ในเหมืองเเร่มีมนุษยธรรม กับ คำถามชวนขบคิด : บทวิจารณ์โดย นางสาวสิริยากร พุ่มประดับ

ในเหมืองเเร่มีมนุษยธรรม กับ คำถามชวนขบคิด

           เรื่องสั้น ในเหมืองเเร่มีมนุษยธรรม ในหนังสือชุดเหมืองแร่ ผลงานชิ้นเอกของ อาจินต์ ปัญจพรรค์ (ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์) นี้ได้รับการคัดเลือกให้เป็นหนังสือดี 100 เล่มที่คนไทยควรอ่าน อีกทั้งยังได้ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนต์ โดยในหนังสือเล่มนี้เล่าชีวประวัติของอาจินต์ ปัญจพรรค์ หลังจากถูกรีไทร์จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากความผิดพลาดในครั้งนั้น จึงถูกพ่อส่งให้ไปทำงานในเหมืองแร่ จังหวัดพังงา และได้ใช้ชีวิตในเหมืองแร่สองแห่งรวมสี่ปี การอ่านเรื่องสั้นในชุดเหมืองแร่ของอาจินต์ นอกจาก จะได้ความบันเทิง ยังได้รับรู้แง่มุมต่าง ๆ ของมนุษย์ ได้สัมผัสบรรยากาศชีวิตแบบไทย ๆ ในปักษ์ใต้ ความเรียบง่ายในการเขียนทำให้งานของอาจินต์มีความกระชับ แต่แฝงไปด้วยประเด็นที่ชวนขบคิดสะท้อนถึงหลักมนุษยธรรมเป็นสำคัญ หนังสือเล่มนี้ชวนให้ผู้อ่านได้ตั้งคำถามถึงความเป็นมนุษย์ที่มีทั้งดีเลว ตามหลักมนุษยธรรมมนุษย์ควรได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมกัน ในตอนต้นของเรื่องสั้น ในเหมืองเเร่มีมนุษยธรรม ผู้เขียนได้แสดงให้เห็นความแตกต่างที่ชนชั้นแรงงาน และข้าราชการได้รับ "วันอาทิตย์ในเหมืองแร่ไม่ใช่ วันอาทิตย์ของข้าราชการ" และ "มันเป็นวันบรมสุขผูกขาดเฉพาะพวกทำงานในออฟฟิศเท่านั้น" ทำให้ผู้อ่านได้ตั้งคำถามว่าเราได้รับสิทธิที่มนุษย์ทุกคนพึงได้รับจริงหรือ เรามีการแบ่งพักแบ่งพวกระหว่างชนชั้นเกิดขึ้นจากที่ผู้เขียนใช้คำว่า "พวกทำงานในออฟฟิศ" ฉากฝนฟ้าพายุสะท้อนให้เห็นว่ามนุษย์เราใช้ตัวเองเป็นที่ตั้งในการ ตัดสินสิ่งต่างๆ และเมื่อไม่เป็นไปตามความคาดหวังเรามักมีทัศนคติในแง่ลบขึ้นเห็นได้จาก "ฝนฟ้าพายุไม่เคยเชื่อปฏิทิน มันไม่ใช่คนกินเงินเดือนเหมืองแร่ มันแกล้งทํางานของมันในวันอาทิตย์ให้เราลําบากกันเล่น" ที่เราต้องลำบากเพราะไม่ป้องกันให้ดีแต่แรก ในอีกแง่มุมหนึ่งเมื่อถึงคราววิกฤติมนุษย์เราก็มีน้ำใจและพร้อมสามัคคีกันในการแก้ปัญหาเห็นได้จาก "ชาวบ้านก็ตื่นเต้นเผ่นออกจากชายคามาดูและช่วยโดยไม่ได้รับเบี้ยเลี้ยง" หลังจากที่ผู้เขียนสะท้อนให้เห็นถึงความมีน้ำใจ และความสามัคคีกันของชาวบ้าน ผู้เขียนยังแสดงให้เห็นความขัดแย้งที่ชัดเจนว่ามนุษย์ล้วนมีดีชั่วปะปนจากการกระทำที่แสดงให้เห็นความเห็นแก่ตัวของผู้เขียน "ทําท่าใบ้ให้เขารู้ว่า เดี๋ยวจะเดินกางร่มตามไป แล้วเราก็มิได้มีอุดมคติสูงส่งถึงกับจะทําตามนั้นให้วุ่นวายไป"

          มนุษย์เรานั้นไม่ใช่เข็มนาฬิกาที่จะเดินได้ตรงตามเวลาเสมอไป หากเปรียบเข็มนาฬิกาเป็นมนุษย์ และเวลาเป็นศีลธรรมที่มนุษย์พึงมี มนุษย์เราคงเป็นเข็มนาฬิกาที่เดินอย่างขาดๆ เกินๆ เพราะพื้นฐานมนุษย์มีอคติ เพราะฉะนั้นเราจึงมักตัดสินกันเสมอ อันไหนดีอันไหมเลว ดังนั้นการตัดสินจึงอยู่ในสามัญสำนึกของมนุษย์อย่างเลี่ยงไม่ได้ จากเนื้อเรื่องมีการตัดสินคนจากภูมิลำเนา ลักษณะการแต่งกาย และผิวพรรณ "ผู้ชายคนนี้หน้าตาผิวพรรณงามราวกับลูกผู้ดี แต่เสื้อผ้าเก่าปอนๆ"  "หญิงสาวที่มากับเขานั้นแต่งกายฉูดฉาด หน้าซน และท้อง" และ "เป็นสำเนียงของคนกรุงเทพฯ ข้าพเจ้ารู้สึกเป็นกันเองกับเขาขึ้นมาทันที" ผู้เขียนมีความรู้สึกดีกับคนแปลกหน้าสองคนนี้เพียงเพราะทั้งสองคนเป็นคนบ้านเดียวกับผู้เขียน อีกทั้งมนุษย์เรายังคงมีการแบ่งชั้นวรรณะจากการที่ ในเรื่องผู้เขียนได้แสดงให้เห็นว่าคนกรุงเทพนั้นไม่น่ามาหางานทำที่ต่างจังหวัด งานใช้แรงงานนั้นไม่เหมาะกับคนกรุงเทพ เป็นการให้ค่าคนกรุงมากกว่าคนต่างจังหวัดเหมือนอยู่คนละวรรณะกันทั้งๆที่เป็นคนเหมือนกัน "แต่ไม่อยากเชื่อว่าชายที่พูดจาได้งานได้การด้วยสำเนียงกรุงเทพฯ เช่นนี้จะมาสมัครงานกรรมกร" ในอีกแง่มุมหนึ่ง ผู้เขียนแสดงให้เห็นถึงความเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน และสิ่งที่เราสามารถทำเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ จากข้อความ "ข้าพเจ้าเรียกเจ้าของร้านออกมาส่งชาร้อนให้คนคู่นี้คนละถ้วย และให้เจ้าของร้านเปิดขนมจําพวกแป้งในขวดโหลใส่จานมาด้วย ข้าพเจ้าบอกหญิงชายคู่นี้ว่าข้าพเจ้าขอเป็นเจ้ามือเขาก็กล่าวขอบใจ และทั้งคู่กินด้วยความกระหายแต่มีมารยาท" ความสงสารและการหยิบยื่นความช่วยเหลือนั้น เกิดเพราะเห็นเพื่อนมนุษย์ด้วยกันกำลังตกที่นั่งลำบาก ในขณะเดียวกันความสงสารที่เราต่างมองเป็นสิ่งที่ดีกับสะท้อนให้เห็นอีกแง่มุมหนึ่ง คือความไม่เท่าเทียมกันของความสงสารจาก "พี่เขาตกงานมาหลายเดือน แล้วฉันก็ท้องเสียด้วย ถ้าฉันไม่ท้อง เราก็คงไม่ลําบาก" และ "ใบหน้าที่แน่นิ่งของเขาในขณะที่เมียเขาเป็นฝ่ายพูดนั้นทําให้ข้าพเจ้าสะท้านใจยิ่งกว่า แววตาออดอ้อนของฝ่ายเมีย" สะท้อนให้เห็นว่าเราสงสารและเมตตาคนไม่เท่ากัน

             ปัจจัยสี่นั้นควรเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนพึงมีและได้รับหากแต่เมื่อมองดูจากเนื้อเรื่องจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าคู่สามี ภรรยาคู่นี้ไม่มีแม้แต่ที่นอน และ อาหาร "เขาพูดถึงแต่เพียงเรื่องการนอนเท่านั้นมิได้อาจเอื้อมพูดถึงเรื่องการกิน อาหารมื้อต่อไปเลย" คำว่าเสียสละเป็นคุณสมบัติอีกอย่างที่ทำให้มนุษย์เป็นมนุษย์ สัตว์อื่นๆ ไม่มีการเสียสละ มีแต่การแก่งแย่งกัน จากในเรื่องผู้ชายคนนี้เสียสละเพื่อครอบครัวของเขายอมลำบากเพียงคนเดียว "ลูกผู้ชายคนหนึ่งที่จะต้องตากหน้ายิ่งกว่าตากฝนเพื่อเมียและลูกน้อยในท้องของเมีย" การเป็นมนุษย์ทำให้เราเข้าใจผู้อื่นมีอารมณ์ร่วมไปกับเหตุการณ์หรือสถานการณ์ของบุคคลนั้นเห็นได้จาก "ข้าพเจ้านั่งใจเต้นฟังอยู่ข้างนอกห้องนั้นได้ยินชัด" สิ่งที่พิเศษสำหรับมนุษย์คงเป็นความรู้ผิดรู้ถูกและความจริงใจเห็นได้ชัดจากตอนที่นายฝรั่งสัมภาษณ์ ผู้ชายที่มาหางานทำ ผู้ชายคนนี้ตอบตามความจริงเสมอและเขาเองมีความกระอักกระอ่วนใจทุกครั้งเมื่อต้องตอบคำถามที่เขารู้ว่าการกระทำที่เขาเคยทำนั้นผิด

คําถาม - ทําไมท่านจึงไม่หางานตามวุฒิ ทําไมจึงมาเป็นกรรมกร ท่านหวังจะมาช่วยกรรมกรที่นี่ก่อการสไตรก์หรือไม่

คําตอบ - ฉันเข็ดแล้วเรื่องการสไตรก์ ที่ฉันต้องยอมทํางานกรรมกรก็เพราะฉันหมดตัวและเมียกําลังท้อง

คําถาม - เมื่อถูกปลดแล้วท่านมีอาชีพอะไร

คําตอบ - ไม่มี

คําถาม - เมื่อท่านไม่มีอาชพ ทําไมท่านถึงมีเมียได้

คําตอบ - (อึกอัก) ฉันอาศัยเมียกิน

         ในตอนท้ายของเรื่องยังแสดงให้เห็นถึงการให้โอกาสที่ไม่เท่าเทียมกันอีกด้วยเนื่องจากผู้ชายคนนี้ได้งานทำ เพียงเพราะเขาไม่ได้เป็นโสดอีกต่อไปเเละมีครอบครัว

         มนุษยธรรมคือธรรมพื้นฐานที่มนุษย์พึง แต่บทความในหนังสือเล่มนี้ชวนให้ขบคิดว่าจริงๆ แล้วมนุษยธรรมทำให้มนุษย์อยู่กันได้อย่างมีความสุข และปราศจากความไม่เท่าเทียมจริงหรือ จริงๆ แล้วนิยามของคำว่า มนุยธรรมอยู่ตรงไหนแบบไหนที่เรียกว่าดี เลว ในเมื่อทุกอย่างย่อมมีทั้งสองอย่างปะปนอยู่ คำตอบนั้นก็สุดแท้แต่ผู้อ่านจะพิจารณา

*เนื่องจากผู้เขียนคือตัวละครหลักของเรื่อง จึงใช้คำว่าผู้เขียนแทนตัวละครนั้น*

 


ในเหมืองเเร่มีมนุษย์ธรรม กับ คำถามชวนคบคิด
วิจารณ์โดย นางสาวสิริยากร พุ่มประดับ

โครงการ อ่าน เขียน เรียนรู้ สู่งานวิจารณ์ ปีที่ 6

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ