น้ำตาสาละวิน ประสบการณ์ผ่านเรื่องเล่า : โดย จินดารัตน์ หิรัญรักษ์

น้ำตาสาละวิน ประสบการณ์ผ่านเรื่องเล่า

          งานเขียนเรื่องประสบการณ์ น้ำตาสาละวิน ของ ธีรภาพ โลหิตกุล เป็นเรื่องราวที่ผู้เขียนนำเสนอภาพเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างคนกลุ่มน้อย ที่มีความแตกต่างทางด้านเชื้อชาติ ความคิด จนนำไปสู่การเสียเลือดเนื้อ มนุษยธรรม และน้ำใจที่มนุษย์พึงมีต่อกันไป โดยผู้เขียนใช้ภาษาวรรณศิลป์ในการถ่ายทอดและเชื่อมโยงเรื่องราวต่าง ๆ โดยใช้เหตุการณ์ในภาพยนตร์ในการสื่อความเพื่อนำเสนอเรื่องราวให้มีความชัดเจนและเห็นภาพมากยิ่งขึ้น

 

          ประสบการณ์น้ำตาสาละวิน เป็นเรื่องราวที่นำเอาเหตุการณ์ในภาพยนตร์เรื่อง มือปืน 2 สาละวิน มาเป็นตัวเปิดและเชื่อมโยงเหตุการณ์ทั้งหมด โดยผู้เขียนมีการเชื่อมโยงไปถึงเนื้อเพลงกะเหรี่ยง ที่สะท้อนความเศร้าและโหดร้าย ภาพข่าวและภาพยนตร์ เดอะคิลลิงฟีลด์ ที่กล่าวถึงการที่เขมรแดงถูกทำร้าย ชาวไทยเขินในเมืองเชียงตุงถูกพม่าทำร้าย แล้วจึงย้อนมาที่ไทยในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ที่ผู้เขียนได้ถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดผ่านบทละครและเหตุการณ์ต่าง ๆ เพื่อต้องการเน้นย้ำให้เห็นถึงเหตุการณ์ที่เลวร้ายที่เกิดกับเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เพื่อเน้นย้ำให้เห็นถึงแนวคิดของผู้เขียนที่ต่อต้านการเผด็จการในทุกรูปแบบ

 

          ในการนำเสนอเรื่องราวประสบการณ์ น้ำตาสาละวิน ของผู้เขียนจะเห็นได้ว่าผู้เขียนมีการตั้งชื่อเรื่องธรรมดาแต่แฝงความหมายลึกซึ้ง เมื่อได้อ่านเรื่องจึงทำให้รู้ว่าประสบการณ์ที่ผู้เขียนใช้เป็นชื่อเรื่องนั้นล้วนแต่เป็นเหตุการณ์ที่ผู้เขียนไม่ได้ประสบพบเจอโดยตรง แต่เป็นการดูจากภาพยนตร์ แต่กลับเป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นว่าถึงแม้จะไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ แต่ก็มีความรู้สึกและไม่อยากให้เหตุการณ์ที่เลวร้ายเกิดขึ้นอีก

 

          การเปิดเรื่องผู้เขียนนำเสนอเหตุการณ์ด้วยการเล่าเรื่องที่ได้ฟังมาอีกที มีการบรรยายภาพที่เกิดขึ้นอย่างหลากหลายรวมถึงมีการสอดแทรกสำนวนเพื่อให้เรื่องราวมีความแปลกใหม่น่าสนใจดังตัวอย่าง “ในสายวันหนึ่งของเดือนพฤศจิกายน 2535 ช่วงเวลาที่ชายแดนตะวันตกของไทยกำลังครุกลุ่นด้วยการสู้รบระหว่างกองทหารพม่ากับกองกำลังกู้ชาติกะเหรี่ยง แล้วยังผีซ้ำด้ำพลอย ด้วยข่าวความขัดแย้ง” นอกจากนี้การเปิดเรื่องยังสะท้อนให้เห็นเหตุการณ์โดยผู้เขียนได้มีการหยิบยกขึ้นมาดังที่กล่าวไปข้างต้น

 

          ส่วนเนื้อเรื่องเป็นส่วนที่ทำให้ผู้อ่านได้รับความรู้เกี่ยวกับปัญหาในกลุ่มชนเผ่าต่าง ๆ ทั้งในพม่า กัมพูชา รวมถึงประเทศไทยเองด้วยเช่นกัน ซึ่งจากเนื้อหาทำให้เห็นและตระหนักได้ถึงปัญหาทางด้านสิทธิมนุษยชนที่ยังคงลุกลามอยู่รอบดินแดนไทย

 

          ผู้เขียนได้มีการนำเสนอเนื้อหาเรื่องของความเหลื่อมล้ำทางด้านมนุษยชนผ่านการถ่ายทอดทางเรื่องเล่าที่แฝงไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกที่เศร้าสลดกับเหตุการณ์ ซึ่งผู้แต่งมีการใช้ภาษาที่สื่ออารมณ์ได้อย่างดีดังจะเห็นได้จากข้อความที่ว่า “แทบไม่น่าเชื่อ นี่คือเส้นแบ่งเขตแดนไทย-พม่า” และ “เส้นแบ่งระหว่างความเป็นกับความตายมันบอบบางเสียเหลือเกิน” เป็นการใช้คำว่าเส้นแบ่งเขตในการสื่อความหมายตรงข้ามเพื่อเน้นย้ำความหนักแน่นของเนื้อหาว่าเส้นแบ่งเขตนั้นสามารถที่จะทำให้คนต้องมาสู้เสียล้มตายเพียงแค่เพราะเส้นแบ่งเขตแดนโดยไม่ใยดีความเป็นความตายของมนุษย์ด้วยกันเอง

 

          ภาพที่ผู้เขียนต้องการนำเสนอเรื่องราวถูกถ่ายทอดผ่านภาษาที่ลึกซึ้งกินใจ มีการเน้นย้ำประโยคที่แสดงให้เห็นถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ในแต่ละแห่ง โดยใช้คำว่า “เป็นความรู้สึกเดียวกับ” แล้วจึงใช้เหตุการณ์ต่าง ๆ เข้ามาเสริมเพื่อให้ผู้อ่านเห็นไปในทางเดียวกันว่าเหตุการณ์เหล่านี้ล้วนมีต้นเหตุมาจากสิ่งเดียวกัน คือความไร้มนุษยธรรมและแล้งน้ำใจของมนุษย์เป็นเหตุ และเรื่องราวต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนถูกนำเสนอผ่านการเล่าเรื่องเกือบทั้งสิ้น

 

          ในตอนช่วงท้ายเรื่องผู้เขียนมีการนำเสนอเรื่องราวผ่านประสบการณ์ตรงเป็นการแสดงให้เห็นถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่มีการเดินขบวนประท้วงของนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยผู้เขียนมีการเล่าโดยใช้การลำดับเวลาตามปฏิทินซึ่งเป็นเหตุการณ์และมุมมองที่เกิดขึ้นกับตนเอง

 

          ตอนท้ายของเรื่องเป็นการปิดเรื่องที่แสดงให้เห็นว่าผู้เขียนไม่มีประสบการณ์ตรงแต่เป็นการเน้นย้ำให้เห็นว่า ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและสัมผัสได้ผ่านทางภาพยนตร์ที่นำเสนอ

 

          น้ำตาสาละวินนี้เป็นเรื่องราวที่สะท้อนสังคมทำให้ผู้อ่านได้ตระหนักถึงสิทธิมนุษยชน และความเจ็บปวดกลั่นกรองออกมาเป็นความเศร้าและเรียกน้ำตาให้หลั่งออกมาเป็นความโศก ความสลดที่มีให้กับคนที่ถูกทำร้ายและพรากชีวิตไปตั้งแต่ต้นจนจบเรื่องผู้เขียนใช้ภาษาในการสื่ออารมณ์ได้เป็นอย่างดี ทั้งยังมีการทิ้งเกร็ดไว้ให้ได้คิดจากเรื่องเล่าของแม่น้ำสาละวิน เป็นเสมือนเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดความสลดจนหลั่งออกมาเป็นน้ำตาสาละวินเพื่อเตือนใจผู้อ่านทุกคน

 

"น้ำตาสาละวิน ประสบการณ์ผ่านเรื่องเล่า"
บทวิจารณ์โดย จินดารัตน์ หิรัญรักษ์

โครงการ “อ่าน  เขียน  เรียนรู้  สู่งานวิจารณ์ ” ปีที่ 5 

 

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ