ทันที ที่ข้าพเจ้าเห็นปกหนังสือสารคดีรางวัลชมนาดเล่มล่าสุด “เขาตราหน้าว่าหมอฆ่าคน” ที่เขียนด้วยตัวอักษรสีแดงสดตัดกับพื้นปกสีโทนดำเทาและมีรูปหญิงสวมชุดกาวน์ นั่งกอดเข่าด้วยท่าทางอมทุกข์ชวนหดหู่ ความรู้สึกแรกที่ผุดขึ้นในความคิดคือความสะเทือนใจระคนสงสัยว่า ด้วยรางวัลที่การันตีหนังสือเล่มนี้น่าจะมีแง่มุมอันเป็นประโยชน์ต่อสังคม บอกเล่าถึงผลกระทบจากคำกล่าวหาของเพื่อนมนุษย์ที่เกิดขึ้นกับชีวิตแพทย์คน หนึ่งที่ถูกเปลี่ยนแปลงบทบาทจากผู้ช่วยชีวิตมาเป็นผู้คร่าชีวิต แต่ในอีกเสี้ยวหนึ่งในสามัญสำนึกของคนที่ไม่ได้ประกอบวิชาชีพแพทย์ก็ชวนให้ รู้สึกว่าหรือนี่จะเป็นเพียงคำแก้ตัวจากปากของแพทย์?
“เขาตราหน้าว่าหมอฆ่าคน”เป็นสารคดีที่ได้รับรางวัลชมนาดระดับดีเด่น รอบประกวดครั้งที่ ๔ ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๕๗ – ๒๕๕๘ เขียนโดยอู่ฮุ่ยเซียง หรือหมอเซียงแพทย์หญิงสุดานี บูรณเบญจเสถียร แพทย์ประจำโรงพยาบาลชุมชนอำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย ผู้เขียนถ่ายทอดเรื่องราวบทเรียนชีวิตจริงจากการเผชิญกับมรสุมชีวิตครั้งใหญ่ที่ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญา “ประมาท, ละเว้นหน้าที่, กักขังหน่วยเหนี่ยวจนทำให้คนอื่นถึงแก่ความตาย” ผ่านตัวอักษรในรูปแบบของเรื่องเล่าผสานบันทึกประจำวันเปิดเรื่องด้วยเหตุการณ์ปัจจุบันในวันที่ฟ้าสดใส คดีความสิ้นสุดลง และหมอกำลังทบทวนถึงเรื่องราวที่ผ่านมาเพื่อถอดบทเรียนครั้งสำคัญ แล้วดำเนินเรื่องแบบย้อนเวลากลับไปสู่จุดตั้งต้นของเหตุการณ์การฟ้องร้องในคดีอาญาในวันที่มีหญิงท้องแก่คนหนึ่งมารอคลอดที่โรงพยาบาลขณะญาติพากันรอคอยข่าวดีเกี่ยวกับการกำเนิดของชีวิตใหม่ด้วยตามธรรมดาการให้กำเนิดชีวิตย่อมเป็นความสวยงามของโลก โดยที่ไม่มีใครคาดคิดว่า “คุณนงค์” (นามสมมติ) หญิงท้องแก่คนนั้นจะเกิดภาวะน้ำคร่ำเข้ากระแสเลือด
ข้อเท็จจริงทางการแพทย์ที่ผู้เขียนเสนอไว้ทำให้ผู้อ่านได้รับทราบว่าโรคดังกล่าวมีโอกาสเกิดขึ้นกับหญิงตั้งครรภ์ ๑ ใน ๘๐,๐๐๐ และโอกาสรอดชีวิตแทบจะนับได้ว่าเป็นศูนย์ ในวินาทีแห่งความเป็นความตายนั้นหมอเซียงรวมถึงทีมพยาบาลหลายชีวิตพยายามช่วยยื้อสองชีวิตสุดกำลังความสามารถแต่มัจจุราชก็ไม่รามือโรคร้ายนั้นได้คร่าชีวิตคุณนงค์ไป เมื่อความคาดหวังความสุขของญาติผู้เสียชีวิตมีมากความผิดหวังจากความสูญเสียก็มากเช่นกันและเหตุการณ์นี้เองที่เป็นจุดเริ่มต้นนำมาซึ่งมรสุมแห่งชีวิตของหมอเซียงหมอผู้ถูกตราหน้าว่าฆ่าคนตายด้วยศาลเตี้ยที่ตั้งขึ้นโดยญาติของผู้ตายตั้งนับแต่วันนั้นเป็นต้นมา หมอเซียงเล่าเรื่องโดยแบ่งช่วงเหตุการณ์สำคัญแยกเป็นบทๆ ประกอบด้วย ๓๗ บท เช่น
“บทที่ ๕ เราต้องสู้เพื่อความดีไม่ใช่หรือครับแม่”
“บทที่ ๑๕ อานุภาพการทำลายล้างของคนกันเอง”
“บทที่ ๓๓ แสงสว่างที่ปลายซอยของหมอ(หมา)จนตรอก”
สำนวนภาษาที่ใช้ในการตั้งชื่อแต่ละบทนับเป็นจุดเด่นจุดหนึ่งที่ดึงดูดความสนใจและแสดงออกเป็นนัยๆ ถึงความสามารถในการใช้ภาษาเพื่อเล่าเรื่องให้ชวนติดตาม
หลังจากชาวบ้านเกิดความเข้าใจผิดจึงฟ้องร้องต่อศาลอาญาและศาลแพ่ง หมอเซียงต้องต่อสู้คดีเป็นระยะเวลานานหลายปี โดยท่ามกลางกระแสสังคมที่ผู้คนมองเห็นแต่ความสูญเสียของครอบครัวผู้เสียชีวิต หมอเซียง ณ ตอนนั้นไม่มีโอกาสใดๆ ที่จะอธิบายให้ใครฟัง หนังสือเล่มนี้จึงเป็นเครื่องมือเพียงอย่างเดียวที่เป็นพื้นที่ให้หมอได้เสนอความสูญเสียที่เกิดขึ้นในมุมเล็กๆ มุมหนึ่งที่สังคมอาจไม่เคยรับรู้ เป็นราคาของบทเรียนที่เธอต้องจ่ายแสนแพง การต้องขึ้นศาลโดยไร้ความรู้ทางกฎหมายส่งผลที่เลวร้ายคือ เธอประกันตัวเองไม่ทันจึงต้องถูกฝากขังชั่วคราวในคุกใต้ศาล สภาพความมืดทึม ชื้นและอับส่งผลต่อความรู้สึกของผู้บริสุทธิ์ให้สิ้นหวังและหดหู่แต่หมอเซียงก็ตัดสินใจเด็ดขาดในการเลือกดำรงชีวิตต่อด้วยการพิสูจน์ความจริงในอาชีพที่เธอรัก ด้วยความยึดมั่นที่จะต่อสู้เพื่อความถูกต้อง แต่ความถูกต้องที่เธอยึดมั่นกลับทำให้วันหนึ่งสามีของเธอเกิดความไม่พอใจ ไม่เข้าใจและขอแยกทางในที่สุดใครบ้างจะมองเห็นว่าแพทย์ผู้ถูกตีตราคนหนึ่งต้องบ้านแตกสูญเสียชีวิตครอบครัวอันเป็นสุขจากความเสียสละเพื่อส่วนรวม ณ ตอนนั้นใครบ้างจะเห็นใจหมอผู้เป็นจำเลยสังคม
ในวันที่หมดที่พึ่งหมอเซียงต้องดูแลลูกที่กำลังเล็ก 2 คนเพียงลำพัง ไม่เพียงเท่านั้นเธอยังต้องเผชิญกับภาวะเคราะห์ซ้ำกรรมซัดระหว่างต่อสู้คดีหมอต้องทำหน้าที่ดูแลพ่อที่ป่วยเป็นอัมพาตอีกด้วย และที่น่าหดหู่ใจกว่านั้นคือการที่คนที่มีส่วนรับรู้เรื่องราวตามไประรานลูกสองคนของหมอที่โรงเรียน ด้วยการบอกกับเด็กๆ ผู้ไร้เดียงสาด้วยคำพูดที่เสียดแทงว่า “น่าสงสารเด็กสองคนนี้เนอะ หน้าตาก็น่ารักน่าชัง แต่มีกรรม มีแม่เป็นหมอฆ่าคน” ในตอนนั้นหมอเซียงสิ้นหวังและหมดหวังถึงขีดสุด หมอผู้บริสุทธิ์จึงคิดจะเลือกเดินทางต่อด้วยการหนีปัญหาโดยการฆ่าตัวตายแต่อาจจะด้วยความดีที่เธอทำจึงส่งกัลยาณมิตรมาช่วยประคับประคองปลอบใจ และให้กำลังใจ
แม้เนื้อหาของเรื่องจะค่อนข้างเครียดและซับซ้อนมีทั้งศัพท์ทางการแพทย์และศัพท์ทางกฎหมายแต่การใช้ภาษาตลอดทั้งเรื่องนั้นนับเป็นส่วนช่วยสำคัญในการดึงดูดผู้อ่านให้ติดตามต่อการใช้ภาษาของผู้เขียนเป็นภาษาที่สละสลวยแต่เรียบง่ายและบอกเล่าอย่างตรงไปตรงมา จนสามารถกล่าวได้ว่าถ้าหากผู้อ่านไม่ทราบมาก่อนว่านี่เป็นสารคดี หนังสือเล่มนี้ก็อาจจะนับเป็นนวนิยายสืบสวนสอบสวนที่อ่านสนุกเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะในตอนที่ผู้เขียนถ่ายทอดอารมณ์ความคิดของปุถุชนที่มีทั้งด้านมืดและสว่างที่ต่อสู้กันในสมองอย่างเป็นนามธรรมให้ออกมาเป็นรูปธรรมโดยสมมติให้เป็นการถกเถียงกันไปมาระหว่างนางฟ้าและปีศาจในจิตใจ
“เมื่อมาถึงโรงรถ ดิฉันรีบก้าวขึ้นทันทีโดยไม่เสียเวลามองคนที่เดินตามหลังมาติดๆ ล็อกประตู หมุนกุญแจสตาร์ทรถ เสียงคำรามดังฟังดูคล้ายเสียงหัวเราะของเหล่าซาตานที่กระซิบกระซาบข้างหู ถามว่า
“ไง สนุกไหมกับการเป็นหมอที่แบกอุดมการณ์ จะบอกให้เอาบุญนะ เขาไม่เห็นความดีของเธอหรอก เขาเห็นแต่เงินสิบล้าน สิบล้าน เธอมีปัญญาหาให้เขาได้ไหม ?”
“พอได้แล้ว” คนที่ถูกหัวเราะรีบตอกกลับ แต่ดูเหมือนจะไม่ได้ผล...
เรื่องราวในแต่ละบทดำเนินไปอย่างบีบคั้นและลุ้นให้ผู้อ่านช่วยเป็นกำลังใจให้หมอ ทั้งที่ในบางตอนของเรื่องผู้เขียนเหมือนจะเฉลยคำตอบของผลคดีไว้แล้วว่าผลสุดท้ายการดำเนินคดีเธอไม่ได้ติดคุกแต่หนังสือเล่มนี้ก็ยังชวนให้ติดตามถึงตอนจบด้วยความสงสัยที่ติดค้างในใจว่าหมอเซียงรอดจากคดีอาญามาได้เช่นไร จนถึงบทสรุปของเรื่องที่เป็นการบอกเล่าว่า “คนทำดีย่อมได้ดี” หมอเซียงไม่ได้ต่อสู้จนชนะคดีอาญา แต่เป็นฝ่ายโจทย์ที่ถอนฟ้องโดยที่คุณหมอไม่ได้เฉลยไว้ในเรื่องว่าโจทย์ถอนฟ้องด้วยเหตุผลใดและทั้งๆ ที่มีหลายคนบอกให้หมอฟ้องกลับแต่หมอเลือกที่จะปฏิเสธข้อเสนอนั้นด้วยเห็นใจในความสูญเสียที่ครอบครัวของคุณนงค์ผู้เสียชีวิตได้รับ หมอเซียงยุติเหตุการณ์ด้วยความเห็นอกเห็นใจและเลือกจะเป็นเพื่อนกับผู้ร่วมเรียนรู้และเผชิญกับความสูญเสีย
บทเรียนสำคัญจาก “เขาตราหน้าว่าหมอฆ่าคน” จึงอยู่ที่ความหวังที่แพทย์ต้องการสื่อสารให้สังคมรับรู้และเข้าใจ ต้องการสร้างสัมพันธภาพระหว่างแพทย์กับคนไข้ให้เห็นถึงความเป็นเพื่อนมนุษย์ผู้มุ่งดีต่อกัน เห็นอกเห็นใจในความรู้สึกของกันและกัน ด้วยเหตุผลที่ว่าในภาวะที่แพทย์ถูกสังคมกดดันมากจนเกินไป ความเหนื่อยล้าและท้อใจอาจส่งผลให้เกิดความสับสนขึ้นภายในจิตใจดังที่ผู้เขียนถ่ายทอดให้สังคมได้รับรู้อย่างกล้าหาญเสียงกระซิบเล็กๆ จากบุคคลผู้เสียสละความสุขส่วนตนเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมนี้ต้องการให้สังคมช่วยเข้าใจว่า แพทย์ก็เป็นมนุษย์ บางครั้งจิตใจด้านมืดที่เกิดความน้อยเนื้อต่ำใจก็ชวนให้สงสัยว่าเหตุใดคุณงามความดีและการเสียสละที่แพทย์คนหนึ่งเพียรกระทำตลอดระยะเวลาหลายปีของการเป็นแพทย์จึงตอบแทนเธอด้วยการส่งความข่มขื่นของชีวิตมาให้เธอลองเผชิญและถ้าหากคนไข้พากันฟ้องร้องแพทย์จนชนะคดีไม่ว่าจะเป็นคดีใดอย่างชนิดที่ว่า “หากมีคนตาย แพทย์ต้องรับผิดเสมอ” ค่าบทเรียนที่สังคมต้องจ่ายย่อมต้องเป็นภาวะวิกฤติที่แพทย์เสียขวัญและกำลังใจแล้วผู้ที่ต้องรับผลกระทบมากที่สุดก็ไม่ใช่แพทย์แต่กลับเป็นผู้ป่วยเอง
อนึ่ง สิ่งที่สังคมนี้ควรจะมีคือการชื่นชมและให้กำลังใจต่อจิตใจอันดีงามของผู้เขียนเพราะในตอนแรกแม้ว่าเธอจะเรียกร้องความเข้าใจและความเห็นใจแต่จิตใจที่น่าเชิดชูของผู้เป็นแพทย์ได้สัญญากับสังคมแล้วว่าแพทย์จะต่อสู้เพื่อความถูกต้อง ต้องเสียสละเพื่อเพื่อนมนุษย์ให้สมกับการเป็นแพทย์ ต้องให้อภัยและเห็นอกเห็นใจผู้สูญเสีย หมอเซียงได้เรียนรู้ที่จะชนะใจตนเองด้วยการยึดมั่นในพระราชดำรัสของพระบรมราชชนกเป็นหลักประจำใจตลอดมา ดังตอนหนึ่งที่ว่า “แพทย์ทุกคนถือประโยชน์ส่วนตนเป็นที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง” สำหรับผู้อ่านแล้วนี่อาจเป็นบทพิสูจน์หนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่าหนังสือเล่มนี้ไม่ใช่คำแก้ตัวของหมอเซียงผู้ถูกตีตราแต่เป็นบทเรียนที่ถอดจากชีวิตจริงเพื่อหวังให้เกิดความเข้าใจที่ดีต่อกันระหว่างแพทย์และคนไข้
ลองคิดกันดูเถิดว่าในวันที่แพทย์และสังคมต่างไม่เชื่อใจและระแวงกัน มนุษยชาติจะเป็นเช่นไรหากไม่มีมนุษย์คนใดอยากเสียสละตนเป็นแพทย์นำพาตนเองเข้ามาเสี่ยงเสียสละรักษาชีวิตผู้อื่นโดยที่ไม่รู้ว่าตนเองจะเดือดร้อนในวันใด ?
สุชาดา สกุลลีรุ่งโรจน์ (พลอย)