ถ้าได้ไปเที่ยวตามแหล่งประมงหลายคนอาจจะเคยเห็นอวนจับปลาเก่าถูกกองทิ้งเป็นขยะอยู่ริมหาด ถ้ามองด้วยตาเปล่ามันก็แค่อวนเก่าหมดสภาพที่ใช้งานอะไรไม่ได้แล้ว แต่คุณอาร์ค-มรรษพล สร้อยสังวาลย์ อาร์ทิสต์หนุ่มผู้รักในการดีไซน์กลับมองเห็นคุณค่าของมันที่หลายคนมองข้ามไป เขานำมันกลับมาชุบชีวิตใหม่ เปลี่ยนจากขยะที่ไม่มีใครสนใจให้กลายเป็นกระเป๋าแบรนด์ดีไซน์เก๋ที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ในชีวิตจริง นอกจากจะเป็นการสร้างมูลค่าให้กับขยะเหลือทิ้งแล้ว ก็ยังกลายเป็นธุรกิจที่สร้างผลกำไรและเลี้ยงชีพตัวเองได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย
“เดิมผมเป็นกราฟฟิกดีไซน์ครับ ตอนนั้นทำงานประจำ ซึ่งโน้ตบุ๊กหรือไอแพดก็เป็นอุปกรณ์หนึ่งในชีวิตที่ต้องใช้ทุกวัน แล้วผมรู้สึกว่าทำไมกระเป๋าโน้ตบุ๊กมันถึงมีแต่สีดำๆ ใบใหญ่ๆ แข็งๆ อะไรอย่างนี้ อยากได้กระเป๋าที่สามารถใช้ไปทำงานก็ได้ ไปเที่ยวก็ได้ในใบเดียวกัน และก็คิดว่าอยากหาอาชีพเสริมด้วย ก็เลยเริ่มทำ แต่ตอนนั้นยังไม่ได้ใช้วัสดุรีไซเคิลนะครับ เริ่มทำกระเป๋าธรรมดาก่อน ใช้วัสดุพวกผ้าแคนวาส หนังแท้ หนังเทียม ของผมเป็นแฮนด์เมด ผมเริ่มขายที่ตลาดนัด สมัยนั้นยังไม่มีออนไลน์ ผมขายเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ ขายได้ค่อนข้างดีเลยครับ ขายอยู่สักพักหนึ่งเลย จนวันหนึ่งเริ่มมีเฟซบุ๊กแฟนเพจเข้ามา ผมก็ค่อยๆ ผันตัวจากหน้าร้านมาเป็นออนไลน์”
Mat Archer คือนักล่า...นักเฟ้นหาวัสดุ
“ตอนที่เริ่มทำแบรนด์ใหม่ๆ ผมคิดไว้ว่าอยากสร้างแบรนด์ให้มีจุดเด่นเรื่องวัสดุ ก็คือเน้นเรื่อง Material ซึ่งคำว่า Mat ก็มาจาก Material นี่แหละครับ ส่วน Archer ที่แปลว่านักธนู มันพ้องเสียงมาจากชื่อเล่นของผมคืออาร์ค ก็เลยกลายเป็น Mat Archer ที่เหมือนเป็นนักล่าวัสดุ ก็พยายามสรรหาวัสดุที่มันแบบว่าแปลก คงทน ใช้งานได้หลายลักษณะ เช่น กันน้ำได้ กันกระแทก ซึ่งทุกวันนี้นอกจากอวนที่เอามาเป็นวัสดุแล้วก็ยังมียางในรถบรรทุก มีผ้าที่ทำมาจากขวดพลาสติก ซึ่งเราก็ยังหาวัสดุเพิ่มอยู่เรื่อยๆ ครับ เป้าที่เราวางไว้ก็คืออยากผลิตกระเป๋าที่ตอบโจทย์การใช้งานของคนรุ่นใหม่ อย่างกระเป๋าเป้ ถ้าเราเอามาถือมันจะลากพื้นเพราะทรงมันยาว แต่ของเราออกแบบให้มันเป็นแนวสี่เหลี่ยมจัตุรัส ให้มันถือแล้วไม่ลากพื้น กระเป๋าเราหนึ่งใบสามารถใช้เป็นเป้ก็ได้ สะพายข้างก็ได้ ถือก็ได้ เน้นฟังก์ชั่นที่สามารถปรับเปลี่ยนรูปทรงได้ครับ”
ปิ๊งไอเดียจับอวนประมงเก่ามาทำกระเป๋าแบรนด์
“แบรนด์ผมเข้าโครงการของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ก็เลยมีโอกาสได้ไปดูงานต่างประเทศ มีโอกาสได้ไปออกบูธที่ต่างประเทศ ก็ไปเห็นว่าที่นั่นเทรนด์พวกสิ่งแวดล้อมกำลังมา Material ที่เขาใช้ทำสินค้าต่างๆ มันเริ่มเป็นงานรีไซเคิลมากขึ้น แต่ถ้าเราดูด้วยตาเปล่าจะไม่รู้เลยว่าเป็นงานรีไซเคิล ซึ่งผมเห็นแล้วก็รู้สึกแปลกใจและก็รู้สึกสนใจด้วย ก็คิดว่าถ้าเราเจอวัสดุอะไรสักวัสดุที่เอามาใช้กับแบรนด์เราได้ก็คงดี เราก็พยายามมองหาอะไรที่อยู่ใกล้ตัวก่อน ก็ไปเจออันแรกก็คืออวนจับปลา เพราะว่าพื้นเพเราเป็นคนประจวบคีรีขันธ์ บ้านเราก็ไม่ได้ไกลจากทะเล อวนพวกนี้มันอยู่ในสภาพขาดจนซ่อมไม่ได้แล้ว ชาวประมงเขาก็ทิ้ง อันดับแรกผมเลยไปเซอร์เวย์ก่อนว่ามันมีเพียงพอไหมสำหรับเอามาทำงาน เพราะถ้าเป็นขยะแค่ส่วนน้อยเอามาทำในวอลลุ่มใหญ่ทำไม่ได้ พอเซอร์เวย์แล้วเห็นว่าปริมาณมันเยอะ ใช้ได้ก็เลยตกลงเลือกอันนี้”
เปลี่ยนขยะให้เป็นของใช้ประโยชน์คือโจทย์ยากของแบรนด์
“ยากมากครับ เพราะว่าช่างต้องเรียนรู้การตัดเย็บใหม่เลย เพราะว่ามันไม่ใช่ผ้า การตัดเย็บก็จะยากขึ้น คือถ้าเราเอาผ้ามาขึงเราตัดทีเดียวได้เลย ใช้เครื่องตัดทีเดียวร้อยใบได้ แต่อวนไม่ใช่ มันขึงไม่ได้ มันต้องตัดทีละใบ เพราะมันต้องดูตำแหน่งตาอวนด้วย เพื่อให้เย็บล็อกได้ ต้องใช้มืออย่างเดียว ไม่สามารถใช้เครื่องจักรได้ แล้วอวนมันมีหลายตามาก บางอัน 2.5 ซม. บางอัน 3 ซม. คือมันไม่เสมอกันเลย ไหนจะริ้วรอยที่เกิดจากการถากการครูดในทะเล รอยสึกหรอจากการใช้งาน เราก็ต้องมานั่งคัดเลือก แล้วก็ยังมีเรื่องกลิ่นอีก มันมีกลิ่นทะเล เราก็ต้องซักล้างกันเต็มที่ ตั้งแต่ซักมือยันซักเครื่อง หลายกระบวนการมากครับ อย่างการดีไซน์ผมใช้เวลาประมาณ 3-5 วัน แต่ว่าการขึ้นตัวอย่างจะนาน อย่างช่างขึ้นตัวอย่างมาเสร็จแล้ว พอลองใช้งานแล้วมันไม่เวิร์คก็ต้องเปลี่ยน ต้องปรับ หรือดีไซน์แล้วพอถึงกระบวนการตัดเย็บแล้วอวนมันเย็บไม่ได้ก็ต้องเปลี่ยน กระบวนการแรกกว่าจะเริ่มผลิตก็เป็นปีครับ”
ใช้ช่างฝีมือพื้นบ้านช่วยกระจายรายได้สู่ชุมชน
“ของผมเป็นแฮนด์เมดทุกใบ ผมตั้งใจให้เป็นโปรดักส์ที่ใช้ช่างฝีมือที่ไม่ใช่ช่างโรงงานทำ จะเป็นลุงป้าที่อยู่บ้านอยู่ชุมชน เราก็ป้อนงานให้เขา ก็เป็นช่างจากหลายๆ บ้าน มีที่อยู่พระรามสอง อยู่เชียงราย เราก็ส่งงานให้ เพราะผมอยากซัพพอร์ตคนให้มีอาชีพ คือไม่จำเป็นต้องเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ ก็ได้ ต่างจังหวัดเราส่งงานให้เขาได้ เราได้เขาก็ได้ ก็คือช่วยกัน ทำงานด้วยกัน อย่างอวนพวกนี้ผมซื้อจากชาวประมงโดยตรง เพราะยังไงเขาก็ต้องขายทิ้งอยู่แล้ว มันเป็นขยะของเขา ผมก็ไปคัดเองจากชาวประมง ตอนนี้ก็เริ่มมีกลุ่มชาวประมงที่เขารวบรวมเอามาขายให้ผม เป็นเจ้าประจำแล้ว ผมว่าเดี๋ยวนี้ธุรกิจมันไม่จำเป็นต้องเป็นโรงงาน ใครบอกว่ามีโรงงานแล้วสบาย อาจจะเหนื่อยขึ้นก็ได้ เดี๋ยวนี้ทุกธุรกิจมันก็มีเครื่องมือซัพพอร์ต อย่างทุกวันนี้ผมจะส่งของล็อตใหญ่ๆ ผมก็ใช้แอพพลิเคชั่นเรียกรถได้ มันก็สะดวก เทคโนโลยีมันเข้ามาช่วยเรื่องการจัดการ คุณไม่จำเป็นต้องมีโรงงานก็ได้ เริ่มจากเล็กๆ ก็ได้ครับ”
นอกจากขึ้นขายบนห้างดังในไทยยังโกไกลไปต่างแดนด้วย
“คือเมื่อก่อนกระเป๋าธรรมดาไม่ค่อยมีคนสนใจ แต่พอเราเปลี่ยนเป็นรีไซเคิลเขาก็ให้ความสนใจ อย่างห้างก็ให้ความสนใจติดต่อมาให้ไปวางขาย ตอนนี้ห้างที่มีสินค้าเราวางขายก็มีสยามดิสคัฟเวอรี่ เอ็มควอเทียร์ เซ็นทรัลลาดพร้าว พารากอน เทอร์มินอล 21 สินค้าผมจะอยู่ในโซนงานดีไซน์ หรือซีเล็คช็อปที่รวมแบรนด์ไอเดีย ถ้าในห้างลูกค้าเราจะเป็นต่างชาติประมาณ 80% ลูกค้าชาวต่างชาติจะให้ความสนใจเยอะ อีก 20% คือลูกค้าคนไทยที่อยากเห็นสินค้าจริงเขาก็ไปที่หน้าร้านครับ ราคาสินค้าเราต่ำสุดอยู่ที่ 390 บาท สูงสุดอยู่ที่ 2,990 บาท ปัจจุบันยอดขายต่อเดือนอยู่ที่หลักแสน แล้วก็จะมีขายออนไลน์ที่ต่างประเทศด้วย ขายปลีกบนเว็บต่างประเทศ หน้าร้านในต่างประเทศก็มีแต่ว่ายังไม่เยอะเท่าไหร่ ก็จะมีคนมารับไปแบบค้าส่ง รับไปรุ่นละ 10-20 ใบอย่างนี้ครับ ต่างประเทศที่มีเยอะหน่อยก็คือออสเตรเลีย แล้วก็มีเยอรมัน ฝรั่งเศส ตอนนี้ประเทศที่ผมอยากเข้าไปคืออเมริกา เพราะว่าอเมริกาค่อนข้างเปิดกว้าง แต่เข้าใจว่าคู่แข่งเยอะมาก ทุกคนอยากพุ่งไปที่อเมริกา แต่เราก็อยากลองเหมือนกันครับ”
ไม่ต้องก้าวให้ใหญ่แค่ก้าวตามใจก็สำเร็จได้เหมือนกัน
“คือผมทำงานด้านดีไซน์ ความคิดมันอาจจะเป็นแนวศิลปินนิดหนึ่ง ผมคิดว่าเราไม่จำเป็นต้องก้าวในจังหวะของคนอื่น หมายถึงว่าคนอื่นบางทีเขาเดินเร็วมาก สมมุติเขาทำแบรนด์มาสักปีหนึ่งเขาก็ดังแล้ว มันอาจจะประสบความสำเร็จแต่มันอาจจะไม่สนุกก็ได้ คือผมก้าวในจังหวะของตัวเอง สิบสองปีก็ค่อยๆ ก้าวทีละนิดๆ เดินในจังหวะตัวเอง แต่ว่ามันก็มีเป้าหมายไม่ใช่ไม่มี เราก็มีเป้าหมายของเรา แต่เราก็ไม่ได้ใจร้อนขนาดที่ว่าต้องดัง ต้องรวย ผมทำด้วยแพสชั่น ด้วยสิ่งที่ชอบ เป้าที่วางไว้คือสินค้าเราต้องตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ ซึ่งตอนนี้โจทย์ของคนรุ่นใหม่ก็คือการรักษ์โลกต้องกลายมาเป็นส่วนหนึ่ง ในแง่ธุรกิจก็คือประสบความสำเร็จ รวมถึงในแง่จิตใจก็คือประสบความสำเร็จด้วย ปัญหามันก็มีแต่ผมก็ไม่ได้มองว่าเป็นอุปสรรค เราก็แค่ต้องปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ อย่างโควิดขายกระเป๋าใบใหญ่ไม่ได้เราก็ขายกระเป๋าใบเล็กแทน ตลาดนัดขายไม่ได้เราก็ไปขายออนไลน์แทน ก็ต้องปรับ เราปรับเปลี่ยนตามยุคสมัยและความต้องการ คนก็ค่อยๆ รู้จักเรามากขึ้น มันค่อยๆ ไป เป้าหมายในปัจจุบันของผมตอนนี้คือ มันสามารถเลี้ยงชีพได้ แล้วก็ตอบสนองความสุขทางใจด้วยครับ”