รักเกลียดก้าวของสมิธธ์ : เบญจพล โชคบำรุงศิลป์: บทวิจารณ์เรื่องสั้น "เกินเอ่ยออกโอษฐ์อ้า"

รักเกลียดก้าวของสมิธธ์

            เกินเอ่ยออกโอษฐ์อ้า แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า more than I can say” โดยมีความหมายว่า มากเกินจนไม่สามารถบรรยายออกมาได้ เนื้อเรื่องโดยสังเขปมีใจความว่า สมิธธ์ต้องกลับมาดูแลพ่อที่ป่วยเป็นโรคจิตเวช ทุกข์ซํ้ากรรมซัดพ่อป่วยเป็นโควิดทำให้เสียชีวิตไปในที่สุด เมื่อผมได้อ่านเรื่องนี้จบ ๑ รอบ มันทำให้ผมนึกถึงพ่อของผมผู้ป่วยเป็นโรคทางจิตชนิดหนึ่ง อาการของท่านคือไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ ทำให้หลายครั้ง ผม แม่ และ น้อง ต้องประสบพบเจอกับความก้าวร้าวสารพัด เช่น ขว้างมีด, ชวนทะเลาะเพื่อจะนำเงินไปใช้จ่ายไร้สาระ, ทำลายข้าวของในบ้าน เป็นต้น วิถีชีวิตของครอบครัวผมต้องเผชิญกับ ความรัก, ความเกลียด, ความก้าวร้าวอยู่เป็นประจำ

            ความรักคืออะไรกันแน่? เคยสงสัยกันมั้ยครับ ความรักคือการอยากครอบครองสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือ ความรักคือการให้ทุกอย่างๆเพื่อทำให้ใครซักคนมีความสุข ตามหลักพระพุทธศาสนา ความรักแบ่งประเภทได้ดังนี้ (ประยุกต์ใช้หลักธรรมเกี่ยวกับความรักตามแนวพุทธปรัชญา)

            ๑. สิเนหะ คือ ความรักที่อยากจะครอบครองสิ่งใดสิ่งหนึ่งซึ่งเป็นบ่อเกิดความทุกข์

            ๒. เปมะ คือ ความรักอันอาศัยเรือน เป็นความรักในครอบครัวซึ่งไม่สามารถแยกจากกันได้

            ๓. ฉันทะ คือ ความพอใจ ความเป็นผู้ประสงค์ที่จะทำ

            ๔. เมตตา คือ ความรักที่อยากจะดูแลเพราะสงสาร

            ๕. เมตตะอัปปมัญญา คือ ความรักใคร่ กิริยาที่รักใคร่ มีจิตใจที่เท่าเทียมกัน

            ในเนื้อเรื่องต่างมีเหตุการณ์ที่บ่งบอกถึงความรัก เช่น ตอนที่พ่อของสมิธธ์เข้าโรงพยาบาล พี่สาวที่ก่อนหน้าที่สมิธธ์ด่าทอไปกลับเป็นห่วงสมิธธ์ หรือ ตอนที่สมิธธ์ถูกพ่อตีหัวจนหัวแตกทั้งที่ถ้าเป็นผมผมคงทิ้งพ่อตัวเองไปแล้วแต่สมิธธ์กลับเป็นห่วงพ่อว่าจะไม่มีคนคอยดูแล สะท้อนให้เห็นว่าลึกๆแล้ว สมิธธ์ไม่ได้มีโอกาสที่จะเกลียดพ่อตัวเองด้วยซํ้า ซึ่งนี่คงเป็นภาพฝันของพ่อแม่หลายๆคน

            เมื่อพูดถึงความรักแล้วหากคนที่เรารักมากๆ ทำร้ายเราหรือหักหลังเราเราก็จะเกิดอารมณ์ๆหนึ่งขึ้นมา ซึ่งอารมณ์นั้นคือความเกลียดชัง ความเกลียดชังไม่ว่าจะน้อยหรือมากหากมีมันจะทำให้บรรยากาศรอบๆกายไม่เป็นมิตรซักเท่าไหร่ หรือ ความเกลียดชังจริงๆแล้วมันเกิดขึ้นมาจากความอ่อนแอของคนๆหนึ่งที่พยายามที่จะปกป้องตัวเองจากความรู้สึกแย่ๆ และต้องการที่จะหนีไปให้พ้น

            ในเนื้อเรื่องก็มีอยู่หลายจุดที่แสดงถึงความเกลียดชังและแสดงความก้าวร้าวของสมิธธ์ออกมา ตัวอย่างเช่น ตอนที่สมิธธ์ถูกพ่อตัวเองตีที่หัวจนหัวแตก สมิธธ์ต้องการใครซักคนที่จะมาทำหน้าที่แทนเขา เขาจะได้ไปโรงพยาบาลได้อย่างสบายใจ เขาโทรหาพี่สาวเพื่อจะให้เธอมาดูแลพ่อแทน แต่ด้วยภาระหน้าทื่ทำให้เธอมาไม่ได้ สมิธธ์จึงด่าทอเธอไปซะชุดใหญ่ จากสถานการณ์นี้แสดงให้เห็นถึงความอ่อนแอและไร้ที่พึ่งของสมิธธ์ซึ่งเป็นบ่อเกิดของความเกลียดชังและความก้าวร้าว แต่สุดท้ายเมื่อสมิธธ์ใจเย็นลง สมิธธ์ก็เริ่มหาทางออกอีกครั้งจนสุดท้ายก็จ้างยามมาช่วยดูแลรักษาความปลอดภัยให้กับพ่อ บทบรรยายนี้ถ่ายทอดความรู้สึกออกมาได้ชัดเจนทำให้เห็นภาพที่สมิธธ์กำลังลนลานหาทางออก แต่ถ้ามองตามความเป็นจริงแล้วทำไมสมิธธ์ไม่ส่งพ่อเข้าโรงพยาบาลจิตเวชเลยตั้งแต่แรกเพราะหากปล่อยพ่อไว้ที่บ้านอาจจะส่งเกิดเหตการณ์ไม่คาดฝันซึ่งมันจะเป็นภัยต่อตัวสมิธธ์และเพื่อนบ้านอีกด้วย

            เมื่อสมิธธ์กลับมาจากโรงพยาบาลสมิธธ์ก็ขอให้ยามไปซื้อชุดรปภ.สีเขียวมาให้เพื่อหวังที่จะขู่พ่อให้กลัว เหตุการณ์อาจจะดูเป็นเรื่องสนุก ตลกขบขัน แต่ถ้ามองจากมุมของคนที่โดนแล้วมันก็ไม่ต่างจากการที่เอาคนกลัวความมืดไปขังไว้ในห้องมืดซึ่งเป็นอะไรที่โหดร้ายมาก บทบรรยายนี้แสดงให้ถึงความก้าวร้าวของสมิธธ์ที่ต้องการจะแก้แค้นพ่อของตน โดยให้คำบรรยายได้สาแก่ใจคนอ่านมาก การใช้คำพูดที่หยาบคายเหมาะสมกับสถานการณ์ก็เป็นเสน่ห์อีกอย่างนึงในการสื่อให้คนอ่านเห็นภาพได้อย่างชัดเจน

            โดยรวมแล้วเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สื่ออารมณ์ออกมาได้ดี ชัดเจน โดยใช้คำหยาบคายแต่ก็ไม่ได้รุนแรงนัก การใช้คำหยาบคายนั้นอาจเป็นแนวทางในการช่วยให้ผู้อ่านจินตการภาพออกมาได้ชัดเจน หรือผู้เขียนอาจจะต้องการสวมบทบาทเป็นสมิธธ์เพื่อให้อรรธรสในการอ่าน นอกจากจะสื่ออารมณ์ได้ดีแล้วนั้น ผู้เขียนได้สอดแทรกเหตุการณ์โรคระบาดหรือโควิดซึ่งเป็นโรคที่กำลังระบาดในปัจจุบัน ซึ่งนั่นเป็นการยํ้าเตือนถึงภัยที่สามารถเกิดขึ้นตอนไหนก็ได้ ให้ผู้อ่านตระหนักและเรียนรู้ที่จะป้องกันโรคนี้ก่อนที่จะมีคนที่เรารักจากเราไป
 

 

บทวิจารณ์โดย เบญจพล โชคบำรุงศิลป์

ค่าย อ่าน เขียน เรียนรู้ สู่งานวิจารณ์ ปีที่ 8

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ