ใครทำสะพานขาด : การนำเสนอผลกระทบของสงครามผ่านการปะทะกันของคู่ขัดแย้ง"
อย่างเร่งรีบแต่ดูสงบนิ่ง เครื่องยนต์ครางหนัก ๆ ทว่าดูเหมือนทุกสรรพสิ่งเงียบงัน (130)"
ท่านผู้อ่านคงไม่คิดว่าประโยคข้างต้นที่ยกมาจากเรื่องสั้น สะพานขาด (2567) จะมีความสลักสำคัญอะไร ทั้งไม่ใช่วรรคทองและไม่ใช่ประโยคใจความสำคัญ สิ่งเดียวที่อาจปรากฏขึ้นในความคิดของท่าน ตอนนี้คือประโยคดังกล่าวช่าง"ย้อนแย้ง" เสียเหลือเกิน หากแต่คำว่า"ย้อนแย้ง" นี่แหละจะเป็นประเด็นสำคัญที่ปรากฏตลอดทั้งเรื่อง
สะพานขาด (2567) ของกนกพงศ์ สงสมพันธุ์ เล่าเรื่องราวของสงครามผ่านมุมองของชายทหารหนุ่ม โดยมีการเล่าสลับเรื่องราวในวัยเด็กและเรื่องราวในวัยผู้ใหญ่ของตัวละคร ตลอดเรื่องปรากฏสัญญะต่าง ๆ มากมายที่สามารตีความได้หลากหลายแนวทาง แต่ในบทวิจารณ์ชิ้นนี้จะมุ่งเน้นไปที่การปะทะกันของคู่ขัดเเข้งหรือคู่ตรงข้าม ซึ่งจะสะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบของสงคราม
ทหารหนุ่มกับหญิงชรา : การปะทะกันของอำนาจรัฐและอำนาจประชาชน
ประเด็นแรกที่ปรากฏให้เห็นชัดในตัวบทคือ การใช้ตัวละครสองตัวเพื่อเป็นตัวแทนของอำนาจในฝั่งที่อยู่ตรงข้ามกัน ทหารหนุ่มเป็นตัวแทนของอำนาจรัฐ ในขณะที่หญิงชราเป็นตัวแทนของอำนาจประชาชนจะเห็นได้ว่าการหยิบยกบทนำ "หญิงชรา" มานั้นเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงบุคคลที่ตกอยู่ในสภาวะชายขอบอย่างมากที่สุดและเป็นกลุ่มคนที่มีอำนาจน้อยที่สุดในสังคมในทางตรงกันข้ามกัน "ทหารหนุ่ม" ซึ่งเป็นภาพสะท้อนของความเป็นผู้ชายและความหนุ่มแน่นกลับกลายเป็นตัวแทนที่สะท้อนถึงอำนาจของรัฐ จึงทำให้สามารถตีความได้ว่าผู้เขียนกำลังจะบอกเป็นนัยว่าอำนาจของรัฐทรงพลังยิ่งกว่าอำนาจของประชาชน
ผู้เขียนสะท้อนการต่อสู้ของประชาชนผ่านตัวละครทั้งสองตัว ได้แก่ ป้าเคล้า และหญิงชราผ่านพื้นที่นาข้าว จุดร่วมของตัวละครหญิงชราทั้งสองตัวละครอยู่ที่ความพยายามในการปกป้องพื้นที่นาข้าว ซึ่งเป็นพื้นที่ทำมาหากินของตนเอง จากตัวบทกลอนหนึ่งที่บรรยายว่า "หญิงชรายังยืนกางมือหรา ร่างของแกสั่นเทา แต่ผมเห็น...นัยน์ตาแกกลับเปล่งประกายเจิดจ้า...รถหุ้มเกราะและซึเอ็มชี.กว่ายี่สิบค้นพร้อมจะบดขยี้แกในวินาทีนี้ (138)" ตัวบทดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความพยายามดิ้นรนอย่างถึงที่สุดของตัวละครที่ไร้อำนาจเพื่อต่อสู้กับอำนาจที่ยิ่งใหญ่กว่าตนเองมาก ทว่าในท้ายที่สุดแล้วหญิงชราทั้งสองต่างไม่สามารถรักษานาข้าวของตนเองได้เลย ซึ่งอาจสะท้อนให้เห็นถึงความพ่ายเเพ้ของอำนาจประชาชนต่ออำนาจของรัฐ ด้วยเหตุนี้ประชาชนจึงมีสภาพไม่ต่างไปจากนาข้าวที่ถูกเหยียบย่ำจนแหลก ซึ่งเป็นหนึ่งในผลผลกระทบโดยตรงจากสงคราม
สงครามจริงของผู้ใหญ่และสงครามสมมติของเด็ก : การปะทะกันของความจริงและความลวงของภาพความโหดร้ายของสงคราม
สงครามสมมติเป็นภาพการละเล่นของเด็กที่ "เลียนแบบ" ภาพความโหดร้ายรุนแรงของสงคราม หากแต่ตัวผู้เล่าเรื่องผู้เป็นนายทหารหนุ่มกลับย้อนความให้เห็นว่าในตอนที่เขาเป็นเด็ก "สงครามสมมติได้เกิดขึ้น มีคนล้มตาย มีเด็ก ๆ ล้มตาย แต่พวกผู้ใหญ่ไม่ว่ากระไร (125)"
ภาพความโหดร้ายแบบ"ลวง ๆ" นี้ไม่ได้ไปสะกิดใจของผู้ใหญ่คนไหนให้ไปตักเตือน ราวกับว่าการละเล่นดังกล่าวเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ และจะถูกผลิตซ้ำต่อไป
"เรามีปืนจริง มีกระสุนจริง และมีความตายจริง ๆ เรามีสิ่งนี้ให้แก่กัน เรามีสิ่งนี้ให้แก่เพื่อนและไม่มีใครคลานเข้ามาเพื่อเอื้อมมือมาแตะเรา เมื่อเราล้มลง (125)"
เช่นเดียวกันกับสงครามของผู้ใหญ่ ที่ถึงแม้ว่าจะเป็นภาพความโหดร้ายที่เกิดขึ้นจริง ทว่าหากประชาชนเห็นอย่างชินตาไปแล้ว มันก็จะกลายเป็นภาพทั่วไปที่ถูกเมินเฉย เช่นเดียวกับในตัวบทตอนหนึ่งว่า
"รถบรรทุกทหารผ่านไปบนถนนสายนี้ครั้งแล้วครั้งเล่าในแต่ละวันและวันแล้ววันเล่าในเเต่ละขวบปี สิ่งเหล่านี้ได้สร้างความรู้สึกอันใด?...หากมิใช่ความรู้สึกคุ้นเคยเหมือนหนึ่งว่ารถของพ่อค้าแม่ขายซึ่งบรรทุกพืชผลไปสู่ตลาดสด...พวกเขาต่างลืมไปกระมังว่าสินค้าซึ่งบรรทุกในขบวนของเรานี้ คืออาวุธสงคราม (131)"
ตัวบทที่ยกมาทั้งสองแม้จะสะท้อนภาพความโหดร้ายที่จริงลวงแตกต่างกัน หากแต่ปฏิกิริยาของผู้ที่อยู่รอบข้างกลับเหมือนกัน นั่นก็คือท่าทีเฉยเมยการกระทำนั้น การบรรยายดังกล่าวอาจสะท้อนให้เห็นถึงการฝั่งรากลึกของภาพความโรคร้ายจนกลายเป็นความธรรมดาสามัญที่สามารถเห็นได้ทั่วไป อาจตีความได้ว่า
ผู้เขียนกำลังชี้ให้เห็นถึงความเป็นจริงในปัจจุบันที่ผู้คนส่วนมากเลือกจะวางเฉยต่อความโหดร้ายรุนแรงเพราะคิดว่าสงครามที่เกิดขึ้นนั้นเป็นสิ่งที่ใหญ่เกินกว่าที่พวกเขาจะสามารถหยุดยั้งด้วยตัวคนเดียวได้ อาจกล่าวได้ว่าการลดทอนมนุษยธรรมของมนุษย์ที่เกิดขึ้นนี้ถือเป็นผลกระทบทางอ้อมของสงคราม
ความขัดแย้งในตัวเอง (self-comlict) ของผู้เล่าเรื่องเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ปรากฏตลอดตัวบท จะเห็นได้ว่าเขามักมีการโหยหาอดีต (nostgia) ด้วยการเล่าเรื่องวัยเด็กของเขา โดยบรรยายถึงความรู้สึกในตอนหนึ่งว่า"วันหนึ่งเราก็ถูกผลักกระเด็นออกไป...ไกลจนมิรู้จักหนทางหวนกลับคงเหลือเพียงกลิ่นที่พัด โชยเข้ามาให้ข้อนรำลึกถึงภาพวันเก่า ๆ เป็นครั้งคราว....(126)"
รุ้งนกา ยรรยงเกษมสุข (2555) ได้เสนอว่า "การโหยหาอดีตเป็นปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นในสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และสภาพสังคมที่เต็มไปด้วยปัญหาไม่น่าอยู่ ผู้คนจึงต้องการหลีกหนีจากความเป็นจริงในปัจจุบัน ด้วยการแสวงหาชีวิตความเป็นอยู่ในอดีตที่รู้สึกว่าดึกว่าในปัจจุบัน" (รุ้งนกา ยรรยงเกษมสุข, 2555) ดังนั้นแล้วการโหยหาอดีตอาจจะสะท้อนถึงสภาวะภายในจิตใจปัจจุบันของผู้เล่าเรื่องว่ารู้สึกไม่ชอบชีวิตที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
อีกเหตุผลที่สนับสนุนสาเหตุของการโหยหาอดีตดังกล่าวคือการที่ผู้เล่าเรื่องแสดงออกว่าเขาไม่ปรารถนาที่จะทำอาชีพทหารที่เขาเคยอยากเป็นเมื่อตอนเด็ก ดังที่เขาดูถูกอาชีพของตัวเองไว้ว่า "หากการเป็นทหารคือการสวมเครื่องแบบแล้วถือปืนออกไปฆ่า โรงเรียนก็ไม่ใช่สิ่งจำเป็น (126)"
อย่างไรก็ตาม แม้ใจหนึ่งเขาจะตั้งคำถามเกี่ยวกับการทำอาชีพทหารของตัวเอง แต่เขาก็ไม่สามารถที่จะละทิ้งหน้าที่ทหารได้ เหตุการณ์นี้สะท้อนให้เห็นถึงสภาวะสับสนที่เกิดจากการปะทะกันของความขัดแย้งในตัวตน และความขัดแข็งระหว่างหมวกสองใบที่ตัวผู้เล่าเรื่องสวมอยู่ซึ่งมีหน้าที่กำหนดหน้าที่ของเขา ซึ่งก็คือการที่เขาต้องทำตามหน้าที่โดยการออกไปสู้รบในฐานะทหาร แต่ในทางกลับกันการจะออกไปสู้รบของเขานั้นก็กำลังทำลายชีวิตของประชาชนไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
"ถ้าไม่เป็นเพราะพืชผักเหล่านั้นคือชีวิตจิตใจทั้งหมดของชาวบ้าน ที่แม้เท้าแห่งสงฆ์ก็ไม่มีสิทธิ์อันใดจะไปย่ำเหยียบ ในนามของศาสนายังยกย่องสิ่งนี้อยู่หรือ ในนามของกองทัพประเทศเล่า...กองกำลังเหนือกว่าศาสนากระนั้นหรือ (137)"
การที่เขาต้องสู้รบกับสงครามภายในจิตใจควบคู่ไปกับสงครามภายนอกนี้ถือเป็นอีกลักษณะหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นสภาพจิตใจของทหารที่เกิดจากผลกระทบของสงคราม
กล่าวโดยสรุปแล้ว สะพานขาด (2561) สะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบของสงครามต่อบุคคลทั้งสองกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นประชาชนธรรมดาหรือทหารที่ทำสงครามเอง โดยการใช้การปะทะกันของสองสิ่งที่ย้อนแย้งหรือตรงข้ามกัน ซึ่งการปะทะกันเหล่านี้ได้เกิดขึ้นจนถึงจุดแตกหักหรืออาจเรียกได้ว่าเป็นจุดที่ "สะพานขาด" ลงมาแล้ว
รายการอ้างอิง
รุ้งนภา ธรรยงเกษมสุข.(25555). การโหยหาอดีด ความเป็นอดีตในสังคมสมัยใหม่. วารสารการเมือง การบริหารและกฎหมาย, 4(2), 133-145.
กนกพงศ์ สงสมพันธุ์, (2561). สะพานขาด. นาคร
บทวิจารณ์โดย ณิชาภา หิมารัตน์
โครงการ อ่าน เขียน เรียนรู้ สู่ งานวิจารณ์