ภาวะผลิบาน : ความนัยใจกวี
หากเปรียบต้นไม้เป็นสังคม ส่วนของดอกไม้ย่อมเป็นดั่งกวีและงานเขียนที่ผลิตผลงอกงามสู่สาธารณะ พร้อมทั้งประกอบสร้างให้ต้นไม้มีชีวิตชีวาอันเป็นส่วนสำคัญที่แสดงว่า ต้นไม้ยังมีลมหายใจ ดังที่หนึ่งในดอกไม้ อย่างบทกวีเรื่อง “ภาวะผลิบาน” แสดงวัฏจักรการเติบโตของดอกไม้ที่เปรียบเทียบกับกระบวนการสร้างสรรค์ งานเขียนอย่่างละเอียดอ่อนและนุ่มนวล พร้อมทั้งแทรกแนวคิดการแสดงอัตลักษณ์ในงานวรรณกรรม จนปรากฏ เป็นภาพกวีที่เขียนบทกวีเพื่อสัมผัสใจกวีแก่สายตาผู้อ่าน
บทกวี “ภาวะผลิบาน” เป็นกลอนฉันทลักษณ์ประเภทกลอนสุภาพ และใช้จังหวะการแบ่งคำตามธรรมดา สามัญ คือ 3-2-3 และ 3-3-3 แต่ก็เป็นเพราะความธรรมดานี้เองที่ทำให้ได้ยินเสียงอ่อนโยนของกวีผ่านตัวอักษร อยู่ตลอดการอ่าน กวีเลือกนำเสนอขั้นตอนการรังสรรค์ผลงานวรรณศิลป์โดยการหยิบยกวัตถุดิบใกล้ตัว คือ ดอกไม้ เพื่อนำมาเป็นภาพแทนกระบวนการต่าง ๆ ดังในบาท
“เตรียมความหอมพร้อมรินกินแสงเดือน
เตรียมไหวเคลื่อนก้าวใหม่ไม่เชือนแช”
ในบาทข้างต้นแสดงภาพของดอกไม้ที่กำลังจะแบ่งบานพร้อมเปิดอ้ารับแสงจันทร์ในเร็ววัน เพื่อสื่อถึงงานเขียน ที่ใกล้จะเสร็จสิ้นสมบูรณ์และพร้อมเป็นสมบัติของสาธารณชน
นอกเหนือจากจังหวะการแบ่งคำที่ธรรมดาแล้ว บทกวีชิ้นนี้ยังปรากฏลักษณะการใช้ถ้อยคำธรรมดา ทว่าสามารถสร้างจินตภาพให้แก่ผู้อ่านได้เป็นอย่างดี โดยอาศัยกลวิธีในรูปแบบต่าง ๆ แทน ได้แก่ การเล่นคำซ้ำ การใช้บุคคลวัต (การให้สิ่งไม่มีชีวิตหรือสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น ๆ กระทำ กริยาอาการของมนุษย์) การใช้สัมผัสอักษร และการใช้คำที่เป็นปฏิพากย์หรือคำตรงข้ามกันในวรรคเดียวกัน ดังในบทต่อไปนี้
“ทีละถ้อยทีละคำลงหล่นร่วง
รินจากดวงหฤทัยซ่านไปทั่ว
เป็นประโยคพร่างพรายไหลระรัว
ที่หม่นมัวสว่างเพริด เปิดฟ้าพลัน”
ในวรรคแรกกวีเล่นคำซ้ำเพื่อแสดงภาพจังหวะที่กำลังจรดปลายปากกาลงกระดาษ และยังแสดงลักษณะของ บุคคลวัตในการเขียนให้ “คำ” ซึ่งไม่ใช่มนุษย์กลับลงหล่นร่วง เป็นผลมาจากการที่กวีต้องการให้งานมีความ รู้สึกที่อ่อนนุ่มและสร้างภาพเคลื่อนไหวให้แก่ผู้อ่าน และในวรรคสุดท้ายปรากฏการใช้ปฏิพากย์อย่างชัดเจน เพื่อแสดงถึงการปรับเปลี่ยนสภาพไปจากเดิมและกวีอาจกำลังพยายามจะสื่อนัยยะบางอย่างอีกด้วย กล่าวคือ เมื่อบทกวีถือกำเนิดขึ้น ฟ้าก็สว่างขึ้นทันใด แสดงถึงอิทธิพลของงานเขียนที่มีส่วนในการจรรโลงโลกและสังคม ให้ดียิ่งขึ้นได้ ซึ่งจะสอดคล้องกับเนื้อหาที่กล่าวไปในบทนำข้างต้น
บทกวีชิ้นนี้ยังสอดแทรกแนวคิดที่น่าสนใจประเด็นหนึ่ง ได้แก่ แนวคิดการแสดงอัตลักษณ์ในงาน วรรณกรรม ซึ่งหมายถึงการนำเสนอผลงานผ่านอัตลักษณ์ความเป็นตัวตน ประสบการณ์ ทัศนคติที่แตกต่าง กันของผู้เขียน ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างผลงานที่มีเนื้อความ จังหวะของคำ และลักษณะการใช้คำที่แตกต่างกัน
ดังในบทต่อไปนี้ ที่กวีเชื่อว่างานเขียนคือสิ่งที่ผู้เขียนต้องหลอมรวมความเป็นตัวเองลงไปในผลงาน เพื่อแสดง ลายเซ็นหรืออัตลักษณ์ของตนเองได้ดีที่สุด
“เป็นตัวตนเป็นดวงใจเป็นนับถ้อย
ที่เรียงร้อยสรรพสร้างจากกลางหน
เป็นงานเขียนฉายฉานบรรสานกมล
ที่ก้าวจากปัจเจกชนสู่สาธารณ์”
และแม้ในภาพรวมของบทนี้จะนำเสนอแนวคิดที่น่าสนใจ แต่กลับมีจุดที่ทำให้ตั้งข้อสังเกตเล็กน้อยตรงคำว่า “สาธารณ์” ซึ่งเข้าใจว่ากวีต้องการสื่อถึงคำว่า “สาธารณะ” แต่โดยทั่วไปคำดังกล่าวหมายความว่า “ต่ำช้า” ส่งผลให้คำขัดกับเนื้อหาโดยภาพรวมและสูญเสียอารมณ์เชิงบวกของงานเขียนไปชั่วขณะ อาจส่งผลในเชิงบวก มากขึ้นหากกวีปรับเปลี่ยนคำให้เหมาะสมและปรับเปลี่ยนสัมผัสให้ลงจังหวะ
ในบทกวีชิ้นนี้ยังมีโครงสร้างการเล่าเรื่องที่ไม่ค่อยพบในงานบทกวีเชิงอุปมาบ่อยนัก กล่าวคือ แทนที่กวี จะกล่าวถึงดอกไม้เพื่อสร้างภาพแทนตลอดทั้งเรื่อง กวีกลับเขียนความหมายนัยตรงของเรื่องอย่างรวดเร็วในส่วน กลางของเนื้อเรื่อง ซึ่งอาจเป็นเพราะกวีต้องการให้ผู้อ่านเข้าใจเนื้อหาอย่างถ่องแท้ แต่ก็ต้องการคงลักษณะเชิง วรรณศิลป์ที่แสดงถึงปฏิภาณของกวีไว้ด้วย จึงออกมาเป็นภาพดังกล่าว
“เป็นภาวะขณะดอกไม้ใกล้จะบาน
ใจเร่งอ่านใจในให้แน่วแน่
ตาขยับจับภาพซาบดวงแด
อักษรแผ่อักษรผายขยายตัว”
เนื้อหาโดยภาพรวมมีความเป็นเอกภาพและนำเสนอแนวคิดหลักของกวีได้ดี คือ มนุษย์สามารถแสดง อัตลักษณ์หรือความเป็นตัวตนได้ผ่านงานวรรณกรรม ดังที่สัมผัสได้จากทุกตัวอักษร ทุกถ้อยคำ ทุกน้ำเสียง ของกวี ซึ่งนับว่าได้นำเสนอแนวคิดพร้อมทั้งแสดงตัวอย่างที่ดีไปในเวลาเดียวกัน
เพราะกวีรักในสิ่งที่เขียนและเขียนในสิ่งที่รัก ผลงาน “ภาวะผลิบาน” จึงเป็นดั่งดอกไม้ดอกหนึ่งที่จะ ช่วยปลอบประโลมทุรยุค กล่อมขวัญจิตใจคนยามทุกข์ยาก และยังเป็นงานชิ้นสำคัญที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจ และเป็นกระบอกเสียงให้เหล่ากวี ผู้ที่รักงานเขียน ตลอดจนปุถุชนคนธรรมดาได้รับรู้ “การมีอยู่ของกวี” ใน สังคมปัจจุบัน
โดย นางสาวศรินยานันท์ จันทร์รุ่ง
โครงการ อ่าน เขียน เรียนรู้ สู่ งานวิจารณ์ ปีที่ 10