วารีดุริยางค์ : วารีดุริยางค์ ทางสู่ความสงบ

วารีดุริยางค์

วารีดุริยางค์ กวีนิพนธ์ขนาดยาว 200 คำกลอน เป็นผลงานวรรณศิลป์ที่รังสรรค์โดยคุณเนาวรัตน์ พงศ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี พ.ศ. 2536 มีแนวคิดให้ตระหนักในสัจธรรมของชีวิต จนสามารถปล่อยวางทุกสิ่งที่อยู่รอบกาย เพื่อกล่อมเกลาจิตใจให้บริสุทธิ์ สงบแลเยือกเย็น ดุจเช่นธรรมชาติที่งดงามไร้เครื่องปรุงแต่ง อันเป็นแรงบันดาลใจให้กวีบรรจงถักร้อยถ้อยคำลำนำออกมาเป็นคำกลอนที่ไพเราะเสนาะโสตดังฟัง “มโหรีจากราวป่า” และเลื่อนไหลดุจสายธารา จูงใจให้ดื่มด่ำกับธรรมชาติที่ใช้วัตถุดิบจากตัวอักษรแทนพู่กันแลหมึกวาดภาพได้อย่างน่าอภิรมย์ กอปรกับแฝงปรัชญาอันเฉียบคมไว้อย่างแยบคาย

บทร้อยกรอง วารีดุริยางค์ กวีเลือกใช้ฉันทลักษณ์ประเภทกลอนสุภาพ ซึ่งมีลีลาแลท่วงทำนองเนิบช้า อ้อยอิ่ง ฉายภาพธรรมชาติที่งดงาม และสะท้อนสัจธรรมที่โน้มนำจิตใจให้ “อยู่ได้โดยพบสงบนิ่ง” มีความเหมาะสมยิ่งนัก เพราะกวีต้องการให้ผู้อ่านดื่มด่ำในความงามแลความสงบที่แท้จริงของธรรมชาติอันปราศจากการปรุงแต่งแห่งมวลกิเลสตัณหา แล้วค่อยจูงใจให้พบกับสัจธรรมอันนำชีวิตไปสู่ความสุขอันนิจนิรันดร์ ท่วงทำนองกลอนจึงต้องเอื่อยไหลดุจสายน้ำอันฉ่ำเย็นที่ค่อย ๆ ลอดเร้นกระเซ็นซ่านเข้าไปชโลมล้างลูบไล้จิตใจที่ตรึงแน่นด้วยกิเลส ให้ใสสะอาดปราศบ่วงคล้องแห่งตัณหา แล้วค่อยพาพบสัจธรรมอันล้ำค่าอย่างหาที่สุดไม่ได้ เพราะหากใช้ฉันทลักษณ์ประเภทอื่น อาจจะสื่อภาพได้ไม่ชัดเจนและสื่อความได้ไม่ชัดแจ้งอย่างกลอนสุภาพดังกล่าวมาแล้วแต่เบื้องต้น

กวีมีกลวิธีการนำเสนอเรื่องราวที่เร้าความสนใจผู้อ่านด้วยการเชิญชวนให้เข้าสู่โลกธรรมชาติแลสัจธรรมในตอนต้น ความว่า

“ปิดดวงตาน่ารักพักเหนื่อยล้า ลบน้ำตาจากหน้าสวยด้วยยิ้มหวาน ซอสายทิพย์กระซิบบอกดอกไม้บาน เล่านิทานที่อยากฟังอย่างปราน ขวัญเจ้าเอยจงสะอางกลางป่าแก้ว จะเจื้อยแจ้วจับใจเพลงไผ่สี ฟังลำนำนกร้องกรองกวี เคล้าวารีดุริยางค์หลั่งจำเรียง” (หน้า 11)

จากบทกลอนเกริ่นนำข้างต้นได้สื่อความเชิญชวนให้ผู้อ่านที่ “เหนื่อยล้า” จาก “ความคิดขันแข่งปรุงแต่งจิต” มาฟังเสียง “ชื่นสุคันธ์สังคีตประณีตฉ่ำ” จาก “ลำนำนกร้องกรองกวี” “เพลงไผ่สี” และ“ซอสายทิพย์” ที่จะ “กระซิบบอก” แล “เล่านิทานที่อยากฟังอย่างปรานี”

พึงสังเกตว่ากวีมุ่งสะท้อนให้เห็นภาพของมนุษย์ที่สั่งสมบ่มกิเลสจนสุกงอมได้ที่ แล้วหลีกหนีมาหลบบำบัดจิตใจ โดยใช้ธรรมชาติที่งดงามแลสงบคลายความทุกขเวทนาอันได้รับมาจากโลกียภพ ซึ่งกลวิธีนี้มีผลตอกย้ำให้ผู้อ่านเกิดความซาบซึ้งตรึงใจและเห็นคุณค่าของธรรมชาติ จนนำไปสู่การเข้าถึงหลักสามัญสัจจ์ง่ายยิ่งขึ้น

เนื้อหาในกวีนิพนธ์ที่ต่อจากบทเกริ่นนำและก่อนถึงบทสรุปสุดท้าย กวีได้ใช้กลวิธีนำเสนอภาพธรรมชาติที่เป็นไปตามสามัญลักษณะ สลับกับหลักสัจธรรมที่แฝงไว้ในคำกลอนอย่างแยบยล เช่น

“แผ่นดินมีที่ต่ำให้น้ำไหล แผ่นฟ้าว่างกว้างใหญ่ให้นกเหิน ทุกสิ่งมีมากมายให้หลงเพลิน ใจจึงเกินใจระงับบังคับคิด” (หน้า 26)

จากบทประพันธ์ ผู้อ่านสามารถทราบถึงสามัญลักษณะของแผ่นดินที่ย่อมลาดลงสู่เบื้องต่ำ โดยมีสายน้ำไหลทาบฉาบทาตามพื้นผิว ผืนฟ้าที่แลดูสูงลิ่วแลกว้างใหญ่ย่อมเป็นที่อิงอาศัยใช้โบยบินของมวลปักษินชาติ และทราบถึงสัจธรรมอันเป็นแนวคิดว่าเหตุที่ใจเรามีกิเลส ก็เพราะผลที่เกิดจากความหลากหลายของเหล่าอามิสเครื่องล่อที่คอยล้อท้าทายให้มนุษย์ก้าวถึงจุดเกิดกิเลสตัณหา

ด้วยกลเม็ดดังกล่าวส่งผลให้ผู้อ่านไม่รู้สึกเบื่อหน่ายในหลักสัจธรรม กลับนำให้เพลิดเพลินในสุนทรีย์แห่งจินตภาพอันรื่นรมย์ และเสียงคำกลอนที่อุดมด้วยอรรถรสอันพริ้งไพเราะ ซึ่งหลักสัจธรรมนั้นเปรียบได้กับยาที่มีรสขมยากที่ผู้ป่วยจะอมกลืนลงคอได้ แพทย์นั้นย่อมต้องใช้น้ำมธุรสจากบทกลอนอันอ่อนหวานเพื่อช่วยปลดเปลื้องความขมให้จางลงพอที่ผู้ป่วยหรือปุถุชนทั่วไปพึงรับได้โดยดุษณี

บทสรุปความตอนท้ายมีความสัมพันธ์อันสอดรับกับชื่อเรื่อง “วารีดุริยางค์” และลำดับตามเนื้อความของเรื่องทั้งหมด ความว่า

“ฟังสายน้ำพร่ำเพลงบรรเลงรับ ปลุกกมลคนหลับให้กลับตื่น ดูดาวเหนือเด่นนำในค่ำคืน ปลุกชีพชื่นยืนหยัดสัจธรรม” (หน้า 63)

เนื้อความในวรรคแรกนั้นสอดคล้องกับชื่อเรื่อง “วารีดุริยางค์” เพราะมีทำนองการขับลำนำคำกลอนอันอ่อนโยนดุจ สายธารา และเนื้อหาภายในเรื่องก็ได้ปลุกให้ “คนหลับ” หรือมนุษย์ผู้จมอยู่ในห้วงกิเลสตัณหา หันมาดื่มด่ำในความงามแห่งธรรมชาติที่ปราศจากเครื่องปรุงแต่ง และดำรงชีพตามหลักสัจธรรมที่แฝงอยู่ทั่วไปในร้อยกรอง ซึ่งตรงกับข้อความในวรรคที่สอง สาม และสี่ตามลำดับ

จะเห็นได้ว่ากลวิธีการนำเสนอบทกวีนิพนธ์มีการวางแปลนไว้อย่างเป็นระบบ เร้าความสนใจจากผู้เสพวรรณกรรม และการเรียงลำดับเนื้อความก็สอดรับกับชื่อเรื่องได้แนบสนิท จนทำให้ผู้อ่านได้ทั้งความเพลิดเพลินและเจริญปัญญาโดยสมบูรณ์

กวีได้นำเสนอแนวคิดที่มุ่งโน้มจิตใจผู้อ่านให้เข้าสู่ห้วงธรรมารมณ์ โดยใช้ฉากธรรมชาติเป็นสื่อกลางถ่ายทอดสัจธรรมอันล้ำค่า และรจนาผ่านภาษาที่พริ้งไพเราะ ซึ่งแนวคิดหลักคือ การปล่อยวาง และชำระล้างจิตใจให้ใสบริสุทธิ์ จนถึงจุดที่หลุดพ้นจากบ่วงกิเลสตัณหา แต่กระนั้น กวียังคงแฝงแนวคิดรองที่สำคัญแลน่าสนใจไว้อีกหลายประการ เช่น

“รุ่งอีกวันหวั่นว่าจะมาถึง คือวันหนึ่งวันหนึ่งซึ่งเร็วรี่ วันแห่งวานผ่านมาทุกนาที เพิ่มชีวีพรากชีวันผันชีวิต” “คมเวลามากร่อนค่อยรอนลิด ทีละนิดทีละนิดกว่าปลิดปลง” “จงมีนามความฝันกับวันนี้ จงอย่ามียึดมั่นกับวันไหน” “ดอกไม้น้ำงามเหงาเมื่อเช้าชื่น พอเย็นย่ำค่ำคืนชื่นก็หาย” (หน้า 28 , 45 , 58 ตามลำดับ )

บทประพันธ์ข้างต้นล้วนแสดงความไม่แน่นอนของทุกสรรพสิ่ง ซึ่งตรงกับไตรลักษณ์ทางพุทธศาสนาที่ว่าด้วยความเป็นธรรมดาของโลกคือล้วนต้องเผชิญกับอนิจจังหรือความไม่เที่ยงแท้แน่นอน ต้องเวียนว่ายในวงจรสังสารวัฏเพราะอนัตตาหรือความไม่มีตัวตน และล้วนต้องเวียนวนทนทุกขเวทนาจากทุกขัง กวีจึงมุ่งเตือนผู้อ่านไม่ให้พลั้งเผลอจิตคิด “ปรุงแต่งแสร้งความตามนิยม” จนก่อกำเนิดเป็นสังคมอัน “โสโครก” ด้วย “อัปปมาท” หรือความไม่ประมาทตามหลักศาสนาพุทธ โดยการจุดประกายแสงสว่างทางปัญญา “เพื่อได้รู้และได้เห็นตามเป็นจริง”

“ไม่ไยดีปรีดาประสาโลก ไม่ทุกข์โศกเสียใจหรือไห้หวน มีความสุขอยู่ทุกยามตามที่ควร ไม่ปั่นป่วนไปตามความเร่าร้อน” (หน้า 23)

บทนี้มุ่งเสนอแนวคิดให้ผู้อ่านมีความมั่งคงทางจิตใจโดยไม่คิดหวั่นไหวไปตามโลกธรรม อันได้แก่ สุข ทุกข์ ลาภ เสื่อมลาภ ยศ เสื่อมยศ สรรเสริญ และนินทา เพราะทุกสิ่งที่ได้มาล้วนไม่ยั่งยืนถาวร ด้วยต้องยอกย้อนผันแปรไปตามกระแสกาลที่พาดผ่านพ้นไป โดยทำจิตใจให้ “เหมือนทุกก้อนกรวดทราย” ที่สามารถ “ยืนอยู่ได้โดย ภพสงบนิ่ง” เพราะไม่หวั่นไหวไปตามสิ่งที่มากระทบ เช่น ความเร่าร้อนจากแสงอาทิตย์ความเยือกเย็นจากน้ำทะเล ฯลฯ

“ขอกายเจ้าจงเป็นเช่นต้นไม้ ยืนอยู่ได้โดยภพสงบนิ่ง เพื่อแผ่ร่มเป็นหลักให้พักพิง แต่งดอกพริ้งผลัดฤดูอยู่ชั่วกาล” (หน้า 20)

บทนี้ได้ชี้นำแนวทางปฏิบัติหลังจากที่ผู้อ่านได้สลัดตัดเครื่องปรุงแต่งแห่งมวลกิเลสตัณหาแล้วจนหมดสิ้น จึงค่อยเริ่มผันผินจิตใจมาใฝ่ความสงบอันนิรันดร์ พร้อมทั้งแบ่งปันวิมุตติสุขนี้แก่เพื่อนมนุษย์ที่ยังไม่หลุดพ้นจากมนต์สะกดของอำนาจฝ่ายต่ำ

พึงสังเกตว่ากวีจงใจใช้ธรรมชาติที่ปราศจากเครื่องปรุงแต่งแห่งมวลกิเลสตัณหา เป็นตัวแทนพรรณนาสัจธรรม เพื่อผู้อ่านจะได้น้อมนำมาปฏิบัติตามโดยง่าย เพราะในสามัญสำนึกของมนุษย์นั้นย่อมต่อต้านคำสั่งสอนของมนุษย์ด้วยกันเอง เพราะถือว่ามนุษย์ทุกคนล้วนแต่ยังไม่หลุดพ้นจากกามารมณ์ กวีจึงใช้ธรรมชาติ มีต้นไม้ สายน้ำ เป็นต้น มากล่าวแทน จึงยังผลให้เกิดประสิทธิภาพมากกว่า เพราะมนุษย์คิดว่าธรรมชาติคือสิ่งบริสุทธิ์ ย่อมชี้นำแนวทางสว่างให้อย่างไม่หวังผลตอบแทน กลเทคนิคนี้นับว่าเป็นเอกทางการโน้มน้าวใจที่ดี

นอกจากฉันทลักษณ์ที่รื่นไหลดุจสายน้ำ กลวิธีนำเสนอที่เป็นระบบ โดดเด่น และแนวคิดอันมุ่งเน้นสัจธรรมแล้ว กวียังสร้างกฤติยาการแห่งวรรณศิลป์อันเป็นเสมือนเครื่องบำรุงปรุงกลอนให้มีความอ่อนหวาน และเสริมสารให้สื่อความได้เข้มข้นแลชัดเจน อำนวยผลให้บทกวีนิพนธ์เปี่ยมล้นด้วยมนต์แห่งอรรถรส อันช่วยสะกดให้ผู้อ่านได้รับสารผ่านทางรสคำแลรสความไปพร้อมกันอย่างกลมกลืน เช่น

“ปูนิ่มน้อยนอนนิ่งทอดทิ้งคราบ เจ้าหอยกาบแกะรอยกับหอยโข่ง บ้างค้อมขดคุดคู้เหมือนอยู่โยง บ้างเดินโด่งธุดงค์ด้นไปตนเดียว” “สงสารใจใจเจ้าเอ๋ยไม่เคยนิ่ง วนและวิ่งคืนและวันหวั่นและไหว เหมือนถูกกายกำบังกักขังใจ ใจจึงได้ดิ้นรนทุกหนทาง” “วันแห่งวานผ่านมาทุกนาที เพิ่มชีวีพรากชีวันผันชีวิต” (หน้า 31 , 18 , 28 ตามลำดับ )

จากบทประพันธ์ข้างต้น ย่อมชี้ชวนให้ผู้อ่านลุ่มหลงอยู่ในมนต์สะกดแห่งวรรณศิลป์ที่กวีได้ผจงถักร้อยตัวบทให้มีทั้งรสคำแลรสความ โดยเริ่มจากการสรรคำมาใช้เพื่อฉายภาพการเคลื่อนไหวแลไม่หยุดนิ่งของปู หอยกาบ หอยโข่ง ใจ แลกาลเวลา ด้วยคำกริยาแสดงอาการต่าง ๆ ทั้ง “นอนนิ่งทอดทิ้ง” “แกะรอย” “ค้อมขดคุดคู้” “เดินโด่งธุดงค์ด้น” “วนและวิ่ง” “หวั่นและไหว” “กำบังกักขัง” “ดิ้นรน” “ผ่าน เพิ่ม พราก ผัน” มีการซ้ำคำ “ใจ” เพื่อเน้นย้ำความให้มีน้ำหนักยิ่งขึ้น มีการจัดวางตำแหน่งคำเพื่อแสดงจังหวะเป็นทอด ๆ เพื่อสื่อความให้ชัดเจนและเน้นกระทบอารมณ์ผู้อ่านมากขึ้นคือ “วนและวิ่งคืนและวันหวั่นและไหว” วรรคนี้เน้นเสียง /ว/ ซึ่งสื่อถึงภาพของ “ใจ” ที่ไม่เคยหยุดนิ่งเลยสักเวลา และวรรค “เพิ่มชีวีพรากชีวันผันชีวิต” วรรคนี้นอกจากจะเน้นเสียง /พ/ เพื่อสื่อความของ “ชีวิต” ที่เพิ่มขึ้น ลดลง แลผันแปรอย่างรวดเร็วแล้ว ยังมีการหลากคำ “ชีวี ชีวัน ชีวิต” เพื่อตอกย้ำความให้ดูสำคัญยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมีการใช้โวหารภาพพจน์เพื่อลดแลปลดเปลื้องอุปสรรคในการสร้างมโนภาพขึ้นในจิตใจของผู้อ่าน ซึ่งจากตัวบทที่ยกมานี้ล้วนใช้ “บุคคลวัต” หรือการสมมติให้สิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ (ปู หอยกาบ หอยโข่ง ใจ แลกาลเวลา) มีกริยาอาการดุจมนุษย์ (ดูจากการใช้คำกริยาของแต่ละบทล้วนเป็นกริยาอาการของมนุษย์ทั้งสิ้น)

วารีดุริยางค์ จึงควรถือได้ว่าเป็นหนึ่งในเพชรน้ำเอกแห่งวงการวรรณศิลป์ไทย และควรอนุรักษ์ไว้ไม่ให้เสื่อมสูญ เพราะสมบูรณ์ด้วยภาษาอันวิจิตรไพเราะ และแฝงสัจธรรมอันช่วยสะเดาะกลอนถอนประตูแห่งมวลกิเลสตัณหาที่อิงอาศัยอยู่ในจิตใจของมนุษย์ให้ผุดผ่องดุจฟองอากาศที่ปราศจากภัสมธุลี

 

 

นายธีรบัณฑิต วิชญากูล

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ