“ในเหมืองแร่มีมนุษยธรรม” เป็นเรื่องสั้นจากหนังสือรวมเรื่องสั้นชุด “เหมืองแร่” ของอาจินต์ ปัญจพรรค์ นักเขียนที่เป็นดั่งบรมครูแลเป็นะกล่าวถึง เสมอแม้ว่าท่านจะวายชนม์ไปแล้วก็ตาม จนกระทั่งได้รับรางวัล “ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ. ๒๕๓๘” แม้เขาจะใช้เวลาสั้นๆ ไม่ถึงสี่ปีที่เหมืองแร่ แต่ประสบการณ์ที่ได้รับมานั้นยังคงฝังรากลึกแน่น จวบจนช่วงที่เขาผันตัวมาเป็นนักเขียนดังที่เคยมุ่งหมายไว้ กลิ่นอายของแร่เหล็กกลับมิได้จางหายไปจากงานเขียน ของเขาเลย
“ในเหมืองแร่มีมนุษยธรรม” หากพิจารณาจากชื่อเรื่องแล้ว ก็คงจะ พอเดาแนวของเรื่องได้คร่าวๆ ถึงประเด็นที่ผู้เขียนต้องการจะสื่อ นั่นคือความเห็นอกเห็นใจพร้อมจะช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกันในยามยาก แต่ประเด็นที่ยังไม่ได้ ถูกยกขึ้นมาถกเถียงอย่างเป็นจริงเป็นจังเสียทีคือ สังคมที่ทุกคนได้รับโอกาสอย่าง เท่าเทียมกันสามารถเกิดขึ้นได้จริงหรือ
เช่นเดียวกับเรื่องสั้นเรื่องอื่นๆ ในชุดเหมืองแร่ สถานที่ดําเนินเรื่องหลักของ เรื่องนี้คือเหมืองแร่ที่มีชาวต่างชาติเป็นนายผู้ดูแล เรื่องเริ่มต้นที่ “ข้าพเจ้า” ผู้มีตําแหน่งเป็นช่างแผนที่ในเหมืองแห่งหนึ่ง ได้พบกับชายหนุ่มและภรรยาที่กําลังตั้งครรภ์ของเขา เมื่อสอบถามได้ความว่าเป็นคนกรุงเทพที่เคยทํางานอยู่เหมืองเหนือมาก่อน ตั้งใจมาสมัครเป็นกรรมกรที่เหมืองนี้ และด้วยความที่เป็นคนกรุงเทพด้วยกัน หรือเห็นใจหน้าท้องอันโป่งพองของผู้เป็นภรรยาอย่างไรไม่ทราบ “ข้าพเจ้า” ถึงแสดงอาการเป็นห่วงเป็นใยคู่สมรสคู่นี้อย่างมาก ถึงชั้นภาวนาต่อผีสางเทวดา ขอให้ฝนตกลงมาให้ถนนก็ดี ทํานบกั้นน้ำก็ดี ฟังไปเสียให้ราบ เพื่อที่จะได้มีที่ว่าง ให้ชายคนนี้ไปสมัครงานได้
มองดูผิวเผินแล้ว “ข้าพเจ้า” ช่างมีน้ำใจและห่วงใยต่อคนแปลกหน้าที่ตนเพิ่งจะได้พบพานไม่ถึงวันนัก แต่อะไรคือสิ่งที่ทําให้คนเราหวังดีต่อคนที่ไม่แม้แต่ จะรู้ชื่อแซ่ดี “มนุษย์ทุกคนโดยธรรมชาติมีอัธยาศัยดี” ตามที่ขงจือได้กล่าวไว้นั้นเป็นความจริงหรือ ลองคิดกลับกัน หาก “ข้าพเจ้า” ไม่ได้มีงานประจําเช่นที่ตนทําอยู่นี้ และต้องการสมัครงานในตําแหน่งที่ว่างนั้นเหมือนกัน เขาจะเต็มใจสละที่ว่าง ตรงนั้นให้ชายที่ตกงานและภรรยาท้องของเขามากแค่ไหนกัน
ในวันต่อมานั้น เมื่อนายที่เป็นชาวยุโรปเข้ามาเพื่อลงทะเบียนกรรมกรให้ก็ เกิดเรื่องขึ้นมา ชายที่ตกงานคนนั้น แท้จริงแล้วเป็นแกนนําในการสไตรก์งานที่เมืองเหนือ สร้างความวุ่นวายแก่ที่เหมืองจนโดนปลด และตามปกติแล้วจะมีการ แจ้งรายชื่อไปยังเหมืองอื่นๆ ซึ่งก็จะโดนขึ้นบัญชีดําไม่ให้เข้าทํางานในเหมืองอื่น อีก แต่ปรากฏว่านอกจากนายต่างชาติจะรับเข้าทํางานแล้ว ยังให้เป็นถึงหัวหน้า เวิร์กช็อป เงินเดือนเท่ากับตอนที่ทํางานอยู่เหมืองก่อนหน้านี้ เมื่อถูกถามว่าไม่ กลัวข้อบังคับของสมาคมเหมืองชาวยุโรปหรือ เขาก็ตอบเพียงว่าตนไม่ได้ทําอะไร ผิดข้อบังคับแต่อย่างใด ชายที่สไตรก์งานเมื่อตอนนั้นโสด ไม่มีลูกเมียให้เลี้ยงดู ไม่มีภาระที่ต้องแบกรับหรือเอาไปเสี่ยง แต่บัดนี้เมื่อชายคนนั้นได้แต่งงาน และเขา คิดถึงปากท้องของภรรยาและลูกมากกว่าสิ่งใดแล้ว เขาจึงไม่ใช่ชายคนที่จะกระทําการอย่างไม่คิดหน้าคิดหลังเช่นในตอนนั้นอีก
ด้วยเหตุที่กล่าวมา “มนุษยธรรม” ที่เกิดในเหมืองแร่แห่งนี้ เป็นสิ่งที่ทั้งผู้เขียนและคนส่วนใหญ่เฝ้าฝันให้เกิดขึ้น หากผู้คนมองข้ามกฎเกณฑ์ ข้อบังคับหรือ ขนบบางอย่างไปบ้าง แล้วตัดสินกันจากคุณค่าภายใน ดั่งเช่นว่าเราทุกคนเป็นพลเมืองของโลกใบนี้อย่างเท่าเทียมกัน สังคมก็คงจะมีแต่ความสงบสุข แต่ตัว ละครที่ว่ามาเหล่านี้จัดได้ว่ามีมนุษยธรรมอยู่เต็มเปี่ยมจริง หรือเป็นเพียงความเห็นอกเห็นใจชั่ววูบกัน
หากลองมองในสถานการณ์กลับกันบ้าง ถ้า “ข้าพเจ้า” ก็ตกงานอยู่ และ ต้องการทํางานในตําแหน่งที่ว่างนั้นเช่นกัน ไม่ใช่ว่าเขาจะต้องแย่งชิงตําแหน่งนั้นมาเป็นของตัวเองแทนหรือ แล้วหากนายชาวต่างชาติรู้ว่าตนจะต้องถูกตัดเงินเดือน หรือถึงชั้นโดนคว่ำบาตรจากสมาคมเหมืองหากรับคนที่มีประวัติแบบนั้นเข้ามา เขาจะยังเสี่ยงช่วยเหลือเพราะเห็นอกเห็นใจชายที่ต้องเลี้ยงดูภรรยาและลูกในท้องอยู่หรือไม่ หากพวกเขาไม่สามารถให้ความช่วยเหลือชายคนนั้นได้ ก็แปลว่า พวกเขากลายเป็นคนไร้มนุษยธรรมเช่นนั้นหรือ
บ่อยครั้งเหลือเกินที่เรามักมองว่าการเมินเฉยนั้นก็ไม่ได้ต่างอะไรกับการทําผิดเสียเอง ส่วนคนที่มีน้ำใจช่วยเหลือผู้อื่นก็กลายเป็นผู้มีคุณธรรมสูงส่งไป แต่ท้ายสุดเมื่อมนุษย์ถูกต้อนให้จนมุมแล้ว ใครเล่าจะมัวมาให้ค่ากับความยุติธรรม และคอยหยิบยื่นโอกาสให้แก่ผู้อื่นอีก ไม่ว่าสังคมจะตัดสินความดีชั่วของผู้อื่นด้วยวิธีใดแต่สิ่งที่เป็นธรรมชาติของมนุษย์ ก็เป็นสิ่งที่มนุษย์ต้องยอมรับกันให้ได้เช่นนั้นเอง
ในเหมืองแร่ ว่าด้วยเรื่อง มนุษ(อ) ย่ (า)ธรรม
จากเรื่อง “ในเหมืองแร่มีมนุษยธรรม” ของอาจินต์ ปัญจพรรค์
บทวิจารณ์โดย ภัทรนิษฐ์ เจริญวรรณ
โครงการ อ่าน เขียน เรียนรู้ สู่งานวิจารณ์ ปีที่ 6