กวีนิพนธ์ เรื่อง จนกว่าชีวิตจะนิทรา ของ ปาลิตา ผลประดับเพ็ชร์ นับเป็นผลงานที่บรรจงสร้างด้วยการจัดวางองค์ประกอบของคำได้อย่างลงตัว ใช้คำเข้าใจง่าย แต่คมคายด้วยเนื้อหา มีความลุ่มลึกทางภาษา ทำให้เกิดความซาบซึ้ง ซึ่งสะท้อนอารมณ์ของผู้อ่านเป็นอย่างยิ่ง
ชีวิตใหม่ฉายวิญญาณ์
ผู้เขียนพยายามเปรียบเทียบให้เห็นความกลมกลืนในการดำเนินเรื่อง โดยสร้างเปิดประเด็นชีวิตที่อุบัติใหม่ที่ฉายวิญาณ์ ชีวิตความเป็นเด็กที่มีแต่ความน่ารัก ด้วยแววหวังเพื่อที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต เหมือนกับพ่อแม่ทั้งหลาย ที่ปรารถนาให้ลูกมีชีวิตที่ดี ด้วยผลแห่งความเมตตาการุณย์ของแม่ที่สะท้อนให้เห็น
“เปลเก่า...ยังโยนไกวไปช้าช้า
กล่อมนิทราชีวิตใหม่ในอู่อุ่น
โยนหน้า – โยนหลังอย่างสมดุล
การุณย์ร่างนั้นทั่วสรรพางค์”
ยังสะท้อนวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมในอดีต ที่แม่เลี้ยงลูกด้วย ‘อู่’ หรือ ‘เปล’ นับเป็นภูมิปัญญาที่ควรค่า ที่ผู้เขียนได้สอดแทรกเข้าไปในเนื้อหา ซึ่งปัจจุบันการเลี้ยงลูกของพ่อแม่ได้เปลี่ยนแปลง แม้การเห่กล่อมในลูกนอนหลับ ก็แทบจะไม่เห็นในสังคมปัจจุบัน นับเป็นการแสดงบริบททางสังคมที่เปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย
จุดเปลี่ยนชีวิต
ผู้เขียนได้แสดงทัศนะ ซึ่งเป็นแนวปรัชญาแสดงความไม่เที่ยงของชีวิต ซึ่งมีทั้งความสุข – ทุกข์
“ดูดอกบัวสีหวานเพิ่งออกฝัก
ดูปุยเมฆปั้นเป็นรูปลิง - ยักษ์
ดูผีเสื้อทายทักดอกรักบาน”
แปรเปลี่ยนเป็นความทุกข์ที่เป็นของคู่กันกับความสุข
“ทว่าเจ้าเติบโต...จนเต็มร่าง
อาจพบบัวดอกด่างและร้างสี
หม่นเมฆครึ้มทึมเทา – เท่าเมฆมี
และดอกไม้ไม่ปราณีผีเสื้อนัก”
ผู้เขียนได้แสดงความเปลี่ยนแปลง จากดอกบัวที่เคยสีหวานที่ซาบซ่านในหฤทัยกลับกลายเป็นดอกด่างไม่มีสีสวยสดเหมือนเดิม เมฆที่เคยเห็นเป็นรูปสัตว์ต่าง ๆ ที่แสนจะน่ารักกลับเปลี่ยนเป็นความทึมเทา และดอกไม้ที่เคยผลิดอกให้ผีเสื้อได้ยินยลแปรเปลี่ยนเป็นไร้ความปรานี อย่างไม่ไยดี
ซึ่งก็คล้ายกับปัจจุบันที่สังคมมีความรุดหน้า แต่จิตใจต่ำช้าเกินวิสัยมนุษย์
ภาษาศรีวรรณศิลป์
ผู้เขียนได้ใช้กลวิธีการซ้ำคำ นำมาซึ่งความสละสลวยทางภาษา
‘เปลเก่า...ยังโยนไกวไปช้าช้า’
‘โยนหน้า – โยนหลังอย่างสมดุล’
‘แม่ร้องเพลงเบาเบาอยู่ข้างข้าง’
‘เป็นเพลงโปรดประโลมใจไปพลางพลาง’
ผู้เขียนยังใช้กลบทแสดงวาทศิลป์ และไม่ลืมศิลปะโบราณของ
“ดูดอกบัวสีหวานเพิ่งออกฝัก
ดูปุยเมฆปั้นเป็นรูปลิง - ยักษ์
ดูผีเสื้อทายทักดอกรักบาน”
ผู้เขียนได้แสดงวรรณศิลป์ที่แสดงให้เห็นการเคลื่อนไหว
‘เปลเก่า...ยังโยนไกวไปช้าช้า’
‘และเปลเก่ายังโยนไกวในเร็ว - ช้า’
ด้วยกวีนิพนธ์ เรื่อง จนกว่าชีวิตจะนิทรา ซึ่งมีเนื้อหาทั้งทางวรรณศิลป์และเนื้อหาสะท้อนมุมมองทางสังคม อันเป็นเครื่องมือเพาะบ่ม รังสรรค์ผ่านบทกวีเพียง ๑0 บท แต่มีเนื้อหาซาบซึ้ง ครอบคลุมประเด็นที่จะสื่อ ถือเป็นสัญลักษณ์ สร้างหลักมั่นทางวรรณศิลป์ แฝงปรัชญาชีวิต นับเป็นสิ่งสะกิดสังคม โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงในชีวิต ทำให้ผู้วิจารณ์ได้เปรียบเสมือนกระจกสะท้อนสังคม ด้วยภาษาแห่งสหฤทัย กินใจผู้คนในสังคม สร้างความประณีตจิตพิศเพ่งคุณค่าและนำพาองค์ความรู้ แม้ตั้งแต่ตอนเกิดจนตาย จึงขยายได้ว่า “จนกว่าชีวิตจะนิทรา”
การปลุกให้ฮึดสู้ราวกับยังเป็นวัยทารกที่เปรียบด้วยความดีงาม บริสุทธิ์ แววตาใสเป็นประกาย
“เจ้าจงยืมหัวใจทารก
มาเต้นในหัวอกที่หมกไหม้
ยืมแววตาวัยเยาว์อันวาวไว”
การที่ผู้เขียนได้แทรกนับเป็นความตื่นเต้นของผู้อ่านและแทรกปรัชญาแนวคิด เรื่อง ‘ชอบ’ กับ ‘ชัง’ อันเป็นมโนวิสัย แสดงกิเลสมนุษย์ที่ยังไม่สามารถตัดได้
‘ชอบ’ อาจหลับใหลอยู่ใน ‘ชัง’
และสะท้อน ‘ทุกข์’ กับ ‘สุข’ ที่สลับปรับเปลี่ยนเข้ามา ซึ่งมีอยู่ในปุถุชนธรรมดา
‘โศกร่ำ – ปรีดี, มิอาจหยั่ง’
นับเป็นสัจธรรมที่มี ไม่ทุกข์ตลอดไปและไม่มีสุขตลอดไป
จนกว่าชีวิตจะนิทรา พลังขับเคลื่อนมรรคา จุดโชนไฟแห่งความหวัง
บทวิจารณ์บทกวี "จนกว่าชีวิตจะนิทรา"
โดย อภิชัย อุทัยแสง
โครงการ “อ่าน เขียน เรียนรู้ สู่งานวิจารณ์ ” ปีที่ 5