เจ้าหงิญ : ‘เจ้าหงิญ’ นักเขียนผู้มีนามปากกาว่า บินหลา สันกาลาคีรี

เจ้าหงิญ

 

               นานมาแล้วที่เวลาแห่งการเจริญเติบโตทั้งร่างกายและจิตใจทำให้ข้าพเจ้าเหินห่างจากหนังสือนิทาน นี่จึงเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่ข้าพเจ้ามีโอกาสหยิบยกหนังสือนิทานอย่าง ‘เจ้าหงิญ’ ของนักเขียนผู้มีนามปากกาว่า บินหลา สันกาลาคีรี ขึ้นมาอ่าน ซึ่งหนังสือเล่มน้อยๆนี้ได้นำพาข้าพเจ้าสู่โลกของนิทานที่สวยงามและแตกต่างยิ่งกว่าในอดีต

 

               นักเขียนน้อยคนนักที่จะถ่ายทอดทัศนะของตนผ่านการเล่านิทานเฉกเช่น บินหลา สันกาลาคีรี การนำเสนอเรื่องราวในรูปแบบนิทานของนักเขียนผู้นี้สามารถสื่อให้ผู้อ่านอย่างข้าพเจ้ามองเห็นว่าแท้จริงแล้วสังคมปัจจุบันก็ไม่ต่างจากโลกนิทานที่หลายคนมองว่าเป็นเพียงมายา  หากแต่‘เจ้าหงิญ’ พิเศษกว่านิทานอื่นใด โดยนอกเหนือจากความแปลกของชื่อเรื่องที่ทำให้ผู้อ่านต้องขบคิดหาความหมาย อีกทั้งสะท้อนความสนุกสนานของเรื่องราวในเล่มได้อย่างสร้างสรรค์แล้ว ความโดดเด่นที่หนังสือเล่มนี้มิใช่เพียงมายาแต่เป็นทั้งความจริงและสิ่งขัดเกลาจิตใจของคนในสังคมให้บริสุทธิ์งดงามยิ่งขึ้น ได้ทำให้โลกทัศน์ของข้าพเจ้าแปลกใหม่และกว้างใหญ่ยิ่งขึ้น ดังนั้น‘เจ้าหงิญ’ จึงเป็นมากกว่า ‘เจ้าหญิง’ ในนิทานที่ข้าพเจ้าเคยพานพบ

 

                แม้ ‘เจ้าหงิญ’ จะเป็นหนังสือรวมเรื่องสั้น แต่การดำเนินเรื่องกลับมีเอกภาพอย่างน่าประหลาด โดยตัวผู้เขียนได้      ผูกโยงนิทานเรื่องเล็กๆให้กลายเป็นนิทานซ้อนนิทานได้อย่างแยบยล และเล่าขานผ่านตัวของตนเองอย่างมีอารมณ์ขัน อีกทั้ง  การวางโครงเรื่องที่แตกต่างกันในแต่ละเรื่องอาทิ การเล่าตามลำดับเวลา เล่าย้อนอดีต หรือการเกริ่นเรื่องด้วยคำถาม เป็นต้น สิ่งเหล่านี้สามารถขจัดความเบื่อหน่ายมิให้เกิดในใจของผู้อ่านได้เป็นอย่างดี และการสอดแทรกคำถามหรือคำพูดให้ผู้อ่านได้  ฉุดคิดในตอนท้ายเรื่องทำให้‘เจ้าหงิญ’ เป็นนิทานที่ไม่มีคติสอนใจประจักษ์แก่สายตาผู้อ่าน หากแต่คุณธรรมเหล่านั้นค่อยๆแทรกซึมสู่จิตใจของผู้อ่านโดยไม่รู้ตัว

 

              ‘เจ้าหงิญ’ เป็นนิทานที่เพียบพร้อมด้วยตัวละครทั้งคน สัตว์ สิ่งของ ซึ่งมีโอกาสโลดเล่นตามจินตนาการอันแสนลุ่มลึกและไร้ขอบเขตของผู้เขียนได้อย่างเต็มที่ รวมถึงการใช้ความเป็นจริงในสังคมหล่อหลอมตัวละครให้มีความสมบูรณ์พร้อมมากยิ่งขึ้นทำให้ตัวละครทุกตัวมีเสน่ห์ต่างจากตัวละครในนิทานที่ข้าพเจ้าเคยพานพบ เจ้าชาย จากนิทานเรื่อง เจ้าหญิงเสียงเศร้าแห่งดวงดาวที่สี่ เป็นตัวละครบุคคลที่ข้าพเจ้าชื่นชอบมากที่สุด เนื่องจากในขณะที่คนส่วนใหญ่เลือกกระทำการกล่าวโทษผู้อื่นยามที่ความผิดพลาดเกิดขึ้นเฉกเช่นเดียวกันกับคนส่วนมากในสังคมปัจจุบัน เจ้าชายกลับเลือกที่จะลงมื่อแก้ไขความผิดพลาดนั้นด้วยใจมุ่งมั่นไม่สั่นคลอนต่อคำครหาใดๆ ดังที่ผู้เขียนได้แสดงให้เห็นความว่า

 

“...คิด...

และลงมือ  

เจ้าชายอาจจะโง่ ...ผมเสียใจที่ได้พลั้งปากพูดไปเช่นนั้น...”

 

ด้วยการกระทำของเจ้าชายข้างต้น ทำให้ข้าพเจ้าเกิดความชื่นชมและตระหนักได้ว่าทั้งปัญหาส่วนตนและส่วนรวมที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบันแก้ไขได้โดยเริ่มต้นที่ตัวเรา

 

               มีสิงสาราสัตว์มากมายโลดเล่นอยู่ในหนังสือรวมนิทานเล่มนี้ แต่ลูกปลาน้อยจากเรื่อง นักเดินทางผู้ยิ่งใหญ่เป็นตัวละครที่ข้าพเจ้าอยากเอ่ยถึง ที่แม้จะมีโอกาสโลดเล่นอยู่ในหนังสือเพียงไม่กี่หน้ากระดาษ เหตุก็ด้วยลูกปลาน้อยเปรียบเสมือนคนหนุ่มสาวที่มีเป้าหมายอันยิ่งใหญ่ แต่ด้วยความหวาดกลัวและไร้ซึ่งความมุมานะ จึงทำให้กลุ่มคนเหล่านี้ไม่สามารถเดินทางสู่จุดหมายที่ตนตั้งใจไว้ ซึ่งเห็นได้จากความคิดตั้งคำถามด้วยความหวดกลัวของลูกปลาน้อยตลอดทั้งเรื่องที่ว่า

     

               “กลัวไหม ว่าอาจจะไม่ได้กลับมา?”                                       

                                                                               

ข้าพเจ้ารู้สึกขอบคุณลูกปลาน้อยที่เป็นเหมือนกระจกสะท้อนตัวตนของข้าพเจ้าให้แจ่มชัด และทำให้ข้าพเจ้าสามารถวิจารณ์วรรณกรรมเรื่องนี้จนสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี

 

                เก้าอี้ไม้แสนสวย จากเรื่อง เก้าอื้ดนตรีที่แม้จะเป็นเพียงสิ่งของแต่ผู้เขียนได้สร้างตัวละครนี้ให้มีทั้งตัวตนและจิตใจเฉกเช่นเดียวกับคนธรรมดาทั่วไปที่การแก่งแย่งแข่งขัน และการต่อสู้ดิ้นรนเพื่อเอาตัวรอดทำให้เก้าอี้ไม้แสนสวยต้องกลายเป็นเก้าอี้เกเร ซึ่งไม่ต่างจากพฤติกรรมของคนที่ถูกกดดันโดยสังคม ดังเนื้อเรื่องตอนหนึ่งว่า

 

“...นับแต่นั้นเก้าอี้ก็เปลี่ยนไป ในเมื่อขอร้องดีๆไม่มีใครฟัง มันจึงตัดสินใจโต้ตอบด้วยวิธีการของมัน เก้าอี้ไม่ยอมอีกแล้วที่จะให้นั่งบนตัวมันง่ายๆ...”

 

               แม้ตอนต้นเรื่องชีวิตของเก้าอี้ไม้จะดำเนินได้ไม่สวยงาม แต่ท้ายที่สุดเมื่อเก้าอี้ไม้ได้พบกับผู้ที่เห็นค่าในตัวมัน เก้าอี้ไม้ ก็กลับกลายเป็นเก้าอี้ที่น่ารักและมีความสุขดังในอดีต เก้าอี้ไม้ของผู้เขียนทำให้ข้าพเจ้าได้เรียนรู้ว่า มนุษย์ทุกคนมีจิตใจที่ดี  เป็นพื้นฐาน หากแต่อิธิพลทางสังคมที่หล่อหลอมให้แต่ละบุคคลเลือกปฏิบัติในทิศทางที่ดีหรือเลวแตกต่างกัน ด้วยตัวละคร  ที่หลายหลากทั้งบุคลิกและอารมณ์ ทำให้ 'เจ้าหงิญ’ เป็นนิทานที่แต่งแต้มสีสันแห่งอารมณ์อันหลากหลายให้เกิดในใจผู้อ่าน ได้เป็นอย่างดี

 

                เมื่อมองย้อนกลับไปในขณะที่ข้าพเจ้าอ่านหนังสือเล่มนี้ ข้าพเจ้านึกขันตนเองอยู่ไม่น้อย เหตุก็ด้วยข้าพเจ้าค่อยๆบรรจงอ่านถ้อยความของผู้เขียนทีละคำจนนิทานจบผ่านไปทีละเรื่อง เหมือนเด็กเล็กที่เพิ่งหัดอ่านเขียนจะต่างกันก็ตรงสาเหตุที่มิใช่เรื่องทักษะการอ่าน หากแต่เป็นเพราะข้าพเจ้าไม่อาจละสายตาไปจากตัวอักษรใดในนิทานเล่มนี้ได้เลย ‘เจ้าหงิญ’        ถูกร้อยเรียงด้วยภาษาอันไพเราะนุ่มนวลและเกินจริงตามแบบฉบับของนิทาน หากแต่เล่าขานรื่องราวได้อยากหนักแน่นและตรึงใจ ความโดดเด่นด้านบรรยายโวหารที่พบเห็นได้โดยตลอดเป็นประการแรกที่ข้าพเจ้าชื่นชมนักเขียนผู้นี้ เนื่องจากสามารถส่งสารผ่านถ้อยความอันไพเราะสู่ผู้อ่านได้อย่างแจ่มชัด อาทิ

 

“...ร่างงามสง่าลอยวนในนภาอากาศอย่างช้าๆ แล้วทิ้งตัวลงมาเกลือกกับไอดินไอน้ำ สูดความหอมของแผ่นดินเต็มอก

                                                         ก่อนจะเอื้อมริมฝีปากสัมผัสทะนุถนอมบนกลีบสีม่วงของดอกตะแบก..”  

 

หรือ  “...มันเคลื่อนไหวตามซอกร่องของผืนฟ้า แทรกในฝูงดาวลูกไก่ ถลาไปดาวไถ ไถลไปดาวคันชั่งทิ้งดวงดังจะจ่อม

                                                         ตรงดาวธง แล้วโคจรตรงไปดาวจระเข้เร่ยังดาวเต่า ก่อนจะแวะเข้าดาวมหาจุฬามณี...” เป็นต้น

 

               ประการถัดมาคือความช่างสรรคำ และสอดแทรกการเล่นคำได้สนุกสนานอย่างมีนัยยะแอบแฝง ดังเห็นได้ชัดเจนนับตั้งแต่ชื่อเรื่อง ‘เจ้าหงิญ’ ที่แปลกทำให้ผู้อ่านต้องขบคิดหาความหมายสัมผัสถึงความขบขันและความแตกต่างจากนิทานทั่วไปได้โดยทันที อีกทั้งการเล่นคำในนิทานหลายๆเรื่อง อาทิ การตั้งชื่อลูกหามและผองเพื่อน จากเรื่อง ‘ลูกหาม’ กับสามสหาย ที่แม้จะฟังดูน่าขันแต่แฝงด้วยความหมายอันดีงาม ดังที่เจ้าหญิงในเรื่องได้กล่าวไว้

              “... ชื่อหามจั่วก็มาจากคำพังเพย รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสาไงคะ แสดงว่าเขามีใจใฝ่ยึดความดีเป็นที่ตั้ง

ส่วนชื่อแบกหามก็มาจากรู้ไว้ใช่ว่า ใส่บ่าแบกหาม บอกให้รู้ว่าเขาเอาความรู้เป็นที่ตั้ง

ยิ่งหามรุ่งหามค่ำยิ่งชัดเจนมาก คือเอาความเพียรพยายามเป็นที่ตั้งไงคะ...”

 

                หรือ การสรรคำเพื่อให้กำเนิดหุบเขา ‘สันกาลาคีรี’  อีกทั้งเผ่าพันธุ์นกบินหลา อันมีเจ้าหญิงนกบินหา และเจ้าชายนกบินหลายเป็นตัวละครเอก เพื่อเป็นตัวแทนร้อยเรียงเรื่องราวทั้งหมดและกล่าวจบโลกแห่งนิทานของบินหลา สันกาลาคีรีได้อย่างน่าประทับใจ

 

                กลวิธีการเขียนที่สามารถนำปรากฏการณ์ทางธรรมชาติมาเปรียบเปรยเป็นเรื่องราวตามจินตนาการได้อย่างล้ำลึก ส่งเสริมเหตุการณ์ธรรมดาในเรื่องพิเศษเกินกว่าจะอ่านผ่านเลย เป็นอีกประการหนึ่งที่ข้าพเจ้าชื่นชมนักเขียนผู้นี้ โดยแสดงไว้ในนิทานหลายเรื่อง อาทิ การเปรียบการงอกเงยของต้นแดฟโฟดิลเหมือนดั่งการเกิดแผ่นดินไหว

 

“... พื้นที่แผ่นดินไหวทั้งสองหนกินบริเวณกล้างคราวละหนึ่งตารางนิ้ว ความสั่นสะเทือนแต่ละครั้งวัดไว้ 0.0025 หน่วยสากล หรือเท่ากับแรงลมจากการขยับปีกของผีเสื้อ...”

                     หรือ การเปรียบไข่ใบน้อยที่แม้ไม่สามารถหมุนรอบตัวเองแต่กลับเป็นดั่งโลกสำหรับเจ้าหญิงนกบินหลายกับเจ้าชายนกบินหา

“...โลกใบนี้ทรงกลมรี ผิวพื้นสีฟ้าแกมเขียวอ่อน ประด้วยสีน้ำตาลเป็นจุดน้อยจุดใหญ่ระรายโดยรอบ  จริงอยู่ว่าโลกไม่ได้หมุน แต่ก็เคลื่นไหวด้วยการกลิ้งไปกลิ้งมาเล็กน้อย...”

 

อีกทั้งผู้เขียนสามารถใช้อุปมาโวหารถ่ายทอดจินตนาการอันสละสลวยรวยอารมณ์สนุกสนานของตนให้กระจ่างชัดในใจของผู้อ่านได้เป็นอย่างดีโดยตลอดทุกเรื่อง อาทิ การพรรณาในตอนฝนตก จากเรื่อง ชายเดียวดาวแห่งภูเขาภาคเหนือ

 

“... เมล็ดฝนจำนวนมากกรูลงจากก้อนเมฆ เหมือนเด็กตัวเล็กๆ วิ่งสุดฝีเท้ากกลับบ้านในวันที่ครูใหญ่ประกาศปิดเทอม...”

                                                         หรือ การกล่าวถึงนกบันทึกเสียงในเรื่อง เจ้าหญิงเสียงเศร้าแห่งดวงดาวที่สี่

“...ร่างจ้อยสีฟ้ามีรอยด่างเป็นดวงตรงปลายแพนหาง ราวถูกเจ้าของสัมผัสเป็นครั้งสุดท้ายด้วยหยาดน้ำตา...” เป็นต้น

 

การใช้อติพจน์โวหารสามารถพบเห็นได้บ่อยครั้งในนิทานทั่วไป และผู้เขียนสามารถนำกริยาอาการเกินจริงเหล่านี้มาสร้างสรรค์ตัวละครให้มีเสน่ห์อย่างน่าเอ็นดู อาทิ การเต้นระบำของดอกต้อยติ่ง

 

“...ฝักต้อยติ่งบนฝ่ามือต่างหมุนตัวเล่นระบำน้ำฝนกันอย่างสนุกสนาน...

โดยเฉพาะพวกฝักแฝด มันมีวิธีเล่นที่ไม่เหมือนใคร มันแตกตัวพร้อมกัน และสลับขา

โยนเมล็ดข้างในใส่กันด้วยความแม่นยำ อย่างนักระบำที่ฝึกฝนมาดี...”

 

                                                                              หรือกริยาอาการของรุ้ง สายฝน และพันธุ์ไม้จากเรื่อง สีที่แปดของรุ้งกินน้ำ

“...รุ้งกำลังกินน้ำอย่างเนิบนาบและมีความสุข...”

 “...สายฝนเหมือนจะเอ็นดู จึงลดขนาดของหยาดน้ำลง พร่างเบาๆราวฝอยพรม...”

“...ไม้เล็กไม้ใหญ่บานเบ่งเต่งดอก ช่วยกันซ่อนตัวเจ้าหญิงกันพัลวัน ไม่เพียงระริกระรี้ด้วยได้น้ำฝน พวกมันยังได้กุศลอีกต่างหาก...” เป็นต้น

 

ด้วยภาษาที่สละสลวยแต่ไม่เก่าเกินคนรุ่นใหม่จะเข้าใจ ทำให้ ‘เจ้าหงิญ’ สร้างอรรถรสทางภาษา และความอิ่มเอมโดยคุณค่าในเนื้อหาให้เกิดแก่ผู้อ่านทุกยุคสมัยได้เป็นอย่างดี

 

                วรรณกรรมอยู่เคียงคู่สังคมมาอย่างยาวนาน เปรียบเสมือนเทปม้วนใหญ่ถ่ายทอดเรื่องราวการเปลี่ยนแปลง การดำรงอยู่ และดำเนินไปของสังคม แต่ก็มีวรรณกรรมนับไม่น้อยที่มิใช่เพียงเทปม้วนใหญ่ โดยได้ทำหน้าที่เครื่องเล่นเทป หมุนวนและกัดเขลาเทปแต่ละม้วนให้ดำเนินเรื่องได้อย่างไม่มีสะดุดควบคู่กันไป สำหรับข้าพเจ้า ‘เจ้าหงิญ’ เป็นหนึ่งในวรรณกรรมนับไม่น้อยเหล่านั้น ที่แม้จะเป็นเพียงนิทานอันบริสุทธ์แต่กลับมีพลังขัดเกลา และสะท้อนสังคมอันแสนเปรอะเปรื้อนได้อย่างน่าอัศจรรย์ ผู้เขียนซึ่งเป็นนักหนังสือพิมพ์ และชื่นชอบการเดินทางเป็นพื้นฐาน จึงมองเห็นสภาพสังคมในมุมกว้างได้ชัดเจน จนสามารถผูกโยงปัญหาด้านศีลธรรมซึ่งผู้คนมองเห็นเป็นเพียงรอยด่างเล็กๆในสังคม ให้กลายเป็นนิทานแต่ละเรื่องอย่าง  แยบยล อาทิ เรื่อง เจ้าหญิงเสียงเศร้าแห่งดวงดาวที่สี่ อันสะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมของผู้คนในสังคมปัจจุบัน ที่เห็นแก่ประโยชน์ตนเป็นที่ตั้ง มีความโลภเป็นตัวตาม จนความช่วยเหลือเกื้อกูลอย่างบริสุทธ์ใจถูกลบเลือนหายไป รวมถึงการที่ผู้เขียนเสียดสีสังคมได้อย่างกระชับและตรงประเด็นผ่านถ้อยความจากเรื่อง ‘ลูกหาม’ กับสามสหายที่ว่า

 

                “...ว่ากันว่าเป็นเพราะนางฟ้าองค์หนึ่งเคยสาปพวกคนรวยไว้ให้ไม่ให้เห็นคนจนอยู่ในสายตา...” ซึ่งสะท้อนปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน ด้วยเหตุเพียงเพราะผู้คนในสังคมขาดศีลธรรม ผู้ที่มีโอกาสมากกว่าจึงไม่หยิบอื่นโอกาสให้แก่ผู้ด้อยกว่าตนอย่างเท่าเทียมกัน หรือปัญหาครอบครัวจากเรื่อง สีที่แปดของรุ้งกินน้ำ ที่การหย่าร้างของผู้ใหญ่กลายเป็นสาเหตุขวางกั้นปฏิสัมพันธ์และพฤติกรรมอันดีของเด็กในครอบครัว แม้เนื้อหาส่วนใหญ่ของนิทานจะดำเนินเรื่องราวสะท้อนปัญหาในสังคม แต่ผู้เขียนก็ได้แสดงให้เห็นถึงปัจจัยสำคัญหนึ่งที่เป็นทั้งสาเหตุและเครื่องมือแก้ไข

 

               อันจะสามารถสร้างสรรค์สังคมที่ดีขึ้นปัจจัยนั้นคือครอบครัว ดังเห็นได้จากเรื่อง สีที่แปดของรุ้งกินน้ำ และ โลกของเจ้าหญิงนกบินหลาย กับ เจ้าชายนกบินหา โดยแสดงให้เห็นว่า ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่คนหรือสัตว์ต่างก็รัก และคาดหวังให้ลูกเติบโตเป็นคนดีเช่นเดียวกัน  พวกเขาจึงพร่ำสอนเพื่อบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ของตนให้สามารถเติบโตในสังคมได้อย่างสง่างาม อีกทั้งข้าพเจ้ายังชื่นชมกลวิธีอันชาญฉลาดของผู้เขียนในการใช้ความรัก ความอ่อนโยน และการมองโลกในแง่ดีตามแบบฉบับของนิทานเป็นสื่อกล่อมเกลาจิตใจของผู้อ่านตลอดทั้งเรื่อง เมื่อผู้อ่านมีจิตใจที่ดีแล้ว การชี้ให้เห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมย่อมเป็นไปโดยง่าย และสามารถสร้างแรงขับเคลื่อนเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านั้นให้สิ้นไปได้เช่นกัน

 

              เมื่อครั้งแต่ก่อนข้าพเจ้าใช้เพียงจินตนาการโลดเล่นไปพร้อมกับนิทานที่ได้อ่านได้ฟังมา แต่ ณ วันนี้‘เจ้าหงิญ’ ได้กล่อมเกลาข้าพเจ้าให้ใช้ทั้งร่างกายและจิตใจโลดเล่นพร้อมกับเรื่องราวที่ดำเนินไป นิทานเล่มเล็กนี้จึงเปี่ยมด้วยพลังสรรค์สร้างเด็กให้เติบโตตามครรลองที่เหมาะสม พร้อมทั้งขัดเกลาผู้ใหญ่ให้กลับกลายเป็นผู้สร้างคุณค่าแก่สังคม ดังนั้นสำหรับข้าพเจ้าแล้ว ‘เจ้าหงิญ’ จึงเป็น เจ้าหญิงที่งดงามเกินกว่าเจ้าหญิงในนิทานเรื่องอื่นใด

บทวิจารณ์โดย นางสาวศศินภา สวนพุฒ

Writer

The Reader by Praphansarn