จากความฝันที่อยากผลักดันให้สินค้าแบรนด์ไทยได้แจ้งเกิดในตลาดโลก ทำให้ คุณป๊อป ศิรินุช คีตะนิธินันท์ และ คุณจอย กิตติมา ฉัตรเฉลิมวิทย์ สองเพื่อนซี้ร่วมกันสร้างเฟอร์นิเจอร์แบรนด์ Eggwhite ขึ้นมา โดยหยิบเอาไม้ยางพาราที่หลายคนมองข้ามมาดีไซน์ให้ทันสมัย ใส่ฟังก์ชั่นล้ำๆ แต่จำเป็นต่อการใช้งานลงไป จนทำให้ตอนนี้แจ้งเกิดเป็นที่รู้จักในตลาดเฟอร์นิเจอร์ทั้งในไทยและต่างประเทศ
“จอยกับป๊อปเจอกันที่สถาบันออกแบบนานาชาติชนาพัฒน์ค่ะ เราไปเรียนออกแบบที่นั่น ก็คุยกันว่าอยากทำแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ ป๊อปเห็นงานของจอยก็ชวนมาทำเลย เพราะว่าชอบสไตล์ของจอย ส่วนจอยก็ชอบงานออกแบบอยู่แล้วเลยมาทำด้วยกัน เราแบ่งหน้าที่กันชัดเจนเพราะว่าความชำนาญทั้งคู่ต่างกัน ส่วนใหญ่ป๊อปจะดูเรื่องเมเนจเมนท์ โปรดักชั่น เทคนิคอล การผลิต เพราะที่บ้านป๊อปมีโรงงานทำเฟอร์นิเจอร์อยู่แล้ว ส่วนจอยจะดูเรื่องมาร์เก็ตติ้ง เซลส์ ส่วนเรื่องดีไซน์เราจะช่วยกันดู เงินลงทุนเริ่มต้นไม่เยอะค่ะ ประมาณห้าแสนบาท เนื่องจากเรามีฐานการผลิตอยู่แล้วค่ะ”
ที่มาของชื่อ Eggwhite
“ตอนกำลังจะเริ่มทำเฟอร์นิเจอร์ป๊อปก็ปรึกษาน้องสาวว่าตั้งชื่ออะไรดี ซึ่งตอนนั้นน้องสาวกำลังนั่งแคะไข่แดงของไข่ต้มทิ้งอยู่ เราก็ถามว่าทำไมไม่กินไข่แดง คือเขาจะกินเฉพาะไข่ขาวเพราะกำลังไดเอ็ท เขาก็บอกว่าไข่ขาวมันมีโปรตีน ไม่มีคอเลสเตอรอล บรรยายว่าดีอย่างโน้นอย่างนี้ เราฟังแล้วก็เซอร์ไพรส์ถึงประโยชน์ของมัน เพราะปกติเราจะโฟกัสแต่ไข่แดง อยากกินแต่ไข่แดง เราก็มานั่งคิดว่าเรามองข้ามไข่ขาวทั้งๆ ที่ความจริงมันมีประโยชน์และสำคัญมาก ถ้าเปรียบก็เหมือนว่าเราอยู่ในห้องห้องหนึ่ง ตัวเราคือไข่แดง ส่วน environment รอบๆ อย่างเฟอร์นิเจอร์คือไข่ขาว แบรนด์เราอยากจะเป็น environment ให้กับทุกคน สร้าง environment ที่ดีสำหรับที่อยู่อาศัยให้กับทุกคน พอเอามาพูดให้จอยฟังเขาก็ชอบเลย แล้วชื่อมันติดหูเพราะมันฟังง่าย จำง่าย ก็เลยเป็นที่มาของชื่อ Eggwhite ค่ะ”
หยิบเอาของที่หลายคนมองข้ามมาทำแบรนด์
“เฟอร์นิเจอร์ทุกตัวของ eggwhite จะมีคอนเซปท์หลัก 3 อย่างคือ design function และ sustainable ดีไซน์ก็คือต้องสวย ฟังก์ชั่นต้องใช้งานได้จริง ทุกจุดที่ออกแบบมาต้องมีฟังก์ชั่นของมัน จะไม่มีอะไรที่แบบสวยอย่างเดียวไม่มีฟังก์ชั่น เวลาไปออกงานแฟร์ลูกค้าจะเข้ามาเล่นกับโปรดักส์เรา เด็กๆ ก็จะชอบมาเล่น เพราะว่าเราซ่อนฟังก์ชั่น ซ่อนความสนุกเอาไว้ในเฟอร์นิเจอร์ของเรา ส่วนเรื่องซัสเทนเราทำมาตั้งแต่เริ่มต้น เหตุผลที่เราเลือกไม้ยางพาราเป็นตัวชูโรงหลักเพราะว่าเราอยากจะโปรโมทไม้ในประเทศ เราอยากเพิ่ม value ให้กับไม้ในประเทศ คือไม้ยางพารามันเป็นไม้ sustainable อยู่แล้ว ปกติเวลาเขาปลูกต้นยางจุดประสงค์หลักคือเพื่อเอาน้ำยาง พอมันอายุยี่สิบยี่สิบห้าปีเขาก็โค่นทิ้ง ปล่อยเน่ากลายเป็น waste คือสมัยก่อนเขาก็มีเอาไม้ยางพารามาทำเฟอร์นิเจอร์นะคะ แต่ยังไม่มีเจ้าไหนที่เอามาทำเป็นแบรนด์ เพราะสีมันจะอ่อนๆ ลุคมันดูเป็นเฟอร์นิเจอร์ราคาถูก ซึ่ง perception นี้มันก็เลยติดตัวมากับผู้บริโภคว่าไอ้นี่มันเป็นไม้ถูกๆ มันไม่ดีหรอก เป็นของไม่มีคุณภาพ แต่จริงๆ แล้วมันไม่ใช่ ไม้ยางก็มีหลายเกรด เกรดเอบีซีอย่างนี้ ซึ่งวัตถุดิบที่เราเลือกใช้จะเป็นเกรดเอทั้งหมด เราพยายามโปรโมทตัวซัสเทนของไม้ยางพารา แล้วก็ทำคุณภาพเราให้ดีเท่ากับงานส่งออกค่ะ”
ขายออนไลน์ได้ทั้งลูกค้าไทยและต่างชาติ
“เราเน้นขายออนไลน์เป็นหลักตั้งแต่ก่อนเกิดโควิดแล้ว เรามีทั้งเฟซบุ๊ก ไลน์โอเอ อินสตราแกรม เว็บไซต์ และตอนนี้เพิ่งเริ่มทำติ๊กต่อก อย่างเว็บไซต์เราเริ่มทำตั้งแต่ปีแรกเลย เพราะเราคิดว่าถ้าเรามีเว็บไซต์จะทำให้ลูกค้าสามารถเข้ามาเยี่ยมชมเว็บไซต์เราได้ตลอดเวลา เราไม่จำเป็นต้องคุยกับเขาตลอด หรืออย่างลูกค้าฮ่องกงเราก็ได้มาจากออนไลน์ เขาทักเข้ามาในเฟซบุ๊ก แล้วก็ลองสั่งล็อตหนึ่ง ประมาณครึ่งตู้แบบยี่สิบฟุตน่ะค่ะ แล้วหลังจากนั้นก็คือสั่งเรื่อยๆ เลยค่ะ คือการตลาดเราจะแบ่งเป็นในประเทศและต่างประเทศซึ่งจะแตกต่างกัน แต่ว่าเราต้องทำตลาดทั้งสองฝั่งเพื่อให้บาลานซ์กัน คือต้องขายในประเทศและเน้นส่งออกด้วย เพราะเป้าหมายเราคืออยากทำให้แบรนด์ Eggwhite เป็นที่รู้จักของชาวต่างชาติ นอกจากออนไลน์เราก็มีไปออกงานแฟร์ด้วย ทั้งในประเทศและต่างประเทศ อย่างปีที่แล้วไปฝรั่งเศส ไปอังกฤษ ฝั่งยุโรปเขาจะเน้นเรื่อง sustainable ดังนั้นเวลาเราไปออกแฟร์ฝั่งยุโรปจะได้รับการตอบรับค่อนข้างดีค่ะ”
สร้างรายได้แต่ไม่สร้างขยะ
“เมื่อก่อนที่โรงงานเราจะเหลือเศษฟืนและก็เศษขี้กบ สามวันประมาณห้าตัน หนึ่งอาทิตย์สิบตันโดยประมาณ ทุกวันนี้เราเหลือเดือนละห้าตัน เราพยายามเก็บเศษทุกอย่างเลย อย่างกระถางต้นไม้ตัวนี้ก็ผลิตจากเศษ waste ร้อยเปอร์เซ็นต์ คือพอเวลาทำตู้หรือทำโต๊ะมันจะเหลือไม้เป็นเส้นๆ ตรงขอบๆ เราเอาขอบๆ นั้นมาทำเป็นกระถางต้นไม้ค่ะ คือพอมีเศษที่เหลือจากการผลิตเราจะเก็บไว้ก่อน แล้วก็เอาพวกนั้นมาดีไซน์ว่าจะทำอะไรได้บ้าง หรือบางครั้งเราก็ดีไซน์ก่อนแล้วไปดูว่าเศษที่เรามีเหลือจากการผลิตชิ้นใหญ่ๆ มีชิ้นไหนที่เราเอามาทำได้บ้าง เฟอร์นิเจอร์ของเรามันเลยมีตั้งแต่ใหญ่คือเตียง จนเล็กไปเลยอย่างที่วางกระดาษ ที่ตั้งโทรศัพท์ เพราะว่าเราพยายามใช้เศษทั้งหมดของกระบวนการมาออกแบบ จริงๆ ตอนแรกที่คิดไว้เราจะเอาเศษที่เหลือมาทำตัว wood pellet ที่ใช้เป็นชีวมวลให้กับพวกโรงไฟฟ้า แต่ดูแล้วยังไม่คุ้มกับการลงทุนเพราะว่าเศษเราเหลือน้อยมาก แต่ wood pellet มันผลิตวันละเป็นตันๆ ซึ่งเศษเราไม่พอ เราก็เลยกำจัดเศษที่ยังเหลืออยู่ด้วยการขายออกไปเป็นวัสดุที่เอาไปทำเชื้อเพลิงอีกทีค่ะ”
สเต็ปต่อไปต่อยอดได้ต้องไม่หยุดพัฒนา
“สเต็ปต่อไป Eggwhite อาจจะไม่ใช่ไม้ยางพาราอย่างเดียวแล้ว จะมีการมิกซ์แมททีเรียลมากขึ้น มีแมททีเรียลที่ไม่ใช่งานไม้มากขึ้น แต่ว่ายังคงคอนเซ็ปท์ sustainable เหมือนเดิม อย่างปีนี้เราก็มีเข้าโครงการของกระทรวงอุตสาหกรรม ไปเจอผู้ประกอบการรายอื่นๆ ที่มีแนวคิดรักษ์โลกเหมือนกัน เราก็อาจจะเอาวัสดุของเขามาผสมกับของเรา ครอสแมททีเรียลกัน อย่างที่เราไปเจอเจ้าหนึ่งที่เขาทำโฟมยางที่เหลือออกมาจากการทำที่นอน เอามาตัดชิ้นเล็กๆ ใส่ในโซฟา ช่วยให้ไม่ต้องใช้ใยสังเคราะห์ ช่วยลดพลาสติก คือจุดไหนที่เราจะรักษาสิ่งแวดล้อมหรือว่าใช้วัสุด upcycle ได้ เราก็พยายามทำให้มากที่สุด และเราก็คิดว่าจะสามารถชูตรงนี้เป็นจุดที่เราจะแตกต่างจากคู่แข่งได้ด้วย อย่างเรื่องดีไซน์ต่อจากนี้เราพยายามจะทำให้มันมีความแตกต่าง มีความเคลื่อนไหวที่ต่างออกไป อย่างก่อนหน้านี้หนึ่งคอลเลคชั่นจะเป็นเทคนิคเดียว แต่คอลเลคชั่นหลังจากนี้ก็จะเป็นการมิกซ์แมททีเรียลทำให้มีความแตกต่างกันเองอยู่ในคอลเลคชั่นนั้น ปัจจุบันคู่แข่งมีเยอะ เราก็ต้องพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ ค่ะ”
อยากเริ่มต้นทำธุรกิจอย่าเพียงแค่คิดแต่ต้องเริ่ม
“จริงๆ เราก็ยังไม่ได้ซัคเซสนะคะ เราก็ออนเดอะเวย์ไปเรื่อยๆ เราอยู่มาเก้าปีแล้ว ซึ่งเก้าปีที่ผ่านมาก็ทุลักทุเลนะ แต่เราก็ไม่ได้หยุดเดิน ทุกวันนี้เรายังต้องเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ตลอดเวลา ต้องพัฒนาไปไม่รู้จบ ที่จะบอกก็คือ ถ้าเริ่มก็ได้ทำ ไม่เริ่มก็ไม่ได้ทำ เคล็ดลับไม่ได้มีอะไรมาก แค่ทำแล้วต้องทำอย่างต่อเนื่อง และถ้าอยากทำก็ต้องมีความรู้และมีแพสชั่นมากพอ อย่าเพิ่งคิดว่ามันจะต้องได้เงินเท่านี้ๆ แต่เราต้องรู้เรื่องนั้นให้ลึกซึ้งมากพอ ต้องยอมทำทุกอย่างให้เป็นทั้งหมดของไซเคิลของธุรกิจนั้น เพื่อที่เราจะได้รู้ว่าตรงไหนที่เราสามารถพัฒนา ตรงไหนมันเป็นลอสของงานนั้น เราจะได้พัฒนาได้ ต้องรู้ลึกรู้จริง แล้วก็อย่าไปกลัว ยังไงมันก็มีปัญหา ทุกอย่างมีปัญหาทั้งนั้น แค่พยายามให้ดีที่สุดค่ะ”