ในยุคปัจจุบันเราปฏิเสธไม่ได้เลยว่า สื่อแนว “สยองขวัญ” เป็นที่นิยมในสังคมไทย ไม่ว่าจะในรูปแบบ ของเรื่องสั้น นวนิยาย ภาพยนตร์ หรือละคร สังเกตได้จากการผลิตสื่อเกี่ยวกับสิ่งเหนือธรรมชาติที่เราเรียกกัน อย่างคุ้นปากว่า “ผี” ออกมาเยอะเสียจนกางสองมือนับนิ้วยังไม่พอ และถึงแม้ว่าสื่อแนวสยองขวัญจะมีมากจน เกินความต้องการในตลาด แต่ความนิยมของสื่อแนวนี้ก็ยังคงเป็นที่นิยมในลำดับต้น ๆ การันตีด้วยสอง ภาพยนตร์สยองขวัญชื่อดังในปีพุทธศักราช ๒๕๖๖ อย่าง “สัปเหร่อ” และ “ธี่หยด” ที่กวาดรายได้ไปมากกว่า ๕๐๐ ล้านบาท สิ่งที่น่าสนใจจนอดหยิบยกมาเป็นประเด็นไม่ได้ คือการที่ภาพยนตร์เรื่อง “ธี่หยด” ได้ถูก ดัดแปลงขึ้นมาจากการเล่าเรื่องผีในรายการเดอะโกสเรดิโอ ชวนให้นึกถึง “ผี” และ “อำนาจของการเล่าเรื่อง” ในเรื่องสั้น “ผีหยาดน้ำค้าง”
“ผีหยาดน้ำค้าง” ถูกเขียนขึ้นโดยปลายปากกาของจำลอง ฝั่งชลจิตร เจ้าของฉายา “ลอง เรื่องสั้น” นักเขียนเรื่องสั้นมือฉมัง การันตีด้วยรางวัลรพีพร ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๕๓ ผู้มีเอกลักษณ์งานเขียนโดดเด่น ในเรื่องการถ่ายทอดเรื่องราวของสังคมอย่างตรงไปตรงมา “ผีหยาดน้ำค้าง” เป็นชื่อเรื่องที่ชวนให้ผู้อ่านนึกถึง เรื่องราวสุดสยองขวัญที่กำลังรอคอยอยู่ในทุกตัวอักษรต่อจากนี้ บางคนคะเนไปก่อนแล้วว่า ผีตนนั้นอาจจะมี ชื่อจริงว่าหยาดน้ำค้าง หรืออาจจะเป็นผีที่สิงอยู่ในหยาดน้ำค้างจนเป็นที่มาของชื่อเรื่องก็เป็นได้ หากจัด ประเภทจากชื่อเรื่องแล้ว “ผีหยาดน้ำค้าง” คงไม่แคล้วจะต้องอยู่ในประเภทสยองขวัญอย่างแน่นอน แต่เมื่อได้ อ่านเนื้อหาภายในจนครบทุกบรรทัดแล้ว ผู้อ่านก็จะรู้ได้ทันทีว่า นี่คือเรื่องสั้นสยองขวัญที่ไม่มีผีเลยแม้สักตน เดียว กลับมีบางสิ่งที่น่ากลัวเสียยิ่งกว่าผีในจินตภาพซ่อนอยู่อย่างแยบยลแทน…
ความเชื่อและความไม่เชื่อ ในสิ่งเหนือธรรมชาติ
“ผีหยาดน้ำค้าง” เป็นเรื่องเล่าซ้อนเรื่องเล่าที่เปิดเรื่องมาอย่างเรียบง่ายโดยใช้ตัวละครหลักเป็น นักเขียนคนหนึ่งชื่อว่าธงชัย โดยตลอดทั้งเรื่องเราจะได้คุณธงชัยคนนี้เป็นคนเล่าให้ฟัง ผ่านการใช้สรรพนาม “ผม” ในการเล่าเรื่องราวถ้วนทั่วทุกย่อหน้า ในช่วงแรกของเรื่องเราจะได้ทำความรู้จักกับตัวละครนี้ ว่าเป็น บุคคลประเภทที่ไม่ยุ่งเกี่ยววุ่นวายกับภูติปีศาจ ซึ่งตรงข้ามกับชื่อเรื่องโดยสิ้นเชิง แต่ธงชัยไม่อาจทิ้งความศรัทธา ต่อองค์หลวงพ่อที่เราท่านทั้งหลายต่างก็เข้าใจตรงกันว่าสามารถปกป้องคุ้มครองภยันตรายจากผีสางนางไม้ได้ แสดงให้เห็นว่าเขาเป็นคนจำพวก “ไม่เชื่อ แต่ก็ไม่ลบหลู่”
ทว่าชีวิตของธงชัยก็ไม่ได้หลุดพ้นจากผีเสียทีเดียว เมื่อเพื่อนของเขาเล่าเรื่อง “ผี” ให้เขาฟัง ก็เป็น อย่างที่เราได้รับรู้ข้อมูลก่อนหน้านี้ที่ว่าธงชัยนั้นไม่คุ้นเคยกับสิ่งที่เรียกว่า “ผี” นั่นทำให้เขาไม่ได้เชื่อสนิทใจ กลับแหย่เพื่อนของตัวเองที่เล่าให้ฟังด้วยความขนพองสยองเกล้าไปว่า ความรู้สึึกเหมือนกับมีผีมานั่งทับอกนั้น เป็นเพราะเพื่อนตัวอวบอ้วน การนอนอาจทำให้แน่นหน้าอกเองเสียมากกว่า
“…เพื่อนเล่าหน้าตาตื่น ว่าแทบไม่ได้นอน มีใครก็ไม่รู้ผลัดกันขึ้นนั่งบนอก ไล่ก็ไม่ยอมลง แถมหัวเราะ เยาะหยัน ไม่ถึงกับแลบลิ้นปลิ้นตาหรือแหกอกก็จริง แต่หนักจนหายใจไม่ออก แหกปากร้องก็ไม่มีใครได้ยิน ผม แหย่ว่าเขาอ้วนมากกว่า…” (หน้า ๒)
คนไทยมีความเชื่อเรื่องผีอำมานาน บ้างก็ว่ามาขอส่วนบุญบ้างล่ะ เป็นเจ้ากรรมนายเวรแต่ชาติปาง ก่อนมารังแกให้หายแค้นบ้างล่ะ แต่ในทางการแพทย์ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการถูกผีอำไว้ว่า “ผีอำ” เป็นอาการ ผิดปกติจากการนอนหลับ กล่าวคือเป็นภาวะที่ร่างกายรู้สึกตัว แต่ไม่สามารถขยับร่างกายได้อย่างอิสระตามใจ ชอบ โดยมีสาเหตุมาจากการนอนหลับไม่เพียงพอ หรือปัญหาสุขภาพจิตบางประการ มิได้เกิดขึ้นจากการมีผีมา นั่งทับอกแต่อย่างใด ถึงแม้ว่าจะมีข้อมูลยืนยันชัดเจนจากแพทย์ขนาดนี้ ก็ยังมีบางส่วนที่ยังเชื่อว่าอาการผีอำ เกิดจากผีจริง ๆ อยู่ดี ตัวอย่างก็ไม่ใช่ใครอื่นไกล แต่เป็นเพื่อนของธงชัยที่เล่าเรื่อง “ผี” ให้เขาฟังนั่นเอง..
งานเขียนแนวสยองขวัญสร้างรายได้ ที่ไม่ได้มีจุดขายเป็นความสยองขวัญ
ธงชัยผู้ไม่คุ้นเคยกับภูติผี เอาตัวเองไปเกี่ยวโยงด้วยผ่านงานเขียน จากเนื้อเรื่องพบว่าเขาประกอบ อาชีพนักเขียนที่เคยเขียนเรื่องผีเรื่องหนึ่งขึ้นมา โดยใช้ชื่อเรื่องแสนธรรมดาว่า “นั่งเฉย ๆ ก็ได้” โดยเรื่องผีที่ เขียนขึ้นนี้ถูกตีพิมพ์ในนิตยสารและได้ค่าตอบแทน แม้จะถูกภรรยาอย่างคุณวันทนา ติงว่าเนื้อเรื่องไม่น่ากลัว อย่างที่ธรรมชาติของงานเขียนประเภทนี้เขาเป็นกัน แต่ธงชัยกลับคิดต่างออกไปว่าบรรณาธิการของนิตยสาร นั้นตาถึงต่างหาก และอาจเพราะเบื่อเรื่องเล่า “ผี” แบบเดิม ๆ แล้วจึงได้เลือกเอาเรื่องผีแบบแปลก ๆ จากเขา ไปแทน
“…ผมแย้งว่าบรรณาธิการตาถึงต่างหาก หรือไม่ก็คงเบื่อหน่ายผีแหกอก ผีแลบลิ้นปลิ้นตา กระสือไส้ เปียก ๆ เลยเลือกเรื่องแปลก ๆ ของผมไปตีพิมพ์ให้อ่านเป็นตัวอย่าง…ว่านี่ เรื่องผีมันต้องเขียนอย่างนี้…” (หน้า ๒)
เรื่องผี “นั่งเฉย ๆ ก็ได้” ของธงชัยกล่าวถึงโชเฟอร์แท็กซี่และหนุ่มเมาสุราที่ขับรถผ่านหน้าวัดซึ่งผู้ วิจารณ์คะเนว่ามีร้านขายปลาย่างตั้งอยู่ด้วย ฝ่ายโชเฟอร์ที่ดูแลรถของตนให้หอมสดชื่นอยู่เสมอได้กลิ่นปลาย่าง โชยมาก็ตัวแข็งทื่อ ด้วยกลัวว่ากลิ่นไม่พึงประสงค์นั้นจะแทรกซึมเข้ามาในรถ ในขณะที่ฝ่ายหนุ่มเมาสุราก็นั่งตัว แข็งทื่อเช่นเดียวกัน แต่ใบหน้าซีดลงกว่าทีแรก ผู้วิจารณ์คิดว่าธงชัยผู้เขียนเรื่องนี้ตั้งใจให้หนุ่มเมาสุราสำคัญว่า กลิ่นไหม้ที่ลอยเข้ามาในรถนั้นเป็นกลิ่นของศพจากเมรุวัดที่ขับผ่าน ชวนให้เรื่อง “นั่งเฉย ๆ ก็ได้” แตกต่างจาก เรื่องอื่น เพราะสองตัวละครที่ปรากฏในเรื่อง มีตัวละครหนึ่งเชื่อเรื่องผี ส่วนอีกหนึ่งกลับไม่กล่าวถึงความเชื่อนั้น เลย สำคัญที่สุดคือแม้จะจั่วหัวด้วยการกำหนดว่านี่คือเรื่องผี แต่เรากลับไม่ค้นพบความสยองขวัญแบบผี ๆ ใน
เรื่องเลยสักนิด กลับมีความสยองขวัญทางความคิดเกี่ยวกับกลิ่นไม่พึงประสงค์เข้ามาทดแทน นั่นแสดงให้เห็น ถึงชั้นเชิงในการเขียนงานของธงชัย ที่สามารถเขียนเรื่องราวให้พลิกแพลง แตกต่างจากการคาดคะเนหรือความ เป็นธรรมชาติของงานเขียนประเภทหนึ่ง ๆ ได้อย่างกลมกล่อมไร้รอยต่อ
ความสยดสยองของเชิงตะกอน สถานหลบซ่อนสิ่งที่น่ากลัวกว่า “ผี”
มานะเพื่อนของธงชัย ได้เล่าเรื่อง “ผี” ที่ไม่มีผี ให้กับธงชัยฟัง โดยเป็นเรื่องของตัวมานะเองที่เป็นหนึ่ง ในฝ่ายสนับสนุนคอมมิวนิสต์ ได้หลบหนีทหารของฝ่ายรัฐบาลเข้าไปหลบใต้เชิงตะกอนในป่าช้า และระหว่างที่ หลบอยู่นั้นเอง มานะได้กลืนเอาหยดน้ำค้างที่ไหลผ่านเชิงตะกอนซึ่งเป็น “น้ำค้างน้ำเน่า” เข้าไปตลอดทั้งคืน เมื่อย่ำรุ่งที่ปลอดภัยจากเหล่าทหารของรัฐบาลแล้ว เขาก็รีบไปล้างเนื้อล้างตัวในลำคลองใกล้ ๆ ทันทีด้วยความ สะอิดสะเอียนน้ำหนองที่ไหลรวมกับน้ำค้างซึ่งชื้นแฉะอยู่ทั่วร่างเต็มทน
เพราะอะไรเรื่องสยองขวัญปนคลื่นไส้ที่ไม่มี “ผี” สักตัวนี้จึงกลายเป็นเรื่องผี? คำตอบคือก่อนที่มานะ จะเข้าไปหลบภัยใต้เชิงตะกอน เขาได้พูดออกมาว่า
“คืนนี้ขอฝากชีวิตไว้กับผี” (หน้า ๖)
นั่นแสดงให้เห็นว่าตัวของมานะเองก็มีความเชื่อว่าในบริเวณเชิงตะกอนกลางป่าช้านี้อาจมีผีอยู่จริง ๆ แต่ถึงกระนั้นเขาก็พร้อมยินยอมฝากชีวิตของตัวเองไว้กับผีที่มองไม่เห็น ดีกว่าต้องไปเสี่ยงชีวิตกับสิ่งที่น่ากลัวยิ่ง กว่า “ผี” อย่างปลายกระบอกปืนของทหารรัฐบาล
เรื่อง “ผีหยาดน้ำค้าง” นี้มีบางส่วนของเนื้อหากล่าวถึงชั่วขณะหนึ่งใน “การก่อการกำเริบคอมมิวนิสต์ ในประเทศไทย” ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๕๐๘ ถึง ๒๕๒๖ ผ่านการเล่าเรื่อง “ผี” ที่ไม่มีผีของตัวละคร มานะ ซึ่งตัวของมานะเป็นผู้อาวุโสในฝ่ายนำของพรรคคอมมิวนิสต์ ที่จำเป็นจำต้องเดินทางไปพบปะมวลชนอยู่ เสมอ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าพรรคยังเข้มแข็ง
“…กลางคืนถึงออกจากที่ซ่อนพร้อมปืน เอ็ม.๑๖ กับปืนพกประจำกายไปพบมวลชน ไปสร้างความ เชื่อมั่นว่าพรรคยังเข้มแข็ง สหายมานะลงไปพบปะมวลชนที่จุดยืนยังมั่นคง และแจ้งข่าวความเคลื่อนไหวของ ทหาร ตำรวจและอาสาสมัคร คอยสังเกตพฤติกรรมของหมู่บ้านที่สงสัยว่าเป็นสายของทางการ…” (หน้า ๖)
มานะคือแนวหน้าที่ยอมเอาตัวเองเข้าไปเสี่ยงภัย โดยที่ไม่รู้ว่าจะมีปลายกระบอกปืนจากฝ่ายรัฐบาลจ่อ ยิงเข้าที่กลางหัวเมื่อไหร่ ยอมแม้กระทั่งเอาตัวเองเข้าไปหลบใต้เชิงตะกอนเผาศพ ยอมทนกลืนน้ำค้างน้ำเน่าอยู่ ตลอดคืนจนฟ้าสาง เรียกได้ว่าหากมวลชนที่อยู่ใต้ร่มพรรคคอมมินิสต์ด้วยกันได้รู้เรื่องนี้เข้า คงสรรเสริญและยก ย่องมานะให้เป็นยอดแห่งวีรบุรุษเลยทีเดียว ทว่าคนที่รับรู้กลับเป็นธงชัย นักเขียนที่สามารถทำให้ภาพวีรบุรุษ สุดองอาจเลือนลางจางหายไป ราวกับเป็นฟองสบู่ที่ถูกจิ้มให้แตกซะอย่างนั้น ดังจะกล่าวถึงในหัวข้อถัดไปนี้
“นักเขียน” ปลายปากกา กระดาษ และอำนาจของการเล่าเรื่อง
“…ถ้าสหายมานะบังเอิญได้อ่านเรื่องนี้ สหายจะต้องส่ายหน้าพลางหัวเราะแค่น ๆ วีรภาพเข้มข้นดุดัน พร้อมเสียสละเพื่อมวลชนบิดผันเป็นเรื่องชวนขัน รู้อย่างนี้สู้เก็บงำไว้กับตัวจะงดงามกว่า…” (หน้า ๕)
ข้อความที่ยกมานี้เป็นสิ่งที่ธงชัยคิดอยู่ในใจ หลังจากที่เขาตัดสินใจจะเขียนเรื่องเล่า “ผีหยาดน้ำค้าง” แล้วเป็นที่เรียบร้อย แสดงให้เห็นถึงอำนาจของการเล่าเรื่องที่สามารถบิดเบือนให้เรื่องราวที่แสนเข้มข้น กรุ่นไป ด้วยกลิ่นอายของวีรบุรุษผู้พลีกายให้แก่มวลชนถึงขั้นนอนในเชิงตะกอน ให้กลายเป็นเรื่องเล่า “ผี” ขบขันที่ใคร ได้อ่านก็คงหัวร่อแทนที่จะสรรเสริญเยินยอได้
สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงอำนาจของนักเขียนที่สามารถใช้ปลายปากกาขีดเขียนเรื่องราว ชักจูงให้ผู้อ่าน คิดเห็นไปตามแต่ใจตนได้ ล่อหลอกด้วยภาษาที่สละสลวยบ้างก็ดี เนื้อหาชวนลุ้นระทึกก็ดี นั่นทำให้ผู้อ่าน สามารถตกหลุมพรางไปตามอำนาจของการเล่าเรื่องนี้ได้ทุกเมื่อ ความสามารถนี้หากใช้ในทางที่ควรก็จะทำให้ เรามีงานเขียนหักมุมน้ำดีสักเรื่องได้อ่าน แต่ถ้าหากนำอำนาจของการเล่าเรื่องนี้ไปใช้ในทางที่ไม่ควร เกี่ยวโยงถึง เรื่องความเข้าใจผิด สาดโคลนผู้อื่น หรือลุกลามไปถึงเรื่องใหญ่อย่างการเขียนจดหมายระหว่างสงคราม อำนาจ ในมือนักเขียนที่มีนั้น ก็อาจนำมาซึ่งมหัตภัยอันใหญ่หลวงเกินกว่าจะรับมือ…
เอกสารอ้างอิง
กรุงเทพ สลีป เซ็นเตอร์. (ไม่ปรากฏปี). “ผีอำ" โดนผีหลอก หรือแค่นอนผิดปกติ?. สืบค้นเมื่อ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๗.
https://url.in.th/gHpea
The Reader By Praphansarn. (๒๕๖๓). ทำเนียบนักประพันธ์ | จำลอง ฝั่งชลจิตร. สืบค้นเมื่อ ๙
พฤศจิกายน ๒๕๖๗.
https://www.praphansarn.com/home/detail_author_th/234
Wikipedia Contributors. (๒๕๖๗). การก่อการกำเริบคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย. สืบค้นเมื่อ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๗.
https://url.in.th/oRIAM
บทวิจารณ์เรื่องสั้น “ผีหยาดน้ำค้าง : อำนาจของบางสิ่ง ที่มีอยู่จริงชัดยิ่งกว่าผี”
โดย นางสาวศิระดา พุทไธสง มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์