เรื่องสั้น “เมื่อลูกเป็นสุภาพบุรุษ” ผลงานจากปลายปากกาของนักเขียนเลื่องชื่ออย่าง “ชมัยพร แสงกระจ่าง” ผู้ที่มีผลงานมากมายเป็นเครื่องยืนยันถึงความสามารถที่เหลือล้นจนเป็นที่ยอมรับของคนในวงการนักเขียนวรรณกรรม เรื่องสั้นเรื่องนี้เป็นอีกหนึ่งผลงานของท่านที่มีความน่าสนใจผู้วิจารณ์จึงได้หยิบยกเรื่องสั้นเรื่องนั้นมา เนื่องด้วยเรื่องนี้มีประเด็นต่าง ๆ ที่น่าสนใจและน่านำมาวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมาก
เนื้อหาของเรื่องมีอยู่ว่า ผู้หญิงคนหนึ่งที่ทิ้งสามีไปเพราะสามีของเธอไปทำผู้หญิงท้อง เธอจึงตัดสินใจเลี้ยงลูกเพียงลำพังโดยมีแม่ของเธอช่วยเลี้ยงดูอีกแรง เธอปลูกฝังและเลี้ยงดูลูกชายของเธออย่างดีคอยสอนให้ลูกของเธอเป็นสุภาพบุรุษอย่างที่เธอเคยวาดฝันไว้ดังคำพูดของนักเขียนที่เธอชื่นชอบ แต่แล้ววันหนึ่งลูกชายของเธอก็ทำให้เธอต้องรู้สึกผิดหวังเป็นอย่างมาก
ประเด็นที่น่าหยิบยกมาศึกษาของเรื่องสั้นเรื่องนี้มีหลากหลายประเด็นที่น่าสนใจและน่าจะเป็นประเด็นที่อาจจะมีประโยชน์ต่อผู้อ่านทุกท่านไม่มากก็น้อย ดังนี้
สุภาพบุรุษจำเป็นต้องชายจริงหรือ
ค่านิยมที่ว่าผู้ชายทุกคนจะต้องปฏิบัติตนให้สมกับคำว่าสุภาพบุรุษ ซึ่งมีความหมายจากคำพูดของศรีบูรพาที่ผู้เขียนได้หยิบยกมาประกอบในเนื้อเรื่องว่า “ผู้ที่เกิดมาเพื่อคนอื่น” ซึ่งครั้งแรกที่เห็นประโยคข้างต้นก็รู้สึกได้ทันทีว่า “จริงหรือ” ทำไมผู้ชายถึงต้องเกิดมาเพื่อเสียสละให้คนอื่น สำหรับผู้วิจารณ์มีความคิดว่าไม่ว่าเพศไหน ๆ ก็ควรที่จะปฏิบัติตนให้เสมอกัน ไม่ว่าเพศไหน ๆ ก็สามารถเป็นผู้ที่เกิดมาเพื่อคนอื่นได้เช่นกัน นี้เป็นการแสดงความเลื่อมล้ำทางด้านเพศที่ชัดเจนในเรื่องสั้นเรื่องนี้ แต่ถ้าหากวิเคราะห์ให้ลึกลงไป ความคิดหรือค่านิยมเรื่องความเป็นสุภาพบุรุษนั้นที่ผู้เขียนได้ถ่ายทอดมานั้นอาจเป็นการสะท้อนค่านิยมในช่วงสมัยของผู้เขียน หรือเป็นการสะท้อนภาพสังคมในช่วงสมัยเดียวกับผู้เขียนก็เป็นได้
ความไม่สมเหตุสมผลของผู้เป็นแม่
ความไม่สมเหตุสมผลในเรื่องสั้นเรื่องนี้เกิดขึ้นกับดินและแม่ของเขาแต่จะเป็นแม่ของดินเสียมากกว่า ซึ่งความไม่สมเหตุสมผลที่ว่าอยู่ในตอนที่ดินเปลี่ยนเวลาทำงานจากเดิมที่ดินทำงานช่วงกลางวัน และได้เปลี่ยนมาทำงานช่วงกลางคืนแทน เหตุเพราะกระทบต่อการเรียนของดินในตอนนั้นแม่ของดินอยากให้ดินเลิกทำงานและตั้งใจเรียนอย่างเดียว แต่แล้วความไม่สมเหตุสมผลก็เกิดขึ้นในช่วงท้ายของเรื่องอยู่ในตอนที่แม่ของดินรู้ว่าดินไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำฟ้าใสท้อง ในตอนแรกฟ้าใสยังไม่รู้ว่าเธอท้องกับดินแน่หรือเปล่า แม่ของดินจึงสัญญากับฟ้าใสว่าถ้าลูกในท้องเป็นลูกของดินเธอจะส่งเสียให้ฟ้าใสเรียนหนังสือ แต่ในภายหลังฟ้าใสได้โทรมาบอกว่าเธอไม่ได้ท้องกับดิน เธอจึงไปหลอกถามดินว่าดินได้ทำฟ้าใสท้องหรือไม่ แต่ดินกลับตอบมาว่าเขาทำฟ้าใสท้อง ซึ่งทำให้เธอแปลกใจเป็นอย่างมาก เธอจึงบอกความจริงกับดินว่าเธอรู้ความจริงแล้วว่าดินไม่ได้ทำฟ้าใสท้อง ดินจึงสารภาพว่าตัวของดินเองรู้ว่าแม่ของเขาให้คำสัญญากับฟ้าใสว่าถ้าเป็นลูกของดินจะส่งให้เรียนหนังสือดินอยากให้ฟ้าใสได้เรียนหนังสือ ดินจึงขอให้แม่ของตนส่งเสียฟ้าใสแทนส่งเสียตนแล้วเอาเงินที่แม่ของตนเตรียมไว้เพื่อส่งเสียตนมาส่งเสียฟ้าใสแทน ผู้เป็นแม่ที่เคยอยากให้ลูกเลิกทำงานเพื่อมาเรียนหนังสือเพียงอย่างเดียวในตอนแรก กลับตอบตกลงให้ลูกตัวเองเลิกเรียนหนังสือแล้วไปส่งเสียฟ้าใสแทน ซึ่งนี่เป็นความไม่สมเหตุสมผลของเรื่องนี้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นความไม่ผลนี้ก็ได้สร้างความเป็นหนึ่งให้กับเรื่องนี้ได้อย่างดี เพราะในตอนสุดท้ายนี้ดินก็เป็นสุภาพบุรุษให้กับแม่ของตนได้ตามที่แม่ต้องการและยังเป็นตอนจบที่สอดคล้องกับชื่อเรื่อง ซึ่งอาจจะเป็นความต้องการของผู้เขียนที่จะสร้างตอนจบของเรื่องให้สอดรับกับชื่อเรื่องอย่างที่ต้องการ
ถึงแม้ว่าเรื่องสั้นนี้จะมีประเด็นที่หยิบยกมาวิจารณ์ในด้านลบ แต่เรื่องสั้นเรื่องนี้ก็ได้แฝงคุณค่าในเรื่องของความรักระหว่างแม่กับลูกที่ต้องการเลี้ยงดูให้ลูกเกิดและเติบโตเป็นคนดีของสังคม นอกจากนี้ยังได้สะท้อนภาพสังคมในช่วงสมัยผู้เขียนเพื่อเป็นความรู้แก่ผู้อ่านผ่านการใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย แต่สร้างจินตนาการให้กับผู้อ่านได้อย่างดีเยี่ยม ทำให้ผู้อ่านรู้สึกทราบซึ้งในความรักของแม่คนหนึ่งที่มีต่อลูกและยังสอนให้รู้ว่าถึงแม้ว่าลูกของตนจะไม่มีพ่อช่วยเลี้ยงดู แต่ถ้าแม่คอยใส่ใจและเลี้ยงดูอย่างใกล้ชิดเชื่อได้ว่าลูกของท่านก็จะไม่ขาดความอบอุ่นและโตมาอย่างมีคุณภาพอย่างเช่น “ดิฉัน” ตัวละครในเรื่องสั้นเรื่องนี้นับว่าเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่สำหรับผู้เป็นแม่
เมื่อลูกเป็นสุภาพบุรุษ : ความสำเร็จของผู้เป็นแม่
บทวิจารณ์โดย ฐิติพงษ์ กลัดกลีบ
โครงการ “อ่าน เขียน เรียนรู้ สู่งานวิจารณ์ ” ปีที่ 5