ถ้าพูดถึงกลุ่มร้านค้าตลาดสินค้าอินทรีย์ หนึ่งในคนที่เหล่าชาวตลาดอินทรีย์รู้จักและคุ้นหน้าคุ้นตากันเป็นอย่างดีก็คือคุณวิทยา เลี้ยงรักษา หรือที่หลายคนเรียกกันว่าลุงวิท เจ้าของสวนมะพร้าวน้ำหอมที่เป็นผู้บุกเบิกการทำสวนมะพร้าวอินทรีย์ โดยตัดสารเคมีออกจากวงจรการเลี้ยงมะพร้าว แล้วเอาของเหลือทิ้งที่เราทุกคนเรียกขานมันว่า ‘ขยะ’ มาทำเป็นปุ๋ยเลี้ยงต้นมะพร้าวแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ จากความเพียรพยายามลองผิดลองถูกกว่าสามปี ในที่สุดสวนมะพร้าวอินทรีย์ที่ใช้เพียงแค่ปุ๋ยขยะเป็นตัวหล่อเลี้ยงก็เติบโตแถมให้ผลผลิตคุณภาพดีได้นำออกไปขาย ถือเป็นหนึ่งในต้นแบบการทำเกษตรอินทรีย์ที่นอกจากไม่เพิ่มการปนเปื้อนของสารเคมีอันตราย ยังช่วยลดขยะและรักษาสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
“พ่อแม่ผมเป็นเกษตรกร ผมก็ช่วยทำสวนมาตลอด สัมผัสกับพวกสารเคมีพวกยาฆ่าแมลงมาตลอดอยู่แล้ว ทีนี้มันมีอยู่ช่วงหนึ่งมีคนมาทำวิทยานิพนธ์เรื่องสารเคมีตกค้างในเกษตรกร เขาก็ขอสุ่มตรวจ ซึ่งตอนนั้นผมมีหน้าที่เป็นคนผสมยา ก็ยังคิดว่าตัวเราไม่น่าจะมีสารเคมีตกค้างอะไรมากหรอก เพราะเราไม่ใช่คนพ่นยา แต่ตรวจแล้วกลับกลายเป็นเรามีสารพิษตกค้างมากกว่าคนอื่น เพราะเราสัมผัสกับยาที่มันเข้มข้น กลิ่นยามันก็เข้าจมูกโดยตรง จริงๆ เราก็ไม่ชอบยาเคมีพวกนี้หรอก เพราะเวลาได้กลิ่นแล้วจะเวียนหัว มือก็จะมีเหงื่อออก แต่ตอนนั้นที่บ้านก็ยังใช้ยาพวกนี้อยู่ ยังงดใช้เลยไม่ได้ตอนนั้น”
เดินตามรอยเกษตรทฤษฎีใหม่ไม่ใช้สารเคมี
“พอพ่อแม่อายุเยอะแล้วเราก็มารับช่วงต่อทำสวนมะพร้าว เราก็เลยได้โอกาส เริ่มงดใช้ปุ๋ยเคมี งดยาฆ่าแมลง เพราะเราเคยดูข่าวพระราชสำนักเห็นในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านทำเรื่องเกษตรทฤษฎีใหม่ ไม่ใช้สารเคมี ผมก็มาลองทำของตัวเองดู ช่วงแรกเอาผักตบชวามาทำปุ๋ย แล้วก็เอาใบแก่ของต้นกง ใบมะพร้าว เอาพวกหญ้าวัชพืชต่างๆ แล้วก็พวกเปลือกมะพร้าวที่เหลือทิ้งจากที่เราปอกขาย เอามาสุมไว้ที่โคนต้นเพื่อทำเป็นปุ๋ย ทำอย่างนี้อยู่เกือบๆ สามปี ผมก็สังเกตว่ามะพร้าวเรารสชาติมันดีขึ้น เนื้อมะพร้าวมันนุ่มขึ้น เนื้อมะพร้าวเราหนาแต่มันนุ่มขึ้น น้ำมะพร้าวก็หวาน จากการที่เราได้ชิมน้ำมะพร้าวของเราตลอดสิบกว่าปีมาเนี่ย สามปีนี้เราเห็นว่ามันเปลี่ยนแปลงจริงๆ ลูกค้าได้ชิมเขาก็ชมด้วย ผมก็เลยโม้ว่าของผมอร่อยที่สุดแล้ว (หัวเราะ)”
หยิบขยะมาใช้ประโยชน์ ทำเป็นปุ๋ยชั้นเลิศบำรุงผลผลิต
“นอกจากวัชพืชเราก็เอาพวกขยะมาทำปุ๋ยด้วย ขยะที่ผมใช้ก็จะมีพวกเศษอาหาร เศษผัก เปลือกไข่ เศษใบไม้ เวลาผมไปขายมะพร้าวที่ตลาดผมจะเอากระป๋องเปล่าไปตั้งไว้ให้เขาเทพวกเศษผักเศษอาหารเพื่อที่เราจะเอากลับมาทำเป็นปุ๋ย เราไม่ใช้ถุงดำนะ เพราะไม่อยากเพิ่มขยะ เราก็เอากระป๋องไปใส่แทน ใช้เสร็จก็ล้างแล้วเอาไปใช้ใหม่ หรืออย่างไปส่งมะพร้าวที่หมู่บ้าน เห็นเขาทำมะพร้าวแก้ว มีกะลามะพร้าวเหลือ เปลือกไข่เหลือทิ้ง แทนที่มันจะถูกทิ้งไปเป็นขยะเราก็ขอเก็บมาทำปุ๋ย แม้แต่เศษใบไม้ที่เขากวาดทิ้ง แม้แต่ตะเกียบ แม้แต่แก้วกระดาษเหลือใช้ เราก็เอามาไว้ในกองปุ๋ยของเรา มันก็จะย่อยไปหมด ทุกอย่างแหละเราคิดว่าเป็นปุ๋ยทั้งหมด เพราะมันย่อยได้”
เลือกของที่มีในธรรมชาติมาใช้ช่วยสร้างจุดเด่นให้สินค้า
“ตอนนี้เวลาไปตลาดผมไม่ใช้พลาสติกเลยนะ งดเลย เราจะไม่สร้างขยะเพิ่ม เวลาผมเอามะพร้าวไปขายที่ตลาดก็ไม่ได้ให้หลอดพลาสติกกับลูกค้า ผมก็ใช้เป็นหลอดต้นอ้อแทน ต้นอ้อเนี่ยมันขึ้นอยู่ตามธรรมชาติ ในสวนเราก็มีอยู่แล้ว ผมก็ตัดมาใช้ทำเป็นหลอด ตอนแรกที่เอาไปลองให้ลูกค้าใช้ก็เสี่ยงนะ ใจตุ๊มๆ ต่อมๆ กลัวลูกค้าจะไม่กล้าใช้ กลัวลูกค้าจะคิดว่ามันไม่สะอาด แต่กลับกลายเป็นว่าลูกค้าชอบมาก เพราะมันดูเป็นธรรมชาติ เวลาไปขายเราก็จะเอาต้นอ้อไปนั่งตัดทำหลอดกันตรงนั้น พอคนเห็นเขาก็จะเข้ามาถามว่ามันคืออะไร แล้วเขาก็เลยซื้อมะพร้าวเรา แต่ไม่ได้ซื้อเพราะสนใจมะพร้าวนะ สนใจหลอด (หัวเราะ) คนเขาสนใจเรื่องสีสัน สนใจเรื่องความแปลก เขาก็ชอบ”
ขายตลาดเดียวไม่เวิร์ค ต้องเปิดตลาดเพิ่ม เจาะกลุ่มลูกค้าใหม่
“ผมอยู่กลุ่มเกษตรอินทรีย์มาเกือบๆ สิบปีแล้ว เขาก็จะมีจัดตลาดอินทรีย์ให้เราไปขาย เมื่อก่อนดีนะ แต่เดี๋ยวนี้เริ่มถอยหลัง เพราะตอนนี้มีเจ้าใหญ่ๆ เขาเริ่มมาจัดงานตลาดแบบนี้เหมือนกัน อย่างห้างใหญ่ๆ เขาก็จัดเอง บางทีเดือนหนึ่งมีเกือบทุกอาทิตย์ แล้วลูกค้ามีกลุ่มเดียว ปริมาณลูกค้าไม่ได้เพิ่มขึ้น แต่ตลาดเพิ่มสูงขึ้น ทีนี้ลูกค้าก็แยกไป ตลาดไหนจัดใกล้บ้านเขาก็ไปตรงนั้น พอเป็นอย่างนี้เราก็ขายได้น้อยลง รายจ่ายเราไม่ลดแต่รายได้เราลดลง ตอนนี้ผมก็เลยต้องปรับตัว เมื่อก่อนเราขายแต่ที่ตลาดอินทรีย์ ผมก็เริ่มหาตลาดแนวอื่นเพิ่ม หาลูกค้ากลุ่มใหม่ ล่าสุดที่ไปคือ trucker culture พอไปตลาดพวกนี้เราก็ได้รู้จักคนเพิ่มขึ้น นอกจากได้ลูกค้าใหม่แล้วผมก็ได้คุยเรื่องเกษตรอินทรีย์เรื่องสิ่งแวดล้อมที่เราทำอยู่ให้เขาฟัง คนจะได้รู้จักเรามากขึ้นด้วย”
หวังให้สวนป่าเป็นแหล่งเรียนรู้ สร้างความเข้าใจทำเกษตรแบบไม่ทำร้ายสิ่งแวดล้อม
“ตอนนี้ผมไม่ได้คิดว่าจะทำเพื่อขายมะพร้าวเอาเงินอย่างเดียวแล้ว แต่ผมอยากให้ที่นี่เป็นตัวอย่าง ให้คนที่สนใจมาดูมาศึกษาแล้วก็เอาไปทำตาม ผมอยากให้เรามาช่วยกันบอกต่อว่าสวนที่ผมทำมันดีนะ เวลาไปขายของที่ตลาดผมก็จะบอกต่อเรื่องพวกนี้แหละ เราอยากให้เขารู้จักสวนเราว่าทำอะไรแบบไหน สวนผมเนี่ยมองเข้าไปจะมีแต่สีเขียวหมดเลยนะ ธรรมชาติเขียวๆ มันช่วยฟอกอากาศ และสวนผมก็จะมีสัตว์ตามธรรมชาติมาอยู่อาศัยมากินเศษอาหารด้วย ทั้งกระบวนการของผมรวมถึงวัตถุดิบที่ผมเอามาใช้ในสวนมันก็ช่วยเรื่องสิ่งแวดล้อมหมดเลย อย่างน้อยผมก็เป็นจุดเล็กๆ ที่ได้เริ่มต้นทำเพื่อช่วยสิ่งแวดล้อม ถ้าใครอยากจะมาดูสวนผม มาพูดคุยอยากได้ความรู้ว่าผมทำยังไงผมก็ยินดีนะ”