บทนำ
“ที่นี่... ไร่เล ชุมชนคนปีนเขา” เป็นสารคดีจากนิตยสารสารคดี ปีที่ ๑๘ ฉบับที่ ๒๑๔ ธันวาคม ๒๕๔๕ เขียนโดย วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง เค้าโครงหลักของสารคดีชิ้นนี้กล่าวถึงการก่อร่างสร้างเป็นกีฬาปีนเขาในพื้นที่ไร่เล ตำบลอ่าวนาง อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ โดยมีประวัติศาสตร์ของกีฬาปีนเขาและความงดงามของธรรมชาติในพื้นที่ไร่เลเป็นองค์ประกอบร่วมของเรื่องเล่า นำไปสู่การเล่าเรื่องประสบการณ์การปีนเขาของผู้เขียน ปิดท้ายด้วยทรรศนะบางประการที่ผู้เขียนชี้ให้เห็นถึงผลที่เกิดขึ้นต่อตัวผู้เขียนจากกีฬาปีนเขา อย่างไรก็ตาม ผู้วิจารณ์เห็นว่าทรรศนะดังกล่าวนั้นสมควรถูกตรวจสอบ อีกทั้งตั้งคำถามค้นหาถึงสาเหตุที่เสียงของใครคนหนึ่ง (หรือมากกว่า) ซึ่งแผ่วเบาและจางหายไป
เสียงใครคนอื่นเขา
วีระศักดิ์ในฐานะผู้เขียนคนนอกพื้นที่เปิดเรื่องโดยตั้งคำถามว่า “เป็นเรื่องที่น่าทำความเข้าใจ ว่าทำไมผู้คนในโลกสมัยใหม่ซึ่งมีสิ่งอำนวยความสะดวกสบายให้เลือกหยิบเลือกหยิบฉวยมาปรนเปรอชีวิตได้อย่างล้นเหลือ จึงเลือกที่จะออกมาผจญภัยความลำบากบนผาหิน ที่มองไม่เห็นผลตอบแทนอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน” (น.1) คำถามดังกล่าวเป็นคำถามต่อปรากฏการณ์ทางสังคมที่น่าสนใจ และเชื้อเชิญให้ผู้อ่านสนใจใคร่รู้เรื่องราวที่ผู้เขียนปรารถนาเล่าเรื่อง ขณะเดียวกันก็อาจเป็นคำถามที่ท้าทายให้ผู้คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในพื้นที่ได้ส่งเสียงให้สังคมรับรู้
ผู้เขียนเล่าว่า “กีฬาปีนเขา (Rock Climbing) เกิดขึ้นแผ่นดินยุโรปกว่า ๑๐๐ ปีมาแล้ว การกำเนิดของมันเกี่ยวเนื่องกับความรุดหน้าของเทคโนโลยีอย่างมิอาจปฏิเสธ ความเจริญด้านอุตสาหกรรม ทำให้คนมั่งคั่งและสะดวกสบายขึ้น แต่มันก็แลกมาด้วยความว้าเหว่แหว่งวิ่นทางจิตใจของคนในสังคม การได้ออกไปผจญกับความยากลำบากบนหน้าผาสูง จึงเป็นทางหนึ่งของการออกไปค้นหาตัวตนและจิตวิญญาณส่วนที่สูญหาย” (น.2) ประวัติศาสตร์กีฬาปีนเขาที่ผู้เขียนได้เล่าชี้ให้เห็นว่า ความเจริญก้าวหน้าของระบบทุนนิยมเป็นปฏิปักษ์กับจิตใจของมนุษย์ ก่อร่างสร้างเป็นกีฬาปีนเขาเพื่อเสาะแสวงหาตัวตนและจิตวิญญาณตามสำนึกมนุษยนิยม เช่นเดียวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ไร่เล“นักปีนเขาชาวอเมริกันกลุ่มใหญ่ นำโดย Todd Skinner มาสำรวจบุกเบิกเส้นทางปีนเขาที่ไร่เลอย่างจริงจัง และมีการบันทึกทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวกลับไปด้วยภาพผาหินท่ามกลางทิวทัศน์ชายทะเลอันพิสุทธิ์และงดงาม ถูกเผยแพร่ออกไปอย่างกว้างขวาง หลังจากนั้นนักปีนผาจากทั่วทุกมุมโลกก็ทยอยกันมาเยือนไร่เลอย่างคึกคัก” (น.1) เหตุการณ์ส่งผลให้ไร่เลกลายเป็นพื้นที่ปีนเขาเพื่อเสาะแสวงหาตัวตนและจิตวิญญาณของผู้คนอันมีสำนึกมนุษยนิยมซึ่งเหนื่อยล้าจากระบบเศรษฐกิจ
หลังจากนั้นผู้เขียนเล่าว่า “ทุกวันนี้ ชื่อของไร่เลเป็นที่รู้จักของนักปีนผาทั่วโลก นิตยสารเกี่ยวกับการกีฬาและการผจญภัยกลางแจ้งระดับโลกเกือบทุกเล่มเคยตีพิมพ์เรื่องของไร่เล” (น.4) ตัวบทดังกล่าวของผู้เขียนชี้ให้เห็นว่า “ไร่เล” กลายเป็นพื้นที่อันมีชื่อในระบบอุตสาหกรรมท่องเที่ยวกีฬาปีนเขาในระดับโลก
ผู้เขียนเล่าข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์ต่อไปอีกว่า“ที่ไร่เล กิจการร้านอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับการปีนเขาทั้งหมด มีเจ้าของเป็นคนไทย แต่ผู้มาใช้บริการกลับตรงกันข้าม ทุกร้านให้ข้อมูลตรงกันว่าลูกค้าส่วนใหญ่ถึง ๙๐-๙๕ เปอร์เซ็นต์ เป็นฝรั่งต่างชาติ ตามหน้าผาต่าง ๆ จึงเห็นแต่มนุษย์ตุ๊กแกผิวขาวผมทองไต่ไปบนผาหินอย่างสำราญ ราวกับว่าบนยอดเขาเป็นโลกที่พวกเขาฝันหา” (น.5) ข้อมูลดังกล่าวเป็นเสียงของผู้ประกอบกิจการเกี่ยวกับกีฬาปีนเขาซึ่งชี้ให้เห็นว่า พื้นที่ไร่เลเกลื่อนกลาดดาษดื่นด้วยชาวต่างชาติที่แสวงหาความสุขให้ตนจากกีฬาดังกล่าว
ภายหลังจากการท้าทายให้ปีนเขาของศรุตที่มีต่อผู้เขียนสารคดีเรื่องนี้ ก็ได้นำไปสู่การปีนเขาจริงและในท้ายที่สุด ผู้เขียนได้แสดงทรรศนะไว้ว่า
“นานมากแล้วที่ผมไม่ต้องต่อสู้กับอะไรเลย ความบริบูรณ์ของชีวิตในเมือง พร้อมจะตอบสนองความต้องการให้เราได้ทุกอย่าง เพียงมีอำนาจซื้อ แต่สังคมบริโภคนิยมเลี้ยงเราให้เติบโตแต่เพียงร่างกาย ขณะที่หัวใจลีบเล็กลงทุกวัน
ลงกลับจากผาไดมอนด์วันนั้น เพิ่งรู้สึกว่าหัวใจของผมใหญ่ขึ้นมาบ้าง” (น.10)
จากข้างต้นทั้งหมดเห็นได้ว่าวาทกรรมพื้นที่ไร่เลปรากฏในสารคดีโดยส่วนใหญ่แล้ว เป็นวาทกรรมของคนนอกพื้นที่ตั้งแต่กีฬาปีนเขาผู้มีความร่ำรวยและอำนาจทางเศรษฐกิจมากเพียงพอเพื่อเอาชีวิตรอด ในขณะใฝ่หาความสุขด้วยการปลีกวิเวกหนีความเป็นเมืองเช่นสมณโคดม รวมถึงวาทกรรมของระบบอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวโดยสร้างความหมายพื้นที่ผ่านนิตยสาร แต่วาทกรรมพื้นที่ไร่เลของคนในพื้นที่ที่ปรากฏในสารคดี มีทรรศนะการให้ความหมายโดยเจ้าของกิจการร้านอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับการปีนเขาเพียงเท่านั้น นำไปสู่ข้อวิจารณ์หลักต่อสารคดีเรื่องนี้ว่า “เสียง(วาทกรรม)ของใครหนึ่ง(หรือมากกว่า) ช่างแสนแผ่วเบาและจางหายไป...”
เสียงของใครหนึ่ง (หรือมากกว่า) หายไปหรือ?
“สิ่งที่น่าเศร้าคือ ผู้มีอำนาจและมีบทบาทในการนำพาบ้านเมืองทั้งในระดับท้องถิ่น ไปจนถึงระดับประเทศ ไม่เคยสนใจไยดีที่จะสนับสนุนส่งเสริมการกีฬาในแขนงนี้เลย ปีนผา จึงยังเป็นเกมกีฬาเถื่อนที่หลุดลอยอยู่นอกทำเนียบการกีฬาของประเทศไทย
ไร่เลอุดมไปด้วยนักปีนเขามีฝีมือ แต่เป็นเหมือนคนชายขอบที่ไม่ถูกนับถือ” (น.5)
ผู้เขียนได้กล่าวถึงรัฐไทยกับกีฬาปีนได้อย่างน่าสนใจ ชี้ให้เห็นว่ารัฐไทยไม่ดำเนินการให้กีฬาปีนเขาเป็นกีฬาในระบบ โดยผู้เขียนกว่าถึงเหตุผลไว้ว่า “ด้านองค์กรส่วนท้องถิ่นก็ยังไม่มีหน่วยงานไหนสนใจเข้ามาดูแลอย่างจริงจัง ทั้งนี้อาจเนื่องจากว่า เมื่อมองอย่างผิวเผินกีฬาปีนเขาดูอันตราย น่ากลัว เหมือนการละเล่นอันไร้สาระของคนบ้าบิ่น เป็นเกมกีฬาของผู้ก้าวร้าว ดุดัน จึงอยู่นอกสายตาของราชการที่จะใส่ใจส่งเสริม” (น.4) ตัวบทดังกล่าวซึ่งเป็นความเห็นของเห็นผู้เขียนสารคดีเรื่องนี้ที่พยายามชี้ให้เห็นว่า รัฐไทยไม่ได้สนับสนุนกีฬาปีนเขา อย่างไรก็ตาม ความเห็นดังกล่าวไม่อาจอธิบายเสียง(วาทกรรม)ของรัฐไทยได้ชัดเจนมากนัก หากมีตัวบท ถ้อยแถลง หรือการกระทำจากรัฐที่สนับสนุนความเห็นดังกล่าวประกอบด้วย จะทำให้เสียง(วาทกรรม)ที่แผ่วเบาของรัฐนี้ชัดเจนมากขึ้น
นอกจากเสียง (วาทกรรม) ของรัฐที่แผ่วเบาแล้วนั้น ผู้เขียนเรื่องนี้กลับตกหล่นการเก็บเสียง (วาทกรรม) ของคนในพื้นที่ซึ่งไม่ได้ประกอบกิจการอันเกี่ยวกับกีฬาปีนเขาไปอย่างเสียดาย ผู้เขียนแสดงความเห็นไว้เพียงว่า “เป็นเรื่องน่าเสียดายอยู่เหมือนกัน ที่เจ้าของถิ่นยังไม่สนใจที่จะหันมาใช้ประโยชน์ และสร้างคุณค่าจากทรัพยากรในบ้านของตัวเอง” (น.5) ซึ่งผู้เขียนกลับไม่ได้แสดงตัวบทที่ชี้ให้เห็นว่าปรากฏการไต่ถามให้ได้ความจากคนในพื้นที่ว่าเหตุใดเขาเหล่านั้นจึงไม่ได้ประกอบกิจการอันเกี่ยวกับกีฬาปีนเขา อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผู้เขียนจะไม่ได้ชี้ให้เห็นว่าตนรับฟังเสียงของคนกลุ่มดังกล่าว แต่ก็ยังคงมีจริยธรรมบางประการที่น่าชื่นชม เขากล่าวว่า “มันไม่ใช่ความผิดของเขา เพราะที่ผ่านมายังไม่เคยมีใครใส่ใจให้ความรู้-กระตุ้นความสนใจให้เขาเลย ที่ผ่านมาคนส่วนใหญ่ล้วนได้ยินชื่อไร่เล ผ่านทางเอกสารและรายการที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นข้อมูลด้านการท่องเที่ยวที่มุ่งเสพความสนุกสนานเพียงครู่คราว มากกว่าทำความเข้าใจถึงปรัชญาสาระในเชิงลึก” ตัวบทนี้เป็นการให้ความเห็นที่ไม่ได้กล่าวโทษปัจเจกชนเหล่านั้น หากแต่เป็นการชี้ให้เห็นว่าระบบของการให้ความรู้ในสังคมมีปัญหา แต่ก็น่าเสียดายอีกเช่นเคยที่เราไม่อาจรับรู้รายละเอียดของความเห็นนี้จากผู้เขียน
สรุป: ที่นี่... สารคดีเรื่องนี้... สำเร็จหรือไม่?
ท้ายที่สุดของบทวิจารณ์ฉบับนี้ ผู้เขียนบทวิจารณ์ต้องการนำเสนอว่าสารคดีที่มีความเกี่ยวข้องกับผู้คนในเรื่องใดเรื่องหนึ่งของพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งหนึ่ง จำเป็นอาศัยเสียงของผู้คนซึ่งแวดล้อมเกี่ยวข้องกับเรื่องหนึ่งเรื่องนั้นในพื้นที่หนึ่งพื้นที่นั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งแล้วเมื่ออาศัยแว่นมองเชิงวาทกรรม จะเห็นถึงข้อบกพร่องเรื่องเสียงที่ขาดหายไปได้อย่างได้ดี หรืออาจกล่าวได้ว่าสารคดีเรื่องนี้ไม่อาจกล่าวได้ว่าเป็นสารคดีที่สมบูรณ์ได้มากนัก อย่างไรก็ตาม หากผู้อ่านประสงค์ดื่มด่ำกับกลวิธีทางภาษาและเรื่องเล่า จะอาจประเมินสารคดีชิ้นนี้ได้แตกต่างไปจากการนำเสนอของผู้วิจารณ์
ใครใคร่อ่านอ่าน... ใครใคร่เขียนเขียน... ใครใคร่วิจารณ์วิจารณ์...
บทวิจารณ์โดย ชัยวัฒน์ ท่ากั่ว
โครงการอ่าน เขียน เรียนรู้ สู่งานวิจารณ์วรรณกรรม ปีที่ 8