เมื่อกาลชรามาเยือน: ความไม่แน่นอนและการเปลี่ยนแปลงของชีวิตภายใต้ภาวะความชรา : บทวิจารณ์โดย ศึกษา สหุนาลุ

เมื่อกาลชรามาเยือน: ความไม่แน่นอนและการเปลี่ยนแปลงของชีวิตภายใต้ภาวะความชรา

เกิด...

แก่....

เจ็บ...

ตาย...

เกิด...

แก่...

เจ็บ...

ตาย...

...

         คือ วัฏจักรของสรรพสิ่ง คือ ความจริงของชีวิตที่ไม่ว่าใครหน้าไหนก็ไม่สามารถหลีกหนีวงจรนี้ไปได้ สิ่งมีชีวิตทุกชนิดเริ่มต้นด้วยการเกิดขึ้นมา แล้วกาลเวลาจึงแปรเปลี่ยนสภาพให้เก่าลงและล้มหายตายจากไปในที่สุด ชีวิตมนุษย์ไม่เที่ยงหนอ... ตามหลักพระพุทธศาสนา วงจรนี้อธิบายได้ด้วยกฎไตรลักษณ์ คือ ลักษณะที่เป็น ความจริงของทุกสรรพสิ่ง ที่มีความไม่แน่นอน เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา มีสภาพบีบคั้นที่ทําให้เป็นทุกข์ และมีลักษณะที่เป็นความว่างเปล่า ไม่มีตัวตน ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องธรรมดาซึ่งถ้าเปรียบเป็นยาก็คงเป็นยาสามัญประจําบ้าน ส่วนวงจรนี้ก็คงเป็นวงจรสามัญประจําชีวิต

        ในบทกวีเรื่อง “ชรากาล ที่น่ารัก” ซึ่งเป็นผลงานของชมัยภร บางคมบาง ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ประจําปีพ.ศ. ๒๕๕๗ ก็ได้กล่าวถึง “ความชรา” หรือความแก่ ที่เป็นหนึ่งในวงจรของชีวิตเอาไว้ วงจรนี้มี “ความแน่วแน่ไม่แปรปรวน” กล่าวคือ เป็นหลักความจริงที่มั่นคง ไม่เปลี่ยนแปลงและเป็นภาวะที่เราต้อง “ยอม” ให้เกิดขึ้นกับตัวเราทุกคน

เส้น-สายบนใบหน้า เมื่อความชรามาเยือน

         ในตอนแรกของบทกวีได้กล่าวถึงลักษณะที่สําคัญอย่างหนึ่งของมนุษย์เมื่อค่อย ๆ ย่างเข้าสู่วัยชรา การเปลี่ยนแปลงเข้าสู่วัยนี้มักจะมาพร้อมกับเส้นและสายบนใบหน้าหรือเรียกง่าย ๆ ว่า “ตีนกา” ที่เปรียบดั่ง สัญลักษณ์ของการเปลี่ยนแปลง โดยจะเห็นได้จากบทที่ว่า

                                                                   “เธอค่อยค่อยลีลามาทีละเส้น          เธอค่อยค่อยหลีกเร้นมาทีละสาย

                                                            มาเตือนตรงมาเตือนอ้อมมาล้อมราย       จนชัดฉายแน่นหนักบนพักตรา”

         คําว่า “เธอ” ในที่นี้หมายถึง “ความชรา” ซึ่งจะทราบได้จากบทกวีในตอนท้ายที่ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า “เธอนามว่าชรากาลบันดาลใจ เธอนามว่าชรากาลบันดาลจริง” ดังนั้นเมื่อทราบแล้วว่าเธอคือความชรา จะทําให้ เราทราบต่อไปอีกว่า เมื่อความชรา “ค่อยค่อยลีลา” หรือเยื้องกรายมาเข้าใกล้มนุษย์ และ “ค่อยค่อยหลีกเร้น” คือ เกิดขึ้นมาแบบไม่ทันได้ตั้งตัว ความชราจะนําบางสิ่ง “มาทีละเส้น” และ “มาทีละสาย” ให้มาปรากฏ “จนชัดฉายแน่นหนักบนพักตรา” กล่าวคือ เส้นสายเหล่านั้นจะค่อย ๆ โผล่ขึ้นมาทีละนิดจนเป็นรวรอยทั่วใบหน้า และเส้นสายหรือริ้วรอยเหล่านี้เกิดขึ้นมาเพื่อเป็นการเตือนทั้งทางตรงและทางอ้อมว่าบัดนี้ บุคคลที่มีริ้วร้อยเหล่านั้นได้ขยับเข้าไปใกล้ความชรามากกว่าเดิมอีกก้าวแล้ว

ฉันยอมเธอทุกอย่างกระจ่างชัด: ภาวะที่ยืนยันว่าความชราได้เกิดขึ้น

        เมื่อสัญลักษณ์ของความชราได้มาเตือนและ “ปรากฏจนชัดฉายแน่นหนักบนพักตรา” เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ภาวะต่าง ๆ ของร่างกายก็จะค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ และเป็นไปอย่างที่เราทุกคนเองต้อง “ยอม” ให้เกิดขึ้น เพราะริ้วรอยเหล่านั้นเป็นเครื่องยืนยันอย่างแน่ชัดว่าเรากําลังเข้าสู่วัยชรา เราจะเห็น การ “ยอม” นี่ปรากฏชัดเจนในตอนที่ว่า

                                                      “ยอมเป็นใครคนหนึ่งซึ่งเดินช้า          ยอมเป็นคนอ่อนล้าซึ่งหลังค่อม

                                              ยอมเป็นคนผมขาวเป็นเงาย้อม                  ยอมเป็นคนที่พรอมจะเอนล้ม

                                              ยอมเป็นคนอ่อนแอเหมือนแพ้พ่าย             ยอมเป็นคนง่ายง่ายไม่กดข่ม

                                              ยอมเป็นคนเงียบนิ่งกําหนดลม                   ยอมเป็นคนโง่งมบางเวลา

                                              ยอมเป็นคนวุ่นวายในบางครั้ง                     ยอมเป็นคนล้าหลังขลาด ๆ กล้า ๆ

                                              ยอมเป็นคนป่วยไข้ต้องใช้ยา                      ยอมเป็นป้ายอมเป็นยายให้ลอเลียน”

           การยอมในลักษณะนี้อาจจะเป็นการยอมที่เกิดขึ้นได้ทั้งรูปแบบที่เราเต็มใจและไม่เต็มใจ ผู้ที่เต็มใจคือผู้ที่ ยอมรับถึงการเปลี่ยนแปลงตามกฎของธรรมชาตินี้อย่างเข้าใจ ส่วนผู้ที่ไม่เข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงนี้ก็อาจจะไม่ยินยอมให้ภาวะเหล่านี้เกิดขึ้น และอาจเกิดการต่อต้านด้วยกระบวนการต่าง ๆ เพื่อให้ร่างกายคงไว้ซึ่งสภาพเดิมมากที่สุด เช่น การศัลยกรรม แต่ถ้ากล่าวถึงการ “ยอม” ให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นตามธรรมชาติแล้ว ร่างกายของเราจะต้องเปลี่ยนลักษณะทางกายภาพ คือ ผมเปลี่ยนจากสีดําขลับหรืออื่น ๆ เป็น “สีขาวเป็นเงาย้อม” และการเปลี่ยนแปลงทางด้านนี้ยังรวมไปถึงการที่มีริ้วรอยอีกด้วย นอกจากนี้ร่างกายของคนชราจะมีคุณภาพที่เสื่อมลงหรือ ลดน้อยถอยลง คุณภาพในที่นี้คือความสมบูรณ์แข็งแรงของร่างกาย กล่าวคือ อาจจะเป็น “ใครคนหนึ่งซึ่งเดินช้า” “เป็นคนอ่อนล้า” “หลังค่อม” เป็นคนที่ “พร้อมจะเอนล้ม” หรือพร้อมจะล้มป่วยหรือเสียชีวิตในเร็ววัน เป็นคน “อ่อนแอ” “เป็นคนป่วยไข้” และอื่น ๆ อีกมากมาย ภาวะเหล่านี้อาจจะไม่เกิดขึ้นทั้งหมดกับทุกคน อาจจะเกิดขึ้นแตกต่างกันไปในแต่ละคน ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ ที่มากําหนดควบคุมความชราด้วย แต่ไม่ว่าร่างกายจะเปลี่ยนแปลงไปในรูปแบบใดก็ตาม การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอนไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง เพราะไม่ว่าอย่างไรก็ตามเราต่างก็ต้อง “ยอมเป็นไฟไหวลมในเปลวเทียน ที่จวนเจียนจะดับได้ในมุมเธอ” “ไฟไหวลม” ในที่นี้ย่อมมีลักษณะที่ส่ายไปมา ไม่แน่นอน และจวนจะดับได้ทุกเวลา ซึ่งเปรียบได้กับชีวิตมนุษย์ที่ไม่จีรังยั่งยืน จวน เจียนจะ “ดับ” หรือเสียชีวิตได้ในทุกครา และบางครั้งเองชีวิตของใครหลาย ๆ คนก็ “ดับ” ลงก่อนที่วัยชราจะมา เยือนเสียอีก

ประสบการณ์ชีวิต: ความจริงก่อนถึงกาลชรา

           ก่อนที่จะถึง “กาลชรา” เราสามารถเข้าใจถึงความชราได้โดยไม่จําเป็นต้องรอให้ความชรามาเยือน เราสามารถเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ชีวิตที่เปรียบดั่งครูผู้คอยชี้นําแนวทางให้กับเรา ทําให้เราเข้าใจถึงชีวิตและความชราก่อนที่จะถึง “กาลชรา” หรือยามที่เป็นคนชราจะมาถึงจากตอนที่ว่า

                                                               “ประสบการณ์ชีวิตสนิทแนบ           ความเข้าใจอิงแอบสม่ำเสมอ

                                                       ก้าวทุกก้าวการทวนทบการพบเจอ          รู้จักทั้งเลิศเลอและต่ำตม

                                                       จนแยกแยะความยับเยินได้หยดย้อย       จนรัดร้อยความจริงได้เหมาะสม

                                                       จนเรียบเรียงความเป็นไปได้เฉียบคม       จนรู้จักการติ-ชมตามสมควร”

           จะเห็นได้ว่า “ประสบการณ์ชีวิต” เป็นสิ่งสําคัญที่ทําให้เราได้เรียนรู้ชีวิต และมี “ความเข้าใจ” อย่างถ่องแท้ เข้าใจว่าแต่ละช่วงเวลาของการเติบโตหรือ“ก้าวทุกก้าว” ชีวิตทําให้เราได้ “ทบทวนการพบเจอ” บางสิ่งบางอย่าง ทําให้เราได้รู้จักสิ่งที่ “เลิศเลอ” หรือ “ความจริง” ของชีวิต ทําให้เรารู้จัก “ความยับเยิน” และ “ต่ำตม” ทั้งหมดนี้ล้วนร้อยเรียงกันเพื่อแสดงให้เห็นถึง “ความเป็นไป” ของชีวิตได้อย่าง “เฉียบคม” จนเราสามารถ “ติชม” ชี้ข้อบกพร่องและข้อดีของชีวิต ลด ละ เลิกทําในสิ่งที่เป็นข้อบกพร่องและเพิ่มพูนสิ่งที่เป็นข้อดีเพื่อให้ พร้อมต่อการเข้าสู่วัยชราอย่างมีคุณภาพ ประสบการณ์ชีวิตเหล่านี้คือส่วนหนึ่งของชีวิตก่อนที่เราจะก้าวไปสู่วัยชรา

          เมื่อกาลชรามาถึงเราก็จะสามารถเข้าใจถึงลักษณะของความชราได้โดยอาศัยประสบการณ์ต่าง ๆ ที่เราพบเจอ ลักษณะที่สําคัญของความชรา “คือความหนักแน่นเป็นสัดส่วน” และ “แน่วแน่ไม่แปรปรวน” เพราะความชราคือสิ่งที่แน่นอนบนความไม่แน่นอนของชีวิต เป็นส่วนหนึ่งของวงจรชีวิตที่ได้กล่าวไปข้างต้น คือ เกิด แก่ เจ็บและตาย และไม่ว่าจะเป็นเมื่อใด ความหนักแน่นแน่วแน่ของความชรายังคงดํารงอยู่ไม่เสื่อมคลาย ความชราจะ “ลีลาร่ายรําตามชีวิต” ทุก ๆ ชีวิต ความชราจะอยู่ในทุกหนแห่งบนโลกมนุษย์ เพราะ “เธอสถิตสู่สถานมหันต์ มหา” ความชราเป็นความจริงที่ปรากฏอยู่ในทุกยุคทุกสมัย “ที่ประมวลประมาณจากนานมา” และความชราจะยังคง “ยืนเด่นมหัศจรรย์กาลเวลา” คือ ไม่ว่าจะเป็นเมื่อใด อดีต ปัจจุบันหรืออนาคต ความชราจะปรากฏอยู่เป็น ความจริงวันยังค่ำ ดังตอนสุดท้ายของบทกวีที่ว่า

                                                                        “นี่คือกาลชราผู้น่ารัก            นี่คือความแน่นหนักเป็นสัดส่วน

                                                               นี่คือความแน่วแน่ไม่แปรปรวน        ที่ประมวลประมาณจากนานมา

                                                               เธอลีลาร่ายรําตามชีวิต                  เธอสถิตสู่สถานมหันต์ มหา

                                                               เธอยืนเด่นมหัศจรรย์กาลเวลา        เธอนามว่า ชรากาล บันดาลใจ

                                                               เธอนามว่าชรากาลบันดาลจริง...”

 

 

เมื่อกาลชรามาเยือน: ความไม่แน่นอนและการเปลี่ยนแปลงของชีวิตภายใต้ภาวะความชรา ในบทกวี “ชรากาล ที่น่ารัก”
บทวิจารณ์โดย ศึกษา สหุนาลุ
โครงการ อ่าน เขียน เรียนรู้ สู่งานวิจารณ์ ปีที่ 6

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ