วิวัฒนาการของสังคมมนุษย์แสดงถึงพัฒนาการทางสติปัญญาของมนุษย์ในแต่ละยุคที่สามารถนำพาสังคมของพวกตนก้าวเดินไปสู่สภาพที่เจริญกว่าสภาพที่เป็นอยู่ กระทั่งสังคมมนุษย์มีความเจริญทางด้านวัตถุดังเช่นในปัจจุบัน แต่ถ้าหากลองกลับหลังหันมองรอยเท้าที่สังคมมนุษย์ก้าวเดินมาจนถึงจุดที่ยืนอยู่ในปัจจุบัน จะเห็นว่ารอยเท้าของเราก้าวออกมาจาก “ป่า” มาไกลแสนไกลนัก จนอาจลืมไปเสียด้วยซ้ำว่าเรามาจากป่า และลืมไปว่าป่ามีส่วนในการโอบอุ้มให้สังคมมนุษย์เจริญรุดหน้ามาจนถึงปัจจุบัน
การหลงลืมของมนุษย์ว่าตนมาจากป่านี้เอง ทำให้มนุษย์คิดว่าตนเป็นเจ้าอาณานิคม มองป่าเป็นรัฐในอารักขา มองสัตว์ป่าเป็นประชากรไพร่ทาสใต้อาณัติ แต่ “อาคันตุกะ” ผลงานสารคดีของธีรภาพ โลหิตกุลได้เสนอมุมมองการมองตนเองของมนุษย์ การมองป่าและสัตว์ป่าเสียใหม่ผ่านเรื่องราวที่ผู้เขียนได้เดินทางไปยังอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ในฐานะอาคันตุกะของเหล่าสรรพสัตว์ ได้พบเจอสัตว์ป่ามากมาย ได้แก่ แมงมุมป่ากวาง
นอกจากนี้ยังได้บอกเล่าเรื่องราวต่าง ๆ เช่น เรื่องรถชนกวางตาย ธรรมชาติของลิงที่ไม่กลัวคน คนจึงมักจะยื่นอาหารให้ ทว่ากลับเป็นผลเสียกับลิง กล่าวคือทำให้ลิงไม่หาอาหารเอง มารออาหารจากคนริมถนน ทำให้เสี่ยงต่อการถูกรถชน และทำให้กระเพาะอุดตันและตายในที่สุด เนื่องจากกินของแปลกปลอมจำพวกถุงพลาสติกลงไปด้วย ซึ่งจากการฟังเรื่องลิงตายกระเพาะอุดตัน ทำให้ผู้เขียนหวนนึกถึงกระทิงชื่อจุ๋มจิ๋มที่ผู้เขียนเคยพบ และมันก็ตายด้วยเหตุเดียวกันกับลิงคือ กระเพาะอุดตัน เพราะกินทั้งถุงพลาสติก ผ้า เศษแก้ว ลูกกอล์ฟ เศษโลหะ เป็นต้น
หากพิจารณาจากชื่อเรื่องคือ “อาคันตุกะ” อาจจะยังไม่สามารถตีความได้ว่าเรื่องราวดังกล่าวเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร แต่อาจพอแปลความหมายได้ว่าชื่อเรื่องหมายถึง แขก หรือผู้มาเยือน แต่เมื่ออ่านเรื่อง “อาคันตุกะ” ข้าพเจ้าพบว่าผู้เขียนได้เสนอมุมมองว่ามนุษย์เป็นเพียงแขกผู้ไปเยือนบ้านเรือนของสัตว์ป่าซึ่งเปรียบเสมือนเจ้าบ้านนับแต่การเปิดเรื่อง โดยการยกคำกล่าวของเอส. อีเลียต แมคคลัวร์มาใช้ในการเปิดเรื่อง
“...โปรดระลึกว่าอุทยานแห่งชาติเป็นสถานรักษาพันธุ์ไม้และสัตว์ที่ดำรงชีวิตอยู่ที่นี่ ส่วนท่านเป็นอาคันตุกะ จึงควรปฏิบัติตนอย่างอาคันตุกะผู้หนึ่ง คือเคารพสิทธิของอาคันตุกะอื่น ๆ...”
การที่ผู้เขียนเปรียบเทียบเช่นนี้ เสมือนให้มนุษย์สำเหนียกว่าตนเป็นเพียงแขก จะทำให้มนุษย์ไม่ล่วงล้ำก้ำเกินไปทำในสิ่งที่ไม่ใช่หน้าที่ หรือทำร้ายสัตว์ ซึ่งถือเป็นความคิดที่สอดคล้องกับแนวคิดสิ่งแวดล้อมนิยม (Environmentalism) ซึ่งเป็นทั้งปรัชญาและการเคลื่อนไหวทางสังคมซึ่งเรียกร้องให้มีการคุ้มครองสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติจากการถูกทำลายโดยมนุษย์และมลพิษ โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมืองที่แสวงหาการควบคุมมลพิษสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเห็นความสอดคล้องชัดขึ้นเมื่อผู้เขียนขยายให้เห็นพฤติกรรมต่าง ๆ ที่มนุษย์ล่วงเกินเจ้าของบ้านอย่างการขับรถเร็วบนถนนที่ผ่านแหล่งที่อยู่อาศัยของกวาง ส่งผลให้ขับรถชนกวางตาย การนำอาหารไปให้สัตว์ทั้งที่ไม่ใช่หน้าที่ ทำให้สัตว์มีพฤติกรรมในด้านการหาอาหารที่ผิดธรรมชาติ ตลอดจนกินสิ่งแปลกปลอมเข้าไป เช่น ถุงพลาสติก เป็นเหตุให้สัตว์นั้นตายและผู้เขียนได้แสดงทัศนะต่อเรื่องราวนั้น ๆ ได้แก่ เรื่องบทลงโทษผู้ที่ขับรถชนกวางตายว่า
“ค่าปรับตามกฎหมายเพียง ๑,๐๐๐ บาท มันช่างน้อยนิดเหลือเกินสำหรับชีวิตสัตว์ป่าที่สูญเสียไปแม้เพียงตัวเดียว และหากคนขับรถทุกคนมีสํานึกว่าตนเองเป็นเพียงอาคันตุกะ มิใช่เจ้าของบ้าน เจ้าของถนนเหตุการณ์อันน่าสลดใจเช่นนี้ก็จะไม่เกิดขึ้น”
และแสดงทัศนะในเรื่องการให้อาหารสัตว์ของนักท่องเที่ยวซึ่งทำให้เกิดผลร้ายต่อสัตว์ โดยยกตัวอย่างกรณีกระทิงชื่อจุ๋มจิ๋มว่า
“ปัจจุบัน ร่างกายของจุ๋มจิ๋มถูกสตัฟฟ์และเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติของอุทยาน เพื่อเป็นอุทาหรณ์เตือนใจความรักใคร่เอ็นดูอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของนักท่องเที่ยวที่มีต่อสัตว์ป่าทุกคน ค่าแห่งบทเรียนนี้ ช่างแพงเหลือคณานับ!”
กระทั่งจบเรื่องผู้เขียนก็ยังนำข้อความที่ใช้เปิดเรื่องมาปิดเรื่องว่ามนุษย์เป็นเพียงอาคันตุกะ จึงควรปฏิบัติตนอย่างอาคันตุกะ นับว่าสารคดีเรื่อง อาคันตุกะ เป็นสารคดีที่ชัดเจนในแง่มุมการเสนอมุมมองความคิดเห็นหลักที่ต้องการให้ผู้อ่านทราบตั้งแต่ต้นจนจบ ทั้งยังมีกลวิธีการเล่าเรื่องที่ทำให้ผู้อ่านเพลิดเพลิน ไม่คิดว่าเป็นการสั่งสอนให้ช่วยกันอนุรักษ์สัตว์ แต่เสนอเรื่องราวให้ “ทำงาน” กับความรู้สึกของผู้อ่าน ให้โน้มเอียงมามีวิธีคิดหรือพฤติกรรมต่อสัตว์อย่างถูกต้อง
อ้างอิง
Termwiki. (2563). สิ่งแวดล้อมนิยม. ค้นเมื่อ 10 ตุลาคม 2563. จาก https://th.termwiki.com/TH/environmentalism
อาคันตุกะ ผลิตผลทางความคิดแนวสิ่งแวดล้อมนิยม
บทวิจารณ์โดย ภาสกร สิมรัมย์
โครงการ อ่าน เขียน เรียนรู้ สู่งานวิจารณ์ ปีที่ 6