LESS PLASTIC ABLE ร้านชำ Eco กับแนวคิด ‘ลด’ เพื่อ ‘รักษ์’ : ธุรกิจร้านชำยุคใหม่ที่ตั้งใจลดใช้พลาสติกเพื่อช่วยโลกและเรา

LESS PLASTIC ABLE ร้านชำ Eco กับแนวคิด ‘ลด’ เพื่อ ‘รักษ์’

 

ไม่ว่าจะเอาพลาสติกที่อยู่ในชีวิตประจำวันกลับมาวนใช้เท่าไหร่ก็ดูเหมือนจะไม่ได้ทำให้ขยะพลาสติกลดน้อยลงเลยสักนิด ตรงกันข้าม มันกลับเพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อยๆ อย่างน่าตกใจ นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นทำให้คุณลิลรัตน์ บุญญวินิจ เกิดไอเดียเปิดร้านชำที่จำหน่ายของในแบบรีฟิล ให้ลูกค้าได้เอาภาชนะรีไซเคิลของตัวเองมาเติมผลิตภัณฑ์ของร้านไปใช้ นอกจากเป็นการช่วยประหยัดเงินในกระเป๋าเพราะสามารถซื้อสินค้าได้ในราคาเริ่มต้นไม่ถึงหนึ่งบาทแล้ว ทั้งกระบวนการซื้อขายยังไม่ได้ก่อให้เกิดขยะชิ้นใหม่ เป็นหนึ่งจุดเริ่มต้นที่จะช่วยลดการใช้พลาสติกได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย

 

“มันเกิดจากเรื่องง่ายๆ ตรงที่เราไม่รู้จะทิ้งขยะที่ไหนค่ะ คือเวลาลิลไปเดินตลาด ซื้อของและมีถุงพลาสติกมาเราก็จะเก็บถุงพลาสติกเอาไว้ใช้ต่อ แต่พอเราไปซื้อของอีกก็มีถุงพลาสติกเพิ่มมาอีก ถึงเอาไปใช้แป๊บเดียวมันก็กลับมาเต็มอีกแล้ว มันเร็วมากๆ จนเรารู้สึกว่าต่อให้เราเก็บไว้ใช้มันก็ไม่มีทางหมด เราก็เลยตั้งคำถามว่าแล้วมันจะเป็นยังไงถ้าทำอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ นอกจากเราทำ ทุกคนทำ ร้อยคนทำ ล้านคนทำ มันมีเอฟเฟ็กต์มากๆ ที่เกิดขึ้น อย่างที่ทุกคนเห็นตามสื่อว่าไปเจอเต่ากินพลาสติกเข้าไป เราก็คิดว่านอกจากเราทำความเดือดร้อนให้คนในพื้นที่แล้วเรายังทำความเดือดร้อนให้กับโลก สัตว์ทะเล สัตว์น้ำ สัตว์ป่า มันเป็นเชนที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จากถุงพลาสติกแค่หนึ่งชิ้น มันเลยเกิดความคิดว่าอยากจะเป็นซีโร่เวสต์ (Zero Waste) เราอยากจะงดใช้พลาสติก เราอยากจะน็อนแพ็กเกจจิ้งค่ะ”

 

LESS PLASTIC ABLE

 

เริ่มต้นร้านไม่ใหญ่ ใช้แค่ผนังฝั่งเดียวเพื่อลองตลาด

“ลิลเริ่มจากหาข้อมูลก่อนว่าเมืองนอกเขาทำยังไง ก็ไปเจอผู้หญิงคนหนึ่งที่เขาเป็นซีโร่เวสต์ที่อยู่อเมริกา เวลาไปช้อปปิ้งเขาก็เอาถุงผ้าไปใส่ของ หรือไม่ก็เข้าร้านที่มันเป็นน็อนแพ็กเกจจิ้ง ซึ่งเขาก็เอาภาชนะของเขาไปเติมของที่นั่นแล้วก็กลับบ้านโดยที่ไม่สร้างขยะเลย มันมีร้านแบบนี้ที่เมืองนอก แต่มันไม่มีที่ไทย เราก็เลยลองเปิด ตอนนั้นประมาณปี 2018 ลิลเช่าร่วมกับพี่ชายที่เปิดร้านพิซซ่าอยู่ตรงวงเวียนใหญ่ เราขอใช้แค่ผนังเดียวในร้าน ตอนเริ่มต้นเราไม่ได้มีของเยอะค่ะ เราลองแบบง่ายๆ จะมีแค่สบู่ แชมพู น้ำยาล้างจาน น้ำยาถูพื้น เป็นของแบบเดลี่ไลฟ์ใช้ในชีวิตประจำวันทั่วไปเลย แล้วก็จะมีของกินเล่น มีถั่ว มีเกรน คอนเซ็ปท์เหมือนเมืองนอกเลยค่ะ คือเราลองดูก่อนว่าลูกค้าจะเป็นยังไงบ้าง คนรู้สึกยังไง ฟีลลิ่งยังไงกับเราค่ะ”

 

LESS PLASTIC ABLE

 

เน้นสื่อสารออนไลน์ให้เข้าใจและเข้าถึง

“เราทำการตลาดในเฟซบุ๊กอย่างเดียว เราคิดว่าเรื่องนี้มันคุยผ่านสื่อออนไลน์ได้ แต่สิ่งที่เราสื่อสารออกไปมันแทบจะไม่ใช่การมาขายของด้วยซ้ำ มันเป็นการมาคุยกันว่า How to be zero waste เลย เริ่มจากศูนย์พร้อมกับทุกๆ คนเลย เพราะลิลจะบอกว่าลิลไม่ใช่นักสิ่งแวดล้อมอะไรขนาดนั้น แต่ลิลเป็นคนปกติที่อยากเป็นซีโร่เวสต์ เพราะฉะนั้นเราคุยกันเรื่องนี้ว่า ใครที่อยากจะลองเริ่ม เริ่มอะไรได้บ้าง เรามีอะไรบ้าง เราช่วยอะไรได้บ้าง ไลฟ์สไตล์ตอนนั้นทำอะไรได้บ้าง มีการคุยวิธีการใช้ คนก็จะเริ่มเข้าใจมากขึ้นว่ามันมีวิถีแบบนี้นะ ซึ่งตอนปี 2019 ก็เริ่มมีสื่อพูดถึง เพราะปีนั้นเป็นปีที่เริ่มมีการคุยเรื่อง environment มากขึ้น เราก็เป็นร้านที่สื่อให้ความสนใจและพูดถึงว่ามันมีร้านแบบนี้ในประเทศไทยด้วยนะ”

 

 

คุณภาพแบรนด์สินค้าเชื่อถือได้ ลูกค้าซื้อได้ไม่จำกัดปริมาณขั้นต่ำ

“โปรดักส์ที่ขายในร้านเราจริงๆ แล้วเขามีแบรนดิ้งอยู่แล้วค่ะ โปรดักส์แต่ละอันก็มีคาแรกเตอร์ไม่เหมือนกันในการเอามา เราพยายามเลือกให้มีหลายแบบค่ะ คืออยากจะบอกว่าร้านเราจริงๆ มันเป็น fairness ของลูกค้านะ เวลาเราไปซื้อของในห้างร้าน โอเค มันดูขวดสวย กลิ่นหอม แต่เราไม่รู้เลยว่าใช้แล้วเราจะแพ้หรือไม่แพ้ เพราะฉะนั้นถ้าซื้อมาใช้แล้วแพ้เท่ากับว่าทั้งขวดที่เหลือคือขยะที่เกิดขึ้นเลยนะ แต่อย่างร้านเราไม่จำกัดว่าคุณจะต้องเติมให้ได้สิบบาทยี่สิบบาท คุณจะปั๊มหนึ่งปั๊มสองปั๊มหรือเท่าไหร่ก็ได้แล้วคุณไปลองใช้ที่บ้าน มันเป็นการแฟร์กับลูกค้าว่าคุณได้ลองก่อนและได้เลือกว่าจะซื้อจำนวนเท่าไหร่ ในราคาเท่าไหร่ ที่ร้านจะมีราคาตั้งแต่ 0.33 บาทต่อ 1 กรัม ไปจนถึง 1 บาทต่อ 1 กรัม คือคนชอบคิดว่าอิมเมจร้านแบบนี้แพง แต่ถ้าได้ลองมาดูจริงๆ จะรู้ว่าต่อให้คุณมีสิบบาทหรือยี่สิบบาทคุณก็มาซื้อของกับเราได้ค่ะ”

 

LESS PLASTIC ABLE

 

สู้โควิดด้วย ‘อาหารปลอดภัย’ ผลิตภัณฑ์สดใหม่ส่งตรงจากเกษตรกร

“ตอนปี 2020 พอมันมีโควิดเข้ามาการพูดถึงเรื่องซีโร่เวสต์เรื่องกรีนหรือร้านรีฟิลมันถอยลงไป เพราะว่าทุกคนกังวลเรื่องสุขอนามัย ร้านรีฟิลก็เลยขายยาก แต่ลิลอยู่รอดมาได้เพราะเราทำอาหารปลอดภัยขาย วัตถุดิบในร้านได้มาจากเกษตรกรเครือข่าย ตอนนี้เมนูที่ฮอตของเราคือโอมากาเห็ด เป็นสำรับเห็ดที่ได้จากการปลูกของฟาร์มลุงรีย์โดยใช้มูลไส้เดือนที่ฟาร์มเช่นกัน ส่วนเห็ดสดอื่นๆ ส่งมาจากเกษตรกรเครือข่ายที่มาส่งสดๆ และปลอดภัยแน่นอน เราใช้เสิร์ฟลูกค้าในสำรับและก็แปรรูปเพื่อใช้ขายในร้านด้วยเช่นกัน รับรองว่าอาหารที่นี่ปลอดภัยและอร่อยค่ะ คือถ้าพูดถึงธุรกิจแบบต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ร้านเราอยากเป็นกลางน้ำ เกษตรกรซึ่งเป็นต้นน้ำเขาตั้งใจปลูกมาอย่างดี อย่างปลอดภัย อย่างสะอาด เราเป็นกลางน้ำก็ทำหน้าที่สื่อสารออกไปว่าที่นี่มีของดี มีโปรดักส์ดี และปลายน้ำก็คือผู้ได้รับหรือผู้บริโภคนอกจากเขาจะได้รับของดีแล้ว เขายังได้สนับสนุนคนต้นน้ำอีกด้วยค่ะ”

 

 

กำจัดขยะอาหารด้วยการทำปุ๋ย

“ตอนอยู่เมืองนอกเรารู้ว่าฟู้ดเวสต์ (Food Waste) มันเทิร์นเป็นปุ๋ยได้ ตอนนั้นเราอยู่เอาต์ทาวน์มันจะมีเกษตรกรเข้ามารับกากกาแฟ เข้ามารับปุ๋ย แล้วก็เทิร์นเป็นพวกของเกษตร เราก็เลยมาคิดว่าจะมีใครไหมที่จะเอาเศษอาหารของเราไปทำปุ๋ย จนได้มาเจอว่ามีฟาร์มลุงรีย์อยู่ เขาเป็นฟาร์มมิ่งที่ทำเรื่องการแยกขยะ การต่อยอดจากเศษขยะอาหาร การเลี้ยงไส้เดือนและการทำประโยชน์จากตัวไส้เดือน เราก็เลยมาคุยว่าเรามีเศษอาหารที่สามารถเอามาดร็อปให้เขาได้ทุกวัน ซึ่งเขาก็โอเค มาลองทำกันดู ก็เลยเริ่มมีการเอาฟู้ดเวสต์มาทำให้เกิดประโยชน์ ซึ่งฟาร์มลุงรีย์เขาก็ปลูกเป็นผักกลับมาให้เราด้วยค่ะ”

 

 

อัพเกรดขยะเป็นของใช้ใหม่ด้วยการรีไซเคิล

“ตอนแรกสิ่งที่คอนเซิร์นคือการลดพลาสติก เราแยกขยะพลาสติก เราแยกขยะเศษอาหาร เราแยกขยะที่รีไซเคิลได้แล้วเราส่งต่อ ตอนนี้ปีนี้สิ่งที่เราจะทำต่อคือการรีไซเคิลพลาสติกเอง ก็คือของที่เราแยกไว้อยู่แล้วอย่างขวดแก้ว ขวดพลาสติก เราให้ลูกค้าได้ใช้ต่อ ฝาขวดเราเอาไปรีไซเคิลออกมาเป็นโปรดักส์อย่างลูกปัด หรือถุงพลาสติกเราเอามาทำเป็นกระเป๋า คือจริงๆ เราต่อยอดไปเรื่อยๆ ค่ะ และลิลก็อยากให้ร้านนี้เป็นร้านที่นอร์มอลมากๆ เหมือนทุกคนเดินไปร้านอาม่าหรือไปร้านสะดวกซื้อ อยากเป็นร้านปกติ และก็อยากให้ทุกคนรู้สึกว่าการแยกขยะเป็นเรื่องปกติ อยากให้เรื่องรักษ์โลกเป็นเรื่องปกติที่ทุกคนทำกันค่ะ”

 

 

Writer

Au Thitima

Content Creator ผู้รักในการอ่าน ชอบในการเขียน และคลั่งไคล้สัตว์สี่ขาที่เรียกว่าแมว