาดวัยรุ่นและวัยทำงาน
“สินค้าของเราส่วนใหญ่ออกตลาดต่างประเทศครับ ก็จะมีสวิตเซอร์แลนด์ ฝรั่งเศส เบลเยียม ญี่ปุ่น สเปน เพราะเรามีตัวแทนจำหน่ายอยู่ แรกๆ เราไม่ได้ทำตลาดในไทยเลยเพราะว่าตอนนั้นตลาดยังไม่รองรับสินค้ารักษ์โลกเท่าไหร่ แต่ว่าตอนนี้เราพยายามจะทำตลาดในไทยให้มากขึ้นครับ เรามีการคิดค้นงานแบบใหม่ๆ วัสดุใหม่ๆ ดีไซน์ให้อินเทรนด์มากขึ้นเพื่อจับกลุ่มลูกค้าที่เป็นวัยรุ่นและวัยเริ่มทำงาน
เรามาเน้นในเรื่องการออกบูธตามงานขายเพิ่มขึ้นเพื่อไปเจอลูกค้า เพราะเขายังไม่รู้ว่าสินค้าของเราคืออะไร ทุกคนเห็นก็จะคิดว่ามันคือกระดาษ แต่เราอยากให้เขาได้สัมผัสสินค้าจริงๆ ของเรา แล้วเขาจะเข้าใจว่ามันไม่ใช่กระดาษ แต่มันคือหนังใบไม้ สามารถใช้งานได้จริงและใช้ได้นาน แล้วเราก็กำลังจะทำเรื่องของโซเชียลมีเดียให้มากขึ้นด้วยครับ เพื่อให้คนได้รู้จักผลิตภัณฑ์ของเราเพิ่มขึ้น”
ปักหมุดเป้าหมายเน้นพัฒนาวัสดุเพื่อขายให้มากขึ้น
“แพลนของเราคืออยากทำให้วัสดุหนังใบไม้ของเราแข็งแรงทนทานเหมือนกับแบรนด์ Freitag สามารถที่จะกันฝนได้ สามารถเอามาเย็บเป็นเสื้อผ้า ตัดเป็นรองเท้าได้หมด ก็กำลังพัฒนาอยู่ครับ และในอนาคตเราอยากจะเน้นขายวัสดุให้มากขึ้น เราต้องการให้ตัวเองเป็นนักวัสดุศาสตร์ พัฒนาวัสดุขึ้นมาแล้วก็ขายให้กับคนที่ต้องการเอาไปทำผลิตภัณฑ์ของตัวเอง
ตอนนี้เรากำลังร่วมมือกับมหาวิทยาลัยหนึ่งคิดค้นเพื่อจะทำผ้าที่มาจากเส้นของขวดน้ำพลาสติกและก็เส้นฝ้าย คือปัจจุบันฝ้ายที่เราใช้อยู่ตอนนี้ก็เป็น ECO อยู่แล้ว แต่เราต้องการให้มันมากกว่านั้น ต้องการให้เป็น Zero Waste ไปเลย หรือว่า Upcycle ร้อยเปอร์เซ็นต์เลยอย่างนี้ครับ”