ขุนทอง...เจ้าจะกลับเมื่อฟ้าสาง : “รถไฟครั้งที่ห้า” การเป็นโสเภณี...คือตราบาปของลูกผู้หญิง ?

ขุนทอง...เจ้าจะกลับเมื่อฟ้าสาง

               

               อัศศิริ ธรรมโชติ นักเขียนไทยที่ต่อมาได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์  ในปี 2553 ผู้สร้างสรรค์ผลงานเรื่องสั้นชุด ขุนทอง...เจ้าจะกลับเมื่อฟ้าสาง ผลงานที่ได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ในประเภทเรื่องสั้น ประจำปี พ.ศ. 2524 ซึ่งจัดพิมพ์ครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2521 เรื่องสั้นทั้งหมดที่ตีพิมพ์มีทั้งสิ้น ๑๓ เรื่อง โดยเนื้อหาส่วนใหญ่จะเกี่ยวเนื่องกับภูมิหลังทางประวัติศาสตร์และสังคม ความกดดัน และความขัดแย้งทางด้านการเมือง อาทิ เรื่อง ดอกไม้...ที่เธอถือมา หรือ ขุนทอง...เจ้าจะกลับเมื่อฟ้าสาง เนื่องจากได้รับแรงกระตุ้นจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และ  6 ตุลาคม 2519 อีกทั้งยังเสนอแนวทางในการแก้ปัญหาความขัดแย้งในคราวเดียวกัน โดยเรื่องสั้นชุดนี้ มีลักษณะเป็นวรรณกรรมเพื่อชีวิต ที่ผู้แต่งสามารถตีปัญหาสังคมได้อย่างลึกซึ้ง สามารถสร้างตัวละครที่มีความรู้สึกนึกคิดเหมือนคนจริง ๆ รวมทั้งมีเนื้อหาเสมือนเป็นเรื่องของชีวิตจริง (Realistic) เช่น เรื่องของความแตกต่างระหว่างคนรวยกับคนจน ใน เมื่อเย็นย่ำของวันอันร้าย หรือ เรื่องของโสเภณีที่จำเป็นต้องมาขายตัวในเมืองหลวงเพื่อส่งเสียครอบครัวในชนบทบ้านเกิด ใน รถไฟครั้งที่ห้า ซึ่งเหตุการณ์ในยุคเรื่องสั้นชุดนี้ เมื่อลองนำกลับมาเปรียบเทียบกับสมัยปัจจุบัน เหตุการณ์ที่น่าสนใจและใคร่จะพินิจ ซึ่งเป็นปัญหาที่จะแก้อย่างไรก็ไม่สามารถหมดไปจากสังคมไทยได้ก็คือ ปัญหาการค้าบริการทางเพศ ซึ่งปรากฏให้เห็นเด่นชัดจากเรื่อง รถไฟครั้งที่ห้า เหตุที่กล่าวว่าน่าสนใจใคร่จะพิจารณาก็เพราะว่า ในมุมมองของคนทั่วไปมักเห็นว่าอาชีพโสเภณี เป็นอาชีพที่ต่ำต้อยน่ารังเกียจและปราศจากซึ่งศักดิ์ศรี แต่หากคนส่วนใหญ่โดยทั่วไปมีวินิจฉัยเช่นนั้น เหตุใดอาชีพนี้ก็ยังยืนหยัดอยู่ในสังคมจนถึงปัจจุบัน ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่าง ๆ ตลอดระยะเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งคำตอบส่วนหนึ่ง อัศศิริ ได้ให้ไว้แล้วในเรื่องสั้น รถไฟครั้งที่ห้า เพียงแต่รอให้ผู้อ่านลองเปิดอ่านเพื่อชวนคิดพินิจนึกหาสาเหตุร่วมกัน

 

                การเล่าเรื่องใน รถไฟครั้งที่ห้า เป็นการเล่าผ่านมุมมองของ คำสร้อย ซึ่งผู้เขียนเป็นผู้เล่าเรื่องราวหรือเหตุการณ์ทั้งหมด โดยสามารถหยั่งรู้ถึงสภาพชีวิตและจิตใจของตัวละครทุกตัวในเรื่องอย่างแจ่มชัดแล้วถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดออกมาเป็นเรื่องราว เรียกเป็นศัพท์เฉพาะว่า “Omniscient point of view” ในที่นี้ก็คือ คำสร้อย ตัวละครหลักในการดำเนินเรื่อง ซึ่งเป็นพี่สาวคนโตของครอบครัวที่ยากจนในหมู่บ้านชนบทแห่งหนึ่ง เธอกำลังนั่งอยู่บนรถไฟและรำพึงถึงความหลัง ภายในรถไฟที่เธอนั่งไป-กลับ จนจำได้ว่าครั้งนี้   เป็นครั้งที่ห้าในรอบสองปี ไปกลับสถานีบ้านเกิด-กรุงเทพฯ เธอจำได้ว่าครั้งแรกที่เธอมา เธอมาเพราะพ่อของเธอขอร้องให้มาขายตัวในกรุงเทพฯ เพื่อส่งเงินกลับไปเลี้ยงดูครอบครัว จะได้มีเงินไว้ซื้อมุ้งให้น้อง ซื้อควายให้พ่อไว้ไถนา เพราะความยากจนข้นแค้น และความยากลำบากในการใช้ชีวิตในชนบทที่ครอบครัวเธอต้องพบเจอ ดังที่คำสร้อยได้กล่าวไว้ว่า “…หมู่บ้านของเราเงียบเหงา ถูกทิ้งให้เปล่าเปลี่ยวเหมือนมีหมู่บ้านอยู่หมู่เดียวภายในโลกมาตั้งแต่ 4-5 ปีก่อนโน้น ความเหงามันมากับลมแล้งกับดินที่แยกแตกระแหง และกับน้ำที่ซ่อนหลบซึมอยู่ภายใต้ดินลึก ผู้เฒ่าผู้แก่และเด็กเล็กต่างพรากจากเราไปในท่ามกลางความเหงาเปล่าเปลี่ยวและหิวโหยทรมาน…” และความรับผิดชอบในฐานะเป็นลูกสาวคนโตของครอบครัว เธอจึงต้องประกอบอาชีพขายบริการทางเพศในกรุงเทพฯ แต่เธอก็ไม่ได้เสียใจที่ต้องมาทำเช่นนี้ เพราะเธอรักพ่อมากและอยากให้ครอบครัวเธอมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ดังตอนที่คำสร้อยกลับมาเยี่ยมบ้านแล้วพ่อพูดกับคำสร้อยว่า “...‘พ่อให้คำสร้อยไปเป็นผู้หญิงหากิน ช่วยหาเงินมาเลี้ยงบ้าน พ่อสร้างบาปให้กับคำสร้อยหรือเปล่า’ หล่อนส่ายหน้า ‘คำสร้อยคิดถึง พ่อต่างหากที่ร้องไห้’...” อัศศิริทำให้ผู้อ่านเข้าใจถึงแรงผลักดันที่ทำให้คำสร้อย ซึ่งเปรียบเสมือนตัวแทนของผู้หญิงขายบริการทางเพศภายในเรื่อง ที่ยอมเสียสละร่างกายของตนเองเพื่อไขว่คว้าหาหนทางที่จะทำให้ครอบครัวมีชีวิตที่ดีขึ้น ถึงแม้จะขัดกับหลักศีลธรรมก็ตาม เรื่องสั้นเรื่องนี้จึงดีเด่นในเรื่องการสร้างความสมจริงเป็นหลัก

          

               เรื่องสั้นเรื่องนี้มีความก้าวหน้าอย่างมากเมื่อมองย้อนกลับไปในสมัยนั้น เพราะมีการนำเสนอเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสตรีนิยม (Feminism) หรือความเท่าเทียมกันระหว่างเพศหญิงและเพศชาย เพราะแต่เดิมสังคมไทยถือแนวคิดเรื่องสังคมชายเป็นใหญ่ (Patriarchal society) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการสร้างความไม่เท่าเทียมทางเพศ เพราะการปลูกฝังทางสังคมที่ว่าผู้หญิงคือเพศที่อ่อนแอ ดังนั้น หน้าที่หลักจึงสมควรที่จะต้องอยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน และให้กำเนิดทายาท แต่ในขณะเดียวกันหน้าที่ของผู้ชายคือการออกไปทำงานนอกบ้านเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว ภาพสะท้อนดังกล่าวจึงส่งเสริมให้ผู้ชายกลายเป็นเพศที่เสียสละเพื่อครอบครัวและสมควรได้รับการยกย่องจากสังคม จะสังเกตได้ว่าแต่เดิมนั้นวรรณกรรมหรือวรรณคดีตั้งแต่อดีตนั้น มักมีการกดขี่ทางเพศกันอยู่เสมอ แต่ก็มักถูกเพิกเฉย เช่นในเรื่อง เสภาขุนช้างขุนแผน ดังที่ นางวันทอง ต้องตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบแก่ตัวละครชายทุกตัวที่เข้ามาเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันภายในเรื่องเสมอ โดยไม่มีสิทธิ์มีเสียงจะโต้แย้งหรือขอความเป็นธรรมแต่อย่างใด หรือในวรรณกรรมที่เมื่อพูดถึงชีวิตโสเภณี คนส่วนใหญ่ก็มักจะไม่ค่อยสนใจเรื่องราวของการกดขี่ผู้หญิงที่ค้าบริการทางเพศ เพราะสังคมมีมุมมองในแง่ลบต่อผู้หญิงค้าบริการทางเพศอยู่แล้ว ดังนั้น บทบาทของผู้หญิงแต่ไหนแต่ไรมาก็ย่อมเป็นสองรองจากผู้ชาย แต่ในเรื่องสั้นเรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า ผู้หญิงมีภาวะผู้นำหรือการเป็นหัวหน้าครอบครัวไม่ต่างจากผู้ชาย สามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้เช่นเดียวกัน ไม่จำเป็นที่จะต้องจ่อมจมงมอยู่แต่ในบ้านเสมือนคน ไร้ความสามารถหมือนเมื่อครั้งในอดีต อีกทั้งยังพูดถึงชีวิตของโสเภณีอีกรูปแบบหนึ่งอย่างน่าสนใจว่าแท้ที่จริงแล้ว แรงผลักดันที่ทำให้ผู้หญิงหันไปประกอบอาชีพโสเภณีนั้น อาจไม่ใช่เพียงเพราะมีปัญหาชีวิต อาทิ ครอบครัวบ้านแตกสาแหรกขาด การอยู่ในสภาพแวดล้อมเสื่อมทรามจึงมีค่านิยมเลียนแบบพฤติกรรม หรือเป็นผู้มีสันดารที่มักมากในกามชั่วช้าแต่กำเนิดแต่อย่างใด หากเป็นเพราะปัญหาความยากจน เช่นที่ผู้หญิงตามชนบททางภาคเหนือหรือภาคอีสานหลายคนต้องรับภาระเลี้ยงดูครอบครัว การทำเกษตรกรรมในถิ่นที่อยู่เพียงอย่างเดียวนั้น ให้ค่าตอบแทนไม่เพียงพอ จึงต้องมุ่งหน้าเข้ามากรุงเทพฯ มาขายแรงงานแต่งานปกติที่ทำก็มีรายได้ต่ำไม่เพียงพอต่อรายจ่ายของคนทั้งครอบครัว ทางออกหนึ่งก็คือการขายบริการทางเพศ ซึ่งให้รายได้เป็นจำนวนมากกว่าการทำงานตามปกติหลายเท่า ดังนั้น ในเรื่องรถไฟครั้งที่ห้านี้ ผู้อ่านจะพบว่าผู้เขียนกำลังตั้งคำถามอย่างท้าทายแก่ผู้อ่านว่า คุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้หญิงขายบริการนั้นจะยังอยู่หรือไม่ หากได้สละร่างกายโดยความจำเป็นแต่เต็มใจเพื่อให้คนที่รักมีความสุข มีชีวิตความเป็นอยู่ที่หลีกหนีจากความยากจนข้นแค้นอย่างที่เคยประสบพบพานมา หรือได้สูญสิ้นไปแล้วเพราะร่างกายอันบริสุทธิ์ได้ถูกกระทำให้แปดเปื้อน และด้วยคำพิพากษาจากสังคมที่มีต่อผู้หญิงที่ประกอบอาชีพนี้ ดังพาดหัวข่าวของหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งที่คำสร้อยหยิบขึ้นมาอ่าน ความว่า “คัดค้านการออกกฎหมายโสเภณี กลัวจะเป็นตราบาปของลูกผู้หญิง

 

             ในด้านกลวิธีในการประพันธ์ อัศศิริมีความละเมียดละไมในการประพันธ์มาก จึงทำให้เรื่องสั้น เรื่องนี้ ดูเหมือนจะเป็นกวีนิพนธ์ (Lyric poetry) มากกว่าจะเป็นเรื่องเล่า (Narrative) เสียด้วยซ้ำ ดังเช่นในตอนที่คำสร้อยนั่งรำพึงกับตัวเองขณะที่รถไฟเคลื่อนขบวนไปด้วยหัวใจที่หวังว่าตนกำลังจะนำความสุขไปสู่ครอบครัวได้ในไม่ช้า ซึ่งมีเสียงสัมผัสคล้องจอง ความว่า “เมื่อนางเป็นโสเภณีขายความบริสุทธิ์อันเกิดจากเลือดเนื้อในกายตนได้ น้องเล็ก ๆ ของนางอาจจะได้เสื้อผ้าใหม่ แม่อาจจะหายป่วยไข้ และพ่ออาจได้ควายมาใช้งานสักตัวหนึ่ง” นอกจากนี้ภาษาที่อัศศิริใช้ยังประณีตรื่นหู กะทัดรัด ไม่ซับซ้อน สื่อความหมายของสิ่งที่จะต้องจะอธิบายหรือพรรณนาได้อย่างชัดเจน ให้ผู้อ่านเกิดอารมณ์ความรู้สึกร่วมได้ ดังที่ได้ใช้ภาพพจน์ (Figures of speech) ความเปรียบถึงผู้โดยสารในขบวนรถไฟว่า “ผู้โดยสารรถไฟคล้ายคนเป็นใบ้ที่สมัครใจจะจ่อมจมอยู่กับความเงียบ เป็นคนเดินทางที่เปล่าเปลี่ยวและดูเหมือนไร้ชีวิต” ซึ่งเป็นการใช้ความเปรียบ  ง่าย ๆ แต่เห็นภาพชัดเจนว่า บนรถไฟขบวนนี้เงียบเชียบเพียงใด แต่ถึงกระนั้นอัศศิริก็ยังมีการใช้ความเปรียบที่ทำให้เกิดอลังการ และเกิดจินตภาพ ดังตอนที่กล่าวถึงเสียงหวูดของรถไฟขบวนที่คำสร้อยนั่งมา ความว่า “มันมาพร้อมกับหวูดคราง ทิ้งเสียงหวูดไว้เบื้องหลังแล้วก็จากไป วันแล้ววันเล่าที่เห็น หล่อนรู้สึกว่ามันเป็นสัตว์ที่มีชีวิตของหมู่บ้าน มาเยือนทุกเช้าบ่าย มาส่งเสียงคำรามร้องอยู่ทุกค่ำคืนไม่เคยขาด” ซึ่งมีพลังช่วยย้ำว่ารถไฟขบวนนี้มีเสียงหวูดที่ดังกึกก้องทรงพลังเพียงใด และทุกครั้งที่เสียงหวูดของมันดังกู่ก้องขึ้น นั่นก็เปรียบเหมือนสัญญาณแห่งการนำพาความทุกข์ตรมขมไหม้มาสู่จิตใจของคำสร้อยในคราวเดียวกัน... ในตอนท้าย    ของเรื่องอัศศิริได้ให้คำสร้อยเห็นภาพเด็กผู้หญิงคนหนึ่งกำลังร้องไห้ โดยข้าง ๆ มีผู้หญิงวัยกลางคน นั่งปลอบประโลมอยู่ ซึ่งหากพิจารณาก็จะเข้าใจได้ทันทีว่า เด็กคนนั้นก็คงถูกพ่อแม่ขายให้กับผู้หญิงวัยกลางคน คนนั้น เพื่อให้มาเป็นโสเภณีในกรุงเทพฯ ซึ่งแน่นอนเธอไม่เต็มใจ... นั่นทำให้คำสร้อยมองเห็นภาพสะท้อนของตัวเองในอดีตได้แจ่มชัด และตั้งคำถามกับตัวเองอีกครั้งว่า...นี่คือหนทางที่จะนำ “ไปสู่รอยบาปหรือว่าหนทางบุญ-คำสร้อยเกิดเหงาในหัวใจขึ้นมาอีกร้อยเท่าพันทวี” อัศศิริได้สร้างความขัดแย้งขึ้นใจจิตใจของตัวละครมาตลอดทั้งเรื่อง จนกระทั้งฉากสุดท้ายที่คำสร้อย “พยายามขบริมฝีปากไว้ให้แน่น กลั้นน้ำตามิให้ไหล” ซึ่งอัศศิริก็จบเรื่องราวโดยที่คำสร้อยยังไม่สามารถหาคำตอบให้กับคำถามที่เกิดขึ้นภายในจิตใจของตนเองได้ เป็นการจบโดยให้ผู้อ่านคิดต่อ (Surprise ending) และหาคำตอบกันเอาเองว่าสิ่งที่คำสร้อย และเด็กหญิงอีกหลาย ๆ คนซึ่งจากหมู่บ้านไปทำกันนั้น เป็นสิ่งที่ควรเข้าใจและเห็นใจ อีกทั้งยังควรยกย่องเพราะแสดงถึงความกตัญญูต่อบุพการีและความปรารถนาดีต่อครอบครัว หรือเป็นสิ่งที่ควรประณามเพราะอาชีพนี้เมื่อทำแล้วก็มีแต่ “จะเป็นตราบาปของลูกผู้หญิง จะหาคนเข้าใจและให้การยอมรับเหมือนผู้หญิงคนอื่น ๆ   ที่ประกอบอาชีพสุจริตก็หาไม่

 

          งานของอัศศิริควรค่าแล้วที่ได้รับรางวัลวรรณกรรมยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน เพราะอัศศิริไม่ได้แต่งเรื่องสั้นที่ทำให้ผู้อ่านเข้าใจสังคมและชีวิตของตัวละครเพียงอย่างเดียว แต่ยังทำให้ผู้อ่านได้ขบคิดพิจารณาถึงตนเองด้วยว่าการที่เราจะตัดสินใคร หรือสิ่งใดนั้น หากตัดสินเพียงเปลือกนอก ตัดสินอย่างฉาบฉวย ไม่ได้สืบสาวหาสาเหตุที่แท้จริง ว่าแก่นหรือเนื้อแท้จริง ๆ เป็นเช่นไร ก็อาจทำให้บุคคลหรือสิ่งนั้น ๆ ต้องพลอยเสียหายหรือมีรอยตำหนิไปโดยปริยาย ซึ่ง “ตำหนิ” ที่ว่านี้อาจไม่ได้เกิดขึ้นที่ภายนอกจนสังเกตเห็นได้ด้วยตา แต่อาจเกิดขึ้นข้างใน “ภายในจิตใจ” เช่นการที่คนส่วนใหญ่มักมองภาพโสเภณีในทางลบ กล่าวหาอย่าง     สาดเสียเทเสีย ซึ่งผู้หญิงเหล่านี้เพียงแค่ร่างกายก็เจ็บช้ำมากเกินจะทานทน ยังต้องถูกก่นด่าให้กระทบกระเทือนจิตใจ ให้เจ็บซ้ำ ๆ และย้ำเข้าไปอีก โดยหาได้ล่วงรู้ว่าแท้ที่จริง ยังมีผู้หญิงอีกหลายคนที่ต้องมาประกอบอาชีพนี้ด้วยความจำเป็นบางประการ ที่ไม่สามารถจะปฏิเสธหรือเลือกกำหนดชะตาชีวิตของตนเองได้ ดังนั้น เมื่อผู้อ่านได้อ่านเรื่องสั้น “รถไฟครั้งที่ห้า” จบลง ก็คงพอเข้าใจชีวิตของกลุ่มบุคคลภายในเรื่องสั้นเรื่องนี้อีกแง่มุมหนึ่งอย่างแจ่มชัดมากยิ่งขึ้น และต้องหันกลับมามองผู้หญิงที่ประกอบอาชีพนี้ใหม่ด้วยความเข้าใจ เห็นใจและพยายามหาทางที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยกันรับผิดชอบ และหาแนวทางแก้ไขปัญหาสังคมเหล่านี้ต่อไป

 

บทวิจารณ์โดย นายจิรกฤต   ยศประสิทธิ์

Writer

The Reader by Praphansarn